ข้อชี้ขาด เกี่ยวกับการขับร้องที่ปราศจากเครื่องดนตรี
  จำนวนคนเข้าชม  8221

 

ข้อชี้ขาด เกี่ยวกับการขับร้องที่ปราศจากเครื่องดนตรี


แปลและเรียบเรียงโดย ...อาบิดีณ  โยธาสมุทร


“เพลงซูฟี (الغناءالصوفي) "  และสิ่งที่รู้จักกันในนาม  “อะนาชีดอิสลามียะฮฺ (الأناشيد الإسلامية)”

          สำหรับการขับร้องที่ปราศจากเครื่องดนตรีคงไม่ถูกต้องเสียทีเดียวหากจะกล่าวว่าเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งต้องห้ามในทุกสภาพการ โดยไม่มีเงื่อนไขหรือข้อยกเว้นใดๆ  เพราะไม่มีหลักฐานใดที่บ่งชี้ถึงการไม่มีข้อยกเว้น เช่นเดียวกัน คงไม่ถูกนักหากจะกล่าวว่าเรื่องดังกล่าว เป็นสิ่งที่อนุมัติให้กระทำได้โดยปราศจากเงื่อนไข ดังที่พวกซูฟีและพวกที่คล้อยตามอารมณ์ได้กระทำกัน

          ทั้งนี้ เนื่องจากคำว่า บทเพลง ในความหมายของสังคมอาหรับนั้น หมายถึง บทกลอน (الشعر) ซึ่งบทกลอนย่อมไม่ใช่สิ่งต้องห้าม เพราะท่านนบี   ได้เคยกล่าวว่า 

 “และแท้จริงจากบทกลอนนั้นมีฮิกมะฮฺอยู่” 

(บันทึกโดยอิมาม บุคอรีย์) 

         ในอดีตได้ปรากฏมีการขับกล่อมบทกลอนของชาวอาหรับในหลากหลายสถานการณ์ เป็นต้นว่า บทกลอนของบรรดานักรบที่ได้ขับร้องกันเพื่อเพิ่มความฮึกเหิมในการสู้รบ ตลอดจนบทกลอนของอัศวินที่ออกไปดวนดาบ (ก่อนมีการสู้รบ) และบทกลอนของผู้ที่มีหน้าที่นำกองคาราวานเดินทาง

 เช่นเดียวกับที่ชาวอันศ็อรได้กล่าวบทกลอนขณะที่ทำการขุดหลุมเพลาะ (الخندق) ความว่า “เราคือผู้ที่ให้สัตยาบันต่อมุฮัมมัดว่า จักทำการเสียสละ (الجهاد) ตลอดไปตราบที่เรายังมีชีวิตอยู่”

ท่านนบี  จึงตอบว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่า ไม่มีสิ่งดีใดๆ นอกจากสิ่งดีๆแห่งโลกอาคิเราฮฺ ดังนั้น  ขอโปรดทรงอภัยแก่อันศ็อรและมุฮาญิเราะฮฺ” 

          จากฮะดีษและเรื่องราวที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ นับเป็นข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนถึงการอนุมัติการขับร้องที่ปราศจากเครื่องดนตรีในบางวาระบางโอกาส เช่น เมื่อรำลึกถึงความตาย  คิดถึงครอบครัวและบ้านเกิด เมื่อต้องการผ่อนคลายจิตใจ หรือสร้างความเพลิดเพลินใจเพื่อลดความยากรำเค็ญระหว่างการเดินทาง  และในวาระอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกันนี้ ตราบใดที่ไม่ใช่การขับร้องที่ยึดถือเป็นอาชีพ หรือทำให้เกิดการเกินเลยขอบเขตขึ้น

 (อั้ลอั้ลบานีย์, ตะฮฺรีมอาล้าติ้ตต็อรบิ:129)


           ส่วนบทกลอนที่กล่าวบรรยายถึงลักษณะของสตรี สุราหรืออื่นจากนี้ อันเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ หมิ่นเหม่ที่จะทำให้เกินเลยขอบเขต หรือทำให้หัวใจหลงใหลมัวเมาต่อสิ่งไร้สาระนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่อนุมัติตามบทบัญญัติอิสลาม ด้วยหลักฐานที่ได้กล่าวถึงการห้ามเครื่องดนตรีและเสียงเพลง ซึ่งกินความหมายกว้างถึงบทเพลงทั้งสองลักษณะ อันได้แก่เพลงที่บรรเลงพร้อมเครื่องดนตรี และปราศจากเครื่องดนตรี ยกเว้นในบางกรณีที่ได้รับการผ่อนผันไว้เท่านั้น

          สำหรับบทเพลงซูฟี อันหมายถึงบทเพลงที่กลุ่มซูฟีใช้ขับร้องกันในพิธีกรรมต่างๆ โดยอ้างว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเคารพอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ   ซึ่งการทำการศ่อลาวาตหลังละหมาดโดยใส่ทำนองขับร้องดังที่เราพบเห็นกันก็จัดอยู่ในบทเพลงชนิดนี้ด้วย ดังกล่าว นับเป็นสิ่งต้องห้ามตามศาสนบัญญัติ อันเนื่องมาจากเป็นการกระทำที่เป็นอุตริกรรม (بدعة)

ท่านอะบุตตอยยิบ อั้ลกุรตุบีย์ กล่าวว่า

“กลุ่มนี้ได้กระทำการฉีกตนออกจากกลุ่มของบรรดามุสลิม ทั้งนี้ เนื่องจากการที่พวกเขานับเอาเสียงเพลงเป็นศาสนาและเป็นการเคารพภักดี”

 ท่านนบี   กล่าวว่า

“ขอสาบานด้วยกับพระผู้ที่ชีวิตของฉันอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ว่า

ฉันไม่ได้ละทิ้งสิ่งใดที่จะเป็นสิ่งที่ทำให้พวกท่านได้เข้าใกล้สวรรค์และห่างไกลจากนรก  เว้นเสียแต่ว่าฉันจะใช้ให้พวกท่านได้กระทำการกระทำนั้นไว้แล้ว

และฉันไม่ได้ทิ้งสิ่งใด ที่จะเป็นการทำให้พวกท่านเข้าใกล้นรกและห่างไกลจากสวรรค์ นอกจากว่าฉันจะได้ห้ามพวกท่านให้ละทิ้งมันไว้แล้ว”

          ดังนั้น หากท่านผู้อ่านมีสติในการอ่านเกี่ยวกับข้อชี้ขาดข้างต้นก็จะเป็นที่ประจักษ์ชัดแก่ท่านอย่างที่สุดว่า ข้อชี้ขาดทางด้านบทบัญญัติเกี่ยวกับบทเพลงซูฟีและอะนาชี้ดนั้นไม่ต่างกัน ซึ่งผลที่ตามมาจากทั้งสองสิ่งคือ การนำไปสู่การผินหลังให้กับอัลกุรอาน และอพยพตนให้หนีห่างจากอัลกุรอาน ดังที่อัลลอฮฺ   ได้ทรงแจ้งให้เราทราบถึงคำร้องเรียนของท่านร่อซูล   ต่อพระองค์ดังที่ระบุไว้ในซูเราะฮฺอัลฟุรกอน อายะฮฺที่ 30ว่า

 وقال الرسول يرب إن قومي اتخذواهذاالقران مهجورا

และอัลรอซูลได้กล่าวว่า “ข้าแต่พระเจ้าของข้าพระองค์ แท้จริงชนชาติของข้าพระองค์ได้ยึดเอาอัลกรุอานนี้เป็นที่ทอดทิ้งเสียแล้ว”

 

สรุปเงื่อนไขของนาชีดที่อนุมัติ

 -  ต้องปราศจากเครื่องดนตรี

 -  ต้องมีเนื้อร้องที่ไม่ข้องเกี่ยวกับสิ่งต้องห้ามทางศาสนา

 -  ต้องไม่ร้องเลียนแบบเสียงเพลง หรือเอื้อนให้เกิดเป็นท่วงทำนองคล้ายเสียงเพลง

 -  ต้องไม่ใช้เสียงที่มีแนวโน้มว่าจะทำให้เกิดฟิตนะห์

 -  อยู่ในวาระโอกาสเฉพาะ

 -  เป็นเนื้อร้องที่ชักจูงในเรื่องดีที่อิสลามส่งเสริม


         อย่างไรก็ตามนะชีดในปัจุบันมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาให้ยิ่งเข้าใกล้สิ่งต้องห้ามอยู่มาก การร้องหรือฟังนาชีดจึงต้องใช้ความรอบคอบและระมัดระวังอย่างสูง อันใดที่ปลอดภัยนาชีดนั้นก็จะปลอดภัย แต่อันใดที่ปนเปื้อนด้วยสิ่งที่เป็นมุงกัร นาชีดนั้นก็จะเป็นมุงกัร (เชค บินบ๊าซ) ทางออกที่ปลอดภัยและรัดกุมที่สุดคือ การยึดเอาอัลกุรอาน และการซิกรุ้ลลอฮ ตลอดจนบทรำลึกต่างๆ  ให้เป็นสิ่งที่ติดปากมากกว่าถ้อยคำใดๆ

เพราะ.......ดำรัสของอัลลอฮ   ย่อมเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ และดียิ่งสำหรับการขับกล่อมหัวใจของผู้ศรัทธา !

 

“บรรดาผู้ศรัทธา และจิตใจของพวกเขาสงบด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮ

พึงทราบเถิด ด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮเท่านั้นทำให้จิตใจสงบ

บรรดาผู้ศรัทธาและกระทำความดี ความผาสุกย่อมได้แก่พวกเขา และเป็นการกลับไปที่ดียิ่ง”

( อัร-รออฺด / 28-29)