สาเหตุหลักของการเกิดวิกฤติระบบการเงินโลก
  จำนวนคนเข้าชม  10181

วิกฤติการณ์เงินโลกในมิติเชิงเปรียบเทียบกับเศรษฐศาสตร์อิสลาม


โดย... ดร. หุซัยน์ ชะหาตะฮ์


3. สาเหตุหลักของการเกิดวิกฤติระบบการเงินโลก


      การตรวจสอบสาเหตุของการเกิดวิกฤติการณ์ ประดุจกุญแจของการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง การคิดวิเคราะห์ใดด้วยกับการใช้หลักการคิดวิเคราะห์ที่ถูกต้องละเอียด และตรงประเด็นเท่ากับเป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง และยั่งยืน

      นักเศรษฐศาสตร์อย่าง โมรีส อะเลีย ได้กล่าวว่า “แท้จริงระบอบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมตั้งอยู่บนบรรทัดฐานบางส่วนของแนวคิด และหลักการที่เป็นสาเหตุของการทำลายตัวมันเอง หากไม่ได้รับการแก้ไขให้กูกต้องโดยด่วน”

และเช่นเดียวกันมีนักเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อถือได้จากจำนวนไม่น้อยต่างก็ได้ทำนายว่าระบอบเศรษฐกิจของโลกยุคใหม่ ตั้งอยู่บนบรรทัดฐานที่จะนำไปสู่การล้มละลายของตัวมันเอง


      ส่วนสาเหตุที่ก่อให้เกิดวิกฤติการณ์นี้ตามทัศนะของพวกเขาสรุปได้ดังนี้


1.ประการที่หนึ่ง

         การขาดจริยธรรมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้แพร่หลายอย่างมาก เช่น การแสวงหาผลประโยชน์ การโกหก การหลอกลวง การกักตุน กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางอย่างที่วางอยู่บนบรรทัดฐานของการคาดเดา และนี้คือสิ่งที่ก่อให้เกิดการสูญเสีย และการฉ้อฉล ซึ่งถือเป็นการอธรรมของผู้ที่เป็นเจ้าของเงินที่เป็นผู้ร่ำรวย และมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ ต่อผู้ที่ยากจน ขัดสน และมีฐานะเป็นลูกหนี้ และอาจจะเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดการแข็งข้อของบรรดาลูกหนี้ และก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงทางสังคม เมื่อพวกเขาไม่สามารถชำระหนี้ของพวกเขาได้

 

2.ประการที่สอง

          วัตถุได้กลายเป็นการละเมิด และเป็นอาวุธของผู้ที่ละเมิด วัตถุได้กลายเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางของระบบการเมือง และกำหนดกฎเกณฑ์การนำพาโลกมนุษย์ ดังนั้น ทรัพย์จึงกลายเป็นสิ่งสักการะเคารพบูชาของนักวัตถุนิยม

 

3. ประการที่สาม

          ธนาคารในระบบดอกเบี้ยได้ดำเนินกิจการอยู่บนระบบดอกเบี้ย ทั้งดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งเท่ากับการดำเนินกิจการภายในกรอบที่มีบรรทัดฐานของการค้าหนี้สิน ทั้งในแง่การซื้อและการขาย คราใดที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากเพิ่มขึ้น ก็จะต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปล่อยให้ ปัจเจกชน บริษัทต่างๆ ผู้ที่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง คือ ธนาคาร หรือพ่อค้าคนกลาง ส่วนภาระที่หนักหน่วงและความอธรรม ก็จะเกิดกับผู้กู้เงินหรือผู้ที่เป็นหนี้ ไม่ว่าจะกู้เพื่อใช้สอยหรือกู้เพื่อการลงทุน

         โดยเหตุนี้มีนักนักเศรษฐศาสตร์บางท่านให้ทรรศนะว่า กิจกรรมภาคเศรษฐกิจยังไม่ได้รับการพัฒนาและส่งเสริมอย่างแท้จริงรวมทั้งการนำมาใช้อย่างฉลาดและมีประสิทธิภาพของกลไกการผลิตที่ยังไม่เกิดขึ้น ยกเว้นจะต้องลดอัตราดอกเบี้ยให้เหลือ 0% (ไม่มี) นี่คือทรรศนะของ อาดัม สมิธ ซึ่งเป็นบิดาของนักเศรษฐศาสตร์ (ตามทรรศนะของท่าน)

         นักเศรษฐศาสตร์เหล่านั้นมีความเห็นว่าทางเลือกที่จะทดแทนระบบทุนนิยมสมัยใหม่ คือ ระบบการร่วมลงทุนที่มีส่วนรับผิดชอบร่วมกันในผลกำไรและขาดทุน เพราะระบบนี้เท่านั้นที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

         พวกเขามีทรรศนะอีกว่า ระบบดอกเบี้ย คือ ระบบที่ลากจูงไปสู่การกระจุกของเงินตราให้อยู่ที่คนบางกลุ่มเพียงหยิบมือเดียว และมีอิทธิพลต่อการครอบงำต่อทรัพยากรต่าง ๆ

 

4.ประการที่สี่

         ระบบการเงิน การธนาคาร ตลอดจนสถาบันการเงินในระบบต่างๆ ได้ดำเนินกิจการด้วยระบบดอกเบี้ย ที่เกี่ยวกับหนี้สิน โดยการเก็บดอกเบี้ยในอัตราสูง หรือหลักการทดแทนหนี้ที่จำเป็นต้องชำระด้วยกับการสร้างหนี้ตัวใหม่ คือการทบอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเช่นเดียวกับผู้ที่กินดอกเบี้ยในยุคญาฮิลียะฮ์ ¹ ได้ใช้สโลแกนว่า“ท่านจะต้องชำระหนี้ หรือจะปล่อยให้ดอกเบี้ยทบทวีคูณ” ระบบดังกล่าวเท่ากับเป็นการสร้างภาระหนี้ให้กับผู้เป็นหนี้ เป็นทวีคูณ ซึ่งเขาเองก็ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ (เงินต้น) ตัวแรกได้ ด้วยกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

 

5. ประการที่ห้า

          ระบบการเงินโลกและระบบตลาดหลักทรัพย์ ได้ดำเนินกิจกรรมอยู่บนระบบที่มีบรรทัดฐานของตัวเงินสมมุติ บรรทัดฐานของการเป็นไปได้และการเสี่ยง แต่ไม่ใช่การดำเนินกิจกรรมทางธุรกรรมที่เป็นรูปธรรมที่มีตัวตนของสินค้าและการให้บริการ ซึ่งกิจกรรมของระบบการเงินตลาดหุ้นหรือหลักทรัพย์จึงไม่ต่างอะไรกับบ่อนการพนัน ที่ให้บริการหารายได้ด้วยกับการเสี่ยงโชค มีทั้งโชคดีและโชคร้าย ซึ่งโดยส่วนใหญ่พวกเขาจะเข้ามาร่วมกิจกรรมโดยการอิงกับเครดิตจากธนาคารต่างๆในรูปแบบของการกู้หนี้ ดังนั้นเมื่อนาวาของพวกเขาต้องประสบกับมรสุมที่ไม่พึงประสงค์ ทุกอย่างก็ล่มสลาย และเกิดภาวะวิกฤติทางการเงิน

 

6. ประการที่หก

         การให้บริการที่ขาดจิตสำนึกด้านจริยธรรมของสถาบันการเงินที่ทำหน้าที่เป็นคนกลาง โดยได้ทำหน้าที่หาลูกค้า ด้วยการโน้มน้าวลูกค้าที่ปรารถนาจะกู้ยืม โดยปกปิดข้อเท็จจริงบางประการ หลอกลวง ใช้เล่ห์เหลี่ยม เพื่อให้เกิดการกู้เงินทางสถาบันการเงินจนเป็นเหตุให้ผู้กู้เงินในปริมาณที่มาก ทั้งที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการขาดทุน ผู้ที่แบกรับภาระทั้งหมดคือ ผู้ที่กู้เงินซึ่งไม่มีพลังใดๆ และเหตุการณ์ดังกล่าวนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และนำไปสู่การเกิดวิกฎติการณ์ในที่สุด

 

7. ประการที่เจ็ด

         การขยายขอบข่ายของระบบบัตรเครดิตจนเกินความจำเป็น จนถึงระดับจ่ายได้โดยไม่มีเงินอยู่ในบัญชี หรือใช้จ่ายได้แม้กระทั่งเกินเงินบัญชีของเจ้าของบัตร ทำให้เจ้าของบัตรเครดิต ต้องใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนมาก จนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤติได้ เช่น ในกรณีที่เจ้าของบัตรเครดิตไม่สามารถชดใช้หนี้สินได้ดอกเบี้ยก็จะถูกเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว และจะเป็นเช่นนี้จนกระทั่งถึงขั้นอายัดบัตร หรือจำนำรถ หรือจำนำบ้านเรือนของผู้เป็นเจ้าของบัตร ดังกล่าวก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงของผู้ที่ครอบครองบัตรเครดิต ที่นำไปสู่ความระส่ำระส่ายในระบบครัวเรือน และเป็นวิกฤติการณ์ที่เกิดกับธนาคารระบบดอกเบี้ย

 


แปลโดย  มุหัมมัด บินต่วน

 

 



1. ยุคก่อนประกาศศาสนาของท่านนบีมูฮัมหมัดซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม