วิกฤติการณ์เงินโลกในมิติเชิงเปรียบเทียบกับเศรษฐศาสตร์อิสลาม
โดย... ดร. หุซัยน์ ชะหาตะฮ์
6 กฎเกณฑ์ของการมีเสถียรภาพและความมั่นคงในระบอบเศรษฐศาสตร์อิสลาม
ระบอบการเงินและเศรษฐกิจอิสลาม ตลอดจนสถาบันการเงินโดยรวมของระบบอิสลาม จะต้องตั้งอยู่บนหลักการที่ก่อให้เกิดความสงบสุขการมีเสถียรภาพ และความมั่นคง โดยมีอัตราเสี่ยงภัยน้อยมาก เมื่อเทียบกับระบอบที่มนุษย์ได้ตั้งขึ้นมา ซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานของระบบดอกเบี้ย กฎเกณฑ์ที่สำคัญดังกล่าวมีดังนี้
1.กฎเกณฑ์ที่หนึ่ง
ระบบการเงินระบบเศรษฐศาสตร์อิสลามวางอยู่บนบรรทัดฐานของหลักจริยธรรมและคุณธรรม เช่น การมีความสัจจะ ไว้วางใจได้ โปร่งใส ชัดเจน ชี้แจงรายละเอียด ให้อย่างง่าย ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การเกื้อหนุนและการสร้างความเข้มแข็งและสมบูรณ์ซึ่งกันและกัน ดังนั้นจึงพูดได้ว่าไม่มีเศรษฐกิจแบบอิสลาม ที่ปราศจากหลักจริยธรรมและคุณธรรม ซึ่งกฎเกณฑ์เหล่านี้ได้ถูกหล่อหลอมให้เป็นระบบที่ค้ำประกันถึงความสงบสุข ความปลอดภัย และความมั่นคงที่เป็นรูปธรรมให้กับผู้ประกอบการทั้งหลาย และในเวลาเดียวกัน หลักการอิสลามได้ทรงห้ามทุกการประกอบการของกิจกรรมทางการเงินหรือเศรษฐกิจ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการโกหก การพนัน หลอกลวง ฉ้อฉล ไม่ชี้แจงข้อเท็จจริงการกักตุน การแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ความละโมบ การอธรรม และการกินทรัพย์สมบัติของเพื่อนมนุษย์ โดยปราศจากความชอบธรรม
อิสลามถือว่าการยึดมั่นอยู่บนหลักศรัทธา คุณธรรม และจรอยธรรมที่สูงส่ง คือ การภักดีและการเชื่อฟังต่ออัลลอฮฺ (ซุบบะฮานะฮูวะตะอาลา) พระผู้เป็นเจ้า การกระทำดังกล่าวจะได้รับผลตอบแทน หลักศรัทธาดังกล่าวจะส่งผลในการกำกับ และควบคุมพฤติกรรมของมุสลิม ไม่ว่าเขาจะอยู่ในฐานะผู้ผลิต หรือผู้บริโภค ผู้ขาย หรือผู้ซื้อ ไม่ว่าจะจะอยู่ในภาวะที่ธุรกิจมีความเบ่งบาน หรือซบเซาไม่ว่าจะอยู่ในสภาพที่มั่นคง หรือพบกับภาวะวิกฤติ
2.กฎเกณฑ์ที่สอง
ระบบการเงินและเศรษฐศาสตร์อิสลามวางอยู่บนหลักการเข้าหุ้นส่วนร่วมกันทั้งในด้านผลกำไร และการขาดทุน เป็นการกระทำกิจกรรมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทรัพย์และการมีตัวตนของทรัพย์ กิจกรรมต่างๆดังกล่าว ถูกตัดสินและควบคุมด้วยกับกฎต่อไปนี้
1- กฎการอนุมัติ (ฮะลาล) ในสิ่งที่ดีเลิศ
2- กฎที่ว่าด้วยสิ่งที่เหมาะสมและสมควรที่สุดในอิสลาม
3- กฎการทำใหเกิดผลประโยชน์สูงสุดตามหลักศาสนา
4- กฎของผู้ที่ได้รับประโยชน์จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ และใช้จ่ายค่าเสียหาย หรือบำรุงรักษา
ปฎิสัมพันธ์ที่จริงระหว่างเจ้าของทรัพย์และเจ้าของงาน และความสันทัด (ผู้ประกอบการ) ภายใต้กฎเกณฑ์ของความเป็นธรรม ความเป็นจริง และการทุ่มเท กฎเกณฑ์ดังกล่าว จะช่วยผ่อนคลายความหนักหน่วงของวิกฤติการณ์ได้อย่างแน่นอน เนื่องจากจะไม่มีผู้ใดได้รับกำไรอยู่ฝ่ายเดียวตลอดกาล แค่ทั้งหมดมีส่วนร่วมในผลกำไร และขาดทุน
นักนิติศาสตร์ และนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์อิสลาม ได้วางกฎเกณฑ์ของสัญญาการลงทุน และการระดมทุนตามระบอบอิสลามที่วางอยู่บนบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม จากสัญญาดังกล่าวนี้ สำนวนการลงทุนใช้ตามรูปแบบดังนี้ อัลมุฎอรอบะฮ์ (การร่วมลงทุน) อัลมุชารอกะฮ์ (การเข้าหุ้นส่วน) อัลมุรอบะหะฮ์ (การค้าที่เอาผลกำไร) อัลอิซติซนาอ์ (การสร้างงานและอาชีพ) อัสสลัม (การซื้อสินค้าโดยการจ่ายเงินล่วงหน้า) อัลอิญาเราะฮ์ (การเช่าหรือว่าจ้าง) อัลมุซารออะฮ์ (การร่วมลงทุนในการเพาะปลูก) อัลมุซากาต (สัญญาการดูแลรดน้ำพืช) และอื่นๆ
และเช่นเดียวกับศาสนาอิสลามถือว่าทุกสัญญาการร่วมลงทุน หรือระดมทุนทุกชนิดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการกู้ยืมที่มีระบบดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่ศาสนาไม่อนุมัติ และระบบดอกเบี้ยได้กลายเป็นสาเหตุหลักของการเกิดวิกฤติการณ์การเงินโลกในปัจจุบัน
3.กฎเกณฑ์ที่สาม
บทบัญญัติอิสลามไม่อนุมัติการดำเนินกิจกรรมทางการเงินที่อยู่ในรูปตัวเงินสมมุติ 1 ซึ่งตั้งอยู่บนบรรทัดฐานของการเดาสุ่มและเสี่ยงโชค อันเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การหลอกลวง หรือไม่รู้ข้อเท็จจริงของสินค้า นักนิติศาสตร์อิสลามได้ถือว่าทุกกิจกรรมที่มีการประกอบการบนบรรทัดฐานดังกล่าว คือการพนันที่เป็นสิ่งต้องห้ามตามหลักศาสนา
ซึ่งในที่สุดผู้เชี่ยวชาญต่างๆของนักเศรษฐศาสตร์สากลก็ได้ออกมายืนยันว่า ส่วนหนึ่งจากสาเหตุการเกิดวิกฤติการณ์ทางการเงินโลกร่วมสมัยนี้ มาจากการซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้นที่ตั้งอยู่บนบรรทัดฐานของการเดาสุ่ม และไม่มีสินค้าที่แท้จริง เพราะธุรกรรมดังกล่าวไม่ได้เป็นสาเหตุที่แท้จริงของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่มันกลับกลายเป็นสื่อชนิดหนึ่งที่เป็นต้นเหตุการเกิดภาวะเงินเฟ้อ และการถีบตัวของราคาสินค้า ตลอดจนเป็นสิ่งที่ลากจูงมนุษย์ไปสู่ความตกต่ำทางจริยธรรม และศีลธรม และยังเป็นต้นเหตุของการล่มสลามอย่างรวดเร็วของสถาบันการเงินที่ดำเนินธุรกรรมในระบอบดังกล่าว ดังที่ได้เกิดกับตลาดในประเทศเอเชียตะวันออก ก็คือมาจากสาเหตุของปัญหาที่ใกล้เคียงกัน
4.กฎเกณฑ์ที่สี่
บทบัญญัติอิสลามไม่อนุมัติการซื้อขายหนี้ด้วยหนี้ทุกรูปแบบ 2 เช่น การลดมูลค่าพันธบัตร หรือลดมูลค่าเช็ค ในกรณีที่ผู้กู้เงินไม่สามารถชำระหนี้ในงวดหนึ่งใดและเช่นเดียวกันอิสลามไม่อนุมัติระบบผ่อนหนี้ด้วยกับการขึ้นราคาดอกเบี้ยแทน 3 เนื่องจากท่านศาสดา (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ห้ามการซื้อขายหนี้ด้วยหนี้ 4 เนื่องจาการกระทำดังกล่าวตามหลักนิติศาสตร์อิสลามถือว่าเป็นการซื้อขายหนี้ด้วยหนี้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญและนักเศรษฐศาสตร์สากลต่างก็ได้ยืนยันว่าหนึ่งในจำนวนสาเหตุต่างที่ก่อให้เกิดวิกฤติการณ์ด้านการเงินของโลกในยุคนี้ คือการที่บริษัทตัวแทนทางการเงินได้ทำการค้าด้วยระบบค้าหนี้ จึงเป็นชนวนที่ก่อให้เกิดเปลวเพลิงของวิกฤติการณ์นี้
5.กฎเกณฑ์ที่ห้า
ระบบการเงินและระบบเศรษฐศาสตร์อิสลามได้วางอยู่บนหลักพื้นฐานของการให้ความสะดวกง่ายดาย และผ่อนปรนต่อผู้ที่มีหนี้สิน ที่ไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ของตนได้ อย่างสุดความสามรถและมีเหตุอันควรด้วยเหตุสุดวิสัย
พระองค์อัลลอฮฺ (ซุบบะฮานะฮูวะตาอาลา) ได้ทรงตรัสว่า
“และหากเขา (ลูกหนี้) เป็นผู้ยากไร้ ก็จงให้มีการรอคอย จนกว่าจะถึงคราวสะดวก
และการที่พวกเจ้าจะให้เป็นทานนั้น ย่อมเป็นการดีแก่พวกเจ้า หากพวกเจ้ารู้ ”
อัลกุรฺอานซูเราะห์อัลบะกอเราะฮฺ โองการที่ 280
การยืนยันของผู้เชี่ยวชาญและนักเศรษฐศาสตร์สากลได้ระบุว่า หนึ่งในบรรดาสาเหตุที่ก่อให้เกิดวิกฤติการณ์การเงินโลก ก็คือ ลูกหนี้งดการชำระหนี้โดยสิ้นเชิง ส่วนเจ้าหนี้ก็ใช้มาตราการการขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นเรื่อยๆ หรือเปลี่ยนงวดการชำระหนี้เป็นการทบดอกเบี้ยที่สูงขึ้น หรือการยึดหลักทรัพย์ที่ค้ำประกัน เท่ากับเป็นการขับไล่ลูกหนี้ให้อยู่ในสภาพที่ไร้ถิ่นที่อยู่ ประดุจดังคนบ้านแตกสาแหรกขาด ถูกขับไล่ไสส่ง อย่างไม่มีหลักประกันใดๆ จนเป็นเหตุที่ทำให้เกิดการก่อตัวของปัญหาทางสังคม ในทุกๆด้านไม่ว่าจะเป็น ปัญหาด้านทางจิตใจ ด้านสังคม ด้านการเมือง เศรษฐกิจ และอื่นๆ ตามมา
แปลโดย มุหัมมัด บินต่วน
1. เช่นการซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้น – ผู้แปล
2. หมายถึงผู้ซื้อไม่ได้จ่ายเงินในขณะ และผู้ขายก็ไม่มีสินค้าในขณะทำสัญญาซื้อขาย แต่หากในแต่ละฝ่ายมีอย่างหนึ่งอยากใดหรือมีทั้งสองฝ่ายก็เป็นที่อนุมัติการซื้อขายในประเด็นนี้หากผู้ซื้อมีเงินและผู้ขายสินค้าทั้งสองฝ่ายได้ทำสัญญามีรับมอบสินค้าและจ่ายราคากันทันที่เรียกว่า “ซื้อขายสด” เป็นสิ่งที่อิสลามอนุมัติ และหากผู้ซื้อยังไม่จ่ายเงินที่เป็นราคาของสินค้า แต่ผู้ขายได่มอบสินค้าทันทีตามความต้องการของผู้ซื้อเรียกว่า “ซื้อขายเชื่อ” ก็เป็นสิ่งที่อิสลามอนุมันติ ไม่ว่าราคาจะเท่ากับราคาขายสดหรือมากว่าก็ตาม หากผู้ซื้อได้จ่ายเงินก่อนล่วงหน้าแต่ผู้ขายยังไม่มีสินค้าที่จะมอบให้กับลูกค้า หากสินค้ามีคุณสมบัติที่จะรู้กันดีและแน่นอนเรียกว่า “การซื้อขายด้วยการจ่ายล่วงหน้า” ในภาษาอาหรับเรียกว่า “สะลัม” หรือ “สลัฟ” ก็ถือว่าเป็นการซื้อขายที่อิสลามอนุมัติ ส่วนการซื้อขายที่ไม่มีการจ่ายราคาสินค้า และผู้ขายก็ไม่มีสินค้าที่มอบให้ในขณะทำสัญญาซื้อขาย อิสลามถือเป็นการซื้อขายหนี้ด้วยกับหนี้ เป็นการซื้อขายที่ไม่อนุมัติในอิสลาม และสัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะ –ผู้แปล
3. ตัวอย่างหากลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้งวดหนึ่งงวดใดก็ใช้วิธีทบดอกเบี้ยให้สูงขึ้นแทนการที่ไม่สามารถชำระหนี้ในงวดนั้นๆ-ผู้แปล
4.ในบันทึกของสุนันอัดดารฺกุฏนีย์หมายเลข3105 และอัลหากิมหมายเลข 2342 รายงานจาก อิบนุอุมัร(รอฎิยัลลอฮัอันฮุ)ว่า
แท้จริงศาสดา (ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ห้ามการซื้อขายหนี้ด้วยหนี้ – ผู้แปล