อัน-นุศ็อยริยะฮฺ
แปลโดย.... Anwar B. Ismael
คำนิยาม
อัน-นุศ็อยริยะฮฺ คือ กลุ่มลัทธิบาฏีนิยะฮฺ (คือลัทธิที่เชื่อว่าบทบัญญัติมีทั้งสิ่งที่เปิดเผยและสิ่งซ่อนเร้น และพวกเขาเท่านั้นที่สามารถรับรู้ถึงบทบัญญัติที่ซ่อนเร้น) ซึ่งอุบัติขึ้นในฮิจญ์เราะฮฺศตวรรษที่ 3 ผู้ทำตามแนวทางของกลุ่มนี้ถือเป็นชาวชีอะฮฺที่มีแนวคิดสุดโต่ง ซึ่งเชื่อว่าคุณลักษณะการเป็นพระผู้เป็นเจ้าแฝงตัวอยู่ในตัวท่านอะลีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ดังนั้นพวกเขายึดถือว่าอะลีย์เป็นพระเจ้า
แท้จริงแล้ววัตถุประสงค์ของการก่อตั้งกลุ่มลัทธินี้ก็คือเพื่อทำลายล้างอิสลามจากรากเหง้า ดังนั้นจึงเห็นว่าพวกที่ทำตามแนวคิดของกลุ่มนี้จะยืนยัดอยู่ข้างศัตรูที่รุกรานดินแดนของชาวมุสลิมเสมอ จักรวรรดินิยมฝรั่งเศสได้เรียกขานกลุ่มนี้ว่า อัล-อะละวิยีน เพื่อหันเหและปกปิดขอเท็จจริงของกลุ่มนี้ซึ่งมีเบื้องหลังคือพวกอัร-เราะฟิเฎาะฮฺ และ อัล-บาฏีนิยะฮฺ
การก่อตั้งกลุ่มและบุคคลสำคัญ
บุคคลที่ก่อตั้งกลุ่มนี้คือ อบูชุอัยบฺ มุหัมหมัด เบ็น นุศ็อยรฺ อัล-บัศรีย์ อัน-นุมัยรีย์ ( เสียชีวิตเมื่อ ปี ฮ.ศ. 270 เขาผู้นี้ทันกับสมัยอิหม่ามชีอะฮฺ 3 ท่านด้วยกัน คือ อะลีย์ อัล-ฮาดีย์ (อิหม่ามคนที่ 10) อัล-หะสัน อัล-อัสกะรีย์ (อิหม่ามคนที่ 11) และมุหัมหมัด อัล-มะฮฺดีย์ (อิหม่ามคนที่ 12 – ผู้ที่ชีอะฮฺอ้างว่าได้หายตัวไปและจะปรากฏตัวอีกครั้งในยุคสุดท้ายของโลก)
อบูชุอัยบฺ อ้างตนว่าเป็นอัล-บาบ (ประตูความรู้) ของอิหม่าม อัล-หะสัน อัล-อัสกะรีย์ เป็นผู้สืบทอดวิชาความรู้ของเขา เป็นที่พึงหรือที่อ้างอิงด้านวิชาการของชาวชีอะฮฺ หลังจากอิหม่าม อัล-อัสกะรีย์ และอ้างว่าคุณสมบัติการเป็นที่อ้างอิงและอัล-บาบยังคงอยู่กับตัวของเขาหลังการสูญหายของอิหม่ามอัล-มะฮฺดีย์
อบูชุอัยบฺ อ้างตนเองว่าเป็นศาสนทูตและรับวิวรณ์(วะหฺยู) จากอัลลอฮฺ และเขาได้เทิดทูนบรรดาอิหม่ามของชีอะฮฺจนเกินเลยถึงขั้นพระผู้เป็นเจ้า อบูชุอัยบฺได้แต่งตั้งมุหัมหมัด เบ็น ญุนดุบ เป็นผู้นำลัทธิต่อจากเขา
ต่อมา อบูมุหัมหมัด อับดุลลอฮฺ เบ็น มุหัมหมัด อัล-ญินาน อัล-ญุนบะลานีย์ (ฮ.ศ. 235-287 ) ได้ดำรงตำแหน่งผู้นำลัทธิต่อ เขามีถิ่นกำเนิดที่ เมืองญุนบะลา แคว้นเปอร์เซีย เขามีฉายานามว่า อัล-อาบิด อัซ-ซาฮิด และอัล-ฟาริสีย์ เขาได้เดินทางไปยังอียิปต์ และได้แนะนำเชิญชวนแนวคิดของเขาแก่อัล-เคาะศีบีย์
หุซัยนฺ เบ็น อะลีย์ เบ็น อัล-หุซัยนฺ เบ็น หัมดาน อัล-เคาะศีบีย์ เกิดเมื่อปี ฮ.ศ. 260 เป็นชาวอียิปต์โดยกำเนิด เขาได้เดินทางออกจากประเทศอียิปต์มายังเมืองญุนบะลาพร้อมกับอาจารย์ของเขา อับดุลลอฮฺ เบ็น มุหัมหมัด อัล-ญุนบะลานีย์ ซึ่งต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำหลังจากการเสียชีวิตของอาจารย์ เขาได้อาศัยอยู่ภายใต้อาณัติของอาณาจักรอัล-หัมดานิยะฮฺ ที่เมืองหะลับ (Aleppo) ผู้ปกครองอาณาจักรแห่งนี้ได้จัดตั้งศูนย์กลางแนวคิดอัน-นุศ็อยริยะฮฺจำนวน 2 แห่ง คือ ที่เมืองหะลับ โดยมีมุหัมหมัด อะลีย์ อัล-ญะลีย์ เป็นหัวหน้าศูนย์ และที่กรุงแบกแดด (Bagdad) มีอะลีย์ อัล-ญะสะรีย์ เป็นหัวหน้าศูนย์ฯ
อัล-เคาะศีบีย์ ได้เสียชีวิต ณ เมืองหะลับ สุสานของเขาเป็นที่รู้จักของชาวเมืองเป็นอย่างดี เขาผู้นี้มีงานเขียนมากมายเกี่ยวกับแนวทางของเขา ตลอดจนมีบทกวีที่ชื่นชมวงศ์วานของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เขาผู้นี้เชื่อมั่นในทัศนะการว่ายเวียนตายเกิดของมนุษย์ ศูนย์กลางอัน-นุศ็อยริยะฮฺ ณ กรุงแบกแดดได้ล่มสลายหลังจากการรุกรานของกองทัพฮูลากู (Hulagu Khan) ส่วนศูนย์กลางอัน-นุศ็อยริยะฮฺ ณ เมืองหะลับ ได้ย้ายไปยังเมือง อัล-ลาซิกิยะฮฺ (Lattakia) โดยมีหัวหน้าศูนย์คนใหม่คือ อบูสะอัด อัล-มัยมูน สุรูร เบ็น กอสิม อัฏ-เฏาะบะเราะนีย์ (ฮ.ศ. 358-427) ชาวเคิร์ดและชาวเติร์กได้รุกรานพวกอัน-นุศ็อยริยะฮฺอย่างรุนแรงทำให้พวกเขาต้องร้องขอความช่วยเหลือจากอัล-อะมีรฺ หะสัน เบ็น ยูซุฟ อัล-มักซูน อัส-สินญารีย์ (ฮ.ศ. 583-638) เจ้าเมืองสินญารฺ (อยู่ทางตอนเหนือในประเทศอิรักติดพรมแดนประเทศซิเรีย) ทำให้เกิดการปะทะในพื้นที่ถึงสองครั้ง ซึ่งในครั้งแรกกองทัพอัน-นุศ็อยริยะฮฺประสบกับความล้มเหลว ส่วนในครั้งที่สองพวกเขาประสพความสำเร็จเอาชนะศัตรูที่มารุกรานได้ ซึ่งทำให้ลัทธิอัน-นุศ็อยริยะฮฺได้ปักหลักในพื้นที่เทือกเขาอัล-ลาซิกิยะฮฺอย่างถาวร
หาติม อัฏ-ฏูบานีย์ (ราวปี ฮ.ศ.700) ผู้แต่งหนังสือ อัร-ริสาละฮฺ อัล-กุบรุศิยะฮฺ
หะสัน อัจญ์ร็อด จากเขตอะอฺนา และเสียชีวิติ ณ เมืองอัล-ลาซิกิยะฮฺ (ฮ.ศ. 836/ค.ศ.1432)
ต่อมามีการจัดตั้งสโมสรอัน-นุศ็อยริยะฮฺ นำโดยนักกวี ชื่อ มุหัมหมัด เบ็น ยูนุส กะลาซีย์ (ฮ.ศ. 1011/ ค.ศ.1602) ใกล้กับเมืองอันฏอเกีย (Antakya-Turkey) , อะลีย์ อัล-มาคูส, นาศิรฺ นุศ็อยฟีย์ และยุซุฟ อุบัยดีย์
สุไลมาน อะฟันดีย์ อัล-อะซะนีย์ เกิดที่เมืองอันฏอเกีย (Antakya) เมื่อปี ฮ.ศ.1250 เขาผู้นี้รับการศึกษาแนวทางอัน-นุศ็อยริยะฮฺ แต่ต่อมาได้หันไปนับถือศาสนาคริสต์ตามคำเชิญชวนของมิชชันนารีคนหนึ่ง และได้ลี้ภัยไปอยู่ที่กรุงเบรุต (ประเทศเลบานอน) และได้แต่งหนังสือ อัล-บากูเราะฮฺ อัส-สุไลมานิยะฮฺ ซึ่งได้เปิดโปงความลับของกลุ่มอัน-นุศ็อยริยะฮฺ พวกอัน-นุศ็อยริยะฮฺได้ไปเกลี่ยกล่อมเขาให้กลับตัว จนในที่สุดเขายอมกลับตัวและได้กลับไปหาพวกอัน-นุศ็อยริยะฮฺอีกครั้ง แต่พวกเขาได้จับตัวเขามาประหารด้วยการแขวนคอ และเผาศพเขากลางสนามเมืองอัล-ลาซิกิยะฮฺ (Lattakia)
ในประวัติศาสตร์ลัทธินี้รู้จักกันในนาม อัน-นุศ็อยริยะฮฺ ซึ่งเป็นชื่อดั้งเดิมของกลุ่มนี้ แต่ครั้งเมื่อมีการก่อตั้งพรรคการเมืองหนึ่งในซีเรีย ชื่อว่าพรรคอัล-กุตละฮฺ อัล-วะเฏาะนิยะฮฺ (The National Bloc Party) พรรคการเมืองนี้มีเป้าหมายที่จะดึงพวกอัน-นุศ็อยริยะฮฺมาเป็นสมาชิก พวกเขาจึงตั้งชื่อลัทธินี้ใหม่ว่า กลุ่มอัล-อะละวิยีน ซึ่งเป็นชื่อที่ถูกใจพวกเขาเป็นอย่างมากและใช้ชื่อนี้จนถึงปัจจุบัน อาณานิคมฝรั่งเศสได้สถาปนารัฐหนึ่งให้แก่พวกเขาโดยตั้งชื่อว่ารัฐอัล-อะละวิยีน ตั้งแต่ ค.ศ.1920 - ค.ศ. 1936
มุหัมหมัด อามีน ฆอลิบ อัฏ-เฏาะวีล เป็นบุคคลสำคัญของกลุ่มอัน-นุศ็อยริยะฮฺ เป็นผู้นำกลุ่มสมัยการล่าอาณานิคมฝรั่งเศสเหนือประเทศซิเรีย เขาผู้นี้ได้แต่งหนังสือ ตารีค อัล-อะละวิยีน ซึ่งกล่าวถึงประวัติศาสตร์และความเป็นมาของกลุ่มอัน-นุศ็อยริยะฮฺ
สุไลมาน อัล-อะหฺมัด ดำรงตำแหน่งสำคัญทางศาสนาสมัยอาณาจักรอัล-อะละวิยีน เมื่อปี ค.ศ. 1920
สุไลมาน อัล-มุรชิด เขาผู้นี้เดิมเป็นเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ แต่พวกฝรั่งเศสได้อุปถัมภ์อุ้มชูเขาและส่งเสริมให้เขาอ้างตนว่าเป็นพระเจ้า เช่นเดียวกันนั้นบางคนถือว่าเขาเป็นเราะสูล(ศาสนทูตของอัลลอฮฺ) เนื่องจากเขาเป็นคนเลี้ยงแพะ เมื่อซิเรียได้รับเอกราชจากจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสรัฐบาลใหม่ได้ตัดสินประหารชีวิตเขาด้วยการแขวนคอในปี ค.ศ. 1946
จากนั้นบุตรชายของสุไลมาน อัล-มุรชิด ซึ่งมีชื่อว่า มุญีบ ได้อ้างตนเป็นพระเจ้าเช่นกัน ต่อมาเขาได้ถูกสังหารโดยฝีมือของหัวหน้าข่าวกรองรัฐบาลซิเรียสมัยนั้นในปี ค.ศ. 1951 จวบจนปัจจุบัน กลุ่มอัล-มุวาเคาะสะฮฺ ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยจากลัทธิอัน-นุศ็อยริยะฮฺยังกล่าวชื่อของมุญีบ เมื่อทำการเชือดสัตว์เพื่อบริโภค
และมีการเล่าขานว่าบุตรชายคนที่สองของสุไลมาน อัล-มุรชิด ที่ชื่อว่า มุฆีษ ได้สืบทอดการเป็นพระเจ้าจากบิดาของตนตามที่กล่าวอ้าง
พวกอัน-นุศ็อยริยะฮฺ หรือ อัล-อะละวิยะฮฺสามารถแทรกซึมเข้าแฝงตัวในองค์กรและสมาคมต่างๆในซิเรีย และพวกเขากลายเป็นผู้มีอิทธิพลในรัฐบาลซิเรียตั้งแต่ปี ค.ศ. 1965 ซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับชาวซุนนะฮฺ จากนั้นพวกเขาได้รวบรวมอำนาจจากแนวคิดสังคมนิยม ชาตินิยม และแนวคิดพรรคบาธ (Ba’ath Party-ฟื้นฟูสังคมนิยมอาหรับ) ด้วยการก่อปฏิวัติรัฐประหารเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1971 นับตั้งแต่บัดนั้นซิเรียก็ถูกปกครองโดยพวกอัล-อะละวิยีน(อัน-นุศ็อยริยะฮฺ) ภายใต้การนำของประธานาธิบดีฮาฟิซ อัล-อะสัด ซึ่งต่อมาบุตรชายของเขาบัชชารฺ อัล-อะสัด สืบทอดอำนาจหลังการเสียชีวิตของผู้เป็นบิดา
http://www.saaid.net/feraq/mthahb/35.htm