จิตวิทยาแห่งชัยชนะ
  จำนวนคนเข้าชม  5582

  

  

จิตวิทยาแห่งชัยชนะ


ซุฟอัม อุษมาน


          การดำเนินชีวิตของเราในโลกแห่งความหลากหลาย และความขัดแย้งระหว่างสภาพแห่งการศรัทธาและการปฏิเสธ มิอาจหลีกพ้นจากการปะทะเผชิญหน้ากับฝ่ายที่อยู่ตรงข้าม ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของจิตใจอันชั่วร้าย อารมณ์ใฝ่ต่ำ ชัยฏอนและสมุนของมัน รวมทั้งมนุษย์ด้วยกันเอง หากไม่ใช่ด้วยทางตรงก็ทางอ้อม     ความขัดแย้งและการเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายที่ไม่ลงรอยกันเป็น ซุนนะตุลลอฮฺ หรือ กำหนดกฎเกณฑ์ของพระผู้เป็นเจ้าตั้งแต่วันที่ทรงสร้างให้โลกและจักรวาลอุบัติขึ้น พระองค์เท่านั้นที่ทรงทราบว่าเหตุใดจึงประสงค์ให้มีกฎเกณฑ์เช่นนี้ในการสรรค์สร้างของพระองค์ ทุกอย่างล้วนมีสองด้าน เช่นที่ได้ทรงให้คำอธิบายความว่า

﴿ وَمِن كُلِّ شَيۡءٍ خَلَقۡنَا زَوۡجَيۡنِ لَعَلَّكُمۡ تَذَكَّرُونَ ٤٩ ﴾ [الذاريات: ٤٩] 

 “และจากทุกสิ่งนั้นเราได้สร้างให้มีเป็นคู่ๆ เพื่อพวกเจ้าจะได้ใคร่ครวญ”

(อัซ-ซาริยาต : 49)

          ตัวอย่างการสร้างเป็นคู่ในโองการดังกล่าวนี้คือ การศรัทธา(อีมาน)และการปฏิเสธ(กุฟร์) ความสุขและความทุกข์ ทางนำและความหลงทาง กลางวันและกลางคืน ฟ้าและแผ่นดิน มนุษย์และญิน (ดู ตัฟสีร อัฏ-เฏาะบะรีย์ 22:439)

 

          ในฐานะผู้ศรัทธาซึ่งมีจุดประสงค์ยิ่งใหญ่ในชีวิตเป็นการเข้าถึงอัลลอฮฺพระผู้ทรงอภิบาลสรรพสิ่ง การได้เป็นบ่าวที่พระองค์โปรดปราน และเป็นผู้ที่สมควรเข้าสวรรค์ของพระองค์ในโลกหน้า คู่ขัดแย้งของเราจึงมักจะเป็นผู้ที่มีอุดมการณ์สวนทางกับจุดประสงค์ข้างต้น อาจจะเป็นผู้ที่เกลียดพระผู้เป็นเจ้า ปฏิเสธพระองค์ หลงเมาในดุนยา และเคียดแค้นต่อปวงบ่าวผู้ศรัทธาที่พระองค์ทรงรักและพอพระทัย

          หากย้อนรอยประวัติศาสตร์ เราจะพบว่าผู้ที่มีอุดมการณ์เยี่ยงนี้แหละ ที่เป็นอุปสรรคการเรียกร้องของบรรดานบีและศาสนทูต คอยขัดขวางและทำร้ายบรรดาผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ โดยแสดงออกถึงเป้าหมายในการขัดขวางที่แตกต่างกันตามแต่กรณี บางครั้งอาจจะอยู่ในรูปของการมุ่งร้าย สร้างความเดือดร้อน และบางครั้งก็ใช้เพียงวิธีล่อลวงคู่กรณีเพื่อให้หันเหและเบี่ยงเบนจากเส้นทางที่เดินอยู่มิให้สามารถไปถึงจุดหมายโดยสะดวก   สิ่งที่เราต้องการจะเน้นก็คือ เส้นทางสู่การเข้าถึงอัลลอฮฺและความโปรดปรานของพระองค์นั้นไม่ได้ง่ายเสมอไป อุดมการณ์แห่งศรัทธาเป็นเส้นทางที่ต้องอาศัยแรงผลักดันและกำลังใจมากมายพร้อมๆ กับการลงมือลงแรงอย่างเข้มแข็ง เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายของชัยชนะตามที่มุ่งหวัง โดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคและการขัดขวางของคู่ขัดแย้งไม่ว่าจะหนักหนาเพียงใด

 

จะสร้างพลังใจและปลุกความเข้มแข็งของศรัทธาได้อย่างไร เพื่อเผชิญกับความหนักหน่วงของการปะทะต่อสู้กับอีกฝ่ายได้ ? คำถามนี้มีคำตอบพร้อมแล้วในคัมภีร์ของอัลลอฮฺ

          อัลกุรอาน คือมหาคัมภีร์ที่รวบรวมพระดำรัสแห่งอัลลอฮฺ พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสร้าง ผู้ทรงลิขิต ผู้ทรงบริหารกิจการของสรรพสิ่งทั้งมวล โองการของพระองค์ในอัลกุรอานมีทั้งที่เป็นคำสั่งใช้ คำสั่งห้าม บทบัญญัติในการดำเนินชีวิต เรื่องเล่า และรวมไปถึงเรื่องอื่นๆ มากมายที่มีคุณค่าอนันต์สำหรับมนุษย์ ไม่น่าแปลกเลยสักนิดเดียวถ้าพระมหาคัมภีร์เล่มนี้จะเป็นปัจจัยหลักในการเพิ่มพูนอีมานซึ่งเป็นอณูสำคัญของพลังแห่งจิตใจสำหรับผู้ศรัทธา

﴿ إِنَّمَا ٱلۡمُؤۡمِنُونَ ٱلَّذِينَ إِذَا ذُكِرَ ٱللَّهُ وَجِلَتۡ قُلُوبُهُمۡ وَإِذَا تُلِيَتۡ عَلَيۡهِمۡ ءَايَٰتُهُۥ زَادَتۡهُمۡ إِيمَٰنٗا وَعَلَىٰ رَبِّهِمۡ يَتَوَكَّلُونَ ٢﴾ [الأنفال: ٢] 

 “แท้จริงแล้ว บรรดาผู้ที่ศรัทธานั้นเมื่ออัลลอฮฺถูกกล่าวขึ้นแล้ว หัวใจของพวกเขาก็หวั่นเกรง

และเมื่อโองการของพระองค์ถูกอ่าน มันจะเพิ่มพูนความศรัทธาแก่พวกเขา และแด่พระเจ้าของพวกเขานั้น พวกเขามอบหมายกัน”

(อัล-อันฟาล : 2)

          ทุกตัวอักษรและอักขระของมหาคัมภีร์อัลกุรอานที่ถูกถ่ายทอดออกมาให้ผู้ศรัทธาได้สัมผัสผ่านโสตประสาท มีอรรถรสและผลทางจิตใจแก่เขาอย่างยิ่งยวด หากเขารับฟังด้วยอาการที่นอบน้อม ตั้งใจ ใคร่ครวญ และไม่เผอเรอหรือรีบเร่ง  นี่เป็นความพิเศษของโองการทั้งหมดโดยรวมของพระมหาคัมภีร์เล่มนี้

          เหนือไปกว่านั้น ในระหว่างโองการต่างๆ ของอัลกุรอาน เราพบว่ามีโองการเฉพาะที่มีพลังเสริมสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ ถ่ายทอดความกล้าหาญ และปลุกความกระตือรือร้นให้ลุกขึ้นจากความโศกเศร้า ความหม่นหมอง ความท้อแท้ และความกลัว เมื่อต้องเผชิญหน้ากับคู่ขัดแย้งที่ดูมีพลังมากกว่าหลายขุม  หากจิตใจของผู้ศรัทธาถูกรุมเร้าด้วยความรู้สึกว่าต่ำต้อย หมดหนทางสู้ เพราะไร้ปัจจัยทางโลกพอที่จะใช้ทัดทานกับอีกฝ่ายที่มีพลังอำนาจมากกว่า ที่คอยกดขี่ข่มเหง สร้างความเดือดร้อน และทำตนหยิ่งผยองไม่เกรงกลัวต่อใครหน้าไหนในโลก เพราะครอบครองปัจจัยต่างๆ มากกว่า อัลลอฮฺก็ได้เตรียมโองการเหล่านี้ไว้ให้ผู้ศรัทธาเหล่านั้น

พระองค์ตรัสความว่า

﴿ زُيِّنَ لِلَّذِينَ كَفَرُواْ ٱلۡحَيَوٰةُ ٱلدُّنۡيَا وَيَسۡخَرُونَ مِنَ ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْۘ وَٱلَّذِينَ ٱتَّقَوۡاْ فَوۡقَهُمۡ يَوۡمَ ٱلۡقِيَٰمَةِۗ وَٱللَّهُ يَرۡزُقُ مَن يَشَآءُ بِغَيۡرِ حِسَابٖ ٢١٢ ﴾ [البقرة: ٢١٢] 

“ชีวิตโลกดุนยานี้ถูกประดับให้แก่บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา และพวกเขาก็ได้เย้ยหยันบรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย

ทว่าเหล่าผู้ยำเกรงนั้นจะเหนือกว่าพวกเขาในวันกิยามะฮฺ

และอัลลอฮฺจะทรงประทานปัจจัยแก่ผู้ที่ทรงประสงค์โดยไม่คิดคำนวณแต่อย่างใดเลย”

(อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 212)

﴿ فَلَا تُعۡجِبۡكَ أَمۡوَٰلُهُمۡ وَلَآ أَوۡلَٰدُهُمۡۚ إِنَّمَا يُرِيدُ ٱللَّهُ لِيُعَذِّبَهُم بِهَا فِي ٱلۡحَيَوٰةِ ٱلدُّنۡيَا وَتَزۡهَقَ أَنفُسُهُمۡ وَهُمۡ كَٰفِرُونَ ٥٥ ﴾ [التوبة: ٥٥] 

“ดังนั้น จงอย่าให้ทรัพย์สมบัติและลูกหลานของพวกเขาเป็นที่พึงใจ(ชื่นชอบ)แก่เจ้า

แท้จริงแล้ว อัลลอฮฺประสงค์ที่จะลงโทษพวกเขาด้วยสิ่งเหล่านั้นในโลกดุนยานี้ และพวกเขาจะสิ้นชีวิตในสภาพที่เป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา”

(อัต-เตาบะฮฺ : 55)

﴿ وَلَا تَمُدَّنَّ عَيۡنَيۡكَ إِلَىٰ مَا مَتَّعۡنَا بِهِۦٓ أَزۡوَٰجٗا مِّنۡهُمۡ زَهۡرَةَ ٱلۡحَيَوٰةِ ٱلدُّنۡيَا لِنَفۡتِنَهُمۡ فِيهِۚ وَرِزۡقُ رَبِّكَ خَيۡرٞ وَأَبۡقَىٰ ١٣١ ﴾ [طه: ١٣١] 
 
“และอย่าทอดสายตาของเจ้าไปยังสิ่งที่เราได้ทำให้เป็นความเพลิดเพลินแก่กลุ่มคนเหล่านั้นในหมู่พวกเขา(ผู้ปฏิเสธศรัทธา)

ซึ่งมันคือความสุขสำราญแค่ในโลกดุนยานี้ เพื่อที่เราจะได้ทดสอบพวกเขา และการตอบแทนของอัลลอฮฺ(ในโลกหน้า)ย่อมประเสริฐและจีรังกว่า”

(ฏอฮา : 131)

﴿ لَا يَغُرَّنَّكَ تَقَلُّبُ ٱلَّذِينَ كَفَرُواْ فِي ٱلۡبِلَٰدِ ١٩٦ مَتَٰعٞ قَلِيلٞ ثُمَّ مَأۡوَىٰهُمۡ جَهَنَّمُۖ وَبِئۡسَ ٱلۡمِهَادُ ١٩٧ لَٰكِنِ ٱلَّذِينَ ٱتَّقَوۡاْ رَبَّهُمۡ لَهُمۡ جَنَّٰتٞ تَجۡرِي مِن تَحۡتِهَا ٱلۡأَنۡهَٰرُ خَٰلِدِينَ فِيهَا نُزُلٗا مِّنۡ عِندِ ٱللَّهِۗ وَمَا عِندَ ٱللَّهِ خَيۡرٞ لِّلۡأَبۡرَارِ ١٩٨ ﴾ [آل عمران: ١٩٦- ١٩٨] 
 
“อย่าให้ความเคลื่อนไหวของเหล่าผู้ปฏิเสธศรัทธา ณ ดินแดนต่างๆ ล่อลวงเจ้าได้ มันเป็นความสำราญเพียงนิดเดียว

และแล้วที่พำนักสุดท้ายของพวกเขาก็คือ นรกอันเผาผลาญ และนั่นเป็นที่พักอันเลวร้ายยิ่งแล้ว

ทว่า บรรดาผู้ที่ยำเกรงพระผู้เป็นเจ้าของพวกเขานั้น สำหรับพวกเขาคือสวนสวรรค์ซึ่งมีแม่น้ำหลายสายไหลอยู่เบื้องล่าง

พวกเขาจะพำนักอยู่ในนั้นตลอดกาล มันเป็นสถานที่รับรองจากอัลลอฮฺ และสิ่งที่มีอยู่ ณ อัลลอฮฺนั้นคือสิ่งที่ดียิ่งสำหรับเหล่าคนที่ดี

(อาล อิมรอน : 196-198)

          ผู้ที่ไตร่ตรองโองการทั้งหลายข้างต้นนี้คงพอที่จะสำนึกได้บ้างว่า ความมั่งมีของอีกฝ่ายตรงข้ามนั้นแท้ที่จริงแล้วมีกลิ่นอายแห่งการลงโทษซึ่งอยู่ในรูปแบบของการทดสอบหลายประการ และเป็นความสำราญชั่วคราวที่จะสูญสลายไปในไม่ช้าแม้จะมีมากมายแค่ไหนก็ตาม และไม่ใช่เรื่องน่าชื่นชมเลยสักนิดที่จักต้องไปวาดหวังปรารถนาเพื่อให้มีหรือให้เป็นเช่นฐานะของผู้ฝ่าฝืนเหล่านั้น และหากต้องเผชิญหน้ากันเป็นจริงเป็นจัง พระองค์ก็ย้ำเตือนเราด้วยดำรัสเหล่านี้

﴿ وَلَا تَهِنُواْ وَلَا تَحۡزَنُواْ وَأَنتُمُ ٱلۡأَعۡلَوۡنَ إِن كُنتُم مُّؤۡمِنِينَ ١٣٩ إِن يَمۡسَسۡكُمۡ قَرۡحٞ فَقَدۡ مَسَّ ٱلۡقَوۡمَ قَرۡحٞ مِّثۡلُهُۥۚ وَتِلۡكَ ٱلۡأَيَّامُ نُدَاوِلُهَا بَيۡنَ ٱلنَّاسِ وَلِيَعۡلَمَ ٱللَّهُ ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَيَتَّخِذَ مِنكُمۡ شُهَدَآءَۗ وَٱللَّهُ لَا يُحِبُّ ٱلظَّٰلِمِينَ ١٤٠ ﴾ [ال عمران: ١٣٩- ١٤٠] 
 
“และอย่าได้รู้สึกท้อถอยเพลี่ยงพล้ำและสิ้นหวัง ทั้งๆ ที่พวกเจ้านั้นเหนือกว่าพวกเขา หากพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธา

ถ้าพวกเจ้าได้รับบาดแผล คนเหล่านั้นก็ได้รับบาดแผลเยี่ยงนั้นเช่นกัน

วัน(แห่งการต่อสู้)เหล่านั้นเราทำให้มันหมุนเวียนเปลี่ยนผันระหว่างมนุษย์(คือผลัดกันแพ้ชนะ)

และเพื่ออัลลอฮฺจะได้รู้(แยกแยะ)ถึงผู้ที่ศรัทธาอย่างแท้จริง(จากบรรดาพวกมุนาฟิก)

และจะทรงรับเอาผู้ที่เป็นชะฮีดในหมู่พวกเจ้า และอัลลอฮฺไม่ทรงรักบรรดาผู้ที่อธรรม”

(อาล อิมรอน : 139-140)

﴿ وَلَا تَهِنُواْ فِي ٱبۡتِغَآءِ ٱلۡقَوۡمِۖ إِن تَكُونُواْ تَأۡلَمُونَ فَإِنَّهُمۡ يَأۡلَمُونَ كَمَا تَأۡلَمُونَۖ وَتَرۡجُونَ مِنَ ٱللَّهِ مَا لَا يَرۡجُونَۗ وَكَانَ ٱللَّهُ عَلِيمًا حَكِيمًا ١٠٤ ﴾ [النساء: ١٠٤] 
 
“และอย่าได้รู้สึกท้อถอยเพลี่ยงพล้ำในการเผชิญกับกลุ่มคนเหล่านั้น

หากพวกเจ้าเจ็บปวด ดังนั้น แท้จริงแล้วพวกเขาก็เจ็บปวดเยี่ยงที่พวกเจ้าเจ็บปวดเช่นกัน

ในขณะที่พวกเจ้านั้นหวังจากอัลลอฮฺในสิ่งที่พวกเขาไม่ได้หวัง และอัลลอฮฺนั้นทรงรอบรู้และปรีชายิ่ง”

(อัน-นิสาอ์ : 104)

          โองการแรกของสองอายะฮฺข้างต้นนี้ถูกประทานเพื่อเป็นกำลังใจแก่ผู้ศรัทธา เมื่อครั้งอ่อนแรงจากสงครามอุหุด ซึ่งพวกเขาต้องประสบกับความเจ็บปวดและความเสียหายอย่างหนักหน่วง (ดู ตัฟสีร อัฏ-เฏาะบะรีย์ 7:234)

 

          ในสภาพแห่งการปะทะเผชิญหน้าระหว่างคู่ขัดแย้งสองฝ่าย ความสูญเสียและความเจ็บปวดอาจจะเป็นสิ่งที่ทั้งคู่ต้องประสบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จุดหมายของแต่ละฝ่ายต่างหากที่เป็นตัวแยกแยะว่าฝ่ายไหนเจ็บปวดอย่างมีค่าสมแก่เกียรติยศ และไม่ต้องรู้สึกเพลี่ยงพล้ำหรือโศกเศร้าเสียใจ ความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายที่สวนทางกันยากจะหลีกพ้น และในเมื่อต่างฝ่ายต่างมุ่งที่จะเอาชนะด้วยการงัดเอากลวิธีมากมายมาใช้เพื่อให้อีกฝ่ายเพลี่ยงพล้ำและยอมแพ้ บางครั้งความท้อถอยและอ่อนแอย่อมเกิดขึ้น โดยเฉพาะถ้าเห็นกับตาว่าคู่ต่อสู้มีความพร้อมและปัจจัยแห่งอำนาจมากกว่าตน สิ่งที่จะเป็นกำแพงอันแข็งแกร่งคอยปกป้องหัวใจไม่ให้ท้อแท้ได้ก็คือ ความอดทนที่ผูกมัดกับพลังอำนาจแห่งพระผู้เป็นเจ้าอย่างมั่นคงเท่านั้น

 

﴿ ۞لَتُبۡلَوُنَّ فِيٓ أَمۡوَٰلِكُمۡ وَأَنفُسِكُمۡ وَلَتَسۡمَعُنَّ مِنَ ٱلَّذِينَ أُوتُواْ ٱلۡكِتَٰبَ مِن قَبۡلِكُمۡ وَمِنَ ٱلَّذِينَ أَشۡرَكُوٓاْ أَذٗى كَثِيرٗاۚ وَإِن تَصۡبِرُواْ وَتَتَّقُواْ فَإِنَّ ذَٰلِكَ مِنۡ عَزۡمِ ٱلۡأُمُورِ ١٨٦ ﴾ [آل عمران: ١٨٦] 

 “แน่นอนยิ่ง พวกเจ้าจะถูกทดสอบในทรัพย์สมบัติและตัวของพวกเจ้า

และแน่นอนยิ่ง พวกเจ้าจะได้ยินการก่อความเดือดร้อนอันมากมายจากบรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์ก่อนหน้าพวกเจ้า

และบรรดาผู้ที่ตั้งภาคี(ด้วยการปฏิเสธศรัทธา) และหากพวกเจ้าอดทนและยำเกรงแล้ว แท้จริงนั่นคือหนึ่งในสิ่งที่เป็นความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว”

(อาล อิมรอน : 186)

           ความยำเกรง และ ความอดทน ของผู้ศรัทธาเป็นเหมือนเกราะกำบังให้กับเขาทุกครั้งที่ต้องปะทะเผชิญหน้าในการต่อสู้ และยังเป็นลิ่มแทงใจของอีกฝ่ายหนึ่งเสมอเมื่อเห็นว่าผู้ศรัทธาสามารถยืนหยัดได้เพราะมีสองอย่างนี้คอยค้ำชูอยู่เสมอ

﴿ إِن تَمۡسَسۡكُمۡ حَسَنَةٞ تَسُؤۡهُمۡ وَإِن تُصِبۡكُمۡ سَيِّئَةٞ يَفۡرَحُواْ بِهَاۖ وَإِن تَصۡبِرُواْ وَتَتَّقُواْ لَا يَضُرُّكُمۡ كَيۡدُهُمۡ شَيۡ‍ًٔاۗ إِنَّ ٱللَّهَ بِمَا يَعۡمَلُونَ مُحِيطٞ ١٢٠ ﴾ [آل عمران: ١٢٠] 

 “หากพวกเจ้าประสบกับความดีงาม สิ่งนั้นย่อมสร้างความชอกช้ำให้กับพวกเขา และหากพวกเจ้าประสบกับความเลวร้าย พวกเขาก็จะยินดีด้วยสิ่งนั้น

และถ้าพวกเจ้าอดทนและยำเกรงแล้ว อุบายของพวกเขาจะไม่สร้างความเดือดร้อนแก่พวกเจ้าได้เลย

แท้จริงอัลลอฮฺทรงรอบรู้อย่างครอบคลุมยิ่งถึงสิ่งที่พวกเขากระทำ”

 (อาละอิมรอน : 120)

         สุดท้ายแล้ว ไม่มีเหตุให้ผู้ศรัทธาต้องกลัวหรือหมดหวัง ในเมื่อพวกเขาถูกแจ้งล่วงหน้าว่าจะได้รับข่าวดีจากพระองค์อัลลอฮฺ ที่เหล่ามลาอิกะฮฺจะนำมามอบให้ในบั้นปลายของชีวิต

﴿ إِنَّ ٱلَّذِينَ قَالُواْ رَبُّنَا ٱللَّهُ ثُمَّ ٱسۡتَقَٰمُواْ تَتَنَزَّلُ عَلَيۡهِمُ ٱلۡمَلَٰٓئِكَةُ أَلَّا تَخَافُواْ وَلَا تَحۡزَنُواْ وَأَبۡشِرُواْ بِٱلۡجَنَّةِ ٱلَّتِي كُنتُمۡ تُوعَدُونَ ٣٠ ﴾ [فصلت: ٣٠] 

 “แท้จริงบรรดาผู้ที่กล่าวว่า พระผู้เป็นเจ้าของเรานั้นคืออัลลอฮฺ แล้วพวกเขาก็ยืนหยัดเช่นนั้น จะมีมะลาอิกะฮฺลงมายังพวกเขา(ในบั้นปลายของชีวิต)

เพื่อแจ้งข่าวดีว่า พวกเจ้าอย่าได้โศกเศร้าเลย และจงยินดีด้วยการตอบแทนด้วยสวนสวรรค์ ซึ่งพวกเจ้าถูกสัญญาไว้แล้ว

(ฟุศศิลัต : 30)

          นี่คือโองการแห่งพระผู้เป็นเจ้า เป็นถ้อยคำอันทรงพลังที่ผู้ศรัทธาไม่ควรลืมมันแม้เพียงเสี้ยววินาที เพราะมิเช่นนั้น ความรู้สึกเพลี่ยงพล้ำท้อถอยจะเข้ามาครอบงำหัวใจ เป็นเหตุให้พลังใจอ่อนแรง ในขณะที่เรายังต้องเผชิญหน้ากับความหนักหน่วงของอุปสรรคที่ถาโถมเข้ามาจากคู่ขัดแย้งตรงข้าม ไม่ว่าเราจะเลือกหรือไม่ได้เลือกก็ตาม เพราะหลายต่อหลายครั้งที่การปะทะขัดแย้งเหล่านี้มิได้ปะทุมาจากฝ่ายเรา แต่เกิดขึ้นจากน้ำมือของฝ่ายที่รับไม่ได้กับดัชนีแห่งสัจธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ที่กำลังพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีทีท่าว่าจะหยุดง่ายๆ ในระยะเวลาอันใกล้นี้


          สัจธรรม ก็คือสัจธรรม ชัยชนะย่อมอยู่คู่สัจธรรมเสมอ ทว่าเมื่อใดเล่าที่จะเห็นชัยชนะนั้น ? คำตอบย่อมขึ้นอยู่กับว่า ผู้ที่อุ้มชูสัจธรรมมีพลังใจมากแค่ไหนที่จะยืนหยัดมั่นคงตลอดไปจนได้รับชัยชนะเท่านั้นเอง ... ขออัลลอฮฺประทานเตาฟีก

 

Islam House