เศรษฐศาสตร์อิสลาม
ประเด็นที่สี่ : อิสลามกับการยกเลิกระบบดอกเบี้ยต่อเงินทุน
เขียน : ดร.มุสฏอฟา อัลอับดุลลอฮฺ อัลกิฟรีย์
ระบอบเศรษฐศาสตร์อิสลามได้พยายามสร้างชีวิตและวิญญาณของระบบเศรษฐกิจที่วางอยู่บนบรรทัดฐานของการเคารพในเกียรติยศของมนุษย์ โดยพยายามหล่อหลอมชีวิตของมนุษย์ให้ดำเนินชีวิตที่เป็นเนื้อเดียวกับหลักธรรมคำสอนของอัลอิสลาม หลักจริยธรรม ศีลธรรม คุณธรรม และการยกระดับคุณค่าของมนุษย์ที่ประเสริฐ ดังนั้นอิสลามจึงไม่มองไปยังดอกเบี้ยในแง่มิติหนึ่งหรือส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐศาสตร์แต่เพียงเท่านั้น แต่อิสลามได้ผูกกระชับระบบเศรษฐศาสตร์เข้ากับหลักจริยธรรมด้วย จึงไม่อนุญาตให้มีกลไกของดอกเบี้ยในทุก ๆ บริบทของมัน ถึงมีเพียงเล็กน้อย โดยจะไม่เข้ามามีส่วนพัวพันในระบบเศรษฐศาสตร์อิสลาม
พระองค์อัลลอฮฺ ได้ตรัสไว้ความว่า
“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย พึงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด และจงละเว้นดอกเบี้ย ที่ยังคงเหลืออยู่เสีย หากพวกเจ้าเป็นผู้ที่ศรัทธา”
ซูเราห์อัลบอเราะฮฺ โองการที่ 278
อิสลามได้ห้ามการกินดอกเบี้ยอย่างเด็ดขาด โดยได้วางหลักการการมีส่วนร่วมในการลงทุนที่ได้ผลกำไรและขาดทุนร่วมกัน ต่อเงินทุนของแต่ละคนที่เข้าหุ้นส่วนร่วมกัน โดยได้วางรูปแบบการทำงานและกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายที่แตกต่างกันตามหลักศาสนาในมิติทางเศรษฐศาสตร์เพื่อเปิดทางให้มนุษย์ได้ทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับระบบดอกเบี้ยรายงานจากท่านญาบีร (รอฎิยัลลอฮุอันฮุ) ได้กล่าวว่า
“ท่านศาสนฑูต ได้สาปแช่งผู้ที่กินดอกเบี้ย ผู้ที่ให้ดอกเบี้ยกับผู้ที่กินดอกเบี้ย ผู้ที่บันทึกดอกเบี้ย ผู้ที่เป็นพยานทั้งสองเกี่ยวกับการกินดอกเบี้ย
โดยที่ท่านศาสดา ได้กล่าวว่า “พวกเขาทั้งหลายจะได้รับบาปเท่าเทียมกัน”
(บันทึกโดยมุสลิม)
การห้ามเรื่องดอกเบี้ยครอบคลุมถึงการเฉลี่ยดอกเบี้ยต่อเงินทุนในทุกๆ ประเภทของการกู้ยืมไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อการบริโภคหรือเพื่อการลงทุน ดังนั้นจะเห็นได้จากโองการอัลกุรอานและอัลฮาดีษที่ผ่านมาว่า อิสลามยังเรียกร้องให้ผู้ปกครอง(อำนาจรัฐอิสลาม)ให้ทำการปรามผู้ที่พัวพันกับกระบวนการกินดอกเบี้ยทั้งหมด และเรียกร้องให้พวกเขาทำการกลับตัว (เตาบะฮ์) โดยการหยุดการบินดอกเบี้ยอย่างสิ้นเชิง โดยที่หากผู้ที่กินดอกเบี้ยยังไม่หยุดการกระทำดังกล่าว หลังจากที่ผู้ปกครอง (ของรัฐอิสลาม)ได้ห้ามปรามและตักเตือนให้กลับตัวแล้ว แต่เขายังฝ่าฝืน เขาอาจจะถูกตัดสินประหารชีวิต
แปลโดย : มุหำหมัด บินต่วน