การสร้างครอบครัวที่ดี
โดย อ. ฏอฮา อับดุลเลาะห์
อิสลามห่วงใยและใส่ใจในเรื่องของการเลือกคู่ครอง ก็เพื่อต้องการให้มีชีวิตคู่ที่ดีจะได้อยู่กันอย่างมีความสุข
ขั้นตอนหลังจากเลือกคู่ครอง คือ การสร้างครอบครัว อิสลามให้ความสนใจและห่วงใยการอบรมเลี้ยงดู ลูกหลานซึ่งเป็นผลที่เกิดจากคู่สามีภรรยา จึงได้กำชับผู้เป็นพ่อแม่ให้ฝึกฝนอบรมลูกหลานของทั้งสองให้กระทำความดี และออกห่างไกลจากความเลวร้าย ท่านร่อซูล กล่าวว่า
"مُرُوْا أوْلادَكُمْ بِالصَّلاةِ وَهُمْ أبْنَاءُ سَبْعَ سِنِيْنَ وَاضْرِبُوْهُمْ عَلَيْهَا لِعَشْرٍ وَفَرَّقُوْا بَيْنَهُمْ فِي الْمَضاجِعِ"
“พวกท่านจงใช้ให้ลูกๆของพวกท่าน ทำการละหมาดในขณะที่เขามีอายุ 7 ขวบ
และจงเฆี่ยนตีพวกเขา เมื่อมีการทิ้งละหมาดขณะที่มีอายุ 10 ขวบ
และจงแยกที่นอนในระหว่างลูกๆทุกคน”(คือไม่ให้นอนรวมกันอยู่ในที่นอนเดียวกัน)
อิสลามกำชับให้ความเที่ยงธรรมและยุติธรรมในระหว่างลูกๆทุกคนในการมอบสิ่งของให้แก่พวกเขา อิสลามห้ามมิให้ผู้เป็นพ่อเลือกให้ คือให้แก่ลูกคนหนึ่งและไม่ให้อีกคนหนึ่งอย่างนี้เป็นต้น เพราะการกระทำเช่นนั้น จะนำพาไปสู่การเกลียดชัง และเคียดแค้นกัน จะนำไปสู่การห่างเหินและทะเลาะวิวาทกันซึ่งจะเป็นเหตุทำให้ครอบครัวแตกแยกและโครงสร้างของครอบครัวก็ต้องพังทลายลงไป
มีรายงานจากท่าน อัลนุอฺมาน (นัวะอฺมาน) อิบนิ บะชีร กล่าวว่า
"تَصَدَّقَ عَلَيَّ أبِيْ بِبَعْضِ مَالِهِ فَقَالَتْ أُمِّيْ عُمْرَةُ بِنْتُ رَوَاحَةَ لاَ أرْضَى حَتَّى تُشْهِدَ رَسُوْلُ الله
لِيُشْهِدَهُ عَلَى صَدَقَتِيْ فَانْطَلَقَ أبِيْ إلَى النَّبِيِّ فَقَالَ لَهُ رَسُوْلُ الله أفَعَلْتَ هَذَا بِوَلَدِكَ كُلُّهُمْ
قَالَ لاَ ، قَالَ اتَّقُوا اللهَ وَاعْدِلُوْا فِيْ أوْلادِكُمْ فَرَجَعَ أبِيْ فَرَدَّ تِلْكَ الصَّدَقَةَ"
“บิดาของฉันได้มอบทรัพย์บางส่วนของเขาให้แก่ฉัน มารดาของฉัน
อุมเราะฮฺ บุตรีร่อวาฮะฮฺ ก็กล่าวว่า ฉันยังไม่ยินยอมจนกว่าคุณจะไปหาท่านร่อซูล ให้ท่านเป็นสักขีพยานยืนยันเสียก่อน
บิดาของฉันจึงได้ไปหาท่านร่อซูล เพื่อให้ท่านเป็นพยานในทรัพย์สินที่บิดาของฉันมอบให้
ท่านร่อซูล ถามว่า ท่านทำเช่นนี้กับลูกของท่านทุกคนหรือไม่ ?
บิดาของฉัน กล่าวว่า ไม่ (ไม่ได้ทำเช่นนี้กับทุกคนหรอก)
ท่านร่อซูล กล่าวว่า “พวกท่านจงกลัวเกรงอัลลอฮฺเถิด และจงให้ความยุติธรรมแก่ลูกๆของพวกท่านทุกคน แล้วบิดาของฉันเอาทรัพย์สินนั้นกลับคืนมา (จากฉัน)”
(บันทึกโดย อิมาม มุสลิม)
ท่านนบี ส่งเสริมให้มีการอบรมบ่มนิสัยให้มีมารยาทและความประพฤติที่ดี โดยท่านกล่าวว่า
"مَا نَحَلَ وَالِدٌ وَلَداً مِنْ نَحْلٍ أفْضَلُ مِنْ أدَبٍ حَسَنٍ"
“ไม่มีสิ่งใดที่ผู้เป็นพ่อจะมอบให้แก่ลูก ดีไปกว่าการมอบมารยาทที่ดีงามให้แก่ลูก”
(บันทึกโดย ท่านอิมาม อัตติรมิซีย์)
ท่านอิบนุ ญะรี๊ร และอิบนุ มุนซิร ได้รายงานฮะดีษจากท่านอิบนุ อับบ๊าส กล่าวว่า
"اعْمَلُوْا بِطَاعَةِ اللهِ وَاتَّقُوْا مَعَاصِيَ اللهِ وَمُرُوْا أوْلاَدَكُمْ بِامْتِثَالِ اْلأوَامِرِ وَاجْتِنَابِ النَّوَاهِيْ
فَذَلِكَ وِقَايَةً لَهُمْ مِنَ النَّارِ"
“พวกท่านจงปฏิบัติงานด้วยการเชื่อฟัง อัลลอฮฺ ตะอาลา จงระวังการละเมิดฝ่าฝืนอัลลอฮฺ
และจงใช้ลูกๆของพวกท่านทำตามคำสั่งใช้ และปลีกตัวออกห่างจากสิ่งที่ถูกห้ามเอาไว้ เพราะนั่นเป็นการป้องกันพวกเขาและพวกท่านจากไฟนรก”
ท่านอัฏฏ๊อบรอนีย์ รายงานจากท่าน อะลีย์ กัรร่อมัลลอฮฺ วัจฮะฮู ว่า ท่านนบี กล่าวว่า
"أدِّبُوْا أوْلادَكُمْ عَلَى ثَلاَثِ خِصَالٍ: حُبُّ نَبِيِّكُمْ وَحُبُّ آلِ بَيْتِهِ وَتِلاَوَةِ الْقُرْآنِ فَإنَّ حَمَلَةَ
الْقُرْآنِ فِيْ عَرْشِ الله يَوْمَ لاَ ظِلَّ إلاَّ ظِلُّهُ مَعَ أنْبِيَائِهِ وَأصْفِيَائِهِ"
“พวกท่านทั้งหลาย จงปลูกฝั่ง อบรม บ่มนิสัยลูกๆของพวกท่านให้มีลักษณะที่ดี 3 ประการคือ
1. รักนบีของพวกท่าน 2. รักวงศ์วานของท่านนบี 3. รักการอ่านอัลกุรอ่าน
เพราะว่าผู้ที่ท่องจำอัลกุรอ่านจะได้อยู่ภายใต้ร่มเงาของอัลลอฮฺ ตะอาลา กับบรรดานบี
และผู้บริสุทธิ์ที่เป็นที่รักใคร่ของพระองค์อัลลอฮฺ ในวันที่ไม่มีร่มเงาใดๆทั้งสิ้น นอกจากร่มเงาจากพระองค์”
ท่านอิบนุ มาญะฮฺ รายงานจากอิบนุ อับบ๊าส จากท่านนบี ว่า
"أكْرِمُوْا أوْلاَدَكُمْ وَأحْسِنُوْا أدَبَهُمْ"
“พวกท่านทั้งหลาย จงรัก จงให้เกียรติลูกๆของพวกท่าน และจงอบรม บ่มนิสัยลูกๆของพวกท่านให้มีมารยาท มีความประพฤติที่ดี”
(บันทึกโดย อิบนิ มาญะฮฺ)
ดังที่อัลลอฮฺ ได้ทรงกำชับผู้เป็นพ่อ เป็นแม่ ให้เอาใจใส่ในการอบรมนิสัยลูกๆให้เป็นคนดี และพระองค์ทรงใช้ให้ผู้เป็นพ่อแม่ทำดีต่อลูกๆ และแน่นอนพระองค์ก็ได้ทรงใช้ลูกๆกระทำดี เชื่อฟังพ่อแม่ทั้งสอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคนทั้งสองมีอายุมากขึ้น
ดังที่อัลลอฮฺ ตรัสไว้ความว่า
"وَقَضَى رَبُّكَ أَلا تَعْبُدُوا إِلا إِيَّاهُ وَبِالْوَالِدَيْنِ إِحْسَانًا إِمَّا يَبْلُغَنَّ عِنْدَكَ الْكِبَرَ أَحَدُهُمَا أَوْ كِلاهُمَا
فَلا تَقُلْ لَهُمَا أُفٍّ وَلا تَنْهَرْهُمَا وَقُلْ لَهُمَا قَوْلا كَرِيمًا (23) وَاخْفِضْ لَهُمَا جَنَاحَ الذُّلِّ مِنَ
الرَّحْمَةِ وَقُلْ رَبِّ ارْحَمْهُمَا كَمَا رَبَّيَانِي صَغِيرًا".(سورة الإسراء: 23-24 )
“และพระเจ้าของเจ้าได้เน้นย้ำว่า พวกเจ้าอย่าเคารพภักดีผู้ใด นอกจากเฉพาะพระองค์เท่านั้น และจงทำดีต่อบิดามารดาทั้งสอง
เมื่อคนใดในสองคนหรือทั้งสองคนเข้าสู่วัยชรา ก็จงอย่าพูดกับคนทั้งสองว่า “อุฟ” (เป็นคำพูดที่ไม่สุภาพแสดงออกถึงความเบื่อระอา)
และอย่าตะคอกคนทั้งสอง แต่จงพูดกับท่านทั้งสองด้วยถ้อยคำที่อ่อนโยน และจงนอบน้อม ถ่อมตนสงสารท่านทั้งสอง
และจงกล่าวว่า โอ้พระผู้อภิบาลของฉัน ขอพระองค์ทรงโปรดเมตตาท่านทั้งสอง ประดุจดังที่ท่านทั้งสองได้เลี้ยงดูฉันมาในขณะที่ยังเยาว์วัย”
(อัลอิสรออฺ /23-24)
ดังนั้น อัลลอฮฺ ได้ทรงใช้ให้พ่อแม่ทำดีต่อลูกๆ ในขณะเยาว์วัย และยังอ่อนแออยู่ และพระองค์ทรงใช้บรรดาลูกๆทำดี นอบน้อม ถ่อมตน และสงสารท่านทั้งสอง ขณะที่ท่านทั้งสองเข้าสู่วัยชรา และอ่อนแอลง
กรณีดังกล่าวนั้น เป็นการรับผิดชอบ และร่วมมือกันระหว่างคนในครอบครัวต่อสิ่งที่พึงให้ความสำคัญ ซึ่งจะให้คุณประโยชน์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ซึ่งถือว่าเป็นการร่วมมือ ร่วมใจช่วยเหลือกันในสิ่งที่เป็นคุณงามความดี และในการกลัวเกรงอัลลอฮฺ ตะอาลา นั่นก็คือ ใช้กันให้กระทำความดีงามและป้องปรามกันมิให้กระทำในสิ่งที่เลวร้ายในระหว่างบุคคลในครอบครัวเดียวกัน
อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสไว้ความว่า
"يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا قُوا أَنْفُسَكُمْ وَأَهْلِيكُمْ نَارًا وَقُودُهَا النَّاسُ وَالْحِجَارَةُ".(سورة التحريم: 6)
“โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงปกป้องตัวของพวกเจ้า และครอบครัวของพวกเจ้า ให้พ้นจากไฟนรก ซึ่งเชื้อเพลิงของมันคือ มนุษย์และหิน (เจว็ด) ”
(อัตตะฮฺรีม /6)
ดังนั้นอัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ใช้ให้บรรดาผู้ศรัทธา ปกป้องตัวของพวกเขา และปกป้องครอบครัวของเขา ตลอดจนบุคคลที่อยู่ภายใต้การดูแล รับผิดชอบของพวกเขาให้พ้นจากไฟนรก ซึ่งไม่มีผู้ใดจะรอดพ้นไปได้ นอกจากปฏิบัติตามและเชื่อฟังอัลลอฮฺ ตะอาลา และละทิ้งสิ่งที่ถูกห้ามมิให้กระทำต่างๆ และหันมาร่วมมือช่วยเหลือกันในสิ่งที่เป็นคุณธรรมความดี และการตักวา (กลัวเกรงอัลลอฮฺ) และเช่นเดียวกันการระมัดระวังรักษาความปลอดภัยให้แก่ชีวิต จึงเป็นหน้าที่ที่เขาจะต้องพยายามระมัดระวังรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้อื่นที่เป็นญาติพี่น้องด้วยเหมือนกัน
อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสไว้ความว่า
"وَأْمُرْ أَهْلَكَ بِالصَّلاةِ وَاصْطَبِرْ عَلَيْهَا".(سورة التحريم: 123)
“และเจ้าจงใช้คนในครอบครัวของเจ้าให้ทำละหมาด และจงอดทนต่อการปฏิบัติการละหมาด”
(ฏอฮา /132)
ณ ที่นี้ เราทุกคนได้ทราบกันแล้ว ครอบครัวจะมีคุณค่าราคานั้น อยู่ที่ผู้แบกรับภาระหน้าที่ทางครอบครัวจักต้องใช้ให้กระทำการละหมาด และกระทำในสิ่งที่เป็นหน้าที่ต่างๆอีกมากมาย และละทิ้งการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืน และสิ่งที่ต้องห้ามทั้งหลาย ทั้งนี้รวมไปถึงการยึดเอาสิ่งที่จะนำพาความดีมาสู่บ้านเรือนอันได้แก่ การเรียนรู้เป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องรู้ในเรื่องที่เกี่ยวกับบทบัญญัติของศาสนา และอบรมบ่มนิสัยให้คนในครอบครัวมีจริยธรรม มีความประพฤติอันดีงาม และใช้ให้คนในครอบครัวกระทำในสิ่งที่ชอบธรรม และห้ามปรามมิให้กระทำสิ่งที่ชั่วช้าเลวทราม เพราะฉะนั้น ขอให้พวกท่านจงมีความเกรงกลัวอัลลอฮฺ ตะอาลา และพึงรู้เถิดว่า ครอบครัวดีเป็นสาเหตุทำให้เกิดพลังและจะทำให้เกิดความสดชื่นทั้งในโลกดุนยาและอาคิเราะฮฺอย่างแน่นอน…
มูลนิธิ ชี้นำสู่สันติสุข