วิสัยทัศน์ของอิสลามต่อการค้าและความเป็นธรรมของราคา
  จำนวนคนเข้าชม  9575

เศรษฐศาสตร์อิสลาม

ประเด็นที่สอง : วิสัยทัศน์ของอิสลามต่อการค้าและความเป็นธรรมของราคา


เขียน : ดร.มุสฏอฟา อัลอับดุลลอฮฺ อัลกิฟรีย์


          อิสลามถือว่าการค้า คือ วิถีทางหนึ่งที่ใช้สำหรับการแสวงหาโชคปัจจัยที่เป็นสิ่งอนุมัติ(หะลาล) และพื้นฐานสำคัญของการแสวงหาโชคปัจจัยที่อนุมัติ (หะลาล) ตามทรรศนะของนักนิติศาสตร์อิสลาม คือการมีส่วนร่วมในการเสี่ยงภัย, การได้ผลกำไรและการขาดทุนจากการเคลื่อนย้ายสินค้า จากสถานที่หนึ่งสู่อีกสถานที่หนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคลื่อนย้ายสินค้าในภูมิภาคที่เป็นดินแดนการผลิต และไม่มีความต้องการในสินค้านั้น ไปสู่ดินแดนผู้บริโภคและมีความต้องการ หลังจากนั้น บริบทของการค้าได้ขยายตัวอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งครอบคลุมระบบการซื้อขาย แม้แต่ในภูมิภาคเดียวกัน หรือเมืองเดียวกัน หรือหมู่บ้านเดียวกัน ดังนั้น ความสำคัญของการค้ายิ่งเพิ่มทวีขึ้นตามขนาดของอัตราเสี่ยง เมื่อมองในแง่นี้ อิสลามมีการค้าอยู่สองประเภท คือ

       1.  ประเภทที่หนึ่ง การค้าขายแบบส่งออก คือการซื้อขายกันระหว่างสองภูมิภาคเนื่องจากการค้าในประเภทนี้สินค้าต้องเสี่ยงต่อภยันอันตรายที่เกิดขึ้นเสมอ ในการขนย้ายจากภูมิภาคหนึ่งสู่อีกภูมิภาคหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นภัยในเส้นทางคมนาคม ทั้งทางบกและทางน้ำ การเกิดภัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสภาวะการณ์การขาดทุนที่จะตามมา เนื่องจากสินค้าจะต้องชำรุดหรือเสียหาย อันเป็นผลมาจากความห่างไกลของเส้นทาง และเวลาที่ใช้ในการเดินทาง

       2.  ประเภทที่สอง  การค้าขายแบบภายใน การค้าขายแบบนี้จะมีการขนย้ายสินค้าจากเมืองหนึ่งสู่อีกเมืองหนึ่ง ในภูมิภาคเดียวกัน ดังนั้นอัตราเสี่ยงต่อความเสียหายของสินค้าจะลดน้อยลง

 
  อัลกุรอานได้มีตัวบทที่อนุญาตให้ทำการค้าได้ คือพระองค์อัลลอฮฺ ได้ตรัสไว้ความว่า

“โอ้บรรดาผู้ที่ศรัทธาทั้งหลาย จงอย่ากินทรัพย์ของพวกเจ้า ในระหว่างพวกเจ้าโดยมิชอบ นอกจากมันจะเป็นการค้าขายที่เกิดจากความพอใจในหมู่พวกเจ้า”

(ซูเราะฮฺอันนิซาอฺ โองการที่ 29 )


         นอกจากนี้การทำการค้าก็เป็นงานของท่านศาสดา และพ่อค้าในสมัยนั้น พวกเขาได้ขนย้ายสินค้าจากประเทศเยเมน (ยะมัน) ไปยังประเทศซีเรียและขนย้ายจากประเทศซีเรียสู่ประเทศเยเมน ดังนั้นประเด็นหลักของการค้า คือ การพอใจและยินยอมของทั้งสองฝ่าย การยินยอมหรือความพอใจดังกล่าวจะต้องอยู่ในสามเงื่อนไขต่อไปนี้

1. ผู้ซื้อมีเสรีภาพในการเลือกซื้อ

2. ผู้ขายมีเสรีภาพในการขาย

3. ผู้ขายและผู้ซื้อมีเสรีภาพในการกำหนดราคาขายและราคาซื้อ


         ดังนั้นหากทั้งผู้ขายและผู้ซื้อถูกบับคั้นในการขายหรือการซื้อ แม้ว่าจะด้วยกับราคาเท่าไหร่ ถือว่าการค้านั้นได้สูญเสียโครงสร้างหลักของมันคือ ความพอใจซึ่งกันและกัน และหากว่าการซื้อขายไม่ได้วางอยู่บนบรรทัดฐานของความพอใจโดยได้วางอยู่ในภาวะที่ถูกบีบคั้น ก็จะทำให้เกิดสภาวะการกักตุนสินค้า ซึ่งการกักตุนสินค้าถือเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ที่เป็นบาปและไม่ได้เสี่ยงภัยร่วมกัน แต่เป็นการเอาเปรียบฝ่ายเดียว จึงทำให้เกิดการแสวงหารายได้ที่เป็นผลมาจากการรอคอยและการร่วมลงทุน เพราะมันหมายถึงการเก็บรวบรวม และการกักเก็บสินค้าที่สังคมต้องการในภาวะที่คับขัน


         ดังนั้นการแสวงหารายได้ในสภาพดังกล่าว จึงเป็นการแสวงหารายได้ในรูปของการรอคอย ฉวยโอกาส แต่มิได้มาจากการร่วมเสี่ยงภัยหรือการได้ผลกำไรและขาดทุนร่วมกัน และไม่ใช่การแสวงหารายได้ที่มาจากการพากเพียรที่ตั้งบนบรรทัดฐานของการวางแผนตามระบบและการคาดคะเน การแสวงหารายได้ด้วยวิธีกักตุนสินค้า และการกักเก็บทุกประเภท เพื่อรอให้เกิดภาวะการกระเตื้องของราคาสินค้าในภาวะที่สังคมมีความต้องการอย่างมาก และอยู่ในภาวะคับขัน ถือเป็นการกระทำที่ผิดบัญญัติอิสลามและเป็นการกระทำที่อิสลามไม่อนุมัติ


         ด้วยเหตุดังกล่าวอิสลามอนุมัติการทำการค้า แต่อิสลามไม่อนุมัติการกักตุนสินค้า อิสลามห้ามกักตุนสินค้าประหนึ่งว่าห้ามนำมาเป็นกระบวนการแสวงหารายได้ ท่านศาสนฑูตมูฮัมมัด ได้กล่าวว่า

“ผู้ใดกักตุนสินค้า ดังนั้นเขาอยู่ในฐานะผู้กระทำผิด”

(บันทึกโดยมุสลิม)


       เกี่ยวกับรายละเอียดของการกักตุนสินค้านั้น นักนิติศาสตร์อิสลามได้นำทรรศนะในประเด็นปลีกย่อย โดยที่บางท่านให้ทรรศนะว่า ห้ามกักตุนสินค้าเฉพาะประเภทปัจจัยหลักของการดำรงชีวิตของมนุษย์ขั้นพื้นฐานเท่านั้น เช่น อาหารหลักประเภทต่างๆ ส่วนบางท่านก็มีทรรศนะว่า บทบัญญัติที่ห้ามกักตุนสินค้านั้นมีความหมายรวมถึงสินค้าประเภทอาหารของมนุษย์ทั้งหมด บางท่านกล่าวว่ารวมทั้งอาหารสัตว์ด้วย ส่วนนักนิติศาสตร์อิสลามอีกกลุ่มหนึ่งมีทรรศนะว่าตัวบทที่ห้ามการกักตุนสินค้านั้นครอบคลุมถึงสินค้าทุกประเภท

          ท่านอบูยูสุฟ  ซึ่งเป็นศิษย์เอกและหนึ่งในสหายเอกทั้งสองของอิหม่ามอบูฮะนีฟะฮ์  ให้ทรรศนะว่า

“ทุกๆอย่างเมื่อมีการกักตุนแล้วทำให้มนุษย์เดือดร้อน ก็เข้าข่ายการกักตุนที่ต้องห้าม แม้ว่าสิ่งดังกล่าวจะเป็นทองคำ หรืออาภรณ์ก็ตาม”


         ดังนั้นเจตนารมณ์ของอัลอิสลามในการห้ามการกักตุนสินค้าคือ ห้ามการกระทำที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนให้กับมนุษย์นั่นเอง เนื่องจากมนุษย์แต่ละคนย่อมมีความต้องการที่แตกต่างกัน การกักตุนจึงเป็นเหตุที่ทำให้พวกเขาอยู่ในภาวะคับแคบและเดือดร้อน เราจึงพบว่าการกักตุนนั้นเป็นไปได้ที่รวมถึงทุกๆ อย่างที่เข้าข่ายทรัพย์สินทุกประเภท

 

         บทบัญญัติของอิสลาม มิได้ปล่อยให้ผู้ฉวยโอกาสกักตุนสินค้า แสวงหาผลประโยชน์จากการกักตุนของเขา หากแต่บทบัญญัติของอิสลามได้กำหนดให้ผู้ปกครองใช้อำนาจในการบังคับขายสินค้าที่ถูกกักตุนไว้ในราคาปกติ (ษะมันอัลมิษลิ์) ท่านอัลอัลลามะฮฺ อิบนุกัยยิม  (รออิมะฮุลลอฮฺ) ได้กล่าวว่า

“แท้จริงผู้ที่ทำการกักตุนสินค้าเขามีเจตนาที่จะซื้อสิ่งของที่มนษย์มีความต้องการไว้ เช่น อาหาร ต่อมาเขาก็ได้กักมันไว้เพื่อต้องการขายในราคาที่สูงขึ้นให้กับผู้คน เขาคือผู้ที่อธรรม ต่อมวลมนุษย์โดยทั่วไป โดยเหตุนี้ถือเป็นเอกสิทธิ์ของผู้ปกครองที่จะใช้อำนาจบังคับผู้ที่กักตุนทั้งหลายให้ขายสิ่งที่พวกเขาได้กักตุนไว้ด้วยราคาปกติยุติธรรม ในภาวะที่มนุษย์อยู่ในภาวะคับขันเนื่องจากมีความต้องการสิ่งดังกล่าว

 เช่น ผู้ที่กักเก็บอาหารไว้ที่เขาจนเกินจำนวน  ในสภาพที่ผู้คนอยู่ในภาวะวิกฤติด้านอาหาร หรือผู้ใดที่กักเก็บอาวุธที่เกินความจำเป็นในภาวะที่ผู้คนจำเป็นจะต้องเข้าสมรภูมิญิฮาด (สงครามพิทักษ์อิสลาม) หรืออื่นๆ

ดังนั้นผู้ใดที่อยู่ในภาวะวิกฤติที่ต้องการอาหารที่มีอยู่ที่ผู้อื่น (ผู้กักตุน) ก็ให้ผู้ปกครองเอาอาหารจากเขา (ผู้กักตุน) ถึงแม้ว่าจะเป็นการบังคับก็ตาม โดยจ่ายให้ในราคาปกติ แต่หากผู้กักตุนฝ่าฝืนไม่ยอมขายในราคาปกติแต่จะขายในราคาที่สูงกว่าปกติ ก็ให้ผู้ปกครองเอาจากเขา ( หมายถึงจากผู้กักตุน) สินค้าที่เขาได้กักตุนไว้ด้วยกับราคาที่เขา (ผู้กักตุน) เรียกร้อง โดยไม่บังคับเขาให้ขายในราคาปกติ”


         จากสิ่งที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น เราจะเห็นว่า แท้จริงแล้วอิสลามเรียกร้องไปสู่ความจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงความเป็นธรรม ในการซื้อขายแลกเปลี่ยน และห้ามมิให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดคดโกง ฉ้อฉล หรือสร้างความเดือดร้อนใดๆ ให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง ดังที่ปรากฎในตัวบทอัลฮะดีษที่ว่า

“จะต้องไม่ให้มีการสร้างความเดือดร้อนเกิดขึ้น และจะต้องไม่ให้มีการทำความเดือดร้อนให้กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในอิสลาม”

(บันทึกโดย อัลบุคอรีย์และมุสลิม)


         ดังที่ท่านคอลีฟะฮ์อะลี อิบนุ อบีฎอลิบ  (รอฎิยัลลอฮุอัลฮุ) ได้เรียกร้องไปสู่แนวคิดการตั้งราคาที่เป็นธรรมซึ่งจะไม่เป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ขายและผู้ซื้อ ซึ่งท่านได้กล่าวว่า

“จำเป็นจะต้องมีการซื้อขายกันด้วยราคาที่ไม่เป็นการเอารัดเอาเปรียบกันทั้งสองฝ่าย คือผู้ขายและผู้ซื้อ”


         คำพูดของคอลีฟะฮ์อาลี (รอฎิยัลลอฮุอัลฮุ) มีความหมายว่า ราคาที่เป็นธรรมของสินค้าจำเป็นจะต้องเป็นราคาที่ไม่เอารัดเอาเปรียบทั้งสองฝ่าย ที่ทำสัญญาการค้าคือผู้ขายและผู้ซื้อ(คือผู้ที่เสนอกับผู้ที่สนอง หรือผู้ที่ผลิตกับผู้ที่บริโภค) ราคาที่เป็นธรรมในอิสลามคือราคาที่ไม่ไปฉ้อฉล คดโกง ผู้หนึ่งผู้ใดจากบรรดาผู้ที่ได้กระทำสัญญาซึ่งกันและกัน ดังนั้นผู้ที่ผลิตหรือผู้ที่ขายจะต้องไม่คดโกง ฉ้อฉล เช่นเดียวกัน

 

 

แปลโดย : มุหำหมัด บินต่วน