กรณียกเว้นและข้อกำหนดของเสียงกลอง
  จำนวนคนเข้าชม  9658

กรณียกเว้นและข้อกำหนดของเสียงกลอง


แปลและเรียบเรียงโดย ...อาบิดีณ  โยธาสมุทร


 วันอีด 


ดังหลักฐานต่อไปนี้

จากท่านหญิง อาอิชะฮฺ ร่อฎิยั้ลลอฮุอันฮา กล่าวว่า

“ท่านร่อซูลุ้ลลอฮฺ  ได้เข้ามาหาฉัน ซึ่งขณะนั้นมีเด็กหญิง (หรือทาสหญิง) สองคน  -ซึ่งเป็นชาวอันศ็อร- (ในรายงานอื่นใช้คำว่า ทาสหญิงที่ทำหน้าที่ขับร้องบทเพลงสองคนอยู่กับฉันด้วย) -ในช่วงวัน มีนา ทั้งสองกำลังบรรเลงและตีกลองดัฟ - นางทั้งสองกำลังขับร้องบทเพลงของชาวอันศ็อร (ในบางรายงานระบุว่า ด้วยกับสิ่งที่ชาวอันศ็อรใช้กล่าวกันใน) วันบุอ้าซ ¹  –ซึ่งนางทั้งสองไม่ใช่นักร้อง-   จากนั้นท่านได้ลงนอนบนที่นอนของท่านและผินหน้าของท่าน

และท่านอบูบักรได้เข้ามา -ซึ่งขณะนั้นท่านนบี  คลุมโปงด้วยผ้าของท่าน- แล้วดุฉัน (ในบางรายงานใช้คำว่า แล้วดุนางทั้งสอง)

โดยกล่าวว่า เสียงดนตรีของชัยตอนมาอยู่ตรงท่านร่อซูลุ้ลลอฮฺ    (ในบางรายงานใช้คำว่า เสียงดนตรีของชัยตอนมาอยู่ในบ้านของท่านร่อซูลุลลอฮฺ   กระนั้นหรือ ?) -สองครั้ง- 

ท่านร่อซูลุลลอฮฺ จึงผินหน้ามาหาท่านอบูบักร (ในบางรายงานใช้คำว่า ท่านจึงเปิดหน้าของท่าน) แล้วกล่าวว่า

 “ปล่อยพวกนางเถิด  -โอ้อบูบักร – เพราะแต่ละกลุ่มชนก็มีวันอีดสำหรับพวกเขา และวันนี้ก็เป็นวันอีดของพวกเรา”

 ครั้นเมื่อท่านเผลอฉันจึงสั่งให้พวกนางออกไป”

        (บันทึกโดย อิมามบุคอรีย์)

         ข้อความที่ว่า “เพราะแต่ละกลุ่มชนก็มีวันอีดสำหรับพวกเขา และวันนี้ก็เป็นวันอีดของพวกเรา” นั้น เชคอั้ลอั้ลบานีย์ กล่าวว่า

 “การให้เหตุผลเช่นนี้ นับเป็นส่วนหนึ่งจากความคมคายทางด้านภาษา (بلاغة) ของท่านนบี  เพราะการให้เหตุผลดังกล่าว ด้านหนึ่งบ่งบอกถึงการยอมรับในท่าทีต่อต้านของท่านอบูบักรที่มีต่อเครื่องดนตรี ขณะที่อีกด้านหนึ่งบ่งถึง การยอมรับในการประกอบจังหวะโดยใช้กลองดัฟของเด็กผู้หญิงทั้งสองคน ซึ่งบอกเป็นนัยว่า การยอมรับของท่านในการกระทำดังกล่าวของเด็กผู้หญิงทั้งสองคนนั้น เป็นกรณีที่ได้รับการยกเว้นจากเหตุผลที่ว่า วันนั้นเป็นวันอีด”


         ส่วนการที่ท่านนบี  ไม่ได้ปฏิเสธหรือห้ามปรามการกระทำของเด็กผู้หญิงสองคนนั้น เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในวันอีด ด้วยเหตุนี้ การไม่ห้ามปรามดังกล่าว จึงไม่สามารถหมายรวมถึงวันหรือวาระโอกาสอื่นๆ ที่ไม่ใช่วันอีดได้ เนื่องจากคำสั่งของท่านนบี  ที่ติงท่านอบูบักร  ไม่ให้ห้ามทั้งสองคนจากการที่ท่านกล่าวว่า “ปล่อยพวกนาง” 

ตามด้วยถ้อยคำต่อไปของท่านที่ว่า “เพราะแต่ละกลุ่มชนก็มีวันอีดสำหรับพวกเขา...”

         คำพูดเช่นนี้ถือเป็นประโยคที่กล่าวขึ้นเพื่อแสดงเหตุผลของคำสั่ง ดังกล่าว จึงทำให้เราทราบถึงเหตุผลในการอนุมัติครั้งนี้ ซึ่งหมายถึงวันอีดนั่นเอง และเป็นที่ทราบกันดีว่าข้อชี้ขาดทางด้านศาสนบัญญัติในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะมีขึ้นพร้อมกับสาเหตุของข้อชี้ขาดนั้นๆ เสมอ ถ้าเมื่อใดก็ตามที่ไม่มีสาเหตุ มันก็จะส่งผลให้ข้อชี้ขาดดังกล่าวใช้ไม่ได้กับเรื่องนั้นๆ ด้วยเช่นกัน เช่นถ้าวันนั้นไม่ใช่วันอีด ก็ไม่อนุมัติในเรื่องเสียงเพลง เป็นต้น


ท่านอิบนุตัยมียะฮฺ ได้กล่าวไว้ในสารชื่อ “السماع والرقص” (2:285) ว่า

         ดังนั้น ฮะดีษบทนี้จึงเป็นการชี้แจงให้ทราบว่า การรวมตัวกันเพื่อกระทำการดังกล่าวนั้น มิใช่ธรรมเนียมปฏิบัติของท่านนบี และบรรดาศ่อฮาบะฮฺของท่าน ด้วยเหตุนี้เองท่านอั้ศศิ้ดดี้ก อบูบักร   จึงเรียกเสียงดังกล่าวว่า “เสียงดนตรีของชัยตอน (مزمورالشيطان) ส่วนการที่ท่านนบี  ได้ให้การยอมรับในการกระทำของพวกเด็กผู้หญิงนั้น ถือเป็นการยอมรับที่แจงเหตุไว้ นั่นเพราะเป็นวันอีด และเพราะพวกเด็กๆ ได้รับการผ่อนปรนให้มีการละเล่นในวันอีดได้ ดังมีระบุไว้ในฮะดีษที่ว่า

"ليعلم المشركون أن في ديننا فسحة"

คำแปล “เพื่อให้บรรดาผู้ตั้งภาคีรู้ว่า จริงๆ แล้วในศาสนาของเรานั้นเปิดกว้าง”

(บันทึกโดยอิมามอะฮฺหมัด)

 

  งานแต่งงาน


ดังหลักฐานต่อไปนี้

            1.  จากรายงานของร่อเบี้ยอฺ บินติ มุเอาวิซฺ นางกล่าวว่า ท่านนบี   ได้เข้ามาในวันส่งตัวของฉัน แล้วนั่งบนเตียงของฉัน ซึ่งเป็นที่นั่งเดียวกับที่เธอนั่งคุยกับฉัน (หมายถึงผู้ที่รายงานฮะดีษนี้จากนาง) แล้วพวกเด็กๆ ผู้หญิง (หรือทาสหญิง) ของเราก็ได้บรรเลงกลองดัฟ และขับร้องบทเพลงรำลึกถึงบรรพบุรุษของเราที่ถูกฆ่าตายในวันสงครามบัดรฺ

โดยที่หนึ่งในพวกนางกล่าวว่า “และในหมู่พวกเรามีนบี ที่รู้ถึงสิ่งที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้”

ท่านนบี   จึงกล่าวว่า “จงทิ้งประโยคนี้ซะ และจงกล่าว (ประโยคอื่น) ที่เธอได้กล่าวมา”

(บันทึกโดย อั้ลบุคอรีย์ อั้ลบัยฮะกีย์ อะฮหมัดและท่านอื่นๆ)

อีกรายงานหนึ่งซึ่งเป็นรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮาว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ   ได้กล่าวว่า 

“ไม่มีผู้ใดรู้ถึงสิ่งที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ นอกจากอัลลอฮฺ”

 (บันทักโดย อั้ฏฏ็อบรอนีย์  อั้ลฮากิมและอั้ลบัยฮะกีย์)

 

           2.  มีรายงานจากท่านอบีบัลญฺ  ยะฮฺยา อิบนิ ซุลัยมฺ กล่าวว่า ฉันได้กล่าวกับ มุฮัมมัด อิบนิ ฮาฏิ้บว่า “ฉันได้แต่งงานกับหญิงสองคน ไม่ปรากฏว่ามีเสียงใด หมายถึง เสียงกลองดัฟเกิดขึ้น (ในงานแต่งงานของฉัน) ที่มีขึ้นกับคนใดคนหนึ่งจากนางทั้งสอง”

มูฮัมมัด  อิบนิ ฮาฏิ้บ จึงกล่าวว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ   กล่าวว่า

“เครื่องแบ่งแยกระหว่างสิงอันเป็นที่อนุมัติ (หมายถึงการแต่งงาน) และสิ่งที่ต้องห้าม (หมายถึงการทำซินา) ก็คือเสียง (ที่บรรเลง) ด้วยดัฟ”

(บันทึกโดย อั้ลฮากิม อั้ลบัยฮะกีย์ อันนะซาอีย์ อะฮฺหมัด อัตติรมิซีย์และท่านอื่นๆ)


           3.  จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ   กล่าวว่า

“ท่านทั้งหลายจงประกาศการแต่งงานนี้ และจงให้ (พิธี) มีขึ้นที่มัสยิด และจงบรรเลงกลองดัฟเนื่องด้วยพิธีดังกล่าว”

(บันทึกโดยอัตติรมิซีย์ อิบนุฮิบบานและอัฏฏ็อบรอนีย์)

 

 

 


1. วันบุอ๊าซ ( يوم بعاث) คือ ชื่อวันสำคัญวันหนึ่งของชาวมะดีนะฮฺอันเป็นที่รู้จักกันดี เป็นวันที่เกิดสงครามขึ้นระหว่างเผ่า เอ้าซฺกับเผ่าค็อซรอจในสมัยญาฮิลียะฮฺ (ก่อนอิสลาม) คำว่าบุอ๊าซเป็นชื่อป้อมปราการของเผ่าเอ้าซฺ (อิบนุมันซูร,ลิซานุ้ลอรับ:550)