วะฮาบียะฮ์ เป็นลัทธิใหม่ในอิสลามจริงหรือ ? 2
  จำนวนคนเข้าชม  22838


ตอนที่ 2

โดย ผศ.ดร.อับดุลเลาะ   หนุ่มสุข


ประวัติความเป็นมาของวะฮาบียะฮ์

 

         เป็นที่ทราบกันดีว่าในตอนต้นของศตวรรษที่  12  แห่งฮิจเราะฮ์ศักราช (หรือคริสต์ ตวรรษที่ 18 ) ศาสนาและศีลธรรมในโลกอิสลามเสื่อมทรามลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคราบสมุทรอาระเบีย กล่าวคือ มุสลิมส่วนใหญ่ได้พากันละทิ้งหลักการอิสลาม  ละทิ้งหลักความเชื่อในเอกภาพของพระผู้เป็นเจ้า  และละทิ้งการปฏิบัติตามแนวทางของศาสนฑูต มูฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)  พวกเขาได้หันไปหลงใหลคลั่งไคล้อยู่กับเรื่อง"ไสยศาสตร์ เวทมนต์คาถา และการตั้งภาคีต่อพระผู้เป็นเจ้าในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคารพสักการะ และการขอความช่วยเหลือและคุ้มครองจากสุสานของบุคคลต่างๆ ที่ตนเองเห็นว่าเป็นผู้วิเศษและศักสิทธิ์

 

          ในท่ามกลางสภาพสังคมที่ฟอนเฟะและโง่งมงายนี้ ได้มีบุคคลผู้หนึ่งถือกำเนิดขึ้นที่ตำบลอุยัยนะฮ์ ในเมืองนัจด์ (เมืองริยาร์ด) ในปี ค.ศ. 1703  บุคคลผู้นั้นคือ มูฮัมมัด อิบนุ อับดุลวาะฮาบ  เขามาจากตระกูล อุลามาอ์ (ผู้ทรงความรู้) ได้ศึกษาวิชาความรู้จากบิดา และสามารถท่องจำอัลกุรอานทั้งเล่มได้เมื่อมีอายุเพียง 10 ขวบเท่านั้น  และแม้ว่าเขาจะได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์ผู้มากด้วยความรู้  แต่เขาก็ตัดสินใจออกเดินทางเพื่อแสวงหาความรู้เพิ่มเติมยังหัวเมืองต่างๆ เช่น มักกะฮ์ มะดีนะฮ์ บัศเราะฮ์ บัฆดาด และ เมาศิลในประเทศอิรัก  เมื่อเขาได้กลับสู่มาตุภูมิและได้เรียกร้องเชิญชวนผู้คน ให้กลับสู่แนวทางอันบริสุทธิ์ของอิสลาม  เขาได้รับการต่อต้านจากบรรดาผู้ปกครองซึ่งพากันหวาดระแวงกับอิทธิพลของเขาที่จะสั่นสะเทือนต่ออำนาจการปกครองของพวกตน  เขาต้องถูกขับไล่ออกจากดินแดนที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอน  แต่เขาก็ยังยืนหยัดในอุดมการณ์อันมั่นคง ที่จะฟื้นฟูและกอบกู้สังคมให้กลับไปสู่หลักการอันบริสุทธิ์

 

            จุดเปลี่ยนที่สำคัญของ มูฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ คือ เมื่อท่านเดินทางมาที่เมือง อัดดัรอียะฮ์ ซึ่งเป็นเมืองในการปกครองของ "สะอูด" (ราชวงศ์สะอูดในปัจจุบัน) ท่านก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีจาก อามีร มูฮัมมัด อิบนุ สะอูด เจ้าเมืองคนหนึ่ง ซึ่งตกลงใจที่จะร่วมงานกับเขาในการฟื้นฟูและเผยแผ่คำสอนของอิสลาม  หลังจากนั้นไม่นานภายใต้การปกครองของ อามีร มูฮัมมัด อิบนุ สะอูด และการเผยแพร่คำสอนของ เชค มูฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ อย่างเอาจริงเอาจัง วิถีชีวิตและความเชื่อของมุสลิมที่อยู่ภายใต้การปกครองก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง จากความโง่งมงายในหลักการอัลอิสลาม และหลงผิดในการตั้งภาคี(ชิริก) และการนิยมชมชอบในอุตริกรรมทางศาสนา (บิดอะฮ์) ทุกคนถูกเรียกร้องเชิญชวนต่อการเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์ เพียงพระองค์เดียว และยึดมั่นในคัมภีร์อัลกุรอาน และแบบอย่างของศาสนฑูต มูฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ทุกคนหันมาละหมาดร่วมกัน ปฏิบัติศาสนกิจร่วมกัน และศึกษาศาสนาร่วมกัน สัญลักษณ์ต่างๆ ของการตั้งภาคีและสิ่งไม่ดีงามต่างๆ ได้ถูกทำลายสิ้น สังคมอาหรับได้กลับสู่ความอยู่เย็นเป็นสุขอีกครั้งหนึ่ง และที่สำคัญก็คือได้กลับมาสู่การดำเนินตามหลักคำสอนดั้งเดิมอันบริสุทธิ์ที่ถูกปกปักษ์รักษา ถ่ายทอด และฟื้นฟู โดยนักปราชญ์ชาว "สลัฟ" (นักปราชญ์ในยุค 300 ปีแรก)

 

          การที่ มูฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ ได้รับการอุ้มชู อุปถัมภ์จากราชสำนักของราชวงศ์สะอูด ทำให้เขามีฐานอำนาจในการดำเนินกิจการต่างๆ จนบรรลุผล ฐานอำนาจดังกล่าวทำให้ดูเหมือนว่า เขามีท่าทีที่แข็งกร้าวต่อกลุ่ม สองกลุ่มที่แพร่หลายอยู่ในขณะนั้นคือ

1. กลุ่มซูฟีย์ (Sufism) คือ กลุ่มนิยมความลี้ลับและมีความคลั่งไคล้ในวิชาตะเซาวุฟ(การฝึกจิตภายใน) มูฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ เห็นว่าวิชานี้เป็นยาเสพติดที่มอมเมาคนในสมัยนั้นให้เฉื่อยชา ไม่เข้มแข็ง  และเป็นวิชาที่ถูกนำมาใช้ในทางที่ผิดและบิดเบนออกไปจากเดิมมากมาย ตัวย่างที่ชัดเจนก็คือ สิ่งอุตริทางศาสนาใหม่ๆที่กลุ่มซูฟีย์ได้สร้างขึ้น เช่น การเคารพสักการะนักบุญ หลุมฝังศพ และสัญลักษณ์ต่างๆ การเคารพบูชาบรรพบุรุษ หรือขอความช่วยเหลือจากผู้ที่ตายไปแล้ว หรือขอให้ผู้ที่ตายช่วยเป็นสื่อหรือนายหน้าติดต่อกับพระเจ้า การสร้างมัสยิดหรืออาคาร เหนือหลุมฝังศพ และการประดับตกแต่งหลุมฝังศพ เป็นต้น

2. กลุ่มตะกัลลิมีน (Mutakallimin) คือกลุ่มนักเทววิทยาที่เน้นการเอาเหตุผลทางปัญญา และทางตรรกวิทยามาอธิบายหลักความเชื่อในอิสลามจนทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนและเบี่ยงเบนจากความถูกต้อง มูฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ เห็นเช่นเดียวกันว่า วิชาอิลมุลกะลาม(Elmulkalam) เทววิทยา  เป็นยาเสพติดอีกชนิดหนึ่งที่มอมเมาคนในสมัยนั้นให้หมกมุ่นอยู่กับการถกเถียง แล้วในที่สุดก็ทำให้พวกเขาหลงทาง

 

          มูฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ ได้ทำการคัดค้านทั้งสองกลุ่มอย่างแข็งกร้าว และได้ใช้ฐานอำนาจทางการปกครองสนับสนุนและจัดการกับสิ่งอุตริทางศาสนาอย่างได้ผล  แน่นอนการกระทำของเขาได้ไปขัดผลประโยชน์และทำลายความเชื่อของคนที่โง่งมงายในสิ่งเหล่านั้นอย่างรุนแรง คนเหล่านั้นจึงตั้งตนเป็นศัตรู และพยายามชักชวน และประกาศให้คนทั่วไปเชื่อว่าสิ่งที่เขาสอนนั้นเป็นศาสนาใหม่ ที่มิใช่อิสลาม และกล่าวหาว่เขาเป็นผู้สร้างลัทธิใหม่สำหรับผู้ที่ปฏิบัติตามคำสอนของ มูฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ นั้นก็ถูกคนกลุ่มดังกล่าวประณามว่าเป็นพวกนอกศาสนา และเรียกพวกเขาว่า วะฮะบียะฮ์ (Wahabism) ในที่สุด

 

ตอนที่ 3 >>>>Click