ริยาอ์ สิ่งที่ทำให้การงานที่ดีต่างๆ เป็นโมฆะ 3
ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์
สิ่งที่สอง ริยาอ์ การทำดีเพื่อให้ผู้อื่นเห็น
ซึ่งมีสองประเภทคือ
ประเภทแรก การมีเจตนาในการทำงานเพื่อสิ่งอื่นจากอัลลอฮฺ นี่คือชิริกใหญ่ที่ทำลายการงานทั้งหมด
นักวิชาการบางท่านเรียกว่า การมีภาคีในเจตนา หรือความต้องการ และจุดหมาย อัลลอฮฺตรัสความว่า
﴿ مَن كَانَ يُرِيدُ ٱلۡحَيَوٰةَ ٱلدُّنۡيَا وَزِينَتَهَا نُوَفِّ إِلَيۡهِمۡ أَعۡمَٰلَهُمۡ فِيهَا وَهُمۡ فِيهَا لَا يُبۡخَسُونَ ١٥ أُوْلَٰٓئِكَ ٱلَّذِينَ لَيۡسَ لَهُمۡ فِي ٱلۡأٓخِرَةِ إِلَّا ٱلنَّارُۖ وَحَبِطَ مَا صَنَعُواْ فِيهَا وَبَٰطِلٞ مَّا كَانُواْ يَعۡمَلُونَ ١٦ ﴾ [هود: ١٥، ١٦]
“ผู้ใดปรารถนาการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้และความเพริศแพร้วของมัน เราก็จะตอบแทนให้พวกเขาอย่างครบถ้วน
ซึ่งการงานของพวกเขาในโลกนี้เท่านั้น และพวกเขาจะไม่ถูกริดรอนในการงานนั้นแต่อย่างใด
ชนเหล่านั้น พวกเขาจะไม่ได้รับการตอบแทนอันใดในโลกอาคิเราะฮฺอีก นอกจากไฟนรกเท่านั้น
และสิ่งที่พวกเขาได้ปฏิบัติไว้ในโลกดุนยาก็จะไร้ผลและสิ่งที่พวกเขาได้กระทำไว้ก็จะสูญเสียไป”
(สูเราะฮฺ ฮูด 15-16)
ท่านอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า “คนริยาอ์จะได้รับความดีของเขาในโลกดุนยา นั่นคือเขาจะไม่ถูกอธรรมด้วยการริดรอนใดๆ เลย”
ท่านกล่าวว่า “ใครที่ทำความดีเพื่อหวังโลกดุนยา ไม่ว่าจะเป็นการถือศีลอด การละหมาด และการตะฮัจยุดในยามค่ำคืน เขาทำการงานนั้นไม่ได้หวังสิ่งอื่นใดนอกจากทำเพื่อดุนยา
อัลลอฮฺก็จะกล่าวว่า "ข้าจะตอบแทนเขาที่เขาทำความดีเพื่อดุนยาด้วยการตอบแทนที่ดี และการงานของเขาที่หวังดุนยาจะเป็นโมฆะ แล้วในวันอาคิเราะฮฺเขาจะเป็นผู้ที่ขาดทุน”
(ตัฟซีร อิบนุ กะษีรฺ 439/2)
ประเภทที่สอง คือการที่บุคคลทำเพื่ออัลลอฮฺแล้วระหว่างที่ทำก็เกิดริยาอ์ขึ้น นี่คือชิริกเล็ก
รายงานจากท่านมะหฺมูด บิน ละบีด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า
«إِنَّ أَخْوَفَ مَا أَخَافُ عَلَيْكُمْ الشِّرْكُ الْأَصْغَرُ»، قَالُوا: وَمَا الشِّرْكُ الْأَصْغَرُ؟ قَالَ: «الرِّيَاءُ، يَقُولُ اللَّهُ تعالى يَوْمَ الْقِيَامَةِ إِذَا جَازَى النَّاسَ بِأَعْمَالِهِمْ : اذْهَبُوا إِلَى الَّذِينَ كُنْتُمْ تُرَاءُونَ فِي الدُّنْيَا، فَانْظُرُوا هَلْ تَجِدُونَ عِنْدَهُمْ جَزَاءً» [مسند الإمام أحمد 5/428]
แท้จริงท่านเราะสูลุลลอฮฺได้กล่าวว่า “สิ่งที่ฉันกลัวที่สุดสำหรับพวกท่านคือชิริกเล็ก”
บรรดาเศาะหาบะฮฺถามว่า "อะไรคือชิริกเล็ก?"
ท่านนบีตอบว่า “มันคือการริยาอ์ อัลลอฮฺกล่าวในวันกิยามะฮฺเมื่อจะทรงตอบแทนการงานว่า
“พวกเจ้าจงไปหาคนที่พวกเจ้าอยากจะให้เขาเห็นตอนที่อยู่ในดุนยา แล้วดูสิว่าเจ้าจะพบอะไรเป็นการตอบแทน ณ ที่เขาบ้าง”
(มุสนัด อะหฺมัด 5/428)
และท่านอบู สะอีด อัล-คุดรียฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้รายงานว่า แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«أَلَا أُخْبِرُكُمْ بِمَا هُوَ أَخْوَفُ عَلَيْكُمْ مِنْ الْمَسِيحِ الدَّجَّالِ؟؛ الشِّرْكُ الْخَفِيُّ، أَنْ يَقُومَ الرَّجُلُ فَيُصَلِّي فَيُزَيِّنُ صَلَاتَهُ لِمَا يَرَى مِنْ نَظَرِ رَجُلٍ» [مسند الإمام أحمد 3/30]
“จะให้ฉันบอกพวกท่านไหม ในสิ่งที่ฉันกลัวสำหรับพวกท่านมากกว่าดัจญาล? มันคือชิริกเล็ก
โดยการที่ชายคนหนึ่งลุกขึ้นมาละหมาดแล้วทำละหมาดของเขาให้สวยงาม(สมบูรณ์แบบ) เนื่องจากเห็นชายคนหนึ่งกำลังดูเขาละหมาดอยู่”
(มุสนัด อะหฺมัด 3/30)
อาจมีบุคคลบางส่วนที่มองชิริกประเภทนี้ว่าเป็นสิ่งที่เล็กน้อยเพราะเห็นชื่อว่าเป็นชิริกเล็ก แท้จริงที่เรียกว่าเล็กเพราะมีสิ่งที่ใหญ่กว่า ทั้งๆ ที่มันใหญ่กว่าบาปใหญ่ต่างๆ ด้วยซ้ำ ด้วยเหตุนี้อุละมาอ์จึงกล่าวว่า
1- แท้จริงชิริกเล็กหากเข้าไปในการงานใดแล้วมันจะทำลายการงานนั้นและทำให้เป็นโมฆะ
2- ชิริกเล็กผู้ที่ทำจะไม่มีการอภัยเลย และไม่ได้อยู่ภายใต้ความประสงค์ของอัลลอฮฺที่จะให้อภัย เหมือนเช่นผู้ที่ทำบาปใหญ่ต่างๆ หากแต่จะถูกลงโทษตามระดับของมัน
อัลลอฮฺ ตรัสความว่า
﴿ إِنَّ ٱللَّهَ لَا يَغۡفِرُ أَن يُشۡرَكَ بِهِۦ وَيَغۡفِرُ مَا دُونَ ذَٰلِكَ لِمَن يَشَآءُۚ ﴾ [النساء: ١١٦]
“แท้จริง อัลลอฮฺจะไม่ทรงอภัยโทษให้แก่การที่สิ่งหนึ่งจะถูกให้เป็นภาคีกับพระองค์
แต่พระองค์จะทรงอภัยโทษให้ซึ่งสิ่งอื่นจากนั้น สำหรับผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์”
(สูเราะฮฺ อัน-นิสาอ์ 116)
ดังนั้น วาญิบเหนือมุอ์มินผู้ศรัทธาที่จะต้องระมัดระวังจากชิริกทุกประเภท และต้องกลัวการชิริก แท้จริง นบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสสลาม ยังกลัวการชิริก ขณะที่ท่านเป็นถึงผู้นำของบรรดาผู้ให้ความเอกะแก่อัลลอฮฺ ท่านกล่าวขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ ตรัสความว่า
﴿ وَٱجۡنُبۡنِي وَبَنِيَّ أَن نَّعۡبُدَ ٱلۡأَصۡنَامَ ٣٥ ﴾ [ابراهيم: ٣٥]
“และทรงให้ข้าพระองค์และลูกหลานของข้าพระองค์พ้นจากการบูชาเจว็ดด้วยเถิด”
(สูเราะฮฺ อิบรอฮีม 35)
ท่านอิบรอฮีม อัต-ตัยมียฺ กล่าวว่า “ แล้วจะมีใครที่คิดว่าตัวเองจะปลอดภัยเหนือไปกว่าท่านนบีอิบรอฮีมอีกเล่า ? ”
(ฟัตหุลมะญีด 74)
แปลโดย : อิสมาน จารง / Islam House