การมอบหมายต่ออัลลอฮฺ และการยึดถือมูลเหตุ (2)
  จำนวนคนเข้าชม  14207

 

การมอบหมายต่ออัลลอฮฺ และการยึดถือมูลเหตุ (2)


ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์


        ตรงจุดนี้มีประเด็นที่สำคัญยิ่งที่มุสลิมต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องคือการผสานระหว่างการมอบหมายต่ออัลลอฮฺ(ตะวักกุล)และการยึดถือมูลเหตุ(อัสบาบ) ดังนี้


    อันที่หนึ่ง การตะวักกุลนั้นเป็นเรื่องของจิตใจที่ยึดมั่นในอัลลอฮฺว่าเป็นผู้ที่สามารถให้ความดีและปกป้องความชั่วร้ายทั้งในเรื่องทางโลกดุนยาและโลกอาคิเราะฮฺ ส่วนมูลเหตุนั้นเป็นเรื่องของการปฏิบัติด้วยอวัยวะภายนอกที่เป็นการเลือกที่จะทำหรือไม่ทำ


    อันที่สอง มีผู้คนบางส่วนที่ละทิ้งมูลเหตุโดยสิ้นเชิงและอ้างว่าตนเป็นคนที่ตะวักกุล และอีกกลุ่มหนึ่งยึดมั่นกับมูลเหตุอย่างเดียวและเชื่อว่างานจะไม่บรรลุเป้าหมายหากไม่มีปัจจัยเป็นมูลเหตุ ทั้งสองกลุ่มนี้ถือว่าไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องก็คือผู้ที่ตะวักกุลที่แท้จริงนั้นคือผู้ที่มอบหมายการงานของเขาแก่อัลลอฮฺ แล้วเขาจะพิจารณาดู หากว่าการงานนั้นมีปัจจัยหรือเหตุที่ศาสนาอนุญาตเขาก็จะปฏิบัติมันโดยสยบต่อหลักศาสนาไม่ใช่ยินยอมหรือสยบต่อปัจจัยหรือมูลเหตุ แต่หากมูลเหตุหรือปัจจัยนั้นเป็นสิ่งที่ศาสนาไม่อนุญาตเขาก็จะละทิ้งโดยยึดการมอบหมายต่ออัลลอฮฺเพียงอย่างเดียว


          หลักฐานสำหรับสิ่งนี้คือหะดีษของท่านอะนัสที่กล่าวมาแล้วที่ว่ามีชายคนหนึ่งกล่าวกับท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม  โอ้ศาสนทูตของอัลลอฮฺฉันควรที่จะผูกมัน(อูฐ)แล้วทำการมอบหมายต่ออัลลอฮฺ หรือว่าฉันควรที่จะปล่อยมันไว้(โดยไม่ผูก)แล้วทำการมอบหมายต่ออัลลอฮฺ


 ท่านนบีตอบว่า “ท่านจงผูกมันแล้วทำการมอบหมายต่ออัลลอฮฺ”


(สุนัน อัต-ติรมิซีย์ 5/668 หมายเลข 2517)



             ส่วนกลุ่มที่จิตใจยึดมั่นอยู่กับมูลเหตุเพียงอย่างเดียวนั้น การเชื่อมั่นของเขาต่อการที่ว่าอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ที่พอเพียงสำหรับผู้ที่มอบหมายต่อพระองค์นั้นย่อมจะอ่อนแอ เราจะเห็นว่าพวกเขาพยายามปฏิบัติตามมูลเหตุ แม้มันจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องตามหลักศาสนาและสติปัญญา แท้จริงพวกเขาคิดผิด ที่คิดว่างานจะไม่สำเร็จนอกจากด้วยการทำตามมูลเหตุเพียงวิธีเดียว  แท้จริง อัลลอฮฺเท่านั้นคือผู้ให้และยับยั้ง จะด้วยมูลเหตุหรือไม่ก็ได้ และแท้จริง อัลลอฮฺได้กล่าวไว้ในหลายอายะฮฺว่าการมอบหมายต่อพระองค์นั้นจะเป็นสิ่งพอเพียงสำหรับบ่าวของพระองค์
    
พระองค์ได้ตรัสว่า



﴿ أَلَيۡسَ ٱللَّهُ بِكَافٍ عَبۡدَهُۥۖ ﴾ [الزمر: ٣٦]
 
ความว่า “อัลลอฮฺมิทรงเป็นผู้พอเพียงแก่บ่าวของพระองค์ดอกหรือ ! ”


(อัซ-ซุมัรฺ 36)



และพระองค์ได้ตรัสว่า



﴿وَمَن يَتَوَكَّلۡ عَلَى ٱللَّهِ فَهُوَ حَسۡبُهُۥٓۚ﴾ [الطلاق: ٣]
 
ความว่า “และผู้ใดมอบหมายแด่อัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงเป็นผู้พอเพียงแก่เขา”


(อัฏ-เฏาะลาก 3)  



และพระองค์ได้กล่าวอีกเช่นกันว่า



﴿ وَتَوَكَّلۡ عَلَى ٱللَّهِۚ وَكَفَىٰ بِٱللَّهِ وَكِيلٗا ٣ ﴾ [الأحزاب: ٣]  

ความว่า “และจงมอบความไว้วางใจแด่อัลลอฮฺและพอเพียงแล้วที่อัลลอฮฺเป็นผู้คุ้มครอง”


(อัล-อะหฺซาบ 3 )

          บ่าวของอัลลอฮฺทุกคนพึงสังวรเถิดว่า การตะวักกุลนั้นเป็นฐานันดรที่ยิ่งใหญ่ น้อยคนที่จะได้รับตะวักกุลขั้นสมบูรณ์  และผู้ที่ตะวักุกุลนั้นเป็นผู้ที่อัลลอฮฺรัก และเป็นวะลีย์(ผู้ใกล้ชิด)ของพระองค์  อัลลอฮฺตรัสในอัลกุรอานว่า



﴿إِنَّ ٱللَّهَ يُحِبُّ ٱلۡمُتَوَكِّلِينَ ١٥٩ ﴾ [آل عمران: ١٥٩]
 
ความว่า “แท้จริงอัลลอฮฺทรงรักใคร่ผู้มอบหมายทั้งหลาย”


(อาล อิมรอน 159)


 

        หากมนุษย์มอบหมายต่ออัลลอฮฺอย่างแท้จริง เขาจะไม่มีความต้องการผู้ใดอีกแล้ว แต่เนื่องจากมนุษย์มีความอ่อนแออัลลอฮฺจึงกำหนดมูลเหตุขึ้นมาช่วยให้การมอบหมายของเขานั้นสมบูรณ์ขึ้น และนั้นเป็นความเมตตาและอ่อนโยนของพระองค์ต่อมนุษย์


         ดังนั้น มุสลิมทุกคนต้องตระหนักในเรื่องนี้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะพี่น้องที่ขวนขวายหาปัจจัยยังชีพด้วยวิธีการที่ต้องห้ามและคลุมเครือ เช่นผู้ที่ทำงานในธนาคารที่มีระบบดอกเบี้ย หรือทำการค้าในสิ่งที่อัลลอฮฺห้าม เช่นเครื่องเล่นดนตรี ยาเสพติด  เหล้า และบุหรี่  หรือทำธุรกรรมต่างๆ ด้วยวิธีการโกหก หลอกลวง  ผิดสัญญา และฉ้อโกง เพื่อให้ได้ทรัพย์ของผู้อื่นโดยไม่ชอบธรรม  เป็นการพอเพียงแล้วที่เราจะนำเสนอแก่คนเหล่านี้ซึ่งหะดีษบทหนึ่งของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ท่านญิบรีลได้ส่งวะห์ยู(วิวรณ์)มายังท่าน จงสดับฟังและพินิจพิเคราะห์ให้ดี เพราะมันสำคัญยิ่ง เนื่องจากประกอบด้วยบทบัญญัติที่ยิ่งใหญ่ นั่นก็คือ หะดีษที่รายงานโดยท่าน อะบู อุมามะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ  ว่า


แท้จริงท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม  ได้กล่าวว่า



«إِنَّ رُوْحَ القُدُسِ نَفَثَ فِيْ رَوْعِيْ أَنَّ نَفْسًا لَنْ تَمُوْتَ حَتَّىٰ تَسْتَكْمِلَ أَجَلَهَا وَتَسْتَوْعِبَ رِزْقَهَا، فَاتَّقُوْا اللهَ وَأَجْمِلُوْا فِيْ الطَّلَبِ، وَلَا يَحْمِلَنَّ أَحَدَكُمْ اسْتِبْطَاءُ الرِّزْقِ أَنْ يَطْلُبَهُ بِمَعْصِيَةِ اللهِ، فَإِنَّ اللهَ تَعَالىٰ لَا يُنَالُ مَا عِنْدَهُ إِلَّا بِطَاعَتِهِ» [حلية الأولياء 10/27، وصححه الألباني في صحيح الجامع الصغير 1/420 برقم 2085]

 “แท้จริงญิบรีลได้ส่งวะห์ยูมายังฉันว่า ชีวิตหนึ่งจะไม่ตายลง ยกเว้นเมื่อเขาได้อยู่จนครบอายุขัยของเขา และใช้ริสกีของเขาจนหมดแล้ว 

ดังนั้น พวกท่านจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺและขวนขวายแสวงหามันมาด้วยวิธีการที่ดี

และจงอย่าทำให้ความรู้สึกว่าการได้ริสกีนั้นล่าช้าจนทำให้ท่านขวนขวายหามันด้วยสิ่งที่ต้องห้าม

เพราะแท้จริง สำหรับอัลลอฮฺนั้น จะไม่มีผู้ใดที่สามารถขวนขวายได้รับสิ่งที่อยู่ ณ พระองค์มา นอกจากด้วยการเชื่อฟังพระองค์เท่านั้น


(หิลยะตุล เอาลิยาอ์ 10/27  ท่านอัล-อัลบานีย์วิเคราะห์ว่าเป็นหะดีษเศาะฮีหฺ ในเศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ อัศ-เศาะฆีรฺ 1/420 หมายเลข 2085)

 



والحمد لله رب العالمين ، وصلّى الله وسلم على نبينا محمد وعلى آله وصحبه أجمعين.



แปลโดย : อิสมาน จารง / Islam House