5 เคล็ดลับในการท่องจำอัลกรุอ่าน
  จำนวนคนเข้าชม  23945

5  เคล็ดลับในการท่องจำอัลกรุอ่าน


โดย...เชคมูอัมมัด มุคตาร อัชชังกีตีย์


          ครั้งหนึ่งในขณะที่การสอนเรียนได้จบลง มีนักเรียนคนหนึ่งได้ถามคำถามหนึ่งกับท่านว่า ท่านครับมีเคล็ดลับอะไรบ้างไหม ที่ช่วยให้ง่ายในการท่องจำอัลกรุอ่าน

เชคมุฮัมมัด มุคตาร อัชชังกีตีย์ ได้ตอบว่า

          มวลการสรรเสริญทั้งหลายนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก ผมขอสั่งเสียตัวของผมเองและพวกท่านทุกคนที่อยากท่องจำอัลกรุอ่านว่า....


1. ต้องขอดุอาฮฺจากอัลลอฮ์

         ต้องขอดุอาฮฺจากอัลลอฮฺให้เราเป็นนักท่องจำอัลกรุอ่าน เพราะเรื่องของการท่องจำนั้น ใช่ว่าใครก็สามารถท่องจำได้ทุกคน หากแต่การท่องจำได้นั้นต้องเป็นบุคคลที่พระองค์ทรงคัดเลือกและประสงค์ให้เขาเป็นคอลีฟะฮฺของพระองค์ด้วย และเมื่อใดที่พระองค์ทรงประสงค์ให้เขาเป็นคนรักอัลกรุอ่าน เมื่อนั้นเขาก็อยากที่ท่องจำมัน และเมื่อเขามีความอยาก การท่องจำก็กลายเป็นเรื่องง่ายสำหรับเขา และคราใดที่เขาพบว่ามันยากเขาก็ไม่หวาดหวั่นหรือท้อถอย แต่เขาจะพยายามสุดความสามารถที่มี จนในที่สุดเขาได้เป็นหนึ่งจากนักท่องจำที่ดี


2. ควรท่องจำทีละน้อยๆ ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ

          ควรท่องจำทีละน้อยๆแต่ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ เช่น ลองกำหนดกับตัวเองดูว่า ภายในหนึ่งวันเราต้องท่องให้ได้หนึ่งหน้า หรือครึ่งหน้า เป็นต้น แล้วลองทำดู แต่ขอให้นึกอยู่เสมอว่า เราต้องทำให้ได้และต้องทำอย่างต่อเนื่อง  เชคได้เล่าว่า มีชายชราคนหนึ่งมีอายุแปดสิบปีแล้วแต่สามารถท่องจำอัลกรุอ่านได้ทั้งเล่ม ผมได้ถามเขาว่าท่านเริ่มท่องเมื่อไหร่กัน และทำยังไงถึงจำได้ 

เขาก็ได้ตอบว่า..เออฉันเริ่มท่องมันทีละอายะฮฺ  แล้วก็อ่านทวน ซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆจนกระทั่งฉันจำมันได้ แต่ฉันทำอย่างนี้ทุกวันนะ..... ฉันเริ่มท่องก็ฉันอายุหกสิบกว่าแล้ว ตอนนี้ก็อัลฮัมดุลิลลาฮฺฉันสามารถท่องจำได้ทั้งเล่มแล้ว...

เชคกล่าว  ดังนั้นใครก็แล้วแต่ที่อยากที่จะท่องจำหรือกำลังท่องอยู่ ก็ลองทำอย่างนี้ดู แต่จงอ่านให้มาก ทวนให้บ่อย ให้หลายครั้ง ให้เยอะๆแล้วเราจะจำแม่นอย่างแน่นอน อินชาอัลลอฮฺ


3. นำไปอ่านเมื่อละหมาด 

          อายะฮฺใดหรือซูเราะฮฺใดที่คุณได้จำมันก็จงพยายามนำไปอ่านยามที่คุณละหมาด  โดยเฉพาะละหมาดตะฮัจยุต และพยายามตื่นละหมาดตะอัจญุตให้มากแล้วอ่านสิ่งที่เราได้จำในละหมาดของเรา เพราะการทำเช่นนี้มันคือวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เกิดความมั่นคงในการท่องจำ และยากที่จะลืมเลือน (และวิธีนี้คือวิธีที่นักท่องจำบ้านเราและประเทศปากีฯใช้กันอยู่ และได้ผลจริง  ผู้แปล..)


4. ท่องอย่างเข้าใจความหมาย

          อย่าได้ท่องหากไม่เข้าใจความหมาย เพราะการรู้ความหมายนั้นมันทำให้ง่าย และเร็วยิ่งขึ้นในการจดจำ และเมื่อใดก็ตามแต่ที่เราท่องไปโดยไม่รู้ความหมายนั้นมันทำให้ไวต่อการลืมเลือน และแถมยังทำให้ไม่เม่นยำอีกด้วย


5. มีแรงผลักดัน

          สำคัญที่สุดคือต้องมีความกระหาย  มีแรงผลักดัน และต้องมีความหวัง เพื่อมันจะเป็นพลังให้เราก้าวไปสู่ชัย นั่นก็คือพยายามหาหนังสือเกี่ยวกับความประเสริฐของการท่องจำอัลกรุอ่านมาอ่านหรือฟังบรรยาย และด้วยการนึกถึงสิ่งที่เราได้รับ นึกถึงสิ่งต่างๆที่พระองค์ได้ทรงจัดเตรียมไว้ให้ในโลกนี้และโลกหน้า


         อัลลอฮ์ ตาอาลา ทรงกล่าวถึงเกียรติคุณของบรรดาผู้ที่ปกป้องมรดรอิสลามไว้ว่าเขาคือบุคคลที่รู้กว่าใครอื่นถึงหนทางที่จำนำไปสู่สวนสรรค์

“มิใช่เช่นนั้นหรอก แต่มันคือโองการต่างๆที่แจ้งชัดอยู่ในหัวอกของบรรดาผู้รู้ และไม่มีผู้ใดปฏิเสธต่อโองการของเรานอกเสียจากพวกอธรรม”

(อัลอังกะบูต 49)


ความประเสริฐของผู้ท่องจำอัลกรุอ่าน 

   
                                                                                                                            
فقد جاء في حديث عن أنس - رضي الله عنه - قال: قال رسول الله - صلى الله عليه وسلم -: ((إن لله - تعالى - أهلين من الناس، قالوا: يا رسول الله من هم؟ قال: هم أهل القران، أهل الله وخاصته

มีรายงานจากท่านอานัส  กล่าวว่า

ท่านรอซูล  ได้กล่าวว่า “แท้จริงมีมนุษย์อยู่สองกลุ่มด้วยกันที่เป็นพวกของอัลลอฮ์

ศอฮาบะฮฺก็ได้เอ่ยถามขึ้นว่า “คนเหล่านั้นคือใครกัน ?”

ท่านนบี  ได้ตอบว่า “พวกเขาคือ ผู้ที่ท่องจำและปฏิบัติตามอัลกรุอ่าน และ ผู้ที่ใกล้ชิดต่อ อัลลอฮ์

(มุสลิม เล่มที่ 1-553 เลขที่ 804)


ระดับชั้นสวรรค์อยู่ที่อายะฮฺสุดท้ายที่อ่านจบ

حديث عبد الله بن عمرو - رضي الله عنهما - قال: قال رسول الله - صلى الله عليه وسلم -: ((يقال لصاحب القرآن: اقرأ و ارتق ورتل كما كنت ترتل في الدنيا؛ فإن منزلتك عند آخر آية تقرؤها))4
 

มีรายงานจากท่านอับดุลลอฮฺบินอัมรุ ว่า ท่านรอซูล ได้กล่าวว่า

“..เมื่อเวลาแห่งการสอบสวนได้มาถึง ชายผู้ท่องจำอัลกรุอ่านก็ได้ถูกนำตัวมา....(ผู้แปล) และก็มีเสียงกล่าวแก่คนท่องจำอัลกรุอ่านนี้ว่า

จงอ่าน(อัลกรุอ่านที่เคยจดจำมัน)ตามท่วงทำนองแสดงความไพเราะของมันออกมาเหมือนดังที่เจ้าได้เคยอ่านมัน ตอนที่เจ้ามีชีวิตในโลกดุนยา

เพราะที่จริงแล้วระดับขั้นสรรค์ที่เจ้าจะได้รับนั้นอยู่ที่อายะห์สุดท้ายที่เจ้าอ่านมัน”


อบูดาวุด1/463 เลขที่1464 ติรมีซีย์ 5/177 และอบูอีซากล่าว อะดีษนี้เป็นอะดีษฮาซันศอเฮียะฮฺ,มุสนัดอีหม่ามอะหมัด 2/192 เลขที่6799 เชคชุเอบอัลอัรนาอูตได้กล่าวอีกว่า ศอเฮียะลีฆัยริฮี แต่สายรายงานฮาซัน(ดี) แต่เชคอัลบานีย์ได้ตรวจทานแล้วว่าเป็นอะดีษที่ศอเฮียะฮฺ ในสุนันอบูดาวุด 1/275 เลขที่ 1300 ,สิลสิละฮฺ อัศศอีฮะฮฺ 7/30เลขที่ 2829


          โอ้บ่าวผู้ศรัทธาเอ๋ยเมื่อใดที่อัลลอฮฺทรงประสงค์ให้เจ้าเป็นผู้สืบทอดความรู้ของบรรดานบีแล้ว พวกเจ้าจงพยามยามท่องจำให้ได้เถิด แล้ววันนั้นอัลลอฮ์ จะทรงให้หัวอกของเจ้านั้นมีรัศมีเป็นแสงเทียนส่องนำทางเจ้าสู่สวนสวรรค์  และจงภาคภูมิถึงเกียรติคุณและคุณความดีมากมายที่อัลลอฮ์  ได้ทรงจัดเตรียมไว้ให้แก่เจ้าเถิด ซึ่งเกียรติอันนี้เป็นเกียรติเฉพาะสำหรับผู้ที่ท่องจำอัลกรุอ่านและปฏิบัติตามอัลกุรอ่านเท่านั้นที่ใครผู้ใดมิอาจได้ลิ้มลอง                                                                                                                                                         

 

 

แปลโดย อิบนุลฮุค

จาก ไฟวีดีโอ เชคมูอัมมัดมุคต้าร อัชชังกีตีย์ สมาชิกอุลามาอวุโส ประเทศซาอุดิอารเบีย

الموضوع: ما هي الاسباب التي تعين علي حفظ القرآن الكريم