เราจะรู้จัก ศอฮาบะฮฺ ได้อย่างไร ?
  จำนวนคนเข้าชม  8458

ความพยายามของศอฮาบะฮ์ในการรวบรวมอัลฮะดิษ 3


โดย...อับดุลกอเดร   พลสะอาด


เราจะรู้จัก ศอฮาบะฮฺ ได้อย่างไร ?


วิธีการที่เราจะรู้ได้ว่าใครเป็นศอฮาบะฮฺนั้นมีดังนี้

          ๑. ผ่านวิธีการที่เรียกว่า อัตตะวาตุร التواتر  หมายถึง การบอกเล่าหรือยืนยันที่ได้รับการสืบทอดต่อๆ กันมา ในยุคต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นการยืนยันจากอัลลอฮฺผ่านทางอัลกุรอ่าน อย่างเช่นที่พระองค์ทรงตรัสถึงท่านอบูบักร ว่า

إِلَّا تَنْصُرُوهُ فَقَدْ نَصَرَهُ اللَّهُ إِذْ أَخْرَجَهُ الَّذِينَ كَفَرُوا ثَانِيَ اثْنَيْنِ إِذْ هُمَا فِي الْغَارِ إِذْ يَقُولُ لِصَاحِبِهِ لَا تَحْزَنْ إِنَّ اللَّهَ مَعَنَا

“ถ้าหากพวกเจ้าไม่ช่วยเขา แท้จริงนั้นอัลลอฮ์ได้ทรงช่วยเขามาแล้ว ขณะที่บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาได้ขับไล่เขาออกไป โดยที่เขาเป็นคนที่สองในสองคน

ขณะที่ทั้งสองอยู่ในถ้ำนั้นคือขณะที่เขา ได้กล่าวแก่สหายของเขาว่า ท่านอย่าเสียใจ แท้จริงอัลลอฮ์ทรงอยู่กับเรา “

(ซูเราะฮฺอัตเตาบะฮฺ อายะฮฺที่ ๔๐)

          ในโองการนี้ นักอรรถาธิบายอัลกุรอ่าน มีความเห็นตรงกันว่า  ثَانِيَ اثْنَيْنِ  (คนที่สองในสองคน) นั้นหมายถึงท่านอบูบักร อัศศิดดี๊ก รอฎิยัลลอฮุอันฮุ

          หรือไม่ว่าจะเป็นการยืนยันของท่านนบี  ในรายงานหะดีษ  อย่างเช่น บุคคลที่ได้รับแจ้งข่าวดีเรื่องสวรรค์ ( المبشرون بالجنة ) ซึ่งทั้งหมดนั้นถือเป็นศอฮาบะฮฺของท่านนบี   อย่างไม่มีข้อสงสัยใดๆ


         ๒.ด้วยความมีชื่อเสียงที่ทำให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย  เช่นท่าน อุกาชะฮฺ อิบนุ มุฮฺศอน อัลอะสะดีย์

        จากอิบนุอับบาส ซึ่งได้รายงานฮะดีษที่ท่านนบีได้เล่าถึงเหตุการณที่จะเกิดขึ้นในวันกิยามะฮฺ ต่อมาอุกาชะฮฺ

อิบนุ มุฮฺศอน ได้ลุกขึ้นไปหาท่านนบี แล้วกล่าวว่า “ได้โปรดวิงวอนต่ออัลลอฮ ให้ข้าพเจ้าได้เป็นส่วนหนึ่งจากพวกเขา (หมายถึงพวกจำนวนเจ็ดหมื่นคน)

ท่านนบี  ได้กล่าวว่า โอ้อัลลอฮ ได้โปรดให้เขา(อุกาชะฮ)เป็นส่วนหนึ่งจากพวกเขาด้วยเถิด”

หลังจากนั้นได้มีชายคนหนึ่งลุกขึ้นไปหาท่านนบี  แล้วกล่าวว่า “ว่า “ได้โปรดวิงวอนต่ออัลลอฮ ให้ข้าพเจ้าได้เป็นส่วนหนึ่งจากพวกเขาด้วย”

ท่านนบี  กล่าวว่า “อุกกาชะฮได้คว้ามันไปก่อนท่านแล้ว”  19

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายท่านเช่น ท่าน ฎอมาน อิบนิ ษะอฺละบะฮฺ 20  และท่านอื่นๆ


          ๓.รู้จักศอฮาบะฮฺโดยผ่านการบอกเล่าหรือการรับรองของศอฮาบะฮฺท่านใดท่านหนึ่ง ว่าเขาคนนั้นคนนี้ เป็นศอฮาบะฮฺของท่านนบี เช่นกรณีของท่าน ฮุมามะฮฺ อิบนิ อบี ฮุมามะฮฺ อัดเดาซีย์ เสียชีวิตที่เมือง อัศบะฮาน ซึ่งสุสานของเขาอยู่ที่ประตูเมืองที่มีชื่อว่า บาบ ตีเราะฮฺ โดยท่าน อบูมูซา อัลอัชอะรีย์ ได้ยืนยันว่า ท่านเคยได้ฟังฮะดีษจากท่านนบี และรับรองว่า เขาได้เสียชีวิตลงในฐานะ ชะฮีด 21


         ๔. รู้จักศอฮาบะฮฺโดยผ่านการบอกเล่าหรือการรับรองของ ตาบิอีน รุ่นอาวุโส (ลูกศิษย์ของศอฮาบะฮฺ) ที่ได้รับความเชื่อถือ (ษิเกาะฮฺ)   ว่าเขาคนนั้นคนนี้ เป็นศอฮาบะฮฺของท่านนบี


         ๕. การอ้างของตัวเองว่า เขาคือศอฮาบะฮฺโดยผู้อ้างนั้นจะต้องเป็นผู้ที่เชื่อถือได้ (ษิเกาะฮฺ)  เป็นคนมีคุณธรรม (อาดิล) และ ต้องมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาที่มีความเป็นไปได้ หมายถึงภายในร้อยปี หลังการเสียชีวิตของท่านนบี มีรายงานจาก อับดุลลอฮฺ อิบนิ อุมัร ว่าท่านนบี   ได้กล่าวว่า

"พวกท่านเห็นค่ำคืน (ที่เงียบสงัด) ในคืนนี้ของพวกท่านไหม? แท้จริงในปลายศตวรรษนี้ จะไม่มีผู้ใดที่มีชีวิตอยู่ในวันนี้เหลืออยู่บนโลกนี้แม้แต่คนเดียว" 22

         และรายงานจากท่านญิร อิบนิ อับดิลลาฮฺ ว่า ได้ยินท่านนบี  กล่าวก่อนที่ท่านจะเสียชีวิตเป็นเวลา ๑ เดือน ว่า

"พวกท่านได้ถามฉันถึงเรื่องวันสิ้นโลก ทั้งๆที่แท้จริง ความรู้ในเรื่องนี้นั้น อยู่ ณ อัลลอฮฺ 

และฉันขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่า จะไม่มีผู้ใดที่ยังมีชีวิตอยู่ตอนนี้  เหลืออยู่บนโลกนี้ หลังจากผ่านไปหนึ่งร้อยปี "  23

          ดังนั้นผู้ใดที่อ้างว่าตัวเองเป็นศอฮาบะฮฺ หลังจากหนึ่งร้อยปีผ่านไปแล้ว การอ้างของเขาก็ถือว่าใช้ไม่ได้ ซึ่งในอดีต เคยมีผู้อ้างตัวว่าเป็นศอฮาบะฮฺในลักษณะนี้หลายท่าน เช่น อบุดดุนยา อัล อัชญฺ , มักละบะฮฺ อิบนุ มัลกาน , รอตัน อัลฮินดี , ญะฟัร อิบนุ นัสตูร ซึ่งอ้างตัวเป็นศอฮาบะฮฺหลังจากปี ฮิจญเราะฮฺศักราช ๓๐๓ , และ ญุบัยรฺ อิบนุล ฮาริษ ซึ่งอ้างตัวว่าเป็นศอฮาบะฮฺ หลังจากปี ฮิจญเราะฮฺศักราช ๗๐๐  24 ดังนั้นการอ้างในลักษณะนี้ จะไม่ถูกยอมรับอย่างเด็ดขาด  ถึงแม้ว่าพวกเขาจะเป็นบุคคลน่าเชื่อถือ หรือเป็นบุคคลที่มีคุณธรรมก็ตาม

 

         ใครคือ อัลอะบาดิละฮฺ  العبادلة ? อะบาดิละฮฺ ความหมายโดยทั่วไปคือ ผู้ที่มีชื่อว่า อับดุลลอฮฺ จากเหล่าศอฮาบะฮฺ ซึ่งมีจำนวนกว่า ๓๐๐ ท่านด้วยกัน แต่ ณ ที่นี่หมายถึง ศอฮาบะฮฺ ๔ ท่าน ที่มีนามว่าอับดุลลอฮฺ คือ

 ๑.อับดุลลอฮฺ อิบนฺ อุมัร อิบนฺ ค็อฏฏอบ รอฎิยัลลอฮุ อันฮุ

 ๒.อับดุลลอฮฺ อิบนฺ อับบาส รอฎิยัลลอฮุ อันฮุ

 ๓.อับดุลลอฮฺ อิบนฺ ซุบัยรฺ รอฎิยัลลอฮุ อันฮุ

 ๔.อับดุลลอฮฺ อิบนฺ อัมรฺ อิบนุลอาศ รอฎิยัลลอฮุ อันฮุ

        ซึ่งพวกเขาเหล่านี้มีจุดเด่นตรงที่ได้ชื่อว่าเป็นอุลามาอฺของศอฮาบะฮฺและเสียชีวิตในช่วงท้ายๆ และหากพวกเขามีความเห็นตรงกันในการวินิจฉัยปัญหาศาสนา ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะเรียกว่า : นี่คือคำกล่าวของ อัลอะบาดิละฮฺ 25


 สำหรับตำราที่เรียบเรียงชีวประวัติหรือเรื่องราวเกี่ยวกับความประเสริฐของศอฮาบะฮฺมีหลายเล่ม เช่น

     ๑. มะอฺริฟะตุศศอฮาบะฮฺของ อิบนิ มันดะฮฺ อัลอัศบะฮานีย์ (เสียชีวิตปี ฮ.ศ. ๓๙๐)

     ๒.มะอฺริฟะตุศศอฮาบะฮฺของ อะบีย์นะอีม อัลอัศบะฮานีย์ (เสียชีวิตปี ฮ.ศ. ๔๓๐)

     ๓. อัลอิสตีอาบ ฟี อัสมาอิล อัศฮาบ ของ อัลลามะฮฺ อบี อุมัร ยูซุฟ อิบนฺ อับดิลบิร อันนะมะรีย์ อัลกุรฏุบีย์ หรือรู้จักในนาม " อิบนุอับดิลบิร " ( เสียชีวิตปี ฮ.ศ. ๔๖๓ ) ซึ่งถือเป็นหนังสือที่ดีที่สุดและทรงคุณค่าที่สุดเล่มหนึ่งในศาสตร์แขนงนี้

     ๔. อะสะดุลฆอบะฮฺ ฟี มะอฺริฟะติศศอฮาบะฮฺของท่าน อิบนุอะษีร ( เสียชีวิตปี ฮ.ศ. ๖๓๐ ) ซึ่งบันทึกรายนามศอฮาบะฮฺทั้งหมดไว้ ๗,๕๐๐ ท่านด้วยกัน เป็นหนังสือที่ถือเป็นเสาหลักแห่งหนังสือเกี่ยวกับชีวประวัติของผู้รายงาน ซึ่งบรรดานักประวัติศาสตร์ ที่ศึกษาค้นคว้าด้านนี้จำนวนมากให้ความเชื่อถือและยอมรับ เป็นเอกสารอ้างอิงสำหรับผู้ที่สนใจจะเขียนเรื่องราวของศอฮาบะฮฺ.. ผู้ที่เคยถ่ายทอดเรื่องราวจากหนังสือเล่มนี้ ต่างยืนยันในความน่าเชื่อถือของหนังสือด้วยกันทั้งสิ้น 26

     ๕. อัลอิศอบะฮฺ ฟีตัมยีซ อัศศอฮาบะฮฺของอิหม่ามอิบนฺ ฮะญัร อัลอัสเกาะลานีย์ (เสียชีวิตปี ฮ.ศ. ๘๕๒) เจ้าของหนังสือ ฟัตฮุลบารี อธิบาย ซอเฮี๊ยะฮฺ อัลบุคอรี 

     ๖. ฟะฎออิล อัศศอฮาบะฮฺของอิม่าม อะหมัด อิบนฺ อัมบัล (เสียชีวิตปี ฮ.ศ. ๒๔๑) 

    ๗.ฮายาตุศศอฮาบะฮฺ ของอัลลามะฮิ มุฮัมมัด ยูซุฟ อัลกันดะฮฺลาวีย์ ชาวอินเดีย (เสียชีวิตปี ฮ.ศ. ๑๓๘๓ )

     ๘. อัลอะหะดีษ อัลวาริดะฮฺ ฟี ฟะฎออิล อัศศอฮาบะฮฺ ของ ดร.สะอูด อิบนฺ อีด อิบนฺ อุมัร อัศศออิดีย์

และเล่มอื่นๆ 27

 

 

 



19.  ศอเฮี๊ยะฮฺ อัลบุคอรี กิตาบ อัรรอก๊อก , บาบ ยัดคุลุลญันนะฮฺ  ซับอูนะ  อัลฟัน บิฆ็อยริ  ฮิซาบ,หมายเลข ๖๕๔๑
20. ดูเรื่องราวของท่านใน ซอเฮี๊ยะฮฺ อัลบุคอรี  กีตาบ อัลอิลมฺ  , บาบ อัลกิรออะฮฺ วัลอัรฎฺ อะลัลมุฮัดดิษ  หมายเลข  ๖๓
21.  ดูเรื่องราวของท่านฮุมามะฮฺ อิบนิ อบี ฮุมามะฮฺ อัดเดาซีย์ ใน มะอฺริฟะตุศศอฮาบะฮฺ หน้า ๙๐๑    และ มุสนัด อบีดาวูด อัฏฏอยยาลิซีย์  เล่ม ๑ หน้า ๔๐๖ หมายเลข  ๕๐๗
22.  ศอเฮี๊ยะฮฺ อัลบุคอรี กิตาบุลอิลมฺ บาบ อัสสะมะรี ฟิลอิลมฺ หมายเลข  ๑๑๖
23.  ซอเฮี๊ยะฮฺ มุสลิม กิตาบฟะฎออิลุศศอฮาบะฮฺ   บาบ ๕๓  หมายเลข  ๒๕๓๘
24.  รูวาตุลหะดีษ วะเฏาะบะกอตุฮุม หน้า ๔๗
25.  ดู ตัยซีร มุศตอลาฮิลหะดีษ  หน้า๑๕๐
26.  อะสะดุลฆอบะฮฺ ฯ หน้า ๗ (บทนำ)
27.  ดูรายละเอียดเพิ่มเติม จากหนังสือ ฟัตฮุลมะฆีษ ของ อัสสะคอวีย์ เล่ม ๔ หน้า ๙ ในหัวข้อ มะอฺริฟะตุศศอฮาบะฮฺ