กลไกการผลิตในอิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  6510

เศรษฐศาสตร์อิสลาม


เขียน : ดร.มุสฏอฟา อัลอับดุลลอฮฺ อัลกิฟรีย์

 

          เศรษฐศาสตร์อิสลามวางอยู่บนบรรทัดฐานของความเป็นกลางที่มีดุลยภาพ มิใช่เป็นระบบที่เปิดโอกาสให้ปัจเจกชนมีเสรีภาพที่ไร้ของบเขตจนเป็นผลให้ปัจเจกชนมีฐานเศรษฐกิจที่ทรงอิทธิพล สั่นคลอนเสถียรภาพและความมั่งคงของรัฐ และในลักษณะเดียวกันความมั่นคงของปัจเจกชนก็จะไม่ถูกคุกคาม ที่เป็นผลมาจากความมั่นคงที่ทรงพลังของสังคมโดยรวม แต่ระบบเศรษฐศาสตร์อิสลามเป็นระบบที่พยายามประสานสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของปัจเจกชน และผลประโยชน์ของสังคม และในมิติมุมมองโดยภาพรวมของเศรษฐศาสตร์อิสลามจะไม่แตกต่างกันมากกับมิติมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ในสำนักคลาสสิกยุคใหม่ในประเทศอังกฤษ และกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย

          ซึ่งมิติมุมมองเศรษฐศาสตร์อิสลามนั้น ปัจเจกชนเป็นแกนหลักของการขับเคลื่อน กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด โดยที่รัฐจะต้องเป็นผู้วาดและวางกรอบให้กับปัจเจกชนดำเนินกระบวนการทางเศรษฐกิจ และรัฐจะต้องเป็นผู้กำกับไม่ให้ปัจเจกชนละเมิดขอบเขตหรือกรอบที่ตนได้วางไว้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาดุลยภาพระหว่างการพิทักษ์ผลประโยชน์และเสรีภาพส่วนบุคคลของปัจเจกชน และผลประโยชน์ของสังคมโดยรวม

         กอร์ปกับการที่เศรษฐศาสตร์อิสลามมีแนวคิดที่จะประสานระหว่างองค์ประกอบทั้งสองด้านของมนุษย์เข้าด้วยกัน คือองค์ประกอบด้านร่างกาย (วัตถุ ) และองค์ประกอบด้านจิตวิญญาณ ดังนั้น หลักการของอิสลามจึงมุ่งเน้นในการตอบสนองมนุษย์ทั้งสองด้านไปพร้อม ๆ กัน จะเห็นได้ว่า อิสลามได้เรียกร้องมนุษย์ให้มีการทำงาน มีการพากเพียร ทำการผลิตและมีความมุ่งมั่นเพื่อให้เกิดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้ที่เป็นรูปธรรม (กัสบฺ) ในทำนองเดียวกัน อิสลามก็ได้เรียกร้องให้มนุษย์ให้การฝักใฝ่และสร้างคุณธรรม,จริยธรรม ดังที่เราได้ประจักษ์แล้วว่า คำสอนของอิสลามได้ตอบสนองและประสานความต้องการของมนุษย์ทั้งในด้านการดำเนินชีวิตในโลกนี้และการหวังการตอบแทนและความเมตตาจากอัลลอฮฺในโลกหน้า ( อาคิเราะฮฺ )

 

ประเด็นที่หนึ่ง : กลไกการผลิตในอิสลาม

          เป็นที่ทราบกันดีว่า กลไกการผลิตในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมนั้น ตั้งอยู่บนปัจจัยสี่ประการดังนี้

          1 –  ทุน

          2 – สภาพทางธรรมชาติ

          3 – งาน

          4 – การจัดการและการวางระบบ
      
          แต่ตามแนวคิดเศรษฐศาสตร์อิสลามนั้น นักนิติศาสตร์อิสลามระบุว่า ปัจจัยการผลิตนั้นตั้งอยู่บนปัจจัยหลักสองประการ คือ  งานหรือกระบวนการผลิต และ ทรัพย์


ปัจจัยที่หนึ่ง คือ งานหรือกระบวนการผลิต

          การทำงานในทรรศนะของอิสลามถือว่าเป็นอิบาดะฮฺ (การภักดีต่อพระเจ้า) ประเภทหนึ่ง ดังนั้นอิสลามมีอุดมการณ์ที่จะส่งเสริม ชมเชยและเรียกร้องบุคคลให้ทำงาน เพื่อก่อให้เกิดแรงกระตุ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เป็นการเรียกร้องด้วยกับหลักการที่ชัดเจน ดังนี้


       ก  อัลกุรอาน

     พระองค์อัลลอฮฺ ได้ตรัสความว่า

 “ และจงกล่าวเถิด ( มุฮัมมัด ) ว่า สูเจ้าทั้งหลายจงทำงานเถิด แล้วอัลลอฮฺ จะทรงเห็นการงานของพวกท่าน

และศาสนฑูตของพระองค์และบรรดาผู้ศรัทธาก็จะเห็นด้วย”

(ซูเราะห์อัตเตาบะฮฺ โองกาที่ 105)

     พระองค์อัลลอฮฺ ได้ตรัสความว่า

 “ พระองค์คือผู้ทรงทำแผ่นดินนี้ให้ราบเรียบสำหรับสูเจ้า ดังนั้นจงสัญจรไปตามขอบเขตของมัน และจงบริโภคจากปัจจัยยังชีพของพระองค์”

( ซูเราะห์อัลมุลก์ โองการที่ 15 )

     พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสความว่า

 “เมื่อการละหมาดได้สิ้นสุดลงแล้ว ก็จงแยกย้ายกันไปตามแผ่นดิน และจงแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮฺ”

( ซูเราะห์อัลญุมุอะฮฺ โองการที่ 10 )


          ข. อัซซุนนะฮฺ

       ท่านศาสดามูฮัมมัด  ได้กล่าวว่า

 “แท้จริงแล้ว ปัจจัยที่มีเกียรติที่สุด คือ ปัจจัยของบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่ได้มาจากน้ำมือ (ความพากเพียร ) ของเขาเอง”

 บันทึกโดยอิมามอะห์หมัด 

          อิสลามมิได้มองฐานะที่เหลื่อมล้ำกันในการงานที่สุจริต ไม่ว่าจะเป็นประเภทใด แต่ทั้งหมดย่อมได้รับเกียรติจากสังคม หากแต่บุคคลใดที่มีชีวิตอยู่ด้วยกับการพึ่งพิงต่อการพากเพียรของบุคคลอื่นที่ไม่สมเหตุสมผลมากกว่า จะได้รับคำตำหนิ ส่วนหลักฐานที่แสดงถึงอิสลามมีทรรศนะยกย่องผู้พากเพียร คือ การเริ่มต้นชีวิตของท่านศาสดามูฮัมมัด  ด้วยการเลี้ยงปศุสัตว์เพื่อแลกกับรายได้ที่เจ้าของปศุสัตว์จะมอบให้ และการทำการค้าของท่านศาสดา


       ดังนั้นการทำงานและการสร้างผลผลิต ในทรรศนะของอิสลามเป็นการงานที่ถูกยกระดับอยู่ในขั้นการทำอิบาดะฮฺ (การภักดีพระเจ้า) หรือไม่ก็อยู่ในระดับการญิฮาด (การเสียสละในวิถีทางของอัลลอฮฺ) แม้กระทั่งท่านศาสดา  ได้เทิดเกียรติ การทำงานและความพากเพียรในการแสวงหาปัจจัยการดำรงชีพ เหนือการใช้ชีวิตที่สันโดษ สละโลก โดยการตัดการแสวงหาและพากเพียรเพื่อให้ได้มาซึ่งการเลี้ยงชีพ สู่การทำอิบาดะฮฺ (เคารพภักดี) ต่อพระเจ้าเพียงอย่างเดียว โดยที่ครั้งหนึ่ง มีคนหนึ่งได้ชมเชยชายผู้หนึ่ง ที่มุ่งมั่นในการทำอิบาดะฮฺ (เคารพภักดี) ต่อพระเจ้าแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่มีความต้องการที่พากเพียรและแสวงหาปัจจัยยังชีพใด ๆ โดยที่เหล่าบรรดาซอฮาบะฮฺ (รอฎิยัลลอฮุอันฮุม)  ได้กล่าวว่า

“ครั้งหนึ่งเราได้ร่วมกับชายคนนั้น ในการเดินทางของเรา เราก็ไม่พบว่าจะมีใครอีกเลยที่รองจากท่านในการทำอิบาดะฮฺ (เคารพภักดี) ต่อพระเจ้าให้มากไปกว่าชายคนนั้น เขาจะไม่ยอมถอยห่างจากการนมาซ และละเว้นการถือศีลอดเลย

ท่านศาสดา  ได้กล่าวกับกลุ่มชนเหล่านั้นว่า “ใครคือผู้ทำหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูเขา”

พวกเขาตอบว่า พวกเราทั้งหมด โอ้ ท่านศาสนฑูตของอัลลอฮฺ

ท่านศาสดา  ได้กล่าวว่า “พวกท่านทั้งหมดเป็นผู้ที่ทำอิบาดะฮฺ (เคารพภักดี) ต่อพระเจ้ามากกว่าเขา”

 (บันทึกโดยอิมามบุคอรีย์และมุสลิม)

อิสลามถือว่าการทำงานเป็นการโปรดปราน (เนียะมะฮฺ) จากพระเจ้าที่เราจะต้องทำการขอบคุณต่อพระองค์

ดังที่พระองค์อัลลอฮฺ ได้ตรัสไว้ความว่า

 “เพื่อพวกเขาทั้งหลายจะได้บริโภคผลิตผลของมัน และในสิ่งที่น้ำมือของพวกเขาได้กระทำไว้ ดังนั้นพวกเขายังไม่ขอบคุณอีกหรือ?”

          นี่คือ ฐานะของการทำงาน ในมิติมุมมองตามเศรษฐศาสตร์อิสลาม ดังนั้นปัจจัยหลักของกลไกการผลิตตามหลักเศรษฐศาสตร์อิสลาม จึงวางอยู่บนบรรทัดฐานของปัจจัยทั้งสอง คือ กระบวนการทำงาน (ผลิต) และทรัพย์

 


 ปัจจัยที่สอง  คือ  “ทรัพย์”

         คำว่าทรัพย์รวมถึงทุน ตามแนวคิดของหลักเศรษฐศาสตร์ทั่วไป และรวมถึงทรัพยากรตามธรรมชาติที่จำเป็นต่อกระบวนการผลิต นักนิติศาสตร์อิสลามได้ให้คำนิยามของคำว่า “ทรัพย์” ในความหมายที่ครอบคลุมและกว้าง คือ “ทุกๆสิ่งที่สามารถครอบครองและใช้ประโยชน์ได้” อิมามอัชชาฟิอีย์ รอฮิมะฮุลลอฮฺ ได้ให้ทรรศนะว่า

“คำว่าทรัพย์จะไม่ใช่เรียกสิ่งใด นอกจากสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่มีค่า ที่สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนได้และหากสิ่งดังกล่าวถูกทำให้เสียหาย จำเป็นจะต้องจ่ายค่าปรับ หรือชดเชยค่าเสียหาย”


         ดังนั้นสิ่งของหรือวัตถุใดจะไม่ถูกนับว่าเป็นทรัพย์ตามทรรศนะของนักนิติศาสตร์อิสลาม (ฟุกอฮาอฺ) ยกเว้นสิ่งนั้นจะต้องครบเงื่อนไขสองประการ ดังนี้

1. เงื่อนไขที่หนึ่ง สิ่งดังกล่าวสามารถครอบครอง หรือถือครองกรรมสิทธิ์ได้

2. เงื่อนไขที่สอง สิ่งของดังกล่าวสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ หรือมีประโยชน์

     ด้วยกับเงื่อนไขดังกล่าว สิ่งที่มีประโยชน์แต่ไม่สามารถนำมาครอบครอง หรือถือกรรมสิทธิ์ได้ จะไม่เรียกว่าทรัพย์ เช่น อากาศในที่โล่ง หรือความร้อนของดวงอาทิตย์ หรือแสงของดวงจันทร์ เป็นต้น และเช่นเดียวกัน สิ่งที่สามารถครอบครองได้ หรือถือกรรมสิทธิ์ได้ แต่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เลย เช่น เนื้อของซากสัตว์ หรืออาหารที่บูดเน่า

     ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า กลไกจากการผลิตตามแนวคิดของอิสลาม ตั้งอยู่บนกลไกพื้นฐานสองประการคือ งาน และ ทรัพย์ ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะเงินทุนเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงทรัพยากรทางธรรมชาติทุกอย่างที่มีความจำเป็น ในกระบวนการผลิต และทรัพยากรดังกล่าวจะต้องเป็นสิ่งที่สามารถครอบครองได้ และมีประโยชน์ โดยสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้

 

 

แปลโดย : มุหำหมัด บินต่วน