ความรู้ของท่านหญิงอาอิชะห์
  จำนวนคนเข้าชม  14371

 

ท่านหญิงอาอิชะฮ์ มารดาของบรรดาผู้ศรัทธา (2)


โดย...One Muslimah.


ความรู้ของท่านหญิงอาอิชะห์


“หากมีการรวบรวมความรู้ของสตรีทั้งหมดในโลกนี้ (รวมทั้ง บรรดาภริยาของท่านนบี )

ความรู้ของท่านหญิงอาอิชะฮฺนั้นมากกว่าความรู้ของพวกเขาเหล่านั้น”

(บันทึกโดยติรมีซีย์และอัลฮากิม)

         เนื่องจากท่านหญิงอาอิชะฮฺได้รับการอบรมเลี้ยงดูจากครอบครัวให้เป็นผู้ใฝ่ศึกษาหาความรู้ตั้งแต่วัยเยาว์  โดยเฉพาะวิชาอัลกุรอาน อัลฮะดีษ ประวัติศาสตร์ ศาสนบัญญัติ วิชาการแพทย์ บทกวีและวรรณคดี กอปรกับการที่นางเป็นผู้ที่ฉลาด มีความจำที่ดีเลิศ และเป็นผู้ศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ จึงทำให้ป็นผู้ที่มีความรอบรู้ในศาสตร์แขนงต่างๆ อย่างกว้างขวาง

          ท่านหญิงอาอิชะฮ์เป็นภรรยาที่สนับสนุนและเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่สัจธรรมคำสอนของอัลอิสลาม ท่านเป็นครูให้แก่บรรดาเหล่าซอฮาบะห์และตาบิอีน  เป็นผู้ที่สนับสนุนการใช้เหตุผล เป็นผู้ที่มีความสามารถสูงในการอธิบายปัญหาศาสนาต่างๆ ทั้งปัญหาด้านกฎหมายตลอดจนหลักธรรมคำสอนของท่านนบี  รวมทั้งเรื่องที่ยากๆ อาทิเช่น ให้การฟัตวา ( การวินิจฉัยปัญหาศาสนา) ซึ่งความสามารถดังกล่าวนั้น นางมีความเหนือกว่าบรรดาผู้หญิงทั้งหมด รวมถึงสาวกบางคนด้วย

 

การศึกษาและการแสวงหาความรู้


          ท่านหญิงอาอิชะฮฺเริ่มการศึกษาอัลกุรอาน ประวัติศาสตร์ชาวกุรอยซฺ การสืบเชื้อสายวงศ์ตระกูล และบทกวีอาหรับ จากท่านอบูบักรผู้เป็นบิดา (Al-Afghani, Said. n.d. : 21; Fadl Ahmad,1981: 19 อ้างใน พาตือเม๊าะ หงะหงอ, 2547) และเมื่อท่านหญิงได้เข้ามาอยู่บ้านท่านนบี ในฐานะภรรยา  เนื่องจากนางเป็นผู้หญิงที่ฉลาดและพร้อมที่จะศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ อีกทั้งท่านนบีเป็นคนที่มีความอดทนและพร้อมเสมอที่จะตอบคำถามต่างๆ จนทำให้นางได้รับความกระจ่างในปัญหาที่สลับซับซ้อนทางด้านศาสนา และสังคม จึงทำให้นางกล้าที่จะซักถามหรือถกปัญหายากๆ กับท่านนบี จนกว่านางจะพอใจ

ครั้งหนึ่ง ท่านนบี ได้กล่าวว่า “ใครก็ตามที่ถูกเรียกมาสอบสวนในวันแห่งการฟื้นคืนชีพจะถูกลงโทษ”

เมื่อได้ยินเช่นนั้นนางจึงกล่าวขึ้นว่า “ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ แต่อัลลอฮฺ ทรงกล่าวว่า"เขาจะถูกสอบสวนอย่างง่ายดาย (กุรอาน 84:8)”

ท่านนบีจึงได้อธิบายให้ฟัง โดยกล่าวว่า "นี่หมายถึงคนที่ถูกสอบสวนอย่างหนัก ดังนั้น เขาจึงต้องลงนรก"

 (รายงานโดยบุคอรีย์)


อีกตัวอย่างหนึ่งคือ มีรายงานในมุสนัดอะหมัดว่า ครั้งหนึ่งเมื่อท่านหญิงได้อ่านอายะห์กุรอานที่กล่าวว่า

“วันซึ่งแผ่นดินจะถูกเปลี่ยนเป็นอื่นจากแผ่นดินนี้ และชั้นฟ้าทั้งหลายก็เช่นกัน และสิ่งถูกสร้างทั้งหลายจะปรากฏต่อหน้าอัลลอฮฺผู้ทรงเอกะ ผู้ทรงพิชิต ”

(กุรอาน 14:48)

และในอีกรายงายหนึ่ง กล่าวว่า

“และแผ่นดินนี้ทั้งหมดเป็นเพียงกำมือหนึ่งของพระองค์ในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ และชั้นฟ้ าทั้งหลายจะถูกม้วนในพระหัตถ์ขวาของพระองค์”

 (กุรอาน 39:67)

ท่านหญิงอาอิชะฮ์ได้ถามว่า “เมื่อไม่มีโลกและไม่มีฟ้าแล้ว คนจะอยู่ที่ไหน?”

ท่านนบี ตอบว่า “บนศิรอต”

     โดยภาษาแล้ว คำว่า ศิรอต หมายถึง “ทาง” ในที่นี้หมายถึงสะพานข้ามไฟนรก ซึ่งเล็กยิ่งกว่าเส้นผมและบางยิ่งกว่าคมดาบ คนที่ทำความดีจะผ่านสะพานนี้ไปได้ แต่คนชั่วจะตกลงไปในนรกข้างล่าง

(บันทึกโดยอะฮฺหมัด และอัดดาริมี)

          คำแนะนำและคำตอบเช่นนี้ระหว่างอาอิชะฮ์ กับท่านนบี มีอยู่เป็นประจำทุกวัน เพราะความใฝ่รู้ของนางนั่นเอง จึงทำให้ปัญหาต่างๆโดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวกับผู้หญิงและเรื่องยากๆเกี่ยวกับกุรอานและคำสอนของท่านนบี ได้รับการคลี่คลาย


 ตัวอย่างคำถามที่เกี่ยวกับสตรี ซึ่งแสดงถึงความเฉลียวฉลาดของอาอิชะฮ์ อาทิเช่น

อาอิชะฮ์ได้ถามว่า“โอ้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ สตรีควรจะออกสู่สนามรบ เช่นเดียวกับผู้ชายด้วยหรือ”

ท่านนบี ตอบว่า “ไม่ควร และการทำฮัจย์เป็นสิ่งที่เพียงพอสำหรับเธอ”

(บันทึกโดยบุคอรีย์)

และอาอิชะฮ์ได้ถามว่า “โอ้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ การยินยอมพร้อมใจของผู้หญิง เป็นสิ่งจำเป็นไหมก่อนที่เธอจะแต่งงาน”

ท่านนบี ตอบว่า “แน่นอน แต่โดยทั่วไปแล้ว ผู้หญิงมีความกระดากอายเกินที่เธอจะบอกว่าเธอยินยอม”

ท่านนบี ได้อธิบายต่อไปว่า “การนิ่งเงียบของเธอ คือ สิ่งที่บอกว่าเธอยินยอม”

(บันทึกโดยบุคอรีย์)


          นอกจากการได้รับคำแนะนำจากท่านนบีโดยการซักถามปัญหาข้อสงสัยต่างๆแล้ว ท่านหญิงอาอิชะฮ์จะคอยติดตามรับฟังคำสั่งสอนของท่านนบี ในขณะที่ท่านนบีได้สอนเหล่าบรรดาซอฮาบะฮฺทั้งหลาย และที่สำคัญคือ ห้องของนางในบ้านของท่านนบี นั้น เป็นที่รู้จักกันในนาม “มะฮฺบะฏุลวะฮีย์” ซึ่งหมายถึง สถานที่ลงวะฮีย์หรือโองการของอัลลอฮฺ เนื่องจากมีการประทานวะฮีย์จากอัลลอฮฺมายังท่านนบี  ในขณะที่ท่านนบี อยู่ภายในห้องนี้บ่อยมาก

(Fadl Ahmad, 1981: 25;Tahmaz, Abd Al-Hamid, 1410/1990: 35-36 อ้างใน พาตือเม๊าะ หงะหงอ, 2547)

          และท่านหญิงอาอิชะฮ์จะซักถามท่านนบี ในความหมายของอายะฮฺกุรอานที่ถูกประทานลงมา ท่านนบี ก็จะอธิบายให้นางได้รับความกระจ่าง ดังนั้น นางจึงได้ยินได้ฟังและจดจำทุกถ้อยคำของท่านนบี ได้อย่างลึกซึ้ง และสามารถนำความรู้มากมายมหาศาลและทรงคุณค่าเหล่านั้นมาเผยแผ่ให้แก่เหล่าบรรดาซอฮาบะฮฺและสาวกทั้งหลาย ซึ่งมีจำนวนน้อยคนนักที่สามารถเรียนรู้และเข้าใจอัลกุรอานตลอดจนซุนนะห์ของท่านนบี ได้เท่าเทียมกับท่านหญิงอาอิชะฮ์

 

ตัวอย่างการอธิบายอัลกุรอาน


          ท่านหญิงอาอิชะฮฺมีความเฉลียวฉลาดเฉียบแหลมในการให้ความหมายของอัลกุรอาน โดยวิธีการอธิบายอัลกุรอานของนางนั้นจะใช้วิธีการอธิบายโดยการอาศัยอายะห์กุรอานอายะห์หนึ่งมาอธิบายอัลกุรอานอีกอายะห์หนึ่ง, การอาศัยอัลฮะดีษมาอธิบายอัลกุรอาน, อาศัยสาเหตุของการประทานอัลกุรอานมาอธิบายอายะห์กุรอาน, อาศัยความหมายทางภาษามาอธิบายอายะห์อัลกุรอาน และอาศัยความพยายามของท่านหญิงอาอิชะฮ์ในการวินิจฉัยมาอธิบายอัลกุรอาน ดังตัวอย่างต่อไปนี้


     1) การอาศัยอายะห์กุรอานอายะห์หนึ่งมาอธิบายอัลกุรอานอีกอายะห์หนึ่ง

ตัวอย่างนี้เป็นการอธิบายอัลกุรอานโดยการนำอายะห์ที่เกี่ยวกับการที่ท่านนบีสามารถมองเห็นท่านญิบรีลในสภาพที่เป็นจริง คือ อายะห์ในซูเราะห์อัตตักวีร อายะห์ที่  23 ความว่า

“และโดยแน่นอน เขา(มุฮัมหมัด) ได้เห็นเขา(ญิบรีล) ณ ขอบฟ้าอย่างชัดแจ้ง”

(กุรอาน 61:23)

และซูเราะห์อันนัจมฺ อายะห์ที่  13 ความว่า

“และโดยแน่นอน เขาได้เห็นญิบรีลในการลงมาอีกครั้งหนึ่ง”

(กุรอาน 53:13)

ซึ่งท่านหญิงอาอิชะฮ์ได้อธิบายว่า ท่านนบี สามารถมองเห็นท่านญิบรีล มิใช่มองเห็นอัลลอฮฺตามที่ซอฮาบะฮฺบางคนเข้าใจ


     2) การอาศัยอัลฮะดีษมาอธิบายอัลกุรอาน

         ตัวอย่างเช่น การที่ท่านหญิงอาอิชะฮ์ ปฏิเสธท่านอิบนุ อับบาส ว่าท่านนบีไม่เคยเห็นอัลลอฮฺ ซึ่งเป็นการอธิบายอัลกุรอาน โดยนำอัลฮะดีษมาอธิบายอัลกุรอาน ดังนี้

ครั้งหนึ่ง ท่านอิบนุ อับบาส ได้ถามนางว่า “ท่านนบีสามารถมองเห็นอัลลอฮฺหรือ”  เนื่องจากท่านอิบนุ อับบาส ได้อ่านอายะห์กุรอานที่เหมือนกันในซูเราะห์ที่ต่างกัน

ทำให้ท่านหญิงอาอิชะฮ์ปฏิเสธทันที และกล่าวว่า “ผู้ใดก็ตามที่สงสัยว่าท่านนบี สามารถมองเห็นอัลลอฮฺ แสดงว่าผู้นั้นกำลังทำบาปใหญ่”

(บันทึกโดยบุคอรีย์)


     3) การอาศัยสาเหตุของการประทานอัลกุรอานมาอธิบายอายะห์กุรอาน

          ตัวอย่างการอาศัยสาเหตุของการประทานอัลกุรอานมาอธิบายอายะห์กุรอานของท่านหญิงอาอิชะฮ์ เกี่ยวกับซูเราะห์อัลบะเกาะเราะห์ อายะห์ที่ 158 ความว่า

“แท้จริงภูเขาศอฟา และภูเขามัรวะฮฺนั้น เป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาเครื่องหมายของอัลลอฮฺ

ดังนั้นผู้ใดประกอบพิธิฮัจย์หรืออุมเราะห์ ณ บัยตุ้ลลอฮฺก็ไม่มีบาปใดๆแก่เขา ที่จะเดินวนเวียนไปมา ณ ภูเขาทั้งสองนั้น”

(กุรอาน 2:158)

โดยอุรวะฮฺ อิบนุ อัซซุบัยรฺ ได้กล่าวถามนางเกี่ยวกับอายะห์ดังกล่าว่า “ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับภูเขาศอฟาและมัรวะฮฺ”

ท่านหญิงอาอิชะฮ์ได้อธิบายถึงสาเหตุของการประทานอายะฮฺดังกล่าวว่า

“เนื่องจากชาวมะดีนะห์ได้เวียนรอบระหว่างภูเขาทั้งสองตั้งแต่พวกเขายังไม่ได้เป็นมุสลิม พวกเขาได้ถามท่านนบี เกี่ยวกับเรื่องนี้

เมื่อพวกเขาเข้ามารับนับถือศาสนาอิสลาม พวกเขาจึงลำบากใจในการเดินเวียนรอบเขาทั้งสอง

อัลลอฮฺจึงประทานอายะห์ดังกล่าวลงมาแก่ท่านนบี ดังนั้น ท่านนบี  ก็ได้เชิญชวนผู้ที่บำเพ็ญฮัจย์ให้มีการเวียนรอบระหว่างสองภูเขาดังกล่าวด้วย”

(บันทึกโดยบุคอรีย์และมุสลิม)


     4) การอาศัยความหมายทางภาษามาอธิบายอายะห์อัลกุรอาน

          สำหรับการอธิบายอัลกุรอานโดยอาศัยความหมายทางภาษานั้น ท่านหญิงฯได้อธิบายคำว่า“กุรุอฺ” ในซูเราะห์อัลบะเกาะเราะห์ อายะห์ที่ 228 ความว่า

“และบรรดาหญิงที่ถูกหย่าร้าง พวกนางจะต้องรอคอยตัวของตนเองสามกุรูอฺ”

(อัลกุรอาน 2:228)

          โดยท่านหญิงอาอิชะฮ์ได้อธิบายคำว่า “กุรูอฺ” หมายถึง สะอาดปลอดจากมีเลือดประจำเดือน ซึ่งก็คือผู้หญิงที่ถูกหย่าจากสามีจะต้องรอ อิดดะห์ หมายถึง ระยะเวลาระหว่างการเริ่มหย่าจากสามีถึงเวลาที่อนุมัติให้สมรสใหม่่เป็นเวลา สามกุรูอฺ ก็คือให้ผู้หญิงรอคอยจนกว่ามดลูกของนางสะอาดสามครั้ง หรือนางประจำเดือนมาสามครั้งนั่นเอง

 

การรายงานอัลฮะดีษและวินิฉัยปัญหาทางศาสนา


          ท่านหญิงอาอิชะฮฺเป็นนักรายงานอัลฮะดีษที่สำคัญผู้หนึ่ง เนื่องจากนางมีความรอบรู้สามารถจดจำอัลฮะดีษของท่านนบีได้อย่างมากมาย ซึ่งถือเป็นผู้จดจำอัลฮะดีษรุ่นแรกในตัวบทและผู้รายงานฮะดีษมากที่สุด และจัดอยู่ในอันดับต้นๆของผู้รายงานฮะดีษ รองจากท่าน อบูฮุรอยเราะห์, อับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัร, อนัส อิบนุ มาลิก และอับดุลลอฮฺ อิบนุ อับบาส แต่นางจะมีความพิเศษกว่าบรรดาศอฮาบะฮ์ เพราะนางมีโอกาสได้ฟังจากท่านนบี โดยตรง

          จากการรายงานของนักวิชาการพบว่า ท่านหญิงอาอิชะฮฺเป็นนักรายงานฮะดีษที่มีความจำแม่นยำและรายงานฮะดีษมากถึง 2,210 ฮะดีษ ซึ่งตัวบทฮะดีษในจำนวนนี้มี 174 ฮะดีษที่คอลีฟะห์ทั้งสี่ คือ ท่านอบูบักร อุมัร อุษมาน และอาลี เห็นพ้องด้วย ท่านอิมามบุคอรีนำไปรายงาน 54 ฮะดีษ และอิมามมุสลิมนำไปรายงาน 54 ฮะดีษ

           เหล่าบรรดาซอฮาบะฮฺและผู้รู้หลายทั้งหลายต่างก็มาขอคำวินิจฉัยปัญหาทางด้านศาสนา รวมทั้งกฎหมาย และศาสนาบัญญัติจากนางอยู่เสมอ และใช้คำวินิจฉัยของนางเป็นแหล่งอ้างอิง นอกจากนี้ บรรดาผู้รู้ทั้งหลายต่างก็ยกย่องนางว่าเป็นสตรีที่เปี่ยมไปด้วยความรู้และเป็นผู้ทรงคุณธรรม ดังตัวอย่างต่อไปนี้


- ท่านอบูมูซา อัลอัชอารี ได้กล่าวว่า

“ไม่มีฮะดีษไหนที่เป็นเรื่องเร้นลับสำหรับพวกเรา(บรรดาซอฮาบะฮ์) หลังจากเราได้ถามจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ และพวกเราได้รับรู้ว่านางเป็นผู้ที่รอบรู้ในฮะดีษดังกล่าว”


- ส่วนมัสรูก กล่าวถึงท่านหญิงอาอิชะฮฺว่า

“ฉันเห็นผู้อาวุโสในหมู่ซอฮาบะฮ์ต่างพากันไปถามหาคำตอบของปัญหา การจัดแบ่งมรดกจากอาอิชะฮฺ”


- อะฏออ์ ยกย่องท่านหญิงอาอิชะฮ์ว่า

“อาอิชะฮฺเป็นผู้มีความเข้าใจสูงสุด มีความรู้สูงสุด และเป็นผู้ให้ความเห็นที่ดีที่สุด”


- ครั้งหนึ่ง อิบนุซะต์ ได้กล่าวว่า

“ภรรยาของท่านรอซูลุลลอฮฺได้รู้ฮะดีษจำนวนมากจากท่านรอซูลุลลอฮฺ แต่ไม่มีใครเหมือนกับท่านหญิงอาอิชะฮฺและอุมม์สะละมะห์

และท่านหญิงอาอิชะฮฺเคยให้ข้อคิดเห็นของเธอในสมัยของอุมัรและอุษมานจนกระทั่งเธอเสียชีวิต”


- ขณะที่อิมามซะฮฺรี ซึ่งเป็นนักนิติศาสตร์ชั้นนำในบรรดาผู้ปฏิบัติตามสาวกของท่านนบีกล่าวว่า

“ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เป็นผู้ที่มีความรู้ดีคนหนึ่ง แม้ผู้อาวุโสและสาวกผู้ทรงความรู้ก็ยังเคยปรึกษาขอคำแนะนำจากนาง”

และ “ความรู้ของท่านหญิงอาอิชะฮฺมากยิ่งกว่าความรู้ของผู้ชายทั้งหมดและบรรดาแม่ของศรัทธาชนรวมกันเสียด้วยซํ้า”


-  ท่านอิบนุ สะอฺด ได้รายงานว่า ท่านหญิงอาอิชะฮ์ ได้ทำการอิจติฮาด (การวินิจฉัยปัญหาทางศาสนา) หากมีเหตุการณ์ใหม่ๆเกิดขึ้น โดยที่ไม่ปรากฏตามหลักฐานที่มีอยู่ในอัลกุรอานหรืออัลฮะดีษ ดังที่ท่านอบูสะละมะฮฺ อิบนุ อับดุรเราะห์มาน กล่าวว่า

“ฉันไม่เคยเห็นผู้ใดที่มีความรู้เกี่ยวกับซุนนะห์ (แนวทาง) ของท่านรอซูล มีความเข้าใจเกี่ยวกับทัศนะ

มีความรู้เกี่ยวกับอายะห์ที่ถูกประทานลงมาว่าเกี่ยวกับเรื่องใด ตลอดจนบทบัญญัติต่างๆ มากกว่าท่านหญิงอาอิชะฮฺ”

(บันทึกโดยอัลฮากิม)


          แม้ภายหลังจากที่ท่านนบี ได้เสียชีวิตไปแล้ว สาวกของท่านบางคนได้นำเอาคำถามที่มีเหตุผลขัดแย้งกับศาสนาและการอธิบายความหมายของหลักการบางอย่างที่ขัดแย้งกับศาสนามาถามท่านหญิงอาอิชะฮฺ นางได้อธิบายปัญหานั้นอย่างมีเหตุผลและเป็นไปตามตัวบทกฎหมายจนสามารถทำให้คนธรรมดาทั่วไปเข้าใจได้ ตัวอย่างเช่น “ปัญหาที่ว่าคนตายได้ยินเสียงคนที่มีชีวิตหรือไม่” ท่านหญิงอาอิชะฮ์ได้อธิบายว่า นางไม่เชื่อว่าผู้ตายสามารถได้ยินคนมีชีวิต

           โดยความเชื่อในเรื่องนี้มาจากคำบอกเล่าที่ว่าครั้งหนึ่ง ท่านนบีได้พูดกับศพของบรรดาผู้ปฏิเสธศาสนาในสมรภูมิบะดัรว่า“พวกเจ้าเห็นหรือยังว่าสัญญาของพระผู้อภิบาลของพวกเจ้านั้นเป็นจริง” มีรายงานว่าอุมัรได้ถามว่า“ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ ท่านพูดกับคนตายที่ไม่ได้ยินเรากระนั้นหรือ?”

         คำบอกเล่านี้คือที่มาของความคิดที่ว่าคนตายสามารถได้ยิน แต่ท่านหญิงอาอิชะฮ์ไม่ยอมรับฮะดีษนี้ โดยอาศัยหลักฐานจากกุรอาน ความว่า

“เจ้าไม่สามารถทำให้คนตายได้ยิน” (กุรอาน 27:80)

 และ “เจ้าไม่สามารถทำให้ผู้อยู่ในหลุมฝังศพได้ยิน” (กุรอาน 35:22)

 

          ในทำนองเดียวกัน นางได้บอกปัดความคิดเรื่องการลงโทษคนตาย เพราะการร้องไห้คร่ำครวญของเครือญาติโดยอาศัยหลักฐานจากอัลกุรอาน คือ

“และไม่มีผู้แบกภาระคนใดที่จะแบกภาระของอีกผู้หนึ่งได้” (กุรอาน 35:18)

 

          ซึ่งสิ่งที่นางชี้แจงนี้ก็เป็นที่ยอมรับเป็นความจริงที่ไม่อาจโต้แย้งได้ว่า ความเห็นอะไรก็ตามที่หลายฝ่ายมีความแตกต่างกันในรายละเอียด ทุกฝ่ายต่างมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าความเห็นนั้นจะต้องได้รับการตัดสินโดยคัมภีร์อัลกุรอาน เพราะอัลกุรอานเป็นสิ่งที่ไม่มีใครสงสัย และการศรัทธาในคัมภีร์อัลกุรอานของมุสลิมก็ยังคงไม่สั่นคลอน  ความแตกต่างกันอาจเกิดขึ้นได้ในการอธิบายความหมาย แต่ทุกความเห็นต้องมาจากหลักฐานในคัมภีร์อัลกุรอาน และทัศนะที่มีเหตุผลของท่านหญิงอาอิชะฮฺในเรื่องที่ขัดแย้งกันนั้นก็วางอยู่บนพื้นฐานของอัลกุรอานทั้งสิ้น


          ในเรื่องของความเฉลียวฉลาดและการตัดสินที่ดีของท่านหญิงอาอิชะฮฺนั้น นาเบีย แอบบอท (Miss Nabia Abbot) นักเขียนชาวอเมริกันและอาจารย์ในมหาวิทยาลัยชิคาโกได้กล่าวว่า

           "อาอิชะฮ์ มีความเท่าเทียมกับนักกฎหมายและนักบันทึกฮะดีษคนสำคัญๆในยุคของนางอย่างเช่น อบูฮุรอยเราะห์ อิบนุอุมัร และอิบนุอับบาส ความจำของนางเป็นเลิศ  ทำให้สามารถท่องจำฮะดีษได้นับพันตอน และในฐานะที่เป็นภรรยาของท่านนบี   นางได้รับอภิสิทธิ์ได้อยู่ใกล้ชิดกับสามีผู้สูงส่งของนาง ดังนั้นความรู้ของนางเกี่ยวกับแบบอย่างคำสอนของท่านนบี  และความหมายของกุรอานจึงดีกว่าคนอื่น และนางเป็นผู้บุกเบิกในงานศิลปะของการสร้างระบบประสานกุรอานและแบบอย่างคำสอนของท่านนบีเข้าด้วยกัน"

 

ความรอบรู้ในศาสตร์แขนงอื่น


          นอกจากความรู้ในเรื่องของอัลกุรอาน อัลฮะดีษ หลักการศาสนา และการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องยากๆ ของศาสนา อาทิเช่น ลำดับของการประทานอัลกุรอาน เหตุผลของความสำเร็จของภารกิจอิสลามในมะดีนะห์ การอาบน้ำในวันศุกร์ เหตุผลสำหรับการนมาซย่อในขณะเดินทาง เหตุผลของการถือศีลอดในวันที่ 10 ของเดือนมุฮัรรอม ความสำคัญของฮัจย์และความหมายของการฮิจเราะห์แล้ว

ท่านหญิงอาอิชะฮฺยังมีความรอบรู้ในศาสตร์แขนงอื่น เช่น การแพทย์ ประวัติศาสตร์อาหรับ บทกวี วรรณกรรม ชนิดที่ยากจะหาผู้ใดมาเทียบได้


ด้านการแพทย์:

          เมื่อมีคนถามท่านหญิงอาอิชะฮฺด้วยความฉงนว่า ท่านหญิงมีความรู้ในเรื่องวิชาการแพทย์มาจากไหน นางตอบว่า

 “แท้จริงท่านนบี เจ็บไข้บ่อยมาก ดังนั้นจึงมีบรรดาแพทย์ที่เป็นชาวอาหรับและมิใช่อาหรับมารักษาท่าน ฉันก็ได้เรียนรู้จากพวกเขาเหล่านั้นและจดจำไว้”

(บันทึกโดยอัลฮากิม)

นอกจากนี้ท่านหญิงอาอิชะฮ์ยังได้กล่าวถึงฮะดีษของท่านนบีว่า

“การปรุงแป้งผสมนมหรือน้ำผึ้งนั้น เป็นสิ่งที่บรรเทาทุกข์แก่ผู้ป่วย สามารถลดความเศร้าโศกได้”

(บันทึกโดยมุสลิม)


ด้านประวัติศาสตร์:

          ท่านหญิงอาอิชะฮ์สามารถลำดับเหตุการณ์ของอาหรับก่อนหน้าอิสลาม วัฒนธรรม ประเพณี และการปฏิบัติของชาวอาหรับโบราณ รวมทั้งการสืบเชื้อสายของบรรพบุรุษอาหรับ เหตุการณ์สำคัญๆในยุคอิสลามก็ได้ผ่านการบอกเล่าจากท่านหญิงอาอิชะฮ์ไว้มากมาย เช่น

          ลักษณะเริ่มต้นของการได้รับวะฮีย์ เหตุการณ์ต่างๆที่เกี่ยวกับการฮิจเราะฮฺ  กรณีที่นางถูกปรักปรำ การประทานอัลกุรอานและการจัดเรียงลำดับ คำอ่านในการวิงวอนขอพร เรื่องการสิ้นชีวิตของท่านนนบี  การบอกเล่าเรื่องสงครามบะดัรฺ สงครามอุฮุด สงครามคอนดัก สงครามบนีกุรอยเซาะฮฺ ก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ นอกจากนี้แล้ว นางยังได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการให้สัตย์ปฏิญาณจงรักภักดีของผู้หญิงในตอนที่มักกะฮฺถูกปิดล้อม เหตุการณ์สำคัญในการทำฮัจย์ครั้งสุดท้ายของท่านนบี  ลักษณะและนิสัยของท่าน เรื่องราวต่างๆในสมัยการปกครองของคอลีฟะห์ และเรื่องอื่นๆ ที่ตกทอดมาถึงเราในปัจจุบันด้วย


ด้านวรรณกรรม:

          สำหรับเรื่องความรู้ทางด้านวรรณกรรมนั้น ท่านหญิงอาอิชะฮ์ เป็นผู้ที่พูดจาไพเราะและพูดเก่ง  มูซา บิน ฏอลละห์ กล่าวว่า

 “ฉันไม่เคยเห็นใครที่พูดจาคล่องแคล่วมากไปกว่าอาอิชะฮฺเลย”

(บันทึกโดยฮากิม)

          ในด้านสำนวนโวหาร ถัดจากอุมัรและอาลีแล้ว ท่านหญิงอาอิชะฮ์ก็ไม่มีใครเป็นคู่แข่ง เพราะคำพูดของนางนั้นดีเยี่ยม ไม่มีใครเหมือนและมีพลังปลุกเร้า แม้ว่าท่านหญิงอาอิชะฮฺจะไม่ใช่นักกวี แต่นางก็มีรสนิยมในบทกวี

          ครั้งหนึ่งฮัซซาน บินซาบิต กวีผู้มีชื่อเสียงในยุคนั้นได้เคยมาหานาง เพื่อให้อ่านสิ่งที่เขาได้แต่งมาในหนังสือ “อะดะบุลมุฟรอด” อิมามบุคอรีย์กล่าวว่า ท่านหญิงอาอิชะฮฺสามารถท่องจำคำกลอนที่แต่ง โดย กะอับ บินมาลิก ได้ทั้งหมดไม่น้อยกว่า 40 บท นอกจากนั้นแล้ว นางยังสามารถท่องจำบทกวีทั้งก่อนหน้าอิสลามและในยุคอิสลาม และได้เคยอ่านในบางโอกาส ซึ่งเรื่องนี้มีกล่าวอยู่ในหลายฮะดีษ

           ท่านหญิงอาอิชะฮฺไม่เพียงแต่จะมีความรู้เป็นอย่างดีในความรู้สาขาต่างๆเท่านั้น แต่เนื่องจากท่านหญิงอาอิชะฮฺมีชีวิตอยู่อีกนานหลายปีภายหลังจากที่ท่านนบี  เสียชีวิต ดังนั้น นางจึงเป็นบรมครูผู้เชี่ยวชาญและได้ช่วยสอนเหล่าบรรดาศานุศิษย์อีกมากมายให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องเหล่านี้ด้วย ซึ่งในจำนวนนี้ก็มี อุรวะฮฺ บินซุเบร, กอซิม บินมุฮัมหมัด, อบูซัลมา บินอับดุรเราะห์มาน, มัสรูก อุมรอ, เศาะฟียะห์ บินติวัยบะฮฺ, อาอิชะฮฺ บินติ ฏอลละห์ และมุอะวา อัดวียะห์ เป็นต้น