สิทธิของลูก
  จำนวนคนเข้าชม  10505

สิทธิของลูก


อาจารย์ มุยาฮิด ลาตีฟี

السلام عليكم ورحمة الله وبركاته


         พี่น้องศรัทธาชนที่เคารพรักทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงมีความตั้งมั่น ยำเกรงต่ออัลเลาะห์ อย่างแท้จริง ด้วยการประพฤติปฏิบัติตามในสิ่งที่พระองค์ทรงใช้ ละเว้น ห่างไกล จากสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันมหาศาล จากอัลเลาะห์  ที่พระองค์ยังมอบโอกาส เวลา ในการปฏิบัติอามั้ลอิบาดะห์ให้กับเราทุกคนในวันศุกร์นี้ 


         ท่านพี่น้องศรัทธาชนที่เคารพรักทั้งหลาย การดำรงชีวิตของเรา ในสังคมปัจจุบัน ในยุคที่สิ่งต่างๆ อาจพัดพาตัวเรา ลูกหลานของเรา เยาวชนของเรา บุคคลอันเป็นที่รักยิ่งของเรา ให้ออกจากเส้นทางของอิสลามนั้น มันมากมายเหลือเกิน สิ่งที่สำคัญที่สุด กับบุคคลที่เราให้ความรัก ให้การดูแล ให้ความเอาใจใส่ ที่เราเรียกว่าแก้วตาดวงใจ นั่นคือบุคคลที่เป็นลูก เป็นหลาน เป็นเด็ก เป็นเยาวชน สิ่งนี้อิสลามให้ความสำคัญ อิสลามให้รายละเอียด เกี่ยวกับการดูแลเขา เอาใจใส่เขา เพื่อการบรรลุสู่เป้าหมาย คือการที่เราจะได้อยู่กับเขาในดุนยาและอาคีเราะห์ ในสภาพที่เป็นผู้ศรัทธา อัลเลาะห์ ได้มีพระดำรัสในซูเราะห์ الطور อายะห์ที่ 21 ว่า

وَالَّذِيْنَ آمَنُوْا وَاتَّبَعَتْهُمْ ذُرِّيَّتُهُمْ بِإِيْمـَانٍ أَلْحَقْنَابِهِمْ ذُرِّيَّتَهُمْ

 “และบรรดาผู้ศรัทธา บรรดาลูกหลานของพวกเขาจะดำเนินตามพวกเขาด้วยการศรัทธา เราจะให้ลูกหลานของพวกเขาอยู่ร่วมกับพวกเขา

และเราจะไม่ให้การงานของพวกเขาลดหย่อนลงจากพวกเขาแต่อย่างใดแต่ละคนย่อมได้รับการค้ำประกันในสิ่งที่เขาขวนขวายไว้”


         ท่านพี่น้องศรัทธาชนที่เคารพรักทั้งหลาย มันคือเป้าหมาย จุดมุ่งหมาย ของทุกคนที่บอกกับตัวเองว่า ฉันคือมุมิน ฉันคือมุสลิม ไม่มีสิ่งใดแล้ว ไม่มีอะไรแล้ว ที่มันทรงค่า ล้ำค่า ยิ่งกว่าตัวเรา และลูกหลานของเรา รวมทั้งบุคคลรอบข้างของเราอันเป็นที่รักยิ่งของเรา ได้อยู่ในสภาพที่มีความยึดมั่นศรัทธาต่ออัลเลาะห์ ในช่วงเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ และภายหลังจากที่ได้เสียชีวิตไปแล้ว เพราะฉะนั้นหลักการอิสลาม ที่มีความเกี่ยวพัน เกี่ยวข้อง กับการดูแลบุตรหลาน ซึ่งใน خطبة วันนี้จะขอหยิบยก ส่วนหนึ่งของการปฏิสัมพันธ์ ของท่านนบี ที่มีต่อเด็กและเยาวชน ท่านนบี ได้แนะนำในเชิงการปฏิบัติ ถึงเวลาอันสำคัญยิ่งทั้งสามเวลาต่อไปนี้ ที่ผู้ปกครองต้องเอาใจใส่ต่อการที่จะหยิบยื่น ป้อน สิ่งซึ่งที่เป็นอิสลามให้กับลูกหลาน

 

ในช่วงเวลาแรก คือ ในช่วงเวลาที่ลูกหลานของเรามีความผ่อนคลาย ในช่วงเวลาที่เขาเดินทางไปพร้อมกับเรา

عَنِ ابْنِ عَبَّاسٍ رَضِيَ اللهُ عَنْهُ قَالَ كُنْتُ خَلْفَ النَّبِيِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَوْمًا فَقَالَ يَاغُلاَمُ إِحْفَظِ اللهَ يَحْفَظْكَ إِحْفَظِ اللهَ تَجِدْهُ تُجَاهَكَ وَإِذَاسَأَلْتَ فَاسْأَلِ اللهَ وَإِذَا اسْتَعَنْتَ فَاسْتَعِنْ بِاللهِ عَزَّوَجَلَّ 

รายงานจากท่านอิบนุอับบาส ได้กล่าวว่า 

“ในวันหนึ่ง ฉันเคยนั่งอยู่ด้านหลังของท่านนบี มูฮำมัด ในสภาพที่ขี่พาหนะ ท่านนบีมูฮำมัด ได้กล่าวกับฉันว่า

โอ้เด็กน้อยเอ๋ย เจ้าจงรักษาคำสั่งของ อัลเลาะห์ พระองค์จะรักษาเจ้า ดูแลเจ้า และเจ้าจงรักษาคำสั่งของอัลเลาะห์เจ้าจะพบว่าพระองค์อยู่เบื้องหน้าเจ้า

และเมื่อใดที่เจ้าขอเจ้าจงขอต่ออัลเลาะห์ และเมื่อใดที่เจ้าจะขอความอนุเคราะห์ เจ้าจงขอความอนุเคราะห์ต่ออัลเลาะห์เท่านั้น”

 

ในช่วงเวลาที่สอง คือ ในช่วงเวลาที่ลูกหลานของเรารับประทานอาหาร

قَالَ النَّبِيُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ أُدُنِ يَابُنَيَّ فَسَمِّ الله وَكُلْ بِيَمِيْنِكَ وَكُلْ مِمَّا يَلِيْكَ 
(رواه أبوداود والترمذي وابن حبان)

“โอ้เด็กน้อยเอ๋ย จงเข้ามาใกล้ๆ จงกล่าว بسم الله الرحمن الرحيم จงรับประทานอาหารด้วยมือขวา และรับประทานอาหาร จากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเจ้า”

         เพราะในช่วงเวลาที่ท่านอุมัรบินอาบีซะละมะห์ ซึ่งเคยอยู่ในการดูแลของท่านนบีมูฮำมัด  ท่านได้รับประทานอาหารด้วยมือที่ขวักไขว่ไปตามสำรับ ท่านนบีมูฮำมัด  ใช้ช่วงเวลานี้หยิบยื่นมารยาทในการรับประทานอาหารให้กับท่านอุมัรบินอาบีซะละมะห์

 

ในช่วงเวลาที่สาม คือ ในช่วงเวลาที่ลูกหลานของเราเจ็บไข้ได้ป่วย

عَنْ أَنَسٍ رَضِيَ اللهُ عَنْهُ قَالَ كَانَ غُلاَمٌ يَهُوْدِيٌّ يَخْدِمُ النَّبِيُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَمَرِضَ فَأَتَاهُ النَّبِيُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَعُوْدُهُ فَقَعَدَ عِنْدَ رَأْسِهِ فَقَالَ لَهُ أَسْلِمْ فَنَظَرَ إِلَى أَبِيْهِ وَهُوَ عِنْدَهُ فَقَالَ أطِعْ أَبَااْلقَاسِمِ فَأَسْلَمَ فَخَرَجَ النَّبِيُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ وَهُوَ يَقُوْلُ اَلْحَمْدُ للهِ الَّذِيْ أَنْقَذَهُ مِنَ النَّارِ  (رواه البخاري)

 “ปรากฎว่ามีเด็กยะฮูดีชาวยิวผู้หนึ่ง ที่อาสาบริการรับใช้ท่านนบีมูฮำมัด ซึ่งครั้งหนึ่งเด็กผู้นี้ได้ล้มป่วย ท่านนบีมูฮำมัด ได้ไปเยี่ยมเด็กผู้นี้ ได้นั่งใกล้ๆศีรษะของเขา

ท่านนบีมูฮำมัด ได้กล่าวกับเด็กผู้นี้ว่า เจ้าจงรับอิสลามเถิด

เด็กคนนี้ได้หันไปมองทางบิดาของเขา ที่อยู่ใกล้ ๆ บิดาของเขาได้กล่าวว่า เจ้าจงเชื่อฟังอบัลกอซิม(ท่านนบีมูฮำมัด ) เถิด

ดังนั้นเด็กคนนี้จึงได้เข้ารับอิสลาม และท่านนบี มูฮำมัด ก็เดินออกไปพลางกล่าวว่า มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์ของอัลเลาะห์  พระผู้ทรงทำให้เด็กคนนี้รอดพ้นจากไฟนรก”


          ท่านพี่น้องศรัทธาชนที่เคารพรักทั้งหลาย นั่นคือช่วงเวลาที่เราอยู่ในฐานะประชาชาติของท่านนบีมูฮำมัด ท่านเป็นแบบฉบับในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานะใด หลักการอิสลามเคียงคู่ไปกับเรา ถ้าหากเราให้ความสำคัญต่อรายละเอียดต่างๆ ท่านพี่น้องศรัทธาชนที่เคารพรักทั้งหลาย เราอาจจะกล่าวได้ว่า คำสอนของอัลอิสลามที่เกี่ยวข้องกับตัวเรานั้น คือคู่มือแห่งการดำรงชีวิต หากส่วนที่เกี่ยวข้องกับลูก กับหลาน กับเยาวชน นั่นคือคู่มือ ที่จะเลี้ยงคนให้เป็นคน กับความเอาใจใส่

ในบางครั้งอาจจะเห็นถึงการเรียนรู้รายละเอียดการเลี้ยงสิ่งที่ไม่ใช่คน อาจจะเป็นสัตว์เลี้ยง อาจจะเป็นนก หรืออื่นๆ ซึ่งแต่ละชนิด แต่ละประเภท จะมีหนังสือคู่มือ เพื่อนำมาอ่าน มาพิจารณา นำไปปฏิบัติ ก่อให้เป็นผลสำเร็จในการที่จะทำให้สัตว์ต่างๆนั้น เจริญเติบโตขึ้นมาในสภาพที่สมบูรณ์แบบ ตามลักษณะที่มนุษย์ได้กำหนดไว้ อย่างไรสมบูรณ์แบบ อย่างไรใช้ไม่ได้ 

แต่แล้วกับลูก กับหลาน กับเยาวชน ที่เราบอกว่า เขาคือ แก้วตาดวงใจ เขาคือสุดที่รัก เรากลับไม่ให้เอาความใจใส่ เรากลับเอาความสำคัญไปมอบให้กับสิ่งที่น่าจะให้ความสำคัญทีหลัง มาให้เป็นความสำคัญลำดับแรก เพราะฉะนั้น เราอย่าแปลกใจ ทำไม เพราะอะไร ในวันนี้เราถึงได้มีความทุกข์ มีความเศร้า จะต้องเสียน้ำตา กับคนที่เรารัก นั่นคือคนที่เป็นลูก เป็นหลานของพวกเรา


          ครั้งหนึ่งที่ท่านอุมัร รอดิยัลลอฮูอันฮ์ ได้รับการฟ้องร้องจากชายคนหนึ่ง ถึงความอกตัญญูของลูกตนเอง ในฐานะที่เป็นผู้นำของรัฐอิสลาม ได้เรียกหาลูกผู้อกตัญญูคนนั้นมาพบ ถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

เด็กคนนี้ได้ย้อนถามท่านอุมัร รอดิยัลลอฮูอันฮ์ ว่า สิทธิ์ของผู้ที่เป็นลูก ที่จะต้องได้รับจากผู้เป็นพ่อคืออะไร ?

ท่านอุมัร รอดิยัลลอฮูอันฮ์ ได้กล่าวตอบว่า

ประการแรก พ่อจะต้องตั้งชื่อที่ดี ไพเราะ และมีความหมายที่ดีให้กับลูก

ประการที่สอง พ่อจะต้องหาแม่ที่ดีให้กับลูก

ประการที่สาม พ่อจะต้องสอนสั่งเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลามให้กับลูก

เมื่อผู้เป็นลูกได้รับคำตอบจากท่านอุมัร รอดิยัลลอฮูอันฮ์ จึงได้ตอบกลับไปว่า สามประการที่ท่านได้บอกมานั้น พ่อของเขาไม่ได้ปฏิบัติเลย  ชื่อของฉันคือ جُعْلاً ที่แปลว่าแมลงปีกแข็ง หรือไอ้ด้วง แม่ของฉันคือ مجوسي ผู้บูชาไฟ และพ่อของฉันไม่เคยสอนแม้เพียงอักษรเดียวจากพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน

เมื่อท่านอุมัร รอดิยัลลอฮูอันฮ์ ได้รับคำตอบจากผู้เป็นลูก จึงหันหน้ามาทางผู้เป็นพ่อ พร้อมกับกล่าวว่า ตัวของท่านนั้นเป็นผู้อกตัญญูกับลูกของตนเอง ก่อนที่ลูกจะอกตัญญูต่อท่าน !


          ท่านพี่น้องศรัทธาชนที่เคารพรักทั้งหลาย เราตั้งชื่อลูกที่ดี เราหาภรรยาที่ดีให้เป็นแม่ที่ดีของลูก เราจะต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวด ต่อการที่จะให้ลูกของเราได้รับการเรียนรู้หลักการของศาสนาอิสลาม เพื่อให้เขานำมาเป็นแบบฉบับในการใช้ชีวิตของเขา ในอนาคตเขาจะได้เป็นแบบฉบับที่ดีให้กับผู้อื่นต่อไป


          ท่านพี่น้องศรัทธาชนที่เคารพรักทั้งหลาย اَلتَّرْبِيَّةُ اْلإِسْلاَمِيَّةُ การเลี้ยงลูก การอบรมบ่มนิสัยลูกตามแบบอิสลามนั้น เป็นกระบวนการของการที่จะต้องปฏิบัติอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนถึงเมื่อใด ?

คำตอบคือ จนกว่าเขาจะยึดมั่นศรัทธา ในอิสลามด้วยตัวเอง เราจึงจะได้มีโอกาสปล่อยมือเขาออกไป ถ้าหากไม่เป็นเช่นนั้น ความเสียหาย ความหายนะที่อาจจะเกิดขึ้น ในฐานะที่เราเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นผู้ปกครอง มันจะไม่เกิดกับใคร มันจะเกิดขึ้นกับตัวเรา والعياذ بالله تعالى

 


คุตบะห์วันศุกร์ ณ มัสยิดท่าอิฐ