สงครามยัรมูก
ชมรมนักวิชาการมุสลิมปทุมธานี
วันที่ 27 เดือน ญามาดิ้ลเอาวั้ล ปี ฮ.ศ 15 ตรงกับ ค.ศ. 636 การทำสงครามกับโรมัน ซึ่งเรียกว่าสงครามยัรมู๊ก หลังจากที่ท่านนบีมุฮัมมัด เสียชีวิตไปแล้ว 4 ปี ในช่วงที่คอลีฟะฮฺอบูบักร อัซซิดดิก ปกครองอยู่ ซึ่งมุสลิม มีกำลังประมาณสามหมื่นหกพันคน แต่ฝ่ายโรมันมีมากกว่ามุสลิมถึงห้าเท่า (ประมาณสองแสนห้าหมื่นคน)นอกจากนั้นพวกนั้นยังได้เปรียบ มุสลิมทางด้านอาวุธอันมากมายอีกด้วย
ในการรบครั้งนี้ ท่านคอลิด อิบนิลวะลีด ผู้เป็นแม่ทัพเห็นว่า แม้มุสลิมจะด้อยกว่าทั้งทางด้านกำลังคนและอาวุธก็ตาม แต่ด้วยพลังความอีหม่านเท่านั้นที่จะทำให้มุสลิมเข้มแข็งกว่าฝ่ายข้าศึก ท่านคอลิด อิบนิลวะลีด ผู้เป็นแม่ทัพจึงได้เห็นชัดว่า บุรุษเหล็กที่ใจเกร่งกล้านั้นมีอยู่ สองคนด้วยกัน คือ ท่านอิกริมะฮฺ และ ท่านก็ออฺ บิน อัมรฺ อัตตะมีมียฺ
ทั้งนี้ก็เพราะในการประจันบานกับฝ่ายศัตรูซึ่งหน้ากันนั้น ทั้งสองคนนี้เป็นผู้จู่โจมเข้าใส่ศัตรูดุจสายฟ้าแลบ ทำให้ศัตรูซึ่งมีจำนวนมากกว่าแตกพ่ายไป ในการทำสงครามครั้งนี้ถ้ามุสลิมแพ้ ก็หมายความว่า อิสลามจะต้องสูญเสียอย่างใหญ่หลวงไปด้วย ซึ่งมุสลิมจะยอมไม่ได้เป็นอันขาด
ขณะที่ท่านอิกริมะฮฺเห็นสภาพการณ์เช่นนั้นจึงตะโกนขึ้นว่า "มีใครบ้างที่จะสละชีวิตเพื่อกอบกู้สถานการณ์ที่กำลังเพลี่ยงพล้ำอยู่นี้"
มีผู้คนประมาณ 400 คน ได้เสนอตัวขึ้นมา และได้ให้สัญญาแก่ท่านอิกริมะฮฺว่า จะสละชีวิตเพื่อการนี้ และในจำนวนคน 400 คนนี้ ก็มีญาติของท่านอิกริมะฮฺ กล่าวคือมี ลุง อา และลูกชายของท่านอิกริมะฮฺ ร่วมอยู่ด้วยท่านอิกริมะฮฺได้พูดปลุกใจบรรดาทหารมุสลิมว่า
"ฉันนี่แหละได้ต่อสู้กับท่านร่อซูลในทุกๆสมรภูมิในวิถีทางที่ผิด ซึ่งในขณะที่ฉันยังไม่ได้เป็นมุสลิม
และในเมื่อเราต่อสู้ในวิถีทางของอัลลอฮฺ อันเป็นวิถีทางที่ถูกต้องแล้ว เรายังจะออมแรงเอาไว้ อีกกระนั้นหรือ ? "
อิกริมะฮฺยังพูดอีกว่า
"ฉันเคยอุทิศชีวิตของฉันเพื่อป้องกันเจว็ต รูปปั้นอัลล้าต และอัลอุซซามาก่อนแล้ว
แล้วฉันจะต้องตระหนี่ชีวิตของฉันเอาไว้ทำไมอีก ในเมื่อจะป้องกันศาสนาของอัลลอฮฺ "
การที่บุคคลอุทิศชีวิตเพื่อสู้รบในหนทางของอัลลอฮฺ และยอมตายเพื่อพระองค์นั้น คมหอกคมดาบจากฝ่ายศัตรูที่เขาจะได้รับย่อมไม่ทำให้เขาประหวั่นพรั่นพรึงแต่อย่างใดเลย และด้วยพลังแห่งอีหม่านนี้เองที่ฝายข้าศึก(โรมัน) ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะประสบกับการต่อต้าน อย่างเหนียวแน่นเข้มแข็ง จนในที่สุดพวกโรมันเองต้องพ่ายแพ้แตกกระเจิงไปอย่างไม่เป็นขบวน บาดเจ็บและถูกฆ่าฟันล้มตายลงเป็นจำนวนมาก
จากการสู้รบในครั้งนี้ทำให้อิสลามยืนอยู่อย่างแข็งแกร่งต่อไป แม้จะต้องสูญเสียบุคคลเช่น อิกริมะฮฺ ไปก็ตาม แต่ก็เป็นไปตามความปรารถนาของท่านที่จะเป็นชะฮีด เพื่อให้อิสลามยังคงอยู่ พร้อมกันนั้น อา ลูก และลุงของท่านอิกริมะฮฺ ก็เป็นชะฮีดในการรบครั้งนี้ด้วย เมื่อท่านอิกริมะฮฺจะสิ้นใจ ท่านคอลิด อิบนิลวะลีด ผู้เป็นแม่ทัพได้ยกศรีษะ ของท่านอิกริมะฮฺ มาพาดไว้ ที่ขา เอาลูกชายของอิกริมะฮฺมาพาดไว้ที่หน้าแข้ง และหยอดน้ำให้ทั้งสองคนจนกระทั่งชีวิตออกจากร่างไป
นี่เป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจลืมได้ สงครามยัรมูก เป็นสงครามที่ชี้ชะตากรรมว่า มุสลิมจะอยู่หรือจะไป การที่ท่านอิกริมะฮฺแสดงการอีหม่านอันชัดแจ้งออกมา จึงสามารถกอบกู้สถานการณ์ไว้ได้อย่างทันท่วงที และทำให้แสงสว่างของอัลลอฮฺ ตกทอดสืบมาจนกระทั่งทุกวันนี้
แม้ว่าสมรภูมินี้เกิดขึ้นในฮิจญเราะฮฺ ศักราชที่ 13 ในปลายสมัยของท่านคอลีฟะฮฺ อบูบักรฺก็ตาม แต่ประวัติศาสตร์ก็ได้บันทึกเหตุการณ์ ดังกล่าวไว้ ผู้ที่เป็นมุสลิมยังคงกล่าวถึง และสดุดีวีรกรรมของท่านอิกริมะฮฺ และผู้ต่อสู้เพื่ออิสลาม อยู่เสมอมิได้ขาด
เราในฐานะมุสลิมและเป็นประชาชาติของ นบีมุฮัมมัด และเป็นผู้ปฎิบัติ ตามแนวทางของท่านร่อซูล หากเรา คำนึงถึงมรดกที่ท่านร่อซูล และบรรดาศอหะบะฮฺทิ้งไว้ให้ ด้วยการศึกษา เรียนรู้ และใส่ใจต่อกันอย่างจริงจังแล้ว แน่นอนเหลือเกินเราจะต้องต่อสู้ และป้องกันจนสุดความสามารถ ด้วยทุกวิถีทางเพื่อให้ศาสนาอิสลาม ของเราตกทอดมาถึงลูกหลานของเราสืบไป