น้ำตากับการเตาบัต
  จำนวนคนเข้าชม  33196

น้ำตากับการเตาบัต


อิบนุซอและห์


ด้วยพระนามของอัลเลาะห์ ผู้ทรงกรุณาเมตตาปรานีเสมอ

“และพวกเจ้าทั้งหลาย   จงขอลุแก่โทษต่ออัลเลาะห์เถิด   โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย  เพื่อพวกเจ้าจะได้รับชัยชนะ”  

(อันนูร 31 )

          ชีวิตมนุษย์ส่วนมากจะตั้งอยู่บนนัฟซู (อารมณ์ใฝ่ต่ำ) ด้วยกันทั้งนั้น ทั้งความอยากได้อยากดีอยากมีอยากเด่น ส่วนน้อยที่จะมองเห็นถึงสัจธรรมความเป็นมนุษย์ ที่ตั้งอยู่บนลิขิตการกำหนดของอัลเลาะห์ รวมทั้งความดีและความชั่วก็เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงลิขิตกำหนดไว้แล้วทั้งสิ้น  หากแต่มนุษย์ต้องใช้สติปัญญาพิจารณาเลือกทำ  เลือกปฏิบัติได้  ว่าสิ่งใดดีสิ่งใดชั่ว  และมนุษย์ก็รับรู้ถึงผลลับที่จะตามมาว่าทำสิ่งใดมีผลอย่างไร  แต่มนุษย์ส่วนมากใจเย็นคิดว่าคิดว่าไม่เป็นไร  ยังไงก็ยังมีวันพรุ่งนี้ไว้ให้แก้ตัวเสมอ


           “บาป”  คำสั้นๆที่เกิดจากการกระทำมากมายของมนุษย์    การกระทำบาปคือสาเหตุที่ทำให้เกิดความมืดมนในหัวใจ  ไม่ว่าจะเป็นบาปที่เกิดจากความตั้งใจ   หรือเกิดจากความพลาดพลั้งลงไป   หากเราได้เผลอไผลทำความผิดลงไปไม่ว่าจะเป็น ทางกริยา ,วาจา หรือจิตใจก็ตาม สิ่งที่จะชะล้างบรรดาความผิดเหล่านั้นได้  คือ การเตาบัต สำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัวขอลุแก่โทษต่อ อัลเลาะห์ การเตาบัตสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัวจะไม่ถูกยอมรับเพียงแค่คำพูดที่ว่า “ฉันสำนึกผิดแล้ว” หรือ “ข้าพเจ้าผิดไปแล้ว”  หรือ “ฉันขอโทษ” นั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งจากลมปากเท่านั้น   หากแต่เราต้องเรียนรู้ถึงเงื่อนไขหลายๆอย่างที่ทำให้การเตาบัตสำนึกผิดของเราสมบูรณ์ เป็นที่ยอมรับต่อองค์อภิบาลผู้ทรงอภัย   

ท่านศาสดามูฮำหมัด กล่าวไว้ว่า

“ทั้งหมดของลูกหลานนบีอาดัมนั้นทำผิด   แต่ผู้ที่ดีที่สุดในบรรดาผู้ที่ทำความผิดคือ ผู้กลับเนื้อกลับตัว อย่างต่อเนื่อง” 

(บันทึกโดย ติรมีซีย์ )

         แต่อย่างไรก็ตามก่อนที่หัวใจจะถูกห่อหุ้มด้วยความมืดมิดจากบาปจนสนิทแน่น   ถ้าหากเรารู้สึกตัวตื่นขึ้นจากห้วงแห่งความเผลอไผลนั้นได้แล้ว  ทำการสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัวด้วยหัวใจที่บริสุทธิ์   และความตั้งใจที่แน่วแน่    แน่นอนอัลลอฮ์ จะทรงรับการขอลุแก่โทษอภัยให้เรา  และจะทรงประทานหนทางอันดีงามให้เราอย่างแน่นอน


          เงื่อนไขของการเตาบัตสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัวนั้นอาจประกอบไปด้วยเงื่อนไขหลายประการ  ไม่ว่าจะเป็นการเสียใจต่อสิ่งที่ทำลงไป  การตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะไม่หวนกลับไปทำอีก  หรือคืนสิทธิ์ของบุคคลอื่นให้แก่เจ้าของที่แท้จริง   และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญและอาจจะทำให้การเตาบัตของเรานั้นสมบูรณ์และเป็นการแสดงออกถึงความจริงใจนั้น  ก็คือ “น้ำตา”   เราอาจใช้น้ำตาแสดงความเสียใจระบายความรู้สึกในหลายๆโอกาส  แต่จะมีสักกี่ครั้งที่เราใช้น้ำตาลบล้างความผิด  ระบายความรู้สึกสำนึกตนกลับเนื้อกลับตัวต่ออัลเลาะห์   มีสักครั้งไหมที่เราเสียน้ำตาให้กลับความผิดที่ทำลงไปทั้งที่เจตนาและพลาดพลั้ง 

           โดยส่วนมากสาเหตุการเสียน้ำตา   อาจมีที่มาจาก   ความรักไม่สมหวังอกหัก รักคุด  แฟนทิ้งเสียใจมาก ก็จะใช้น้ำตาอ้อนวอนขอความเห็นใจ  หาเหตุหาผลมาอธิบายต่างๆนาๆ   เพียงเพราะขอให้รักคืนกลับมา      หรือไม่ก็จะเสียใจเสียน้ำตาที่พ่อ,แม่,ญาติ,พี่น้อง   กลับสู่ความเมตตาของอัลเลาะห์    หรือยิ่งไปกว่านั้นเสียน้ำตาให้กับภาพยนตร์ให้กับละครที่ดาราตีบทแตกแสดงได้ถึงพริกถึงขิง  บางฉากบางตอนที่ตัวพระตัวนางไม่สมหวัง  หรือไม่ก็พระเอกตาย นางเอกพิการ  เราก็อินเนอร์ไปกับหนังไปกับละครเสียใจเสียน้ำตาโดยไร้ประโยชน์  ผู้กำกับก็ได้รับการยกย่องชมเชยถึงขีดความสามารถในการกำกับภาพยนตร์อย่างดีเยี่ยม   แล้วผู้กำกับแห่งโลกนี้ที่สั่งใช้ให้เราประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีๆ  ให้กระทำในสิ่งที่พระองค์ทรงใช้ออกให้ห่างไกลจากสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม   แต่มนุษย์เรากลับแสดงแต่สิ่งที่ตรงกันข้าม   เราแสดงแต่บทบาทของบ่าวผู้ฝ่าฝืนต่อพระองค์  บ่าวผู้ปฏิบัติแต่สิ่งที่พระองค์ทรงห้าม   บ่าวผู้กระทำแต่เรื่องที่ขาดทุน   บ่าวผู้ทรยศ  แล้วบทบาทบ่าวเจ้าน้ำตา  บ่าวผู้น่าสงสาร  ส่วนบ่าวผู้เสียอกเสียใจกับสิ่งต้องห้ามที่เราพลาดพลั้งทำลงไปทั้งที่เจตนาและไม่เจตนา    เราเคยแสดงกันบ้างไหม   ลองไตร่ตรองดูเถิด !

 

การเตาบัต   หมายถึง   “การที่ผู้กระทำผิดสำนึกตนสารภาพผิดกลับเนื้อกลับตัวและหันเข้าสู่อัลเลาะห์ ด้วยการขออภัยโทษ”

         มนุษย์ทุกคนนั้นล้วนแล้วแต่มีความผิดด้วยกันทั้งนั้นไม่ว่าจะผิดมากหรือผิดน้อยก็ตาม   ยกเว้นผู้ที่อัลเลาะห์ ได้ทรงปกป้องคุ้มครองไว้แล้วนั้นก็คือ  ท่านศาสดามูฮำหมัด แม้ท่านศาสดาจะถูกปกป้องจากบรรดาความผิดแต่ท่านก็ยังมุ้งหน้าสู่การเตาบัตต่ออัลเลาะห์ วันละไม่ต่ำกว่า 100 ครั้งเป็นสม่ำเสมอ  นั้นเป็นการแสดงให้เห็นว่าการเตาบัตมีความสำคัญต่อมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง   เพราะบาปทั้งหลายจะยังคงอยู่กับตัวผู้กระทำผิด ถ้าหากเขาไม่สำนึกตน  ไม่ขออภัยโทษ  ไม่ทำความดีลบล้าง  และเมื่อบาปยังติดอยู่กับตัว  เขาก็จะได้รับโทษจากบาปที่เขาทำไว้  ดังนั้นอัลเลาะห์ จึงได้ทรงกำชับให้มนุษย์ทั้งหลายมุ่งมั่นตั้งหน้าตั้งตาตั้งอกตั้งใจในการเตาบัตตนต่อพระองค์เมื่อรู้ว่าตัวเองทำผิด   และพระองค์ก็ทรงสัญญาว่าจะทรงอภัยโทษให้กับผู้ที่ตั้งใจเตาบัต   และทรงเตรียมผลตอบแทนที่ดีในสวรรค์ไว้เป็นรางวัล   ดังที่พระองค์อัลเลาะห์ ตรัสความว่า

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا تُوبُوا إِلَى اللهِ تَوْبَةً نَّصُوحاً عَسَى رَبُّكُمْ أَن يُكَفِّرَ عَنكُمْ سَيِّئَاتِكُمْ وَيُدْخِلَكُمْ جَنَّاتٍ تَجْرِي مِن تَحْتِهَا الأَنْهَارُ  (سورة التحريم:8)

 

 “โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย จงขอลุแก่โทษต่ออัลลอฮ์ด้วยการลุแก่โทษอย่างจริงจังเถิด  

บางทีอัลเลาะห์จะทรงลบล้างความผิดของพวกเจ้า   และนำพวกเจ้าเข้าสู่สรวงสวรรค์ซึ่งมีสายน้ำไหลผ่านอยู่เบื้องล่างของมัน”

(ซูเราะห์ อัต-ตะห์รีม)


          การเตาบัตอย่างจริงใจและแน่วแน่เรียกว่า  “เตาบัตนาซูฮา”   คือ การเตาบัตที่มีความมุ่งมั่นอย่างจริงจังและตั้งใจว่าจะไม่หวนกลับไปทำอีก   และถ้าหากว่าพลั้งเผลอทำผิดอีกก็จงรีบทำการเตาบัตอีก   ดังมีตัวอย่างผู้มุ่งมั่นสู่การเตาบัตที่ปรากฏในหะดีษ ว่า


“ครั้งหนึ่งสมัยยุคก่อนหน้าพวกท่าน   มีชายผู้หนึ่งได้ฆ่าคนถึง 99 คน และเขาต้องการที่จะกลับเนื้อกลับตัว   เขาจึงสอบถามผู้มีความรู้ที่สุด   ดังนั้นจึงมีคนแนะนำให้เขาไปหานักนักบวชผู้หนึ่ง 

 และเขาก็เดินทางไปหานักบวชและถามกับนักบวชผู้นั้นว่า “เราได้ฆ่าคนถึง 99 คนแล้ว มีหนทางใดบ้างไหมที่เราจะสามารถเตาบัตตัว”

นักบวชตอบเพียงสั้นๆว่า “ไม่มี”

เมื่อฟังเช่นนั้น ด้วยความโมโห  เขาจึงฆ่านักบวชผู้นั้นเสีย  และกลายเป็นคนที่ฆ่าคนถึง 100 คน  หลังจากนั้นมีคนแนะนำให้เขาเดินทางไปหานักปราชญ์ผู้หนึ่ง 

เขาจึงเดินทางไปหาและสอบถามนักปราชญ์ผู้นั้นว่า “เขาได้ฆ่าคนถึง 100 คนแล้ว  จะมีหนทางที่เขาจะเตาบัตตัวได้ไหม”  

นักปราชญ์ผู้นั้นตอบว่า “ย่อมมีทางสำหรับเขาอย่างแน่นอน   เพราะไม่มีสิ่งใดเลยที่จะขัดขวางการเตาบัต”    

นักปราชญ์ได้แนะนำให้เขาอพยพไปยังเมืองซึ่งมีแต่คนทำความดีและให้ทิ้งเมืองเดิมของเขาเพราะมีแต่คนชอบทำความชั่ว   เขาจึงตั้งใจออกเดินทางอพยพไปยังเมืองที่นักปราชญ์ผู้นั้นแนะนำ    แต่เขากลับเสียชีวิตลงในระหว่างการเดินทางก่อนที่จะไปถึง   เมื่อนั้นก็มีมาลาอิกะฮ์ 2 ท่าน  คือ มาลาอิกะฮ์แห่งความเมตตาและมาลาอิกะฮ์แห่งการลงโทษ  มาเพื่อรับวิญญาณของเขา  

มาลาอิกะฮ์แห่งความเมตตาต้องการที่จะนำวิญญาณของเขาไป  โดยกล่าวว่า “เขาผู้นี้ได้เตาบัตตนและมุ่งมั่นไปสู่อัลเลาะห์ด้วยใจจริง”

ในขณะเดียวกัน มาลาอิกะฮ์แห่งการลงโทษก็ต้องการที่จะนำวิญญาณของเขาไปโดยกล่าวว่า “ผู้นี้ไม่เคยทำความดีเลยแม้แต่น้อย”  

อัลเลาะห์ ได้ส่งมาลาอิกะฮ์อีกตนมาเพื่อเป็นผู้ตัดสิน   โดยบอกให้มาลาอิกะฮ์ทั้งสองวัดระยะทางจากจุดที่เขาเสียชีวิตไปยังทั้ง 2 เมือง   เมืองไหนที่มีระยะทางใกล้กว่าก็ให้ถือว่าเขาเป็นพวกในเมืองนั้น   มาลาอิกะฮ์ทั้ง 2 ท่านจึงช่วยกันวัดระยะทางและพบว่า  เมืองที่เขาตั้งใจอพยพไปมีระยะทางใกล้กว่า (ด้วยการดลบันดาลและการช่วยเหลือของอัลเลาะห์ )  ดังนั้นมาลาอิกะฮ์แห่งความเมตตาจึงได้นำเอาวิญญาณของชายผู้นั้นไป

 (รายงานโดยมุสลิม)


          จากหะดีษข้างต้น   มนุษย์ล้วนหนีไม่พ้นจากบรรดาความผิดของตนไม่ว่าจะเล็กเท่าพงธุลี หรือจะมากกว่าฟองในมหาสมุทร เราก็จะได้เห็นและได้รับผลจากมันอย่างแน่นอน  เราจึงควรเอาใจใส่ในการเตาบัต  โดยการเตาบัตที่แท้จริงจะต้องเกิดจากการสำนึกผิดจากก้นบึ้งของหัวใจและความตั้งใจจริงที่จะเลิกทำบาป  มนุษย์จะต้องไม่ท้อถอยในการเตาบัต   ไม่ว่าเขาจะพลั้งเผลอมากี่ครั้งก็ตามตราบใดที่เขายังมีลมหายใจอยู่  บาปไม่ว่าจะใหญ่แค่ไหนก็สามารถลบล้างได้ด้วยการเตาบัตขอให้มีความมุ่งมั่นตั้งใจจริงรวมอยู่ในการเตาบัตด้วย   และอัลเลาะห์ ทรงให้ความช่วยเหลือผู้ที่มีความตั้งใจจริงในการเตาบัต  ด้วยการช่วยเหลือที่ยิ่งใหญ่และมีเกียรติยิ่ง

 

           ดังนั้น   ผู้เขียนขอเตือนตัวของผู้เขียนเองและท่านผู้อ่านที่มีความตั้งใจจริงสู่การเตาบัตต่ออัลเลาะห์ ให้รู้สึกตัวและสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัวต่ออัลเลาะห์ ในบรรดาความผิดที่ทำลงไปโดยเจตนาและพลั้งเผลอ   และขอให้การเตาบัตของผู้เขียนและท่านผู้อ่านเป็นการเตาบัตน่าซูฮา ได้รับการอภัยจากองค์อภิบาลผู้ทรงยิ่งใหญ่ จากบรรดาความผิดในอดีต ปัจจุบัน และความผิดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ได้รับการชี้นำที่ถูกต้องและเที่ยงตรง   ก่อนประตูแห่งการเตาบัตของเราจะถูกปิดลง  ก่อนวิญญาณของเราจะถึงลูกกระเดือก   ก่อนลมหายใจสุดท้ายจะสิ้นสุดลง  ขออภัยต่ออัลเลาะห์ ก่อนที่จะไม่มีเวลาให้ขอ และทุกๆเช้าที่เรายังมีลมหายใจตื่นขึ้นมา  จงจำไว้ว่าอัลเลาะห์ ให้ “โอกาสคุณ” แก้ตัวเสมอ

 


โรงเรียนมิฟตาฮุ่ลอุลูมิดดีนียะห์  (บ้านดอน)