ความพยายามของบรรดาศอฮาบะฮ์ในการรวบรวมอัลกุรอาน 7
โดย... ญาลีละฮ์ รัตโส
ขั้นตอนที่ 2: การรวบรวม อัลกุรอาน ในสมัยท่านอบูบักร
หลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมรภูมิอัลริดดะฮ์1 โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามยะมามะฮ์2 ซึ่งทำให้อิสลามสูญเสียนักรบผู้ท่องจำอัลกุรอานเป็นจำนวนมาก เป็นสาเหตุสำคัญซึ่งผลักดันให้มีความคิดริเริ่มที่จะรวบรวม อัลกุรอาน3
ท่านอุมัรได้เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการรวบรวม อัลกุรอาน แก่ท่านอบูบักร โดยได้กล่าวกับท่านว่า
" แท้จริงการฆ่าฟันกันได้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆในสงครามยะมามะฮ์ และฉันกลัวเหลือเกินที่จะต้องสูญเสียผู้ท่องจำ อัล-กุรอานเป็นจำนวนมากในครั้งนี้ และจะทำให้ อัลกุรอาน สูญสลายไปด้วย นอกเสียจากว่าท่านทั้งหลายต้องรวบรวม อัลกุรอาน "
และท่านอบูบักรได้กล่าวตอบว่า : " ฉันจะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งท่านรอซูลไม่เคยกระทำมันได้อย่างไร? "
ท่านอุมัรกล่าวต่ออีกว่า : " ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ว่ามันเป็นสิ่งที่ดี "
และท่านอุมัรยังคงคะยั้นคะยอท่านอบูบักรเกี่ยวกับการรวบรวม อัลกุรอาน จนกระทั่งอัลลอฮ์ได้เปิดหัวใจให้กับเขา 4
สาเหตุของการรวบรวม อัลกุรอาน ในสมัยท่านอบูบักร
จากการฆ่าฟันกันซึ่งได้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆในสงครามยะมามะฮ์ ทำให้อิสลามต้องสูญเสียวีรบุรุษผู้ท่องจำ อัลกุรอานเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และทำให้ อัลกุรอานได้สูญสลายไปพร้อมกับการสิ้นชีวิตของพวกเขาเหล่านั้น
สาเหตุของความหวาดกลัวที่จะต้องสูญเสียผู้ท่องจำ อัลกุรอานเป็น สาเหตุหลักในการคิดริเริ่มที่จะรวบรวม อัลกุรอานของท่านอบูบักร ดังกล่าวนี้เองชี้ให้เห็นว่า จุดประสงค์ของท่านที่จะรวบรวม อัลกุรอานไม่ได้เจาะจงเฉพาะการท่องจำเท่านั้น เพราะมันยังไม่มีการรวบรวม แต่แท้ที่จริงแล้ว รากฐานของการท่องจำ ก็คือสิ่งที่ถูกอ่าน
ใครคือผู้ที่รวบรวม อัล-กุรอาน ในสมัยท่าน อบูบักร
หลังจากการปรึกษาหารือระหว่างท่านอบูบักร และท่าน อุมัร เป็นอันเสร็จสิ้น ทั้งสองก็ได้ตัดสินใจให้ ท่าน เซด บิน ษาบิต เป็นผู้รวบรวม อัลกุรอาน
قال أبوبكر : (( إنك رجل شاب عاقل، ولانتهمك، كنت تكتب الوحي لرسول الله، فتتبع القرآن فاجمعه))صحيح البخاري، باب: جمع القرآن، ج4، ص1720
ท่านอบูบักร กล่าวว่า :
" แท้จริงท่าน (เซด บิน ษาบิต) เป็นชายหนุ่มผู้มีสติปํญญาอันหลักแหลม, และเราจะไม่มีความสงสัยใดๆในตัวท่าน,
ท่านเคยบันทึกวะฮีย์ (โองการแห่งอัลลอฮ์) ให้กับท่านรอซูล, และท่านเคยติดตาม อัลกุรอาน ดังนั้นท่านจงรวบรวมอัลกุรอานเถิด"
จากคำพูดของท่านอบูบักร ได้บ่งบอกถึงคุณลักษณะต่างๆ ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ ตลอดจนสติปัญญา ของท่านเซด บิน ษาบิต
ท่านเป็นผู้ที่มีคุณลักษณะอันเพียบพร้อม ดังนี้:
- ความเป็นชายหนุ่มของท่านซึ่งเป็นผลให้ท่านเป็นผู้ที่มีความกระฉับกระเฉงในการปฏิบัติซึ่งภารกิจหนึ่งภารกิจใด
- ความมีสติปัญญาอันหลักแหลมของท่าน ซึ่งจะสามารถแบ่งแยกระหว่างความถูกต้องในการเลือกปฏิบัติ
- ความรู้และความสามารถของท่านที่เคยเป็นผู้บันทึกวะฮีย์ให้กับท่านรอซูล บ่งบอกให้รู้ว่าท่านมีความเข้าใจเกี่ยวกับ อัลกุรอาน และท่านยังท่องจำ อัลกุรอานได้ทั้งหมดอีกด้วย 5
แต่ในขณะเดียวกัน ท่าน เซด บิน ษาบิต กลับรู้สึกถึงภาระอันหนักหน่วง ซึ่งท่านต้องแบกรับเอาไว้ โดยท่านได้กล่าวกับท่าน อบูบักร ว่า
فوالله لو كلّفني نقل جبل من الجبال ما كان أثقل عليّ ممّا أمرني به من جمع القرآن)) صحيح البخاري: رقم 4986، 4989
" ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ถ้าหากว่าท่านมอบหมายให้ฉันเคลื่อนย้ายภูเขาลูกหนึ่งจากภูเขาต่างๆ มันยังไม่หนักสำหรับฉันไปกว่าการใช้ให้ฉันรวบรวม อัลกุรอาน"
และท่านยังได้กล่าวต่ออีกว่า :
((كيف تفعلان شيئا لم يفعله رسول الله ))
" ท่านทั้งสอง (อบูบักร และ อุมัร) จะปฏิบัติสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งท่านรอซู้ล ไม่เคยปฏิบัติมันได้อย่างไร?"
ต่อมาท่านอบูบักรได้กล่าวกับท่าน เซด บิน ษาบิต ว่า "ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ แท้จริงมันคือสิ่งที่ดี"
หลังจากนั้นท่านเซดบิน ษาบิตก็ได้รวบรวม อัลกุรอานจากแผ่นจารึกต่างๆไม่ว่าจะเป็น กระดูก แผ่นหิน ก้านอินทผลัม และอื่นๆ จนกระทั่งได้พบว่า มีสองอายะห์ซึ่งเป็นอายะห์สุดท้ายของซูเราะห์อัตเตาบะห์ อยู่กับท่าน คุซัยมะห์ อัล-อันซอรี แต่อีกสายรายงานหนึ่งบอกว่าอยู่กับ ท่าน คุซัยมะห์ บิน ษาบิต อายะห์ดังกล่าวนั้นคือ 6
قال تعالى: { لَقَدْ جَاءَكُمْ رَسُولٌ مِنْ أَنْفُسِكُمْ عَزِيزٌ عَلَيْهِ مَا عَنِتُّمْ حَرِيصٌ عَلَيْكُمْ...} سورة التوبة: 128
" แท้จริงมีรอซูล คนหนึ่งจากพวกท่านเองได้มายังพวกท่านแล้ว เป็นที่ลำบากใจแก่เขาในสิ่งที่พวกท่านได้รับความทุกข์ยาก เป็นผู้ห่วงใยในพวกท่าน"
วิธีการรวบรวม อัลกุรอาน สมัยท่าน อบูบักร
หลังจากการปรึกษาหารือกันระหว่างท่านอบูบักร และท่านอุมัร เกี่ยวกับการรวบรวม อัลกุรอานเป็นอันเสร็จสิ้น ได้มีการตกลงกันว่า ผู้ที่ได้รับมอบหมายในการรวบรวม อัลกุรอาน คือ ท่าน เซด บิน ษาบิต และได้มีการวางเงื่อนไขสำหรับการรวบรวม อัลกุรอาน ดังนี้
• อายะห์กุรอานต่างๆที่นำมา จะต้องได้ยิน ได้ฟัง มาจากท่านรอซูล เท่านั้น
• สำหรับสิ่งที่บันทึกมาจากแผ่นจารึก ไม่ว่าจะเป็น ก้านอินทผลัม – กระดูก – แผ่นหิน หรือ อื่นๆ จะต้องนำมาพร้อมกับพยาน 2 คน
• จะต้องเป็นการท่องจำของบรรดาศอฮาบะห์เท่านั้น และการท่องจำโดยปราศจากการบันทึกก็ไม่ถือเป็นการเพียงพอ เพราะเกรงว่าจะมีการผิดพลาด หรือ สับสน 7
ดังกล่าวนี้เองทำให้เราทราบได้ว่า ท่านเซด บิน ษาบิต ไม่ได้บันทึก อัลกุรอานขึ้นมาจากตัวของท่านเอง และไม่ได้ยกเลิกอายะห์หนึ่งอายะห์ใดโดยพละการ หากแต่หน้าที่ของท่านคือ การรวบรวมอายาตต่างๆภายใต้เงื่อนไขที่ได้มีการกำหนดไว้ และหน้าที่ของท่านคือการจัดระเบียบ เรียบเรียงลำดับ ก่อน-หลัง ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ได้ท่องจำ และ บันทึกมาจากบรรดาศอฮาบะห์
และยังมีอีกข้อเท็จจริงหนึ่งซึ่งจะต้องตระหนักคือ อัลกุรอาน ได้ถูกบันทึกทั้งหมดในสมัยท่านรอซูล แต่การบันทึกต่างๆเหล่านั้น ได้กระจัดกระจายอยู่ตามแผ่นจารึกต่างๆ และไม่ได้มีการรวบรวมไว้ด้วยกันอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้
หลังจากเสร็จสิ้นจากการรวบรวม อัลกุรอาน ก็ได้เก็บรักษาไว้กับท่านอบูบักร และหลังจากที่ท่านได้สิ้นชีวิต ท่านอุมัรคือผู้ที่ทำหน้าที่นี้ ภายหลังจากการสิ้นชีวิตของท่านอุมัร ก็ตกอยู่ภายใต้การดูแลของ ท่านหญิง ฮัฟเซาะห์ บุตรี ของท่านอุมัร 8
1. أطلس حروب الردة، ص 124
2. เป็นสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างบรรดามุสลิมกับมุรตัดดีน ( บนูฮะนีฟะฮ์ ) โดยการนำของมุซัยละมะฮ์ จอมโกหก
3. الفرقان، ص 34
4. تاريخ خلفاء الراشدين، ص72
5. زيد بن ثابت كاتب الوحي وجامع القرآن، ص 94-96
6. تاريخ خلفاء الرشدين، ص 72
7. تاريخ خلفاء الراشدين، ص72
8. صحيح البخاري، باب جمع القرآن، ص 1720