ความหมายของศอฮาบะฮฺ
  จำนวนคนเข้าชม  24600

ความพยายามของศอฮาบะฮ์ในการรวบรวมอัลฮะดิษ 2


โดย...อับดุลกอเดร   พลสะอาด


ความหมายของศอฮาบะฮฺ


ต่อจากนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ ศอฮาบะฮฺ ว่าพวกเขาคือใคร ?

ความหมายของ คำว่า "ศอฮาบะฮฺ" ในด้านภาษา

          คำว่า الصحابة   ในด้านภาษา      เป็นมัศดัร (อาการนาม) มีความหมายว่า (الصحبة   ) หมายถึง การเป็นเพื่อน  และยังมีคำว่า الصحابي   และالصاحب   โดยมีรูปพหูพจน์ว่า   أصحاب และ صحب  .. ซึ่งโดยส่วนมากแล้วจะใช้คำว่า الصحابة   ในความหมายว่า الأصحاب   หมายถึง การเป็นเพื่อน หรือเป็นสหาย 5

 

ความหมายของ "ศอฮาบะฮฺ "  ในด้านวิชาการ

        เกี่ยวกับการให้คำนิยามของคำว่า الصحابي   หรือความหมายที่แท้จริงของศอฮาบะฮฺ นั้น นักวิชาการ มีความขัดแย้งกันอย่างมากในการให้คำจำกัดความของ ศอฮาบะฮฺ  แสดงถึงความเอาใจใส่ของนักวิชาการอิสลามในทุกยุคทุกสมัย ตัวอย่างเช่น


        - ท่านอะลีย์ อิบนุลมะดีนีย์ (เสียชีวิตในปี ฮ.ศ.๒๓๓ )กล่าวว่า ผู้ที่เป็นสหายกับท่านนบี  หรือเคยเห็นท่าน ถึงแม้จะเป็นเวลาแค่ชั่วโมงเดียว ก็ถือว่า เขาเป็น ศอฮาบะฮฺของท่านนบี  แล้ว 6


        - ท่านอิหม่ามบุคอรีย์ (เสียชีวิตในปี ฮ.ศ.๒๕๖ )ลูกศิษย์ของท่าน ท่านอะลีย์ อิบนุลมะดีนีย์  กล่าวว่า ผู้ที่เป็นสหายของท่านนบี หรือ เคยเห็นท่าน และเขาเป็นมุสลิม ก็ถือว่า เขาเป็น ศอฮาบะฮฺ 7


         ซึ่งจะเห็นว่าทั้งสองท่านไม่ได้กำหนดกฏเกณฑ์เรื่องระยะเวลาในการอยู่ร่วมกับท่านนบี ไว้แต่อย่างใด ในขณะเดียวกันมีนักวิชาการที่ได้กำหนดกฏเกณฑ์เรื่องการบรรลุนิติภาวะและระยะเวลาในการอยู่ร่วมกับท่านนบี  จึงมีความขัดแย้งกันในแง่ที่ว่าการบรรลุนิติภาวะและระยะเวลาในการอยู่ร่วมกับท่านนบี  เป็นเงื่อนไขของความเป็นศอฮาบะฮฺหรือไม่   

 

         ท่านอิบนุลอะษีร ( เสียชีวิตปี ฮ.ศ. ที่ ๖๓๐) ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ أسد الغابة في معرفة الصحابة   ของท่านว่า ตามนิยามนี้ถือว่ายังไม่ครอบคลุม เพราะจะทำให้ศอฮาบะฮฺบางท่านที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ไม่เข้าอยู่ในคำว่า ศอฮาบะฮฺทั้งๆ ที่พวกเขาได้พบเห็นท่านนบี อย่างเช่น ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ อับบาส , และหัวหน้าของบรรดาคนหนุ่มในสรวงสวรรค์ คือท่านฮาซันและฮุเซน และ ท่านอิบนิซุเบร


         ท่านอัลอิรอกีย์ กล่าวว่า การจำกัดความคำว่า “ศอฮาบะฮฺ” ด้วยการบรรลุนิติภาวะนั้น ถือเป็นเรื่องที่ผิดเพี้ยน    และนอกจากนี้ท่านอิบนุลอะษีร ยังได้ตีแผ่ทัศนะทัศนะของนักวิชารอีกหลายท่าน ในการให้คำนิยามของศอฮาบะฮฺและทำการวิเคราะห์ทัศนะต่างๆเหล่านั้น แล้วท่านก็สรุปว่า 8

        ศอฮาบะฮฺคือ ผู้ที่ได้พบปะกับท่านนบี ในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ เขาเป็นมุสลิม และเสียชีวิตลงในศาสนาอิสลาม 9

        เช่นเดียวกับ ท่านอิบนิฮะญัร อัลอัสเกาะลานีย์ ( เสียชีวิตปี ฮ.ศ. ๘๕๒) นักวิชาการหะดีษผู้ยิ่งใหญ่  ก็ได้ให้คำจำกัดความของ  ศอฮาบะฮฺ ไว้ว่า

مَنْ لَقِيَ النَّبِيِّ صَلَّى اللهُ  عليهِ وسلَّمَ ُمؤمِناً بهِ وماتَ عَلى الإِسلامِ  ولو تَخَلَّلَتْ رِدَّةٌ في الأَصَحَّ

ศอฮาบะฮฺ คือผู้ที่ได้พบปะกับท่านนบี   เป็นผู้ที่มีความศรัทธาต่อท่าน และเสียชีวิตลงในอิสลาม 

ถึงแม้ช่วงหนึ่งเขาจะกลับไปนับถือศาสนาเดิมก็ตาม ในทัศนะที่ถูกต้องที่สุด 10

          หมายถึงเขาได้เจอท่านนบี แล้วมีความศรัทธาต่อท่าน ภายหลังจากนั้น เขาได้กลับไปนับถือศาสนาเดิม แต่ท้ายที่สุด เขาก็กลับมาศรัทธาต่ออิสลามอีกครั้ง และได้เสียชีวิตลงในศาสนาอิสลาม ถึงแม้ว่าเขาจะกลับมาในขณะที่นบี ยังมีชีวิตอยู่หรือหลังจากท่านนบี    เสียชีวิตไปแล้ว และถึงแม้ เขาจะได้ร่วมพบปะกับท่านนบี    อีกหรือไม่ก็ตาม หลังจากการกลับตัวของเขาสู่อิสลามอีกครั้ง ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตลง  เช่นนี้ ยังถือว่า สถานภาพความเป็นศอฮาบะฮฺก็ยังอยู่ในตัวเขา

นิยามนี้ถือเป็นทัศนะส่วนใหญ่ของนักวิชาการหะดีษ (11)


          อนึ่ง การใช้คำว่า من لقي หมายถึง ผู้ที่ได้พบปะ นั้นถือเป็นคำที่ถูกต้องที่สุดที่สุด ซึ่งครอบคลุมกว่าการใช้คำว่า من رأى    หมายถึง ผู้ที่ได้เห็น  เพราะศอฮาบะฮฺบางท่านไม่สามารถมองเห็น นบี  ได้เนื่องจากตาบอด เช่นท่าน อับดุลลอฮฺ อิบนิ อุมมิ มักตูม ชายตาบอดผู้มีความศรัทธาอย่างแท้จริงต่อท่านนบี  ซึ่งไม่มีความขัดแย้งในความเป็นศอฮาบะฮฺ ของท่าน

และอัลลอฮฺ ประทานอายะฮฺอัลกุรอานถึงชายผู้นี้ว่า

عَبَسَ وَتَوَلَّى (1) أَنْ جَاءَهُ الْأَعْمَى (2)

“เขา (มุฮัมมัด) ทำหน้าบึ้ง และผินหน้าไปทางอื่น  เพราะชายตาบอดมาหาเขา” 

(ซูเราะฮฺ อะบะซะ อายะฮ์ที่ ๑-๒)

         คือท่านนบี ได้ทำหน้าบูดบึ้งในขณะที่มีชายตาบอดคนหนึ่งคืออับดุลลอฮฺ อิบนิ อุมมิ มักตูม ได้มาหาท่าน โดยขอร้องให้สอนเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนา   หลังจากที่อายาตเหล่านี้ถูกประทานมา เมื่อชายผู้นี้มาหาท่าน ท่านจะกล่าวว่า ขอต้อนรับผู้ที่พระเจ้าของฉันตำหนิฉัน 12


         นอกจากนี้ นิยามนี้ครอบคลุมถึงการพบปะกับท่านนบี ขณะที่ท่านนบี  ยังมีชีวิตอยู่   ไม่ว่าจะอยู่ร่วมกับท่านในระยะเวลาที่ยาวนานหรือเพียงแค่ระยะสั้นๆก็ตาม , ไม่ว่าจะเคยรายงานหะดีษจากท่านหรือไม่ก็ตาม ,ไม่ว่าจะเคยออกสงครามร่วมกับท่านหรือไม่ก็ตาม นอกจากนี้ยังรวมถึงผู้ที่เคยพบเห็นท่าน แต่ไม่ได้ร่วมวงสนทนากับท่าน

         ส่วนผู้ใดที่ได้เห็นร่างของท่านนบี   หลังจากท่านเสียชีวิต ก่อนจะนำไปฝัง เช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นศอฮาบะฮฺ  อย่างเช่นกรณีของ อะบี ดุอัยบฺ อัลฮุซะลีย์ อัชชาอิร เพราะท่านเพียงแค่ได้เห็นร่างของท่านนบี   ก่อนจะถูกนำไปฝัง 13  ซึ่งชายผู้นี้ ได้ยินเรื่องราวของท่านนบี  และมีความปรารถนาที่จะพบกับท่าน จึงออกเดินทางสู่เมืองมะดีนะฮฺ แต่เมื่อท่านมาถึงก็ปรากฎว่าท่านนบี ได้กลับคืนสู่ความเมตตาของอัลลอฮฺแล้ว เช่นเดียวกับท่าน ซัยดฺ อิบนิ วะฮฺบฺ ได้เดินทางไปยังท่านนบี  และท่านนบี ได้เสียชีวิตลง ขณะที่ท่านซัยดฺ อิบนิ วะฮฺบฺ อยู่ระหว่างทาง

         และยังมีท่าน ก็อยส์ อิบนิ อบี ฮาซิม , ท่านอบู มุสลิม อัลเคาลานีย์ , ท่าน อบูอับดิลลาฮฺ อัศศุนาบิฮีย์ ซึ่งท่านนบี  เสียชีวิต ก่อนที่พวกเขาจะเดินทางไปถึงเพียงไม่กี่คืนเท่านั้น และเช่นกัน ท่าน สุวัยดฺ อิบนิ ฆ๊อฟะละฮฺ ซึ่งไปถึงขณะที่พวกเขาฝังร่างของท่านนบี     เสร็จพอดี 14   ซึ่งทั้งหมดนี้ ไม่นับว่าเป็นศอฮาบะฮฺ ตามคำจำกัดความข้างต้น


         ส่วนคำว่า مؤمنا به  หมายถึง มีความศรัทธาต่อตัวท่านนบี    จึงไม่รวมถึงกาเฟรหรือผู้ปฏิเสธศรัทธาที่เคยเห็นหรือพบปะกับท่านนบี


         หรือ مسلما  เป็น มุสลิม ก็ไม่รวมถึงกาเฟรที่เข้ารับอิสลามหลังจากการเสียชีวิตของท่านนบี  ไปแล้ว อย่างเช่น ฑูต ของกษัตริย์ ก็อยศ็อร ก็ไม่นับว่าเป็นศอฮาบะฮฺ 15


           ومات على الإسلام หมายถึง เสียชีวิตลงในอิสลาม จึงไม่รวมถึงผู้ที่ได้เข้ารับอิสลาม แต่ภายหลัง เขาได้ปฏิเสธศรัทธา และเสียชีวิตลงในสภาพกาเฟร 16  ซึ่งกรณีนี้ปรากฏน้อยมาก อย่างเช่นกรณีของ อุบัยดิลลาฮฺ อิบนุ ญะฮฺชฺอดีตสามีของ ท่านหญิง อุมมิ ฮะบีบะฮฺ ซึ่งเขาได้เข้ารับอิสลามพร้อมกับนาง แล้วได้อพยพไปยังเอธิโอเปียด้วยกัน แต่ภายหลังเขาได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ และได้เสียชีวิตลงในขณะเป็นคริสเตียน


         และในกรณีของ อับดุลลอฮฺ อิบนุ ค็อฏลฺ ซึ่งถูกฆ่าแล้วปรากฏว่ามีเศษผ้าม่านกะอฺบะฮฺแขวนอยู่ที่ตัวเขา. และกรณีของ เราะบีอะฮฺ อิบนิ อุมัยยะฮฺ อิบนิ เคาะลัฟ 17    ส่วนผู้ที่ได้หันกลับไปนับถือศาสนาเดิม แต่ภายหลังได้หวนกลับมานับถือศาสนาอิสลามอีกครั้งก่อนที่เขาจะเสียชีวิตลง ไม่ว่าจะได้มีโอกาสร่วมพบปะกับท่านนบีอีกครั้งหรือไม่ก็ตาม  ยังถือว่าศอฮาบะฮฺตามทัศนะที่ถูกต้องและได้รับการยอมรับ ดังที่กล่าวมาแล้ว

          ทั้งนี้การให้นิยามของคำว่า ศอฮาบะฮฺ  ในทัศนะที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับจากนักวิชาการฟิกฮฺ ( อัลฟุกอฮาอฺ ) และนักอุศูลุลฟิกฮฺ (อัลอุศูลียีน) ส่วนใหญ่  ก็ได้ให้นิยามเช่นเดียวกับนิยามของนักวิชาการหะดีษ  แต่ได้กำหนดเงื่อนไขในเรื่อง ระยะเวลาในการพบปะว่าจะต้องมีความยาวนาน    โดยพวกเขาก็ยังมีความขัดแย้งกันในระยะเวลาดังกล่าวว่า  มีความสั้น-ยาวแค่ใหน 18  สำหรับนักวิชาการอุศูลุลฟิกฮฺที่กล่าวถึงข้างต้น เช่นท่าน อัลอามิดีย์ ในหนังสือ อัลเอี๊ยะฮฺกาม ฟี อุศูลิลอะฮฺกาม , ท่านอัชเชากานีย์ ในหนังสือ อิรชาดุลฟุฮูล ฟี ตะฮฺกี๊กิลฮัก มิน อิลมินอุศูล และท่านอื่นๆ

 

 

 



5.  ตัยซีร มุศฏอลาฮุลหะดีษ หน้า  ๑๔๙
6.  ฟัตฮุลมุฆีษ บิชัรฮิ อัลฟียะติลหะดีษ เล่ม ๔ หน้า ๙
7.  ศอเฮี๊ยะฮฺ อัลบุคอรี  กีตาบ ฟะฎออิล อัศฮาบิลนะบี หน้า ๘๙๗
8.  อะซะดุลฆอบะฮฺ   ฟี มะอฺริฟะติศศอฮาบะฮฺ  เล่ม ๑ หน้า ๑๐ (บทนำ)
9.  เล่มเดียวกัน
10.  ดู นุซฮะตุลนัศร  ฟีเตาฎีฮฺ นุคบะติลฟิกรฺ หน้า ๑๙๘
11.  อัลอะหะดีษ อัลวาริดะฮฺ ฟี ฟะฎออิล อัศศอฮาบะฮฺ เล่ม ๑  หน้า ๕๔
12.  อัลกุรอานแปลไทย (เชิงอรรถ) หน้า  ๑๖๔๔
13.  อะซะดุลฆอบะฮฺ ฟี มะอฺริฟะติศศอฮาบะฮฺ  เล่ม ๑ หน้า ๑๐ (บทนำ)
14.  รูวาตุลหะดีษ วะเฏาะบะกอตุฮุม หน้า ๓๕
15.  อะซะดุลฆอบะฮฺ ฟี มะอฺริฟะติศศอฮาบะฮฺ  เล่ม ๑ หน้า ๑๐ (บทนำ)
16.  เล่มเดียวกัน หน้า ๑๑
17.  ดิรอซาต ฟี ตารีค อัซซุนนะฮฺ อันนะบะวียะฮฺ หน้า ๙๕
18.  อัลอะหะดีษ อัลวาริดะฮฺ ฟี ฟะฎออิล อัศศอฮาบะฮฺ เล่ม ๑  หน้า ๕๙