ความพยายามของบรรดาศอฮาบะฮ์ในการรวบรวมอัลกุรอาน 2
โดย... ญาลีละฮ์ รัตโส
คำนิยามของ อัลกุรอาน
คำนิยามของ อัลกุรอาน ทางด้านภาษา
บรรดานักวิชาการได้เห็นพ้องต้องกันว่า คำว่า อัลกุรอาน เป็นคำนาม ไม่ใช่คำกิริยาหรือคำบุพบท แต่ก็มีการขัดแย้งกันว่า คำว่า อัลกุรอาน นั้นเป็นรากศัพท์หรือเป็นคำที่บ่งบอกถึงลักษณะ ดังนี้
อัลกุรอานมาจากรากศัพท์ของคำว่า ( قرأ ) มีความหมายเดียวกับคำว่า ( تلا ) ซึ่งแปลว่าการอ่าน หลังจากนั้นได้มีการเปลี่ยนจากรากศัพท์ให้เป็นคำนาม เพื่อที่จะหมายถึงคำพูดที่ถูกประทานลงมาให้กับท่านนบีมูฮำมัด ดังที่อัลลอฮ์ ได้กล่าวไว้ในคัมภีร์ของพระองค์ว่า
قال تعالى: { فَإِذَا قَرَأْنَاهُ فَاتَّبِعْ قُرْآنَهُ} سورة القيامة: 18
" ดังนั้นเมื่อเราอ่าน อัลกุรอาน เจ้าจงติดตามการอ่านนั้น"
อัลกุรอาน คือคำที่บ่งบอกถึงลักษณะ ( وصف ) เป็นคำที่ถูกแยกออกมาจากคำว่า ( القرء ) ซึ่งหมายถึง การรวบรวม ตัวอย่างเช่น " قرأت الشيء قرآناً " หมายถึง ฉันได้รวบรวมสิ่งหนึ่งเอาไว้
ท่านอิบนุลอะษีรได้กล่าวว่า เหตุที่เรียกว่าอัล-กุรอานนั้นเพราะเป็นการรวบรวมเรื่องราวต่างๆ ทั้งข้อสั่งใช้และข้อห้าม, คำสัญญาและคำขู่, อายะฮ์ต่างๆและซูเราะห์ต่างๆ ( لسان العرب، ص 3563 )
คำนิยามของ อัล กุรอาน ทางด้านวิชาการ
อัลกุรอาน คือ
“ คำพูดของอัลลอฮ์ ที่ได้ถูกประทานลงมาให้กับท่านนบีมูฮำมัด ถ้อยคำของอัลกุรอานเป็นที่น่าอัศจรรย์ การอ่านอัลกุรอานถือเป็นอิบาดะฮ์ ถูกบันทึกไว้เป็นเล่มๆ ถูกถ่ายทอดมายังเราโดยสายรายงานที่ติดต่อกัน “
( المدخل لدراسة القرآن الكريم، ص 21 )
และอีกความหมายหนึ่งคือ
“ คำพูดของอัลลอฮ์ ที่ถูกประทานลงมาให้กับท่านนบีมูฮำมัด เริ่มต้นด้วยซูเราะห์อัลฟาติฮะห์ และสิ้นสุดด้วยซูเราะห์อัลนาส “
(مناهل العرفان في علوم القرآن ، ص 20 )
คำอรรถาธิบาย:
อัลกุรอาน : คำพูดของอัลลอฮ์ ไม่รวมถึงคำพูดของมนุษย์และญิน
ถูกประทานลงมา : ถูกประทานจากอัลลอฮ์ มายังนบี
ให้กับท่านนบีมูฮำมัด : ถูกประทานลงมาให้กับท่านนบีมูฮำมัด ซึ่งต่างจากคัมภีร์ อัตเตารอต ซึ่งถูกประทานให้ท่านนบีมูซา คัมภีร์อินญีล ซึ่งถูกประทานให้ท่านนบีอีซา และคัมภีร์ซะบูรซึ่งถูกประทานให้ท่านนบีดาวูด
ถ้อยคำของอัลกุรอานเป็นที่น่าอัศจรรย์ : เพราะอัลกุรอานคือคำพูดของอัลลอฮ์ ซึ่งต่างจาก อัล ฮะดีส (คำพูดของท่านนบี) เพราะคำพูดของท่านนบีไม่ได้เป็นสิ่งอัศจรรย์ และต่างกับคัมภีร์อื่นๆที่ถูกประทานลงมาจากฟากฟ้า เพราะพระองค์อัลลอฮ์ไม่ได้ท้าทายให้นำมา เช่นดั่ง อัลกุรอาน
การอ่านอัล-กุรอาน ถือเป็นอิบาดะห์ : ซึ่งต่างจากฮะดีสอัลกุดซีย์ หรือการอ่านอื่นๆ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นอิบาดะห์
ถูกบันทึกไว้ในคัมภีร์ : สิ่งที่ได้ถูกยกเลิกมาก่อนจากการอ่านหรือการบันทึก ไม่ถือว่าเป็นอัลกุรอาน
ถูกประทานลงมาโดยสายรายงานที่ติดต่อกัน : สิ่งที่ถูกประทานลงมาโดยสายรายงานที่อ่อนหรือไม่ติดต่อกันไม่ถือว่าเป็นอัลกุรอาน