การรวบรวมอัลกุรอาน ในสมัยท่านอุษมาน
  จำนวนคนเข้าชม  17571

ความพยายามของบรรดาศอฮาบะฮ์ในการรวบรวมอัลกุรอาน 8


โดย...  ญาลีละฮ์ รัตโส


ขั้นตอนที่ 3: การรวบรวมอัลกุรอาน ในสมัยท่านอุษมาน


          ในสมัยท่านอุษมานนับว่าเป็นสมัยที่สองที่ได้มีการรวบรวมอัลกุรอานไว้ในเล่มเดียว1   แต่ทว่าการรวบรวมอัลกุรอานในสมัยท่านอุษมาน แตกต่างจากการรวบรวมในสมัยท่านอบูบักร ทั้ง สาเหตุ วิธีการ และขั้นตอน การรวบรวมอัลกุรอานในสมัยท่านอุษมานเกิดขึ้นด้วยเหตุผลต่างๆ คือ
 
        ท่านได้เล็งเห็นถึงอันตราย และความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชาติอิสลามเกี่ยวกับการอ่าน อัลกุรอาน อันเป็นเหตุสืบเนื่องมาจากการประทานลงมาของ อัลกุรอาน ด้วย 7  สำเนียงภาษา 2

قال رسول الله   : ((إنّ هذا القرآن أنزل على سبعة أحرف فاقرؤا ما تيسّر منه)) 3

ดั่งที่ท่านรอซูล   กล่าวว่า

  "แท้จริง อัลกุรอาน ได้ถูกประทานลงมา 7 สำเนียงภาษาด้วยกัน ท่านทั้งหลายจงอ่านสิ่งที่จะทำให้เกิดความง่ายดายจาก อัลกุรอานนั้น"

 

         โดย อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมาครั้งแรกด้วยสำเนียงภาษาของเผ่ากุเรช และเพื่อให้เกิดความง่ายดายแก่ประชาชาติ อัลกุรอานจึงถูกประทานลงมาด้วย 7 สำเนียงภาษา ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพื่อความสะดวกง่ายดายในการศึกษาและการท่องจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนชรา ผู้อาวุโส เด็กๆและผู้ที่อ่านไม่ออกและเขียนไม่เป็น ในขณะที่มุสลิมได้กระจัดกระจายกันออกไปทุกๆเผ่าพ้อง ก็ได้อ่าน อัลกุรอ่านตามสำเนียงที่ได้ถูกประทานลงมายังพวกเขา 

         แท้จริงแล้วภาษาอาหรับหากบันทึกโดยปราศจาก (จุด) ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกถึงความแตกต่างระหว่างตัวอักษรต่างๆเช่น (ب ت ث ن) ( ج ح خ) (د ذ) (ر ز) (س ش) (ص ض) ( ط ظ) ( ع غ) ف ق)   หากว่าไม่ใช่เจ้าของภาษาแล้วก็จะไม่สามารถที่จะแยกแยะคำแต่ละคำได้เลย นอกจากเจ้าของภาษาที่คุ้นเคยกับภาษาอาหรับเป็นอย่างดี ในขณะที่ช่วงเวลานั้นมีผู้เข้ารับอิสลามที่ไม่ใช่ชาวอาหรับเยอะแยะมากมาย พวกเขาไม่สามารถที่จะแบ่งแยกความแตกต่างของคำแต่ละคำได้ จากตรงนี้นี่เองคือต้นกำเนิดของความขัดแย้ง


        เมื่อข่าวการขัดแย้งได้แพร่สะพัดออกไป  ท่านฮุซัยฟะฮ์ บิน อัลยะมาน ได้มาพบท่านอุษมาน ณ เมืองมะดีนะฮ์ ซึ่งก่อนหน้านั้นท่านฮุซัยฟะฮ์ได้อยู่ระหว่างการทำสงครามพิชิตอาร์เมเนียและอาร์เซอร์ไบจัน และท่านได้พูดคุยกับท่านอุษมานถึงความขัดแย้งของชาวชาม 4  และชาวอิรักในการอ่านอัลกุรอาน เนื่องจากเกรงว่าประชาชาติอิสลามจะขัดแย้งกันในการอ่านอัลกุรอาน เสมือนกับการขัดแย้งของชาวยิวและคริสเตียน 5

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นสามารถสรุปได้จาก 3 เหตุการณ์ ดังนี้

-  ความขัดแย้งระหว่างครูบาอาจารย์ที่เกิดขึ้นในมัสยิด

-  ความขัดแย้งระหว่างผู้อ่าน อัล-กุรอาน( القراء) ในเมืองที่อาศัยอยู่ร่วมกัน

-  ความขัดแย้งระหว่างผู้คนในแคว้นเดียวกัน และ แคว้นอื่นๆ

         อย่างไรก็ตาม จากคำแนะนำของท่านฮุซัยฟะฮ์ และผู้อาวุโสท่านอื่น ทำให้ท่านอุษมานและพวกเขาเหล่านั้นเห็นพ้องต้องกันว่า จะต้องมีการรวบรวม อัลกุรอาน ทั้งหมดไว้ในการอ่านเดียวกัน และจะไม่มีกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดที่ต่างออกไปจากการอ่านนี้

        เพื่อเป็นการบรรลุถึงเป้าหมาย ท่านอุษมานได้ส่งสารไปยังท่านหญิงฮัฟเซาะห์ ให้เผาอัลกุรอานที่เหลือทั้งหมดทิ้ง ส่วนคัมภีร์ที่ถูกยกเลิกในสมัยนั้นยังมีจำนวนที่ไม่แน่นอน บ้างก็ว่ามีทั้งหมด 4 เล่ม, บ้างก็ว่า 5 เล่ม, บ้างก็ว่า 7 เล่ม ถูกเก็บรักษาไว้ที่มะดีนะห์ 1 เล่ม ส่วนที่เหลือได้ถูกส่งไปยังมักกะห์, เยเมน, บะฮ์เรน, บัศเราะห์, กูฟะห์ และชาม ซึ่งหมายความว่า 3 เล่มถูกแจกในคาบสมุทรอาหรับ ส่วนที่เหลืออยู่นอกคาบสมุทรอาหรับ 6

 

สาเหตุการรวบรวม อัลกุรอาน ในสมัยท่านอุษมาน

         สาเหตุการรวบรวม อัลกุรอานในสมัยท่านอบูบักร เพราะเกรงว่า อัลกุรอาน จะสูญสลายไปพร้อมกับการชะฮีดผู้ท่องจำ อัลกุรอานในสงคราม ส่วนการรวบรวม อัลกุรอานในสมัยท่านอุษมาน เพราะเกรงว่าจะมีการขัดแย้งกันเกี่ยวกับการอ่านของผู้ที่อาศัยอยู่ในแคว้นต่างๆ ขณะที่ทุกๆแคว้นมีการอ่านที่แตกต่างกันไปจากแคว้นอื่นๆ และต่างก็ยึดถือว่าแนวการอ่านของตนถูกต้องและดีที่สุด ดังกล่าวนั่นเอง ทำให้เกิดการกล่าวหากันเกี่ยวกับความผิดพลาดของอีกบางส่วน

        มีรายงานจากอิหม่ามบุคอรีย์และมุสลิมว่า

ท่านอุมัร บิน ค็อตตอบ กล่าวว่า : ฉันได้ยินฮิชาม บิน ฮะกีม ขณะที่กำลังอ่านซูเราะห์ อัล-ฟุรกอนในสมัยท่านนบี  และฉันเองก็ได้สดับฟังการอ่านของเขา ขณะที่เขากำลังอ่านซูเราะห์นั้นกับการอ่านที่แตกต่างไป และท่านรอซู้ล ไม่เคยอ่านมัน, และฉันก็เกือบที่จะกระโจนใส่ตัวเขาในเวลาละหมาด, แต่ฉันก็ยังคงรอจนกระทั่งเขาให้สลาม หลังจากนั้นฉันได้ฟาดเขากับเสื้อคลุมของฉัน

และได้กล่าวกับเขาว่า: ใครอ่านซูเราะห์นี้ให้ท่านฟัง ?

เขาตอบว่า : ท่านรอซูล  เป็นผู้อ่านให้ฉันฟัง

ฉันได้กล่าวต่ออีกว่า : ท่านพูดโกหก! ขอสาบานต่ออัลลอฮ์แท้จริงท่านรอซูล  เคยอ่านซูเราะห์นี้ให้ฉันฟังซึ่งเป็นการอ่านที่ต่างกับการอ่านของท่าน และฉันได้นำเขาไปยังท่านรอซูล

และได้กล่าวกับท่านว่า : โอ้รอซู้ลของอัลลอฮ์   แท้จริงฉันได้ฟังเขาอ่านซูเราะห์ อัล-ฟุรกอนกับการอ่านที่ท่านไม่เคยอ่านให้ฉันฟัง ขณะที่ท่านก็เคยอ่านซูเราะห์นี้ให้ฉันฟังแล้ว

ท่านรอซู้ล  กล่าวว่า : โอ้อุมัร นำเขามา, ฮิชามเอ๋ย จงอ่านซิ! แล้วท่านฮิชามก็ได้อ่านการอ่านซึ่งเขาเคยฟังมันมา

ท่านรอซู้ล  กล่าวว่า : เช่นนี้แหละที่ได้ถูกประทานลงมา

หลังจากนั้นท่านรอซูล  กล่าวว่า : " แท้จริง อัล-กุรอานถูกประทานลงมา 7 สำเนียงภาษาด้วยกัน ท่านทั้งหลายจงอ่านสิ่งที่ง่ายดายจาก อัล-กุรอานนั้น"  7

 

ใครคือผู้ที่รวบรวม อัล-กุรอานในสมัยท่านอุษมาน

        หลังจากที่มีข้อเสนอให้ทุกๆแคว้นอ่าน อัลกุรอานในสำเนียงภาษาเดียวกัน เพราะเกรงว่าหากวันนี้เกิดความขัดแย้ง ต่อไปข้างหน้าคนรุ่นหลังจะยิ่งขัดแย้งกันหนักกว่านี้

          ที่ประชุมเห็นด้วยกับท่านอุษมาน ท่านจึงส่งคนไปยังท่านหญิงอัฟเซาะห์ เพื่อขอนำแผ่นบันทึกที่รวบรวมไว้มาคัดลอกใหม่ โดยบางส่วนของบรรดาศอฮาบะฮ์ได้แก่ เซด บิน ษาบิต, อับดุลลอฮ์ บิน ซุเบร, ซะอีด บิน อาซ, อับดุลเราะห์มาน บิน ฮาริษ, โดยท่านอุษมานแนะนำว่า หากมีการขัดแย้งกันเกี่ยวกับการอ่าน ก็ให้ถือสำเนียงภาษาของเผ่ากุเรชเป็นเกณฑ์ เพราะ อัลกุรอานถูกประทานมาด้วยภาษาของพวกเขา

 

วิธีการรวบรวม อัล-กุรอานในสมัยท่านอุษมาน

        หลังจากคำแนะนำของท่านอุษมานว่า หากมีการขัดแย้งกันเกี่ยวกับการอ่าน ก็ให้ถือสำเนียงภาษาของเผ่ากุเรชเป็นเกณฑ์ เพราะ อัลกุรอาน ถูกประทานมาด้วยภาษาของพวกเขา เมื่อเสร็จภารกิจการคัดลอกจากแผ่นบันทึกต่างๆที่ท่านอบูบักรเคยรวบรวมไว้แล้ว ท่านคอลีฟะฮ์ก็ได้จัดส่ง อัลกุรอานที่เขียนขึ้นใหม่ไปยังทุกเขตแคว้น และมีคำสั่งให้เผาฉบับอื่น ๆ ที่มีการบันทึกไว้ทั้งหมด ให้ยึดถือเฉพาะที่เป็นสำเนียงของเผ่ากุเรชเท่านั้น

          หลังจากที่ได้คัดลอกใหม่แล้ว อัลกุรอานก็ได้ถูกจัดส่งไปยังทุกหัวเมือง และได้เผาอัลกุรอานฉบับอื่น ๆ ที่ขัดแย้งเสียทั้งหมด ด้วยการกระทำดังกล่าวนี้เอง อัลกุรอานจึงได้รับการปกป้องไว้สำหรับบรรดามุสลิมมาจนถึงปัจจุบันและตราบจนถึงวันสิ้นโลก 8

 

แนวทางการรวบรวม อัลกุรอานของท่านอุษมาน

ท่านอุษมานได้วางกฎเกณท์ต่างๆในการรวบรวม อัลกุรอานไว้ ดังนี้

     1- พิจารณาถึงฉบับสำเนาต่างๆซึ่ง ท่านเซด บิน ษาบิต เคยรวบรวมไว้ในสมัยท่านอบูบักร โดยยึดถือเป็นดั่งรากฐานในการยกเลิกคัมภีร์ที่เหลือ

     2- ขณะที่เกิดการขัดแย้งให้ยึดเอาการอ่านของชาวกุเรช

     3- อายาตต่างๆที่ถูกเก็บรักษาไว้จะต้องเป็นอายะห์ที่ตรงกับมุสฮัฟ (คัมภีร์) ของท่านอบูบักร

     4- จะไม่บันทึกสิ่งใดนอกจากจะมั่นใจว่าสิ่งนั้นยังไม่ถูกยกเลิก

     5- จะไม่บันทึกสิ่งใดเว้นแต่จะต้องนำเสนอสิ่งนั้นแก่บรรดาศอฮาบะฮ์

     6- คำๆใดที่ไม่ขัดแย้งกันด้านการอ่านจะมีการบันทึก  ส่วนคำใดก็ตามที่แตกต่างกันจากการอ่านแต่สามารถบันทึกได้ ก็จะเก็บบันทึก เช่น ความแตกต่างของ (จุด) ที่อยู่บนพยัญชนะภาษาอาหรับ เช่น คำว่า  (ننشزها)  จากอายะห์ที่ว่า  وانظر إلى العظام كيف ننشزها} } อายะห์ดังกล่าวสามารถอ่านด้วยกับ الزاي เช่นเดียวกับที่สามารถอ่านด้วยกับ الراء

     7- คำที่แตกต่างกันทางด้านการอ่าน และไม่สามารถนำมารวมกันด้วยการบันทึกแบบเดียวกันได้ ก็จะมีการบันทึกหนึ่งที่อนุญาตให้อ่านแบบหนึ่ง และอนุญาตให้อ่านอีกแบบเช่นกัน

قال تعالى: {تجري من تحتها الأنهار} ،  قال تعالى: {تجري تحتها الأنهار}0

ด้วยการเพิ่ม (من  ) แต่สามารถอ่านได้ทั้งสองลักษณะ

 

 

 


1.  عصر الخلافة الراشدة، ص83
2.  บรรดาอุลามาอ์ได้ให้ความหมายของคำว่า (سبعة أحرف) หรือ เจ็ดสำเนียงภาษาไว้มากมายด้วยกัน หนึ่งในนั้น คือ ท่านอิหม่าม อบี อัลฟัดล์       อัร-รอซีย์ ซึ่งให้ความหมายว่า แนวทางต่างๆซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงและการขัดแย้ง
3.  أخرجه البخاري، كتاب فضائل القرآن، باب أنزل القرآن على سبعة أحرف، ج7، ص 184. و سنن أبي داود ، كتاب الوتر، باب أنزل القرآن على سبعة أحرف، ح 1475، ص 177.
4.  ปัจจุบันคือประเทศ ( ปาเลสไตน์ – จอร์แดน – ซีเรีย – เลบานอน )
5.  العواصم من القواصم، ص52
6.  تاريخ خلفاء الراشدين، ص 267
7.  مناهل العرفان في علوم القرآن، ص: 139
8.  مباحث في علوم القرآن، ص145