สภาพของมุสลิม
อ.วิทยา วิเศษรัตน์
มีผู้ให้ข้อสังเกตุว่า สภาพของมุสลิมที่เคยมีในอดีตเริ่มเหือดหายไปหมดแล้ว นั่นคือ อุดมการณ์ ความกระตือรือร้น ความทะเยอทะยาน ความเอื้ออาทร ความมีระเบียบแบบแผน ความมีน้ำใจต่อเพื่อร่วมโลก แต่ทุกอย่างนั้นไปปรากฏอยู่ในประเทศทางตะวันตก
ผู้รู้ทางอียิปต์ท่านหนึ่ง ได้เดินทางไปประเทศฝรั่งเศส ได้ให้ข้อสังเกตุไว้ว่า "ผมมาฝรั่งเศส ผมไม่เห็นมุสลิม แต่ผมเห็นอิสลาม"
คำว่า "เห็นอิสลาม" ในฝรั่งเศส ก็คือ การเห็นความสะอาด ความเป็นระเบียบ
แต่ในอียิปต์ "เห็นแต่มุสลิม ไม่เห็นอิสลาม" หมายถึง การไม่เห็นความสะอาดและไม่เห็นความเป็นระเบียบ เห็นแต่ความสกปรกและความวุ่นวาย
ดูเหมือนว่าท่านศาสนทูต รู้ว่า มุสลิมในยุคนี้จะละเลยความสะอาด และการมีสมาธิ ความสะอาดมี 2 ทางคือ
- ความสะอาดทางด้านร่างกาย เช่น การอาบน้ำ การใส่เครื่องหอม การแปรงฟัน เสื้อผ้าที่สะอาด
- ความสะอาดทางด้านจิตใจ เช่น ไม่โลภ ไม่ตระหนี่ ไม่เห็นแก่ตัว ไม่อาฆาตแค้น ไม่ปองร้าย ไม่มักมากในกาม
- การมีสมาธิ เช่น การปล่อยวาง การไม่อิจฉา การให้อภัย การมอบหมายต่ออัลลอฮ์ การมุ่งมั่นต่ออัลลอฮ์
มีคนตั้งคำถามเปรียบเทียบว่า ทำไมคนในยุโรปจึงเจริญก้าวหน้าทั้งที่ไม่ได้ยึดหลักการอะไรมากนัก แต่สิ่งที่พวกเขาเน้นก็คือ ความรักในพระเจ้า และความรักที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ ในขณะที่มุสลิมมีคำสอนมากมายแต่กลับไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควร
แต่ในช่วงสงครามระหว่างกรีกและตุรกี ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าคำตำหนิเกี่ยวกับมุสลิมไม่ได้เป็นจริงเสมอ เมื่อมุสลิมตุรกีได้เสียสละเงินจำนวนมหาศาลเพื่อให้ได้ชัยชนะในการทำสงคราม แม้ว่าตุรกีจะถูกล้อเลียนว่าเป็นคนป่วยแห่งยุโรปก็ตาม มุสลิมจะไม่ด้อยกว่าใคร หากปฏิบัติตามโองการต่อไปนี้
" บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย หากพวกเจ้าช่วยเหลือในหนทางของอัลลอฮ์ พระองค์จะทรงช่วยเหลือพวกเจ้า และจะทรงให้พวกเจ้ายืนหยัดอย่างมั่นคง"
(47 / 7)
มุสลิมทราบดีว่า หากกลุ่มใดได้รับการช่วยเหลือจากพระองค์อัลลอฮ์ จะไม่มีคำว่าแพ้อย่างแน่นอน เพราะพระองค์ทรงอำนาจสูงสุด และเงื่อนไขที่เราจะได้รับความช่วยเหลือนี้คือ เราต้องละอายต่อบาป และเกรงกลัวต่อบาป
มุสลิมบางกลุ่มมักจะทึกทักเอาเองว่า มุสลิมเท่านั้นที่จะได้เข้าสวรรค์ ทั้งๆที่คนที่จะได้เข้าสวรรค์นั้น ต้องผ่านขบวนการต่อสู้และเสียสละทั้งทรัพย์สินและชีวิต ความต้องการความสุขสบายโดยไม่ผ่านการทดสอบ มันเป็นเรื่องของพวกเพ้อฝัน คิดเองตอบเอง สิ่งที่พวกเขาจะได้พบ ก็คือความว่างเปล่าเท่านั้น
จากเอกสารข่าวมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางฯ