อัต-ตะวักกุล การมอบหมายต่ออัลลอฮฺ
  จำนวนคนเข้าชม  53146

 

อัต-ตะวักกุล  การมอบหมายต่ออัลลอฮฺ



ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์


         มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิของอัลลอฮฺ ขอการประทานพรและความสันติมีแด่ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม  ข้าขอปฏิญานว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และมุฮัมหมัดนั้นเป็นบ่าวและศาสนทูตของพระองค์
    
          ส่วนหนึ่งของอิบาดะฮฺที่ยิ่งใหญ่นั้นคือการมอบหมายต่ออัลลอฮฺผู้สูงส่งในทุกการงาน นักปราชญ์บางท่านได้กล่าวว่า

“ตะวักกัลนั้นคือจิตใจที่ยึดมั่นอย่างแท้จริงกับอัลลอฮฺว่าทรงเป็นผู้นำประโยชน์และปกป้องจากภัยอันตรายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องเกี่ยวกับโลกนี้หรือโลกหน้า ตะวักกุล คือการที่บ่าวทำการมอบหมายการงานทุกอย่างให้กับอัลลอฮฺสุบหานะฮู วะตะอาลา  แสดงออกถึงการศรัทธามั่นและชัดเจนว่าไม่มีผู้ใดที่สามารถยังประโยชน์หรือให้โทษ นอกจากอัลลอฮฺสุบหานะฮู วะตะอาลา  เท่านั้น"


 (ญามิอฺ อัล-อุลูม วา อัล-หิกัม 2/497)


อัลลอฮฺได้ตรัสว่า



﴿ وَإِن يَمۡسَسۡكَ ٱللَّهُ بِضُرّٖ فَلَا كَاشِفَ لَهُۥٓ إِلَّا هُوَۖ وَإِن يَمۡسَسۡكَ بِخَيۡرٖ فَهُوَ عَلَىٰ كُلِّ شَيۡءٖ قَدِيرٞ ١٧ ﴾ [الأنعام: ١٧]  

ความว่า “และหากว่าอัลลอฮฺทรงให้ความเดือดร้อนอย่างหนึ่งอย่างใดประสบแก่เจ้าแล้ว ก็ไม่มีผู้ใดจะเปลื้องมันได้ นอกจากพระองค์เท่านั้น

และหากพระองค์ทรงให้ความดีอย่างหนึ่งอย่างใดประสบแก่เจ้า  แท้จริง พระองค์นั้นทรงเดชานุภาพเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง”


(อัล-อันอาม 17)



    แท้จริงแล้วอัลลอฮฺได้สั่งใช้ปวงบ่าวของพระองค์ให้ทำการมอบหมายแด่พระองค์ในหลายๆ แห่งในคัมภีร์อัลกุรอาน โดยมีมากกว่า 50 อายะฮฺ พระองค์ตรัสว่า



﴿ وَتَوَكَّلۡ عَلَى ٱلۡحَيِّ ٱلَّذِي لَا يَمُوتُ وَسَبِّحۡ بِحَمۡدِهِۦۚ وَكَفَىٰ بِهِۦ بِذُنُوبِ عِبَادِهِۦ خَبِيرًا ٥٨ ﴾ [الفرقان: ٥٧]  

ความว่า และสูเจ้าจงมอบหมายต่อพระผู้ทรงชีวินผู้ทรงไม่ตาย และจงแซ่ซ้องสดุดีด้วยการสรรเสริญพระองค์

และพอเพียงแล้วด้วยพระองค์ ผู้ทรงรอบรู้ในความผิดทั้งหลายของปวงบ่าวของพระองค์”


(อัล-ฟุรกอน 58)  


และพระองค์ได้ตรัสว่า



﴿ قُل لَّن يُصِيبَنَآ إِلَّا مَا كَتَبَ ٱللَّهُ لَنَا هُوَ مَوۡلَىٰنَاۚ وَعَلَى ٱللَّهِ فَلۡيَتَوَكَّلِ ٱلۡمُؤۡمِنُونَ ٥١ ﴾ [التوبة: ٥١]  

ความว่า  “จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ว่า จะไม่ประสบแก่เราเป็นอันขาด นอกจากสิ่งที่อัลลอฮฺได้กำหนดไว้แก่เราเท่านั้น 

ซึ่งพระองค์เป็นผู้คุ้มครองเรา และแด่อัลลอฮฺนั้น มุอ์มินผู้ศรัทธาทั้งหลายจงมอบหมายเถิด”


(อัต-เตาบะฮฺ 51)

และพระองค์ได้ตรัสเช่นกันว่า



﴿ وَتَوَكَّلۡ عَلَى ٱلۡعَزِيزِ ٱلرَّحِيمِ ٢١٧ ٱلَّذِي يَرَىٰكَ حِينَ تَقُومُ ٢١٨ وَتَقَلُّبَكَ فِي ٱلسَّٰجِدِينَ ٢١٩ ﴾ [الشعراء: ٢١٧،  ٢١٩]  

ความว่า “และจงมอบหมายต่อผู้ทรงเดชานุภาพผู้ทรงเมตตาเสมอ ผู้ทรงเห็นเจ้าขณะที่เจ้ายืนอยู่ และการเคลื่อนไหวของเจ้าในหมู่ผู้สุญูด”  


(อัช-ชุอะรออ์ 217-219 )

    

รายงานจากท่าน อุมัรฺ บิน อัล-ค็อฏฏอบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่าแท้จริงท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม  ได้กล่าวว่า



«لَوْ أَنَّكُمْ تَتَوَكَّلُونَ عَلَى اللَّهِ حَقَّ تَوَكُّلِهِ، لَرَزَقَكُمْ كَمَا يَرْزُقُ الطَّيْرَ، تَغْدُو خِمَاصًا وَتَرُوحُ بِطَانًا» [مسند الإمام أحمد 1/30]

“หากพวกท่านมอบหมายตนต่ออัลลอฮฺอย่างแท้จริงแล้ว แน่นอน พระองค์จะประทานริซกี(ปัจจัยยังชีพ)ให้พวกท่าน

เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงประทานริซกีให้กับนก  โดยที่มันบินออกไปในตอนเช้าในสภาพที่ท้องว่างและกลับมาในตอนเย็นในสภาพที่ท้องอิ่ม”  


(มุสนัดอิมาม อะหฺมัด 1/30)


ท่านหาฟิซ อิบนุ เราะญับ ได้กล่าวว่า  หะดีษนี้ถือเป็นหลักในเรื่องการมอบหมายต่ออัลลอฮฺและแสดงว่าการมอบหมาย(ตะวักกุล)เป็นสาเหตุที่สำคัญที่จะชักนำมาซึ่งริสกี อัลลอฮฺได้ตรัสว่า



 ﴿وَمَن يَتَّقِ ٱللَّهَ يَجۡعَل لَّهُۥ مَخۡرَجٗا ٢ وَيَرۡزُقۡهُ مِنۡ حَيۡثُ لَا يَحۡتَسِبُۚ وَمَن يَتَوَكَّلۡ عَلَى ٱللَّهِ فَهُوَ حَسۡبُهُۥٓۚ ﴾ [الطلاق: ٢،  ٣]  

ความว่า “และผู้ใดยำเกรงอัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงหาทางออกให้แก่เขา และจะทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่เขาจากที่ที่เขามิได้คาดคิด

และผู้ใดมอบหมายแด่อัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงเป็นผู้พอเพียงแก่เขาแล้ว”

(อัฏ-เฏาะลาก 2-3)



          “หะดีษของท่านอุมัรฺ แสดงให้เห็นว่า มนุษย์ได้ปัจจัยมาโดยที่เขาขาดการตั้งมั่นอยู่กับการมอบหมายต่ออัลลอฮฺอย่างแท้จริง และมีจิตที่ยึดมั่นอยู่กับมูลเหตุภายนอกและไว้วางใจมัน พวกเขาจึงเหน็ดเหนื่อยไปกับมูลเหตุและใช้ความพยายามกับมันอย่างยิ่ง แต่เขากลับไม่ได้สิ่งที่เขาพยายามยกเว้นเท่าที่ถูกกำหนดมาให้กับเขาตั้งแต่แรกเท่านั้น หากพวกเขายึดมั่นในการมอบหมายต่ออัลลอฮฺด้วยหัวใจของเขาอย่างแท้จริงแล้วแน่นอนอัลลอฮฺจะชักนำริสกีมายังเขาด้วยมูลเหตุใดๆ แม้ว่ามันจะเล็กน้อยยิ่งก็ตามที เฉกเช่นเดียวกับที่พระองค์ให้รีสกีแก่เหล่านกกา ด้วยเพียงการบินออกไปในยามเช้าแล้วบินกลับมาในยามเย็น ซึ่งถือว่าเป็นความพยายามอย่างหนึ่งแต่เป็นความพยายามที่น้อยนิดมาก”


(ญามิอฺ อัล-อุลูม วะ อัล-หิกัม 2/502)


ชาวสะลัฟบางท่านได้กล่าวว่า “การมอบหมายต่ออัลลอฮฺนั้นจะนำมายังท่านซึ่งริสกี โดยไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยและยากลำบาก”


(ญามิอฺ อัล-อุลูม วะ อัล-หิกัม 2/502)

 

ท่านสะอีด บิน ญุบัยรฺ ได้กล่าวว่า “การตะวักกุลนั้นเป็นองค์รวมของอีมาน”


(ญามิอฺ อัล-อุลูม วะ อัล-หิกัม 2/497)



ท่านอิบนุ อัล-ก็อยยิมได้กล่าวว่า “ตะวักกุลถือเป็นมูลเหตุที่สำคัญยิ่งที่บ่าวจะใช้ในการปกป้องตัวเองจากการละเมิด ความอยุติธรรม และการรุกรานของผู้อื่น”
 
และท่านอิบนุ อัล-ก็อยยิมได้กล่าวอีกว่า

“ตะวักกุลถือเป็นกึ่งหนึ่งของการศรัทธา และกึ่งที่สองนั้นคือการกลับตัวสยบต่ออัลลอฮฺ เพราะศาสนานั้นประกอบด้วยการขอความช่วยเหลือและการสักการะอิบาดะฮฺต่อพระองค์ การตะวักกุลถือว่าเป็นการขอความช่วยเหลือ ส่วนการกลับตัวสยบต่อพระองค์ก็คือการทำอิบาดะฮฺ”  


(อัต-ตัฟซีร อัล-ก็อยยิม 587, มะดาริจญ์ อัซ-ซาลิกีน 2/118)



     รายงานจากท่าน อะนัส บิน มาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ  ว่า แท้จริงท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม  ได้กล่าวว่า

«إِذَا خَرَجَ الرَّجُلُ مِنْ بَيْتِهِ فَقَالَ: بِسْمِ اللَّهِ تَوَكَّلْتُ عَلَى اللَّهِ، لَا حَوْلَ وَلَا قُوَّةَ إِلَّا بِاللَّهِ، قَالَ : يُقَالُ حِينَئِذٍ هُدِيتَ وَكُفِيتَ وَوُقِيتَ، فَتَتَنَحَّى لَهُ الشَّيَاطِينُ، فَيَقُولُ لَهُ شَيْطَانٌ آخَرُ كَيْفَ لَكَ بِرَجُلٍ قَدْ هُدِيَ وَكُفِيَ وَوُقِيَ» [سنن أبي داود (4/325) برقم 5095]

ความว่า “หากชายคนหนึ่งออกจากบ้านของเขาโดยกล่าวว่า ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ฉันขอมอบหมายต่ออัลลอฮฺ และไม่มีพลังและอำนาจใด ๆ นอกจากด้วยอัลลอฮฺ 

ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า จะมีเสียงกล่าวแก่เขาว่า ท่านได้รับการนำทางแล้ว และท่านได้รับการปกป้องแล้ว และได้รับความพอเพียงแล้ว และบรรดาชัยฏอนจะออกห่างไปจากเขา 

ชัยฏอนอีกตนหนึ่งจะกล่าวว่า เจ้าจะทำอะไรได้เล่า กับคนที่เขาได้รับทางนำ  ได้รับการปกป้อง และได้รับการประกันความพอเพียงแล้ว


(อบู ดาวูด หมายเลข 5095)


          และมีรายงานจากท่านอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา  ท่านกล่าวว่า

“คำกล่าว حَسْبُنَا اللَّـهُ وَنِعْمَ الْوَكِيلُ (หัสบุนัลลอฮุ วะ นิอฺมัล วะกีล  -  อัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ที่พอเพียงแก่เราแล้ว และเป็นผู้รับมอบหมายที่ดีเยี่ยม)นั้น ท่านนบีอิบรอฮีมได้กล่าวมันในช่วงที่ถูกโยนลงไฟในกองไฟ 

ท่านนบีมุหัมมัด ก็ได้กล่าวเช่นกัน ในตอนที่มีผู้คนกล่าวกับท่านว่า แท้จริงมีผู้คนได้ชุมนุมเพื่อโจมตีพวกท่าน ดังนั้นพวกท่านจงกลัวพวกเขาเถิด แต่ทว่ามันกลับเพิ่มความศรัทธาแก่พวกเขา(บรรดาผู้ศรัทธา) และพวกเขากล่าวว่า อัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ที่พอเพียงแก่เราแล้ว และทรงเป็นผู้รับการมอบหมายที่ดียิ่ง”


(เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ 3/211 หมายเลข 4563)  


          นบีอิบรอฮีมเมื่อท่านกล่าวว่า หัสบุนัลลอฮุ วะ นิอฺมัล วะกีล ผลที่เกิดขึ้นคือ ตามที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า



﴿ قُلۡنَا يَٰنَارُ كُونِي بَرۡدٗا وَسَلَٰمًا عَلَىٰٓ إِبۡرَٰهِيمَ ٦٩ ﴾ [الانبياء: ٦٩]
 
ความว่า “เรา(อัลลอฮฺ)กล่าวว่า  ไฟเอ๋ย ! จงเย็นลง และให้ความปลอดภัยแก่อิบรอฮีมเถิด”


(อัล-อันบิยาอ์ 69)  


          และท่านนบีมุหัมมัดเมื่อท่านกล่าวคำนี้ ผลก็คือตามที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า



﴿ فَٱنقَلَبُواْ بِنِعۡمَةٖ مِّنَ ٱللَّهِ وَفَضۡلٖ لَّمۡ يَمۡسَسۡهُمۡ سُوٓءٞ وَٱتَّبَعُواْ رِضۡوَٰنَ ٱللَّهِۗ وَٱللَّهُ ذُو فَضۡلٍ عَظِيمٍ ١٧٤ ﴾ [آل عمران: ١٧٤]
 
ความว่า “แล้วพวกเขาได้กลับมาพร้อมด้วยความกรุณาจากอัลลอฮฺ และความโปรดปราน(จากพระองค์) โดยมิได้มีอันตรายใดๆ ประสบแก่พวกเขา

และพวกเขาได้ปฏิบัติตามความพอพระทัยของอัลลอฮฺ และอัลลอฮฺคือผู้ทรงเปี่ยมด้วยความกรุณาโปรดปรานอันยิ่งใหญ่”


(อาล อิมรอน 174)
 

ผู้ศรัทธาคนหนึ่งในหมู่วงค์วานฟิรเอานฺได้กล่าวเมื่อเผ่าของพวกเขาใช้กลอุบายกับเขาว่า



﴿وَأُفَوِّضُ أَمۡرِيٓ إِلَى ٱللَّهِۚ إِنَّ ٱللَّهَ بَصِيرُۢ بِٱلۡعِبَادِ ٤٤ ﴾ [غافر: ٤٤]
 
ความว่า “และฉันขอมอบภารกิจของฉันแด่อัลลอฮฺ แท้จริงอัลลอฮฺทรงเป็นผู้เฝ้าดูปวงบ่าว”


(ฆอฟิรฺ 44)


อัลลอฮฺ ได้กล่าวถึงเขาว่า



﴿فَوَقَىٰهُ ٱللَّهُ سَيِّ‍َٔاتِ مَا مَكَرُواْۖ وَحَاقَ بَِٔاعلِ فِرۡعَوۡنَ سُوٓءُ ٱلۡعَذَابِ ٤٥ ﴾ [غافر: ٤٥]  

ความว่า “อัลลอฮฺได้ทรงคุ้มครองเขาให้พ้นจากความชั่วทั้งหลายที่พวกเขาวางแผนไว้ และการลงโทษที่ชั่วช้าก็จะห้อมล้อมบริวารของฟิรเอานฺ”


(ฆอฟิรฺ 44-45)





แปลโดย : อิสมาน จารง / Islam House


การมอบหมายต่ออัลลอฮฺ และการยึดถือมูลเหตุ (2)....>>>> Click Next.