การกระจายรายได้ในอิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  9181

เศรษฐศาสตร์อิสลาม

ประเด็นที่ห้า : การกระจายรายได้ในอิสลาม


เขียน : ดร.มุสฏอฟา อัลอับดุลลอฮฺ อัลกิฟรีย์


อัซซัยยิด มูฮัมมัด บากิรฺ อัศศอดร์ได้กล่าวว่า

        “การฉ้อฉลหรือคดโกง ต่อเพื่อนมนุษย์ถูกแปลสภาพเข้าไปเป็นเนื้อเดียวกันกับกิจกรรมในแวดวงเศรษฐกิจ  โดยอยู่ในรูปการกระจายรายได้ที่เอารัดเอาเปรียบ และเป็นเนื้อเดียวกันกับการปฏิเสธความโปรดปรานของอัลลอฮฺ  ในรูปของการเพิกเฉยต่อการกระตุ้นการลงทุนต่อทรัพยากรธรรมชาติ และการมีจุดยืนที่เป็นแง่ลบต่อการลงทุน ในจุดนี้จะต้องลบล้างการฉ้อฉลทั้งหมดที่มีสายพันธ์อยู่ในบริบทของสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับการกระจายรายได้ ดังนั้นการกระจายรายได้จึงจำเป็นจะต้องกระทำโดยการระดมพลังของมนุษย์  ในการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรทางธรรมชาติและการสร้างงานโดยการประกอบการและการลงทุน ปัญหาที่แท้จริงของระบบเศรษฐกิจก็จะหมดไป

 

          อิสลามได้อุปการะขั้นพื้นฐานตามระดับการดำรงชีวิตที่เหมาะสมของแต่ละคน ที่เป็นสมาชิกของสังคมทุกคน เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม ในการให้ความเป็นธรรมต่อการกระจายรายได้และการจัดสรรทรัพยากรทางธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นไปตามกฎเกณฑ์ต่อไปนี้คือ  กำหนดระดับค่าครองชีพขั้นพื้นฐานที่เหมาะสม โดยให้สอดคล้องกับความต้องการและสภาพเศรษฐกิจและสังคม (ด้านอุปโภค บริโภค ที่อยู่อาศัย ระบบการสื่อสารและการคมนาคม การสร้างครอบครัว การให้การศึกษา ประกันสุขภาพ) ให้กับทุกคนที่เป็นสมาชิกของสังคม


 ดร.มูฮัมมัด อับดุลมุนอิม อุฟัรฺ ได้กล่าวว่า

         “อิสลามได้วางหลักการสังคมสงเคราะห์ และหลักกระจายความเป็นธรรมในสังคม ในบางบริบทอาจจะมีการกำหนดอัตราที่แน่นอน เช่น การจ่ายซะกาต การเก็บภาษีอุชูรฺ  หรือภาษีคอราจ   การจ่ายกัฟฟาเราะฮ์  ทรัพย์สินเชลยศึก ภาษีญิซยะฮฺ  หรือการมีส่วนร่วมอื่นๆของผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม และจากรายได้อื่นๆ ในบางอย่างจะไม่มีการกำหนดตายตัว แต่จะต้องขึ้นอยู่กับจิตศรัทธาของสมาชิกในสังคม และความต้องการของสังคม เช่น การบริจาคทานเพื่อการกุศล หรือบริจาคทานในสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้สังคมโดยรวม หรือในสิ่งที่ความต้องการของสังคมเป็นตัวกำหนด จากรายได้เสริมที่ทางรัฐจะต้องทำหน้าที่เก็บ หรือจากหนี้สินที่รัฐบาลปล่อยเงินกู้ให้กับราษฎร เมื่อพวกเขาอยู่ในภาวะคับขันโดยปราศจากดอกเบี้ย


          ดังนั้นกลไกในการขับเคลื่อนการกระจายรายได้และการแบ่งปันทรัพยากรในระบอบอิสลามจึงวางอยู่บนพื้นฐานสองประการคือ 1. การทำงาน 2.ความต้องการ ในพื้นฐานทั้งสองประการนี้แต่ละประการจะมีบทบาทที่สำคัญ และมีประสิทธิภาพในการสร้างการกระจายรายได้ และทรัพยากรทางสังคม

         การทำงานในมิติมุมมองของอิสลาม คือสาเหตุของการได้รับกรรมสิทธิ์ของผู้ทำงานเนื่องจากเป็นผลลัพธ์ที่มาจากการทำงานของเขา ด้วยเหตุดังกล่าวการมีกรรมสิทธิ์ จะต้องวางอยู่บนพื้นฐานของการทำงานที่แท้จริงของมนุษย์ เนื่องจากเป็นการตอบสนองแรงปรารถนา และความรู้สึกทางสัญชาติญาณของเขา ดังนั้นการทำงานจึงเป็นพื้นฐานของการได้รับกรรมสิทธิ์ของผู้ที่ทำงานในทรรศนะของอิสลาม และด้วยกับบรรทัดฐานนี้การทำงานจึงเป็นกลไกหลักในกระบวนการของการกระจายรายได้และความเป็นธรรมในอิสลาม เพื่อให้ผู้ทำงานทุกคนมีส่วนแบ่งในทรัพยากรทางธรรมชาติ ซึ่งผลประโยชน์ได้เกิดขึ้นจากการทำงานของเขา เพื่อให้สอดคล้องกับกฎที่ว่า “แท้จริงการทำงานเป็นสาเหตุของการได้รับกรรมสิทธิ์”


          ส่วนกลไกอื่นที่มีส่วนการขับเคลื่อนการกระจายรายได้ และการกระจายความเป็นธรรมเพื่อให้สอดคล้องกับระบบเศรษศาสตร์อิสลาม คือ ความต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่ไม่สามารถทำงานได้ในสังคม โดยที่คนกลุ่มนี้จำเป็นที่เขาจะต้องได้รับส่วนแบ่งในสิทธิของเขา เกี่ยวกับการกระจายรายได้และความเป็นธรรม เพื่อตอบสนองความต้องการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของอิสลามตามกระบวนการสังคมสงเคราะห์ ( อัตตะกาฟุล อะลิจญ์ติมาอีย์)

          ส่วนกลุ่มคนที่สามในสังคม คือ กลุ่มคนที่ทำงานแต่การทำงานของพวกเขายังไม่สามารถตองสนองความต้องการของพวกเรา ยกเว้นเพียงขั้นต่ำของการดำรงชีพของพวกเขาดังนั้นการดำรงชีพของพวกเขาก็จะต้องพึ่งพิงด้วยกับกลไกสองประการเช่นกัน คือการทำงานและความต้องการ

          และเช่นเดียวกันกรรมสิทธิ์ถือเป็นกลไกขั้นทุติยภูมิ ในการกระจายรายได้เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อิสลามอนุมัติ ตามระบบเศรษฐศาสตร์อิสลาม โดยที่ไม่สวนทางกับความเป็นธรรมของสังคม


 ดร. อับดุลมะญีด มัซยาน ได้กล่าวว่า

         “ศาสนาอิสลามเมื่อมองตามบริบทของการเรียกร้อง อุดมการณ์หลักการด้านนิติศาสตร์กฏหมาย ตลอดถึงวิถีชีวิตของกลุ่มบุคคลที่นับถือศาสนานี้ในยุคต้น ๆ จะประจักษ์ชัดว่าทั้งหมด ย่อมสวนทางกับการดำรงไว้ซึ่งระบบทาสในสังคมมนุษย์ อิสลามได้เรียกร้องให้มีการยกเลิกระบบทาสแบบถอนรากถอนโคนจากมนุษยชาติ ซึ่งเป็นระบบที่บรรพบุรุษของมนุษย์ได้วางกฎเกณฑ์ไว้ เราจึงได้รับผลลัพธ์ว่า แนวคิดโดยกว้างๆเกี่ยวกับหลักจริยธรรมอิสลาม ต่างก็ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่ามีความเกลียดชังค่านิยมการแบ่งชนชั้นวรรณะ และชาติตระกูล โดยที่อิสลามได้เรียกร้องไปสู่ความเสมอภาคของมนุษย์ในระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ดังนั้นจึงไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกประหลาด ที่หลักการของศาสนานี้  เมื่อมองในแง่ประวัติศาสตร์ด้านสังคม มีมิติแห่งคุณค่าที่โดดเด่นและสำคัญ ไม่ว่ามิติทางหลักยึดมั่น (อะกีดะฮ์) และหลักจริยธรรม (อัคลากียะฮ์)

  ในอดีตได้ประจักษ์กับเราว่า มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรูปของขบวนการการปฏิวัติแห่งประชาชนผู้ยากไร้อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ที่ลุกฮือขึ้นต่อต้านประชาชาติที่รุ่งเรื่องด้วยอารยธรรมและความมั่งคั่ง เนื่องจากอารยธรรมของพวกเขาตั้งอยู่บนบรรทัดฐานของการเอารัดเอาเปรียบชนชั้นต่ำ หรือชนชั้นที่อ่อนแอกว่า ซึ่งการปฏิวัติดังกล่าวโดยธรรมชาติของมัน คือ การเรียกร้องสู่การทำลายระบบชนชั้นและเกลียดชังการเอารัดเอาเปรียบไร้ศีลธรรม มันเป็นการปฏิวัติที่สื่อให้รู้ว่า การอธรรมและการกดขี่ข่มเหงได้แฝงร่างอยู่ในรูปแบบของความเจริญทางอารยธรรมที่มีอิทธิพลเหนือประชาชาติทั้งหลาย

ดังที่เราได้กล่าวมาแล้ว ธรรมชาติของอารยธรรมนี้ ก็คือ การยึดผู้คนมาเป็นทาสจนถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่คอยช่วยบริการงานบ้านในทุกๆประเภท หรือให้ทาสทำงานในโครงการขนาดใหญ่หรือการก่อสร้างอาคารที่สำคัญๆ  หรือให้ทาสทำงานในโครงการงานหนังและมีความลำบากในกิจการด้านทหาร เช่น การสร้างป้อมปราการ หรือการขนย้ายต่างๆ และเป็นกรรมกรลูกเรือหรือกระลาสีเรือ”

 

 

แปลโดย : มุหำหมัด บินต่วน