บุคลิกของมุสลิมที่สมบูรณ์แบบ
แปลโดย.... อิบนุลฮัค
บุคลิกดีคือหนึ่งจากตัววัดที่ชี้ถึงความเป็นมุสลิมที่สมบูรณ์แบบ
อิสลามคือศาสนาที่สามารถเข้าใจ และเข้าถึงสิ่งที่มนุษย์ต้องการได้ ครอบคลุมในทุกแง่มุมของชีวิต ( . شحصية المسلم :ص7) เป็นศาสนาที่ไม่อ่อนจนเกินไป และไม่คลั่งไคล้ งมงายจนไร้เหตุผล ไม่สุดโต่ง ไม่รักสันโดษ ไม่รู้จักโลก แต่อิสลามสอนเราให้ใช้ชีวิตโดยยึดทางสายกลาง บนวิถีชีวิตที่นำมาซึ่งความสันติสุขอย่างแท้จริงและยั่งยืนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
ฉะนั้นนอกเหนือจากการที่อิสลามสอนให้เราเป็นบ่าวผู้จงรักภักดี เคารพบูชาต่อพระองค์อัลลอฮ์แล้ว อิสลามได้สอนให้เรานั้นมีการดูแลเอาใจใส่ต่อตัวเองหรือกล่าวอีกแง่หนึ่งคือ สอนให้เรารู้ถึงการสร้างความสุขทางใจด้วยการภักดีต่ออัลลอฮ์ พระเจ้าองค์เดียวเท่านั้น ในการสร้างสุขแก่ตัวเองด้วยการพัฒนาศักยภาพในการเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ปรับปรุงบุคลิกให้ดีขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อผลประโยชน์ที่ดีแก่ตัวของเขา อีกทั้งยังเป็นการสร้างสังคมแวดล้อมที่ดีด้วย อันเนื่องมาจากการเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่กันและกัน เช่นดังที่วีรบุรุษของเราได้รับชัยชนะมาแล้วในยุคพันปีก่อนทั้งที่ท่านได้ถูกส่งมาท่ามกลางสังคมอันเลวร้ายและป่าเถื่อน
ดังที่อัลลอฮ์ ตรัสไว้ว่า
“และโดยแน่นอนในตัวของท่านร่อซูลุลอฮฺนั้นเป็นแบบอย่างที่ดีงามแก่ผู้ที่หวัง(จะพบ)อัลลอฮฺ ในวันปรโลกและรำลึกถึงอัลลอฮฺอย่างมาก”
( الاحزاب21)
มุสลิมที่ดีนั้น คือ ผู้ที่ทำตนเองให้ดีก่อนที่จะเป็นแบบให้แก่ผู้อื่นหรือสอนผู้อื่น เขาต้องคอยสำรวจตัวเองในแง่ต่างๆของตนอยู่เสมอ ไม่ว่าจะในด้านสุขภาพ สรีระร่างกาย หรืออาภร เครื่องนุ่งห่ม ความสะอาด ความเรียบร้อยต่างๆของเขา และเขาจะไม่ปล่อยให้ตัวเองดูบกพร่องในแง่ใดแง่หนึ่งไป หากแต่เขาจะพยายามทำมันให้สมบูรณ์ที่สุดในทุกๆแง่ของชีวิต ทั้งนี้เพื่อว่าอัลลอฮฺจะทรงพอพระทัยในตัวเขากับสิ่งที่เขาได้ทำไป
ครั้งหนึ่งท่านนบี ได้กล่าวเตือนบรรดาศอฮาบะฮฺของท่านถึงเรื่องดังกล่าว และชี้แนะให้พวกเขานั้นใส่ใจในทุกๆด้านของชีวิต ท่านไม่ต้องการให้บรรดาศอฮาบะฮฺเป็นผู้สุดโต่งกับการทำอีบาดะฮ์อย่างเดียว
عن عبد الله بن عمرو بن العاص رضي الله عنه :أن النبي [ص]علم بمغلاته في العبادة فقال :ألم أخبر أنك تصوم النهاروتقوم الليل ؟قال وإن لزوجك عليك حقا ......3
มีรายงานจากอับดุลลอฮฺบินอัมรุอิบนุลอาศว่า แท้จริงท่านนบี รู้ถึงความสุดโต่งเคร่งครัดในการทำอีบาดะฮ์ของเขา ดังนั้นท่านนบี จึงได้กล่าวกับเขาว่า
“ ฉันยังไม่เคยบอกกับเจ้าดอกหรือว่าให้เจ้าถือศีลอดในยามกลางวัน แล้วให้ละหมาดตะอัจญุตในยามกลางคืน
เขาตอบว่า ครับ ท่านร่อซูล
แล้วท่านนบี ได้กล่าวว่า
เจ้าอย่าทำอย่างนี้ แต่จงถือศีล แล้วเมื่อได้เวลาก็ละศีลอด
จงนอนและหากต้องการละหมาดก็ตื่น เพราะแท้จริงร่างกายของเจ้า เจ้าจะต้องให้สิทธิกับมัน
และตาของเจ้า เจ้าต้องให้สิทธิกับมัน และแม้แต่ภรรยาของเจ้า เจ้าก็จะต้องแบ่งปันสิทธิที่นางควรจะได้รับเช่นกัน “
(บันทึกโดยบุคอรีย์ มุสลิม)
จะสร้างบุคลิกที่ดีได้อย่างไร ?
บุคลิกของเราจะดีและสมบูรณ์ได้นั้นต้องประกอบด้วย 3 ด้านด้วยกันคือ
1. บุคลิกภาพทางด้านร่างกาย
2. บุคลิกภาพทางด้านสติปัญญาและการพัฒนาความคิด
3. บุคลิกภาพทางด้านจิตใจ
บุคลิกภาพทางด้านร่างกาย
1.1 การดูแลเอาใจใส่สุขภาพร่างกายและเครื่องอุปโภค บริโภค
ดังนั้นควรรับประทานในสิ่งที่ฮาลาล ไม่ควรรับประทานในสิ่งที่ฮารอมหรือต้องห้าม อาหารที่คลุมเครือ เริ่มต้นในการรับประทานด้วยการกล่าวดุอาอฺจบด้วยดฺอาอฺ รับประทานให้พอดีท้อง ไม่อิ่มจนเกินไปและไม่หิวจนเกินไป ควรขอบคุณอัลลอฮฺทุกครั้งในเนียะฮมัตที่ได้รับ ตลอดถึงมารยาทในการกินด้วย อีกทั้งเรื่องของอาหารการกินนั้นถือเป็นเหตุสำคัญที่อัลลอฮฺจะตอบรับดุอา หรือสาเหตุต่างๆที่จะนำมาซึ่งความสิริมงคลในการดำเนินชีวิต และพึงรู้เถิดว่าเหตุผลหนึ่งที่ว่า ทำไมในสังคมปัจจุบันถึงมีเด็กที่เกเรต่อบิดาและมารดาของเขา นั้นหมายความว่าไม่มีความบารอกะฮฺในชีวิตเพราะ สาเหตุมาจากการกินอาหารที่ไม่ฮาลาล อีกทั้งได้มาในหนทางที่ไม่ฮาลาลนั่นเอง
อัลลอฮฺ ตรัสไว้ว่า
“โอ้ มนุษย์เอ๋ย พวกเจ้าจงรับประทานในสิ่งที่ฮาลาลสิ่งที่ดีที่มีอยู่ในพื้นแผ่นดิน
และจงอย่าได้ปฏิบัติตามแนวทางของชัยฏอน แท้จริงแล้ว มันเป็นศัตรูที่ชัดแจ้งสำหรับพวกเจ้า”
(อัลบากอเราะฮฺ 168 )
1.2 เล่นกีฬาออกกำลังกาย
ท่านนบี เอง ท่านเป็นคนที่ชอบเล่นมวยปล้ำ และการวิ่ง เพราะหากว่า เรามีสุขภาพที่แข็งแรง การที่เราจะทำอะไรก็ย่อมสมบูรณ์กว่าคนทีมีร่างกายอ่อนแอเสมอ ไม่ว่าในเรื่องของการทำอิบาดะฮ์ หรือเรื่องทั่วไป แถมยังช่วยให้เรามีอายุที่ยืนยาว ทำให้ชีวิตแจ่มใสเบิกบาน และช่วยขจัดความขี้เกียจออกไป ดังนั้นบ่าวผู้ศรัทธาเองก็ไม่ควรมองข้ามเรื่องนี้เช่นกัน
ดังที่ท่านนบี ได้กล่าวว่า “บ่าวผู้มีร่างกายที่แข็งแรงนั้นเป็นที่รักใคร่ ณ ที่อัลลอฮฺมากกว่าบ่าวผู้อ่อนแอ”
1.3 หมั่นดูแลเรือนร่างและเสื้อผ้าอาภรณ์ ให้สะอาดดูดีอยู่เสมอ
อิสลามไม่เคยสอนให้บ่าวผู้ศรัทธาเป็นบ่าวผู้สกปรก หากแต่อิสลามได้ส่งเสริมให้มุสลิมดูดีในทุกด้าน และทุกส่วนของเรือนร่างเริ่มตั้งแต่ศีรษะจรดถึงปลายเท้าที่ต้องหมั่นดูแลให้สะอาดอยู่เสมอ ไร้กลิ่นกายไม่ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนผู้อื่น ใส่เสื้อผ้าอาภรที่สะอาดทั้งยามที่อยู่คนเดียวหรือในชนกลุ่มใหญ่ และโดยเฉพาะตอนที่เข้าเฝ้าพระองค์อัลลอฮ์ หรืออาจพูดได้ว่าอิสลามได้ให้ความสำคัญกับความสะอาด รองลงมาจากเรื่องของการเตาฮีดก็ว่าได้ ด้วยกับหลักฐานต่างดังต่อไปนี้
1. ซูเราะฮ์ที่สองที่ถูกประทานลงมาใช้ให้ทำความสะอาดเสื้อผ้าอาภรและอัลลอฮฺใช้ให้ศาสนทูตของอัลลอฮ์ต้องดูดีและสะอาด
“และจงทำความสะอาดอาภรของเจ้า”
( อัลมุดดัศซิร 4 )
2. ท่านนบี ได้กล่าวว่า สิทธิที่มุสลิมทุกคนต้องปฏิบัตินั้นคือ ในรอบสัปดาห์นั้นเขาต้องมีวันหนึ่งที่เขาต้องอาบน้ำชำระร่างกายทั้งตัวของเขา
( บันทึกโดยบุคอรีย์ )
3. ห้ามคนที่มีกลิ่นปากเหม็นเข้าใกล้มัสยิดเพราะเกรงว่าจะทำลายสมาธิผู้อื่นที่ละหมาด
ท่านนบี ได้เคยกล่าวแก่ผู้ที่กินของเหม็นว่า
“ผู้ใดที่กินหัวหอมหัวเทียมและของเหม็นจงอย่าได้เข้าใกล้มัสยิดของเราเด็ดขาด
เพราะแม้แต่มะลาอีกะฮฺเองยังต้องโดนผลร้ายของลูกหลานอาดัมที่พวกเขาก่อขึ้น"
(บันทึกโดยมุสลิม)
1.4 มีลักษณะที่ดี
ลักษณะดีตรงนี้คือการมีลักษณะที่ดีในทุกๆด้าน ทั้งในเรื่องของการแต่งกายดี เรียบร้อย ใส่เครื่องหอม ที่ใครเห็นแล้วสบายตาสบายใจ ไม่ดูเวอร์ และก็ไม่สกปรก อีกทั้งการพูดการจาการวางตัว รวมถึงการเข้าสังคมดี ไม่คุยโอ้อวดหรือเหงข่มผู้อื่น เป็นต้น
การมีลักษณะที่ดีนั้นถือได้ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากในโลกปัจจุบันและโดยเฉพาะผู้รู้ ผู้แบกมรดกของบรรดานบี ทั้งหลายต่อการดะฮฺวะฮฺของเขาที่ต้องเหลียวมอง เพราะการมีลักษณะที่ดีนั้นคือกุญแจดอกสำคัญในการไขความประทับใจของบุคคลที่เขาเชิญชวนได้ดี และเป็นช่องทางหนึ่งที่เขาจะรับฟังเรา คล้อยตามสิ่งที่เราบอกเราพูด อยากที่จะปฏิบัติตามในสิ่งที่เราใช้ เราห้าม
ดังที่ท่านนบี ทำ ซึ่งศอฮาบะฮฺส่วนใหญ่เข้ารับอิสลามเพราะเห็นถึงลักษณะนิสัยของท่านนบี และประทับใจมารยาทที่ดีงามของท่าน ทั้งที่ท่านนบีเองยังไม่ได้บอกให้พวกเขารู้ถึงอิสลามมาก่อน
ดังที่อัลลอฮฺ ได้กล่าวว่า
“โอ้ลูกหลานอาดัมเอ๋ยสู้เจ้าจงประดับตกแต่งอาภรของพวกเจ้าในทุกมัสยิดที่เจ้าไป
และจงรับประทานดื่มกินไปแต่อย่าได้ฟุ่มเฟือย แท้จริงพระองค์มิทรงรักผู้ที่ฟุ่มเฟือยทั้งหลาย”
( อัลอะหฺรอฟ 31)
ท่านนบี ได้กล่าวว่า
“แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺรักที่จะเห็นร่องรอยของเนียอะมัตที่พระองค์ได้ทรงประทานให้แก่บ่าวของพระองค์”
(บันทึกโดยติรมีซีย์ และฮากิม เชคอัลบาเนียได้กล่าวว่าเป็นฮาดีษจัดอยู่ในระดับดี)
และแม้แต่ท่านอิบนุอับบาสเองท่านยังเคยใส่เสื้อราคาถึงหนึ่งพันดินฮัม( 1 الحلية/321 )อีกทั้งท่านนบี ยังกล่าวเตือนแก่พวกเราอีกว่า
"ห้าอย่างที่เราต้องหมั่นดูแลในร่างกายเราคือ
การขลิบปลายอวัยวะเพศ การโกนขนในร่มผ้า การถอนขนรักแร้ การตัดเล็บ ตัดหนวดและเครา"
(บันทึกโดยบุคอรีย์และมุสลิม)
ดังนั้นหากดูให้ดีแล้วจะเห็นได้ว่าอิสลามส่งเสริมให้ทุกคนหมั่นอยู่บนความสวยงาม ดูดี สมถะในส่วนต่างๆตามร่างกายที่มันควรเป็น และตั้งอยู่บนความสมดุลในทุกอย่างแม้เรื่องราวที่อาจดูว่าเป็นเรื่องเล็กก็ตาม เพราะบางครั้งการละเลยสิ่งเล็กๆอาจกลายเป็นสาเหตุใหญ่ ที่ทำให้สังคมไม่ยอมรับในตัวเขาก็เป็นได้
บุคลิกทางด้านสติปัญญาและการพัฒนาศักยาภาพสมอง
การพัฒนาสมองนั้นมีหลายวิธีแต่ที่ดีที่สุดนั้นคือการศึกษาเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เพราะการศึกษานั้นคือกุญแจที่จะไขสิ่งต่างๆในโลกใบนี้และโดยเฉพาะโลกหน้า และดูเหมือนว่าสำหรับการที่เราจะเป็นบ่าวที่สมบูรณ์แบบได้นั้นคงหนีเรื่องการศึกษาไม่ได้อย่างแน่นอน ด้วยเหตุนี้เองเนียอะฮฺมัตแรกที่มีค่าที่สุดแห่งการมีชีวิตในโลกใบนี้หลังจากการกำเนิดมนุษย์และเป็นวะฮีย์แรกของประชาชาตินี้คือ “จงอ่าน” การศึกษาเรียนรู้นั่นเอง
ดังนั้นใครก็ตามที่อยากเข้าสวรรค์และเป็นบ่าวที่พระองค์อัลลอฮฺรักเขาจงเรียนรู้เถิด และใครที่อยากได้ความสุข และมีเกียตริยศในโลกใบนี้ก็จงอย่าทิ้งการศึกษา
การศึกษาไม่ได้เป็นแค่จุดเริ่มต้นของทุกอย่างที่เราอยากได้ หากแต่มันเป็นภาระหน้าทีที่จำเป็นและเกียรติยศที่เราต้องสรรหาอีกด้วย และมันเป็นหน้าที่ที่มุสลิมจะต้องเรียนรู้เรื่อยไปจนกระทั่งเท้าซ้ายของเขาจะก้าวเข้าสู่สวนสวรรค์
ท่านนบี กล่าวว่า “การศึกษาวิชาความรู้นั้นเป็นหน้าที่ที่มุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติ”
(บันทึกโดยบุคอรีย์และมุสลิม)
อัลลอฮฺ ได้ตรัสว่า
“พระองค์อัลลอฮฺจะทรงยกเกียรติบรรดาผู้ที่ศรัทธาในหมู่พวกท่าน และบรรดาผู้รู้เป็นชั้นๆ(ตามระดับอีหม่านและความรู้ของเขา)
และอัลลอฮ์นั้นทรงรู้ดียิ่งในสิ่งที่พวกท่านปฏิบัติ”
(อัลมุยาดะละหฺ 11)
บรรพชนของเราชาวสลัฟ ฟุศซอเละฮ์พวกเขาไม่เคยที่จะนอนแนบกายบนเตียงนอนอย่างสุขสม แต่เขาเลือกที่ใช่ชีวิตที่มีค่าตามคำสั่งของท่านนบี ด้วยการศึกษาอยู่ตลอดถึงแม้ว่าความตายกำลังคร่าชีวิตของเขาอยู่ ปากของเขาก็ยังไม่เคยทิ้งที่จะทบทวนบทเรียน มือของเขาก็ไม่เคยที่จะวางปากกาแล้วหันไปหาสิ่งอื่น ตาของเขาก็ไม่เคยที่จะหันเหลือบมองสิ่งอื่น และด้วยเหตุนี้แหละที่ทำให้ผลงานของเขายังอยู่มาจวบจนปัจจุบัน ถึงแม้ว่าวันนี้เขาได้กลับไปสู่ร่มเงาของอัลลอฮฺ แล้วก็ตาม แต่ความรู้ของเขายังมีชีวิตอยู่ไม่เคยตาย
ตัวอย่าง เชคอุศัยมีน และเชคญิบรีล นักปราชมุสลิมในยุคเราท่านทั้งสองได้เสียชีวิตในขณะสอนนักเรียน อัลอุอักบัร...
คุณลักษณะของผู้เรียนรู้และวิธีการการศึกษา
1. บริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮ์ องค์เดียวและไม่หวังผลประโยชน์แอบแฝงใดๆในโลกดุนยา
ผู้อ่านเคยลองตั้งคำถามกับตัวบ้างไหมว่าทำไมท่านอีหม่ามบุคอรีย์ อีหม่ามมุสลิม และอีหม่ามฟิกต่างๆ เช่น อีหม่ามชาฟีอีย์ รวมถึงนักปราชร่วมสมัยในยุคปัจจุบันว่า ทำไมพวกเขามีความรู้ที่เก่งกาจขนาดนั้น เขาสามารถท่องจำหนังสือเป็นว่าเล่น อาดีษทั้งหมดจำอย่างขึ้นใจและเก่งกว่าคอมพิวเตอร์ ทั้งที่ทั้งหมดล้วนต่างมาจากศูนย์เหมือนเรา ...
คำตอบ คือเพราะว่าเขามีความบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮฺอย่างจริงๆ เลยเป็นเหตุผลหลักที่พระองค์ทรงให้เขาเป็นนักปราชญ์แห่งประชาชาตินี้ และผู้ใดที่บริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮฺ อัลลอฮ์ จะให้เขาเป็นบ่าวที่พระองค์รักอย่างแน่นอน เช่นดังที่พระองค์ได้ให้กับบรรดาอุลามาเหล่านั้น ( معالم في طريق طلب العلم :ص 30)
2. เรียนต่อเนื่อง อย่างสม่ำเสมอ
3. เริ่มเรียนจากหนังสือเล็กไปหาเล่มใหญ่ ไม่ควรเริ่มจากเล่มใหญ่ไปหาเล่มเล็ก เพราะจะทำให้เกิดการผิดพลาดและสับสนได้ง่าย
เชคชังกีตีย์ได้กล่าวว่า การเรียนรู้ในเรื่องราวของศาสนานั้นมีสามระดับคือ การเรียนให้เข้าใจความหมายของตัวบท การทำความเข้าใจในความรู้ที่ขัดแย้งกัน จากหลากคำพูดจากหลายคนกล่าว และระดับสุดท้ายคือการตัดสิน ให้น้ำหนักในคำพูดและความรู้นั้นๆว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด ...(ผู้แปล) ( 2 محاضرة الشيخ محمد مختار الشنقيطي :وصية لطالب العلم في طلبه)
4. อย่าเปลี่ยนเล่มใหม่หากยังไม่เข้าใจเล่มที่กำลังเรียนอยู่ เพราะจะทำให้สับสนได้และยากต่อการสรุปเมื่อเราเรียนเล่มใหม่หรือบางทีอาจจับต้นชนปลายไม่ได้ และถ้าหากเป็นไปได้ควรท่องบทสรุปของแต่ละวิชานั้นหรือที่เรียกว่า ตัวบท(มะตัน)ให้แม่นยำก่อนหันไปอ่านคำอธิบายของวิชานั้นๆ
5. ควรเริ่มท่องกุรอ่านเป็นสิ่งแรก ถ้าอยากจะเป็นนักปราชญ์ในวันหน้า เพราะหากลองมองย้อนกลับไปดูอุลามาอ์ส่วนใหญ่ก้าวแรกของเขานั้นคือการท่องจำอัลกรุอ่าน และสมัยนบี ก็เช่นกัน ช่วงแรกเริ่มของอิสลามนั้นท่านนบี ห้ามจดบันทึกสิ่งใดนอกเหนือจากอัลกรุอ่านเพราะเกรงว่าจะเกิดความสับสนและขาดความเม่นยำ
6. รองลงมาให้ต่อด้วยการท่องจำฮะดีษ และต่อด้วย วิชานะฮูศอร้อฟ และภาษาอาหรับ และเมื่อได้แล้วก็หันไปเรียนวิชาอื่นๆ
7. ควรเรียนให้เก่งและชำนาญไปเฉพาะทาง สาขาด้านใดสาขาหนึ่ง
8. เป็นคนชอบใฝ่รู้ ขยันถาม ขยันคิด และพยายามท่องและจดจำให้มาก แต่จงอย่าพูดหรือตอบหากไม่มั่นใจ เพราะการตอบโดยไม่รู้นั้น คือสาเหตุกี่มากน้อยมาแล้วที่ทำให้ศาสนาต้องพังพินาศ
มีคนได้ถามท่านอิบนุอับบาสว่า ทำยังไงท่านถึงเก่งเหลือเกินท่านมีวิธีอะไร ? ท่านได้ตอบว่า ลิ้นมีให้ถาม สมองมีให้จดจำและคิด
9. วายิบ จำเป็นต้องศึกษาภาษาใดภาษาหนึ่งเพื่อเป็นภาษาที่สองของตนเป็นบันใดสู่โลกใหม่ และเป็นประตูที่สำคัญในการเรียกร้องคนต่างสัญชาติ ซึ่งท่านนบี ได้กำชับแก่เราตั้งแต่สิบห้าศตวรรษมาแล้ว ทั้งนี้เพื่อที่มุสลิมจะได้มีบทบาทต่างๆในการสัมพันธไมตรีแก่ประเทศเพื่อนบ้านของเขาได้ดียิ่งขึ้น และเพื่อความสะดวกที่จะเกิดขึ้นในระหว่างหมู่ชนด้วยกัน
ท่าน เซดบินซาบิรได้กล่าวว่า แท้จริงท่านนบี ได้กล่าวกับเขาว่า
“โอ้ เซด เจ้าจงศึกษาคัมภีร์ภาษายิวให้ฉันหน่อย เพราะแท้จริง ฉันขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ว่า ฉันเองไม่ไว้ใจพวกยิว(ว่าเขาจะทำอะไร)กับคัมภีร์ของฉันบ้าง
เซด ก็ได้เล่าต่อว่า ดังนั้นฉันก็ได้เรียนมัน แล้วเมื่อเวลาผ่านไปครึ่งเดือน เมื่อท่านรอซูลต้องการจะส่งสารไปยังพวกเขาฉันก็เป็นคนเขียนให้กับท่าน และฉันก็เป็นคนอ่านให้ท่านฟังเมื่อยามที่พวกเขาได้เขียนสาสน์มาหาท่าน”
(บันทึกโดย ติรมีซีย์ เชคอัลบาเนียกล่าวว่าเป็นอาดีษจัดอยู่ในระดับดี)
บุคลิกทางด้านจิตวิญญาณในการเป็นมุสลิม
สำหรับมุสลิมแล้วจิตวิญญาณในการเป็นมุสลิมนั้นคือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนตัวของเขาให้เป็นบ่าวผู้ศรัทธาที่พระองค์รัก และเป็นบ่าวผู้ยำแกรงต่อพระองค์ที่ดีได้ เขาจะรักหรือขี้เกียจในการทำอิบาดะฮ์หรือไม่ ตลอดจนการใช้ชีวิต การทำดีต่อเพื่อนมนุษย์ การเผยแพร่และผลงานต่างๆที่ได้ตอบแทนแก่สังคมมากน้อยแค่ไหน ต่างก็ขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ที่ได้มาจากการมีวิญญาณแห่งการอีหม่านของเขานั้นเอง
มุสลิมไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใดก็ยังคงเป็นบ่าวผู้ยึดมั่นในศาสนาของพระองค์อัลลอฮ์อยู่เสมอ บวกกับพลังแห่งอีหม่านที่ฝังลึกในก้นบึงของหัวใจ ซึ่งคอยเป็นแรงกระตุ้นให้ร่างกายและสมองให้เดินอยู่บนหนทางที่เที่ยงตรง ดังนั้นชีวิตมุสลิมคือชีวิตที่ต่างจากคนอื่นๆและหุ่นยนต์ เพราะชีวิตมุสลิม คือ ชีวิตที่จิตวิญญาณกับร่างกายต่างเดินไปด้วยกันซึ่งมิอาจแยกจากกันได้ และแตกต่างจากชีวิตอื่นที่จิตวิญญาณกับร่างกายนั้นเดินแยกกันคนละทาง
จะสร้างจิตวิญญาณในการเป็นมุสลิมที่อัลลอฮ์ต้องการได้อย่างไร การสร้างนั้นพอที่จะทำได้หลายวิธีแต่สิ่งที่หลักๆนั้นได้แก่
1. สร้างจิตวิญญาณด้วยการทำอิบาดะฮ์และการศึกษาวิชาความรู้
“ท่านรอซูล เคยกล่าวแก่บรรดาศอฮาบะฮ์ของท่านว่า ท่านทั้งหลายจงฟื้นฟูอีหม่านของพวกท่าน
มีศอฮาบะฮฺท่านหนึ่งได้เอ่ยถามขึ้นมาว่า โอ้ท่านรอซูล เราจะฟื้นฟูอีหม่านของเราได้อย่างไรกัน?
ท่านก็ได้ตอบว่า พวกท่านจงกล่าวคำว่า ลาฮิลาฮา ฮิลลัลลอฮฺให้มากๆ”
( บันทึกโดยอะหมัด อาดีษสายรายงานดี)
ท่านอบูซุฟยานอัสเซารีย์ได้กล่าวว่า ฉันไม่เคยปรับปรุง เยียวยาตัวของฉันสิ่งใดมากไปกว่า เนียตของฉัน(เจตนารมณ์)
(الطريق الي السعادة :للشيخ قاسم امام مسجد النبوي :ص5 )
2. การคบเพื่อน คบเพื่อนที่ดี นั่งร่วมวงคนดีมีอีหม่าน หรือวงความรู้
เช่นการกระทำของอับดุลลอฮฺบินรอวาฮะฮฺ ดังอะดีษที่ว่า ท่านอับดุลลอฮ์ เมื่อท่านได้เจอศอฮาบะฮฺของท่านรอซูลคนใดท่านก็จะกล่าวเชิญคนนั้นว่า ขอให้ท่านมาที่นี่ มาศรัทธากับพระผู้อภิบาลของเราสักชั่วโมง ,แล้วเมื่อท่านนบี รู้ท่านก็ยินดีแล้วได้บอกกับศอฮาบะฮฺท่านอื่นว่า อัลลอฮ์ได้เมตตาอิบนุรอวาอะฮ์ แล้ว แท้จริงเขาเป็นคนรักวงนั่งที่มลาอิกะฮ์ชอบอยู่
(บันทึกโดย อะหมัด อะดีษสายรายงานที่ดี)
3. หมั่นดุอาขอพรต่ออัลลอฮฺ ขอความช่วยเหลือต่ออัลลอฮฺ
มีรายงานจากท่านยาบีรบินอับดิลลาฮ์ ว่า
ท่านรอซูลได้กล่าวว่า เอาไหม ? ฉันจะแนะนำให้พวกท่านซักอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้พวกท่านรอดพ้นจากศัตรูของพวกท่านและจะช่วยให้ ปัจจัยยังชีพของพวกท่านให้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น(นั้นก็คือ) เจ้าต้องดุอาต่ออัลลอฮ์ทั้งในยามกลางวันและกลางคืนของพวกท่าน เพราะแท้จริงดุอา คือ อาวุธของบ่าวผู้ศรัทธา
(หนังสือมุสนัดอะบียะฮฺลา เลขที่ 1812)
จากข้างต้นที่กล่าวมาทั้งหมดดูเหมือนว่าใครเล่า ? ในพื้นพิภพนี้จะโชคดีไปกว่าผู้ที่เป็นมุสลิม ผู้ที่เป็นบ่าวของอัลลอฮ์ ที่ศาสนาได้สอนอธิบายทุกอย่างในการดำเนินชีวิต ครอบคลุมในทุกแง่มุม ดังนั้นจะมีศาสนาใดอื่นจากนี้อีกหรือ? ที่เราจะสรรหา.....หากคำตอบของเราคือไม่....ดั้งนั้น ท่านจงเป็นบ่าวผู้ศรัทธาในอัลลอฮ์ เถิด แล้วทุกอย่างในโลกนี้และโลกหน้าจะเป็นของคุณ
สรุปและเรียบเรียงจากหนังสือบุคลิกของมุสลิม (หน้า 33-54)
شخصية المسلم :د.محمد علي الهاشمي "دارالبشائر الاسلامي