หน้าที่ด้านเศรษฐกิจของรัฐในอิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  9484

เศรษฐศาสตร์อิสลาม

ประเด็นที่เจ็ด : หน้าที่ด้านเศรษฐกิจของรัฐในอิสลาม


เขียน : ดร.มุสฏอฟา อัลอับดุลลอฮฺ อัลกิฟรีย์


         ตามมหลักการอิสลามแล้ว อนุญาตให้ปัจเจกชนทุกคนมีเสรีภาพที่สมบูรณ์ในการจัดการกับทรัพย์สินที่กรรมสิทธิของเขา และเขามีสิทธิสมบูรณ์ที่จะนำทรัพย์สินของเขาไปประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ว่าในด้านการค้า การเพาะปลูก อุตสาหกรรม แบบทุกๆกิจกรรมที่จะนำมาซึ่งการงอกเงย และเป็นการเพิ่มพูนมูลค่าของทรัพย์ แต่มีเงื่อนไขต่อการให้เสรีภาพและการปกป้องเสรีภาพดังกล่าวคือ เขาจะต้องให้เกียรติต่อหลักการอิสลาม  และเมื่อหนึ่งเมื่อใด ปัจเจกชนได้ทำให้ทรัพย์ของเขางอกเงยด้วยกับวิธีการที่ผิดต่อหลักการของอิสลาม สิทธิ์ที่เขาจะได้รับการคุ้มครองจากรัฐอิสลามก็ตกไป และศาสนาอนุญาตให้รัฐเข้ามาแทรกแซงกิจกรรมของเขาเพื่อเป็นการห้ามไม่ให้มีการละเมิดเกิดขึ้น และเป็นการนำความเป็นธรรมกลับไปอยู่ในครรลองของมัน รัฐบาลอิสลามมีสิทธิที่จะระงับกิจกรรมของผู้ละเมิด เพื่อรักษาผลประโยชน์ของสังคมโดยรวม


      ดังนั้นหน้าที่ของรัฐอิสลามตามหลักนิติศาสตร์อิสลามก็คือ การรักษาความมั่นคงและความปลอดภัยและสร้างเสถียรภาพภายในรัฐ และปกป้องอธิปไตยของรัฐจากการรุกราน ของศัตรูภายนอก และเช่นเดียวกันกับมีหน้าที่ดูแลด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่นควบคุมด้านเศรษฐกิจธุรกรรมการค้า การลงทุน เปิดโปงพฤติกรรมที่ไม่ตั้งอยู่บนหลักการอิสลาม และทุกๆการกระทำที่นำมาซึ่งความเดือดร้อนของสังคม และปัจเจกชน เช่นการโกง การหลอกลวงดอกเบี้ย การกักตุน การแสวงหาผลประโยชน์ในทางที่มิชอบ รัฐจะต้องเข้ามาระงับการกระทำดังกล่าวเพื่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมโดยรวม อย่างเป็นรูปธรรม

      รัฐอิสลามมีศักยภาพในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ โดยผ่านระบบฮิซบะฮ์ คือหน่วยงานที่สอดส่องดูแลสังคม คอยเป็นหูเป็นตาให้กับภาครัฐโดยทำหน้าที่กำชับผู้คนให้ทำความดี เมื่อการกระทำความดีในสังคมนั้นถูกละเลย และห้ามปราบการทำความชั่วเมื่อความชั่วในสังคมนั้น เป็นสิ่งที่ผู้คนกระทำกัน  โดยเหตุนี้ด้วยกับระบบฮิซบะฮ์ทำให้รัฐอิสลามมีศักยภาพสูงในการควบคุมดูแลตลอด และเปิดโปงผู้คดโกงในการค้า ผู้กักตุนสินค้า ผู้ที่กินและพัวพันกับระบบดอกเบี้ย และอื่นๆจากบรรดาผู้ที่ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์โดยรวมของมนุษย์ โดยมุ่งละโมบแต่ผลกำไร ขาดจิตสำนึก และศีลธรรม ดังนั้นองค์กรฮิซบะฮ์จึงถือเป็นหน่วยงานที่ภาครัฐให้อำนาจในการทำหน้าที่ตรวจตรา ซึ่งถือเป็นหน่วยงานตัวแทนของภาครัฐที่มีอำนาจในการปกครองผลประโยชน์ส่วนรวมของสังคม


รัฐอิสลามจึงมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้น และค้ำจุนกิจกรรมด้านเศรษฐกิจในสังคมอิสลาม ซึ่งภาครัฐจะต้องทำหน้าที่ต่อไปนี้

1.  สร้างสาธารณูปโภค ที่สำคัญและบริหารให้เกิดประโยชน์ที่สมบูรณ์สูงสุด

2. ควบคุมดูแลกิจกรรมภาคเศรษฐกิจเพื่อห้ามมิให้มีระบบดอกเบี้ย การกักตุนสินค้า และสิ่งอื่นๆที่เป็นอันตรายต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคม

3. ควบคุมดูแลราคาสินค้า และ ค่าจ้างเพื่อเป็นหลักประกันให้สิ่งดังกล่าวเป็นอย่างสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในสังคม

4. เข้าแทรกแซงการกระจายทรัพยากรและรายได้ ตลอดจนการวางนโยบายที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน และการเงินที่เหมาะสม

5. กำหนดภาษี และ เก็บรวบรวม

       6. วางนโยบายอุปการะ เพื่อก่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และ ความเป็นธรรมในสังคมที่มั่นคง และเป็นรูปธรรม และจำเป็นอย่างยิ่งที่ปัจเจกชน จะต้องให้ความร่วมมือกับผู้ปกครอง (ภาครัฐ) เพื่อทำให้เกิดการทำหน้าที่ของรัฐประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประโยชน์โดยรวม  สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ภาครัฐจะต้องนำมาใช้เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามบทบาทของตนเองคือ โครงการสาธารณะ การควบคุมดูแลกิจกรรมทางเศรษฐกิจ วางระเบียบฐานะของเงินตรา ติดตามนโยบายการจัดการทรัพย์ และเงินตราให้มีความเหมาะสม 
  

         ถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐตามระบบอิสลามเช่นกันคือ การสร้างหลักประกันทางสังคมให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากในสังคมหนึ่ง ย่อมมีทั้งคนยากจน และคนร่ำรวย บทบัญญัติของอิสลามได้พยายามอุดช่องว่างความต้องการของคนจน ในทุกรูปแบบโดยมีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับระบบอุปการะ เพื่อขจัดปรากฎการณ์การเจ็บป่วยของสังคม

         ดังนั้นรัฐบาลอิสลาม จึงมีหน้าที่รับผิดชอบที่ครอบคลุมในทุกบริบท คนยากจน หญิงหม้าย คนชราภาพ และบุคคลอื่นๆ ที่ไม่สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้อย่างพอเพียง และถือเป็นสิทธิของคนจนทุกคน ที่เรียกร้องต่อรัฐให้จ่ายค่าเลี้ยงดูให้กับตนเอง หากเขาไม่มีผู้ใดอุปการะเลี้ยงดู ความรับผิดชอบดังกล่าว ทำให้รัฐอิสลามมีความรับผิดชอบต่อสมาชิกของสังคมทุกคน

        เนื่องจากอิสลามไม่ยอมรับปัญหาความยากจน ด้วยเหตุนี้จึงมีหลักการแก้ปัญหาด้วยการอุปการะ เพื่อขจัดความทุกยากดังกล่าว ประวัติศาสตร์อิสลามได้ยืนยันว่ารัฐอิสลามเคยใช้เงินกองคลังในการอุปการะเลี้ยงดู คนยากจน คนชราภาพ หญิงหม้าย และอื่นๆ


          จากที่ผ่านมาเราได้ให้ข้อสังเกตว่า แท้จริงความผูกพันในสังคมอิสลามระหว่างปัจเจกชนกับรัฐ และผู้ปกครองนั้นจะสมบูรณ์ได้ด้วยกับหลักการที่ว่า ปัจเจกชนคือผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทั้งหมด และเขาคือผู้เป็นเจ้าของสิทธิในทรัพย์สินของเขา ส่วนรัฐอิสลามลามคือผู้ที่ยอมอดหลับ เพื่อพิทักษ์ความผาสุก ความสงบสุขและความมีเสถียรภาพให้กับปัจเจกชน ส่วนผู้ปกครองคือ บุคคลที่ทำหน้าที่พิทักษ์ และรับใช้ปัจเจกชน โดยที่เขาเองก็ไม่มีอภิสิทธิ์ใดๆทั้งในด้านรูปธรรม และนามธรรมเหนือมนุษย์คนอื่น

 

 

แปลโดย : มุหำหมัด บินต่วน