ท่านหญิงอาอิชะฮ์ มารดาของบรรดาผู้ศรัทธา
โดย...One Muslimah.
คำนำ
ท่านหญิงอาอิชะฮฺ ผู้ได้รับฉายานามว่าเป็น“มารดาแห่งศรัทธาชน” สตรีผู้เป็นภรรยาทีรักยิงของท่านนบีมุฮัมหมัด ในโลกนี้และเป็นผู้ที่ท่านนบี รับรองว่าเป็นภริยาของท่านในสรวงสวรรค์
อาอิชะฮ์เป็นบุตรีของอบูบักร อัศศิดดิก ซึงเป็นสหายสนิทของท่านนบีมุฮัมหมัด และเป็นชายคนแรกที่เข้ารับอิสลาม อาอิชะฮ์เป็นสตรีที่มีความประเสริฐเหนือบรรดาสตรีทั้งหลาย โดยท่านนบีได้กล่าวถึงความประเสริฐของท่านหญิงอาอิชะฮ์ว่า
“ความเลอเลิศของอาอิชะฮ์ที่เหนือกว่าสตรีทั้งหลายนั้น เหมือนกับความเลอเลิศของษะรีด (อาหารชนิดหนึ่ง)ที่เหนืออาหารอื่นๆ”
(รายงานโดยบุคอรีย์)
เนื่องจากท่านหญิงอาอิชะฮฺเป็นอัจฉริยสตรีที่มีความเฉลียวฉลาด มีความคิดหลักแหลม มีปฏิภาณไหวพริบ มีวาทศิลป์ พูดจาไพเราะอ่อนหวาน และเป็นผู้ที่เพียบพร้อมไปด้วยคุณธรรม จริยธรรม มีความรอบรู้ในศาสตร์ต่างๆ ทั้งวิชาอัลกุรอาน อรรถาธิบายอัลกุรอาน อัลฮะดีษ ศาสนบัญญัติ นิติศาสตร์ บทกวี การแพทย์ ประวัติศาสตร์อาหรับ และการสืบเชื้อสายวงศ์ตระกูล
ท่านหญิงอาอิชะฮ์เป็นผู้ที่มีความจำยอดเยี่ยม เป็นผู้รู้คนสำคัญและเป็นนักรายงานฮะดีษซึ่งจัดอยู่ในลำดับต้นๆ ของบรรดานักรายงานฮะดิษทั้งหมด โดยได้รายงานฮะดีษมากถึง 2,210 ฮะดีษ นอกจากนี้ในบรรดาภรรยาทั้งหลายของท่านนบี อาอิชะฮ์เป็นภรรยาที่ท่านนบี รักมากที่สุด เพราะอาอิชะฮ์มีความพิเศษหลายประการ และทำหน้าที่ในฐานะภรรยาได้อย่างดีเยี่ยมในการสร้างความสุขให้กับชีวิตของท่านนบี
จากการที่ได้ใช้ชีวิตอยู่กับท่านนบี อย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเยาว์ ท่านหญิงอาอิชะฮ์จึงได้รับคำแนะนำ คำสั่งสอนและความรู้อย่างมากมาย ทั้งในด้านชีวิตความเป็นอยู่และด้านศาสนา รวมทั้งบทบาทและหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่ออัลลอฮฺ ต่อตนเอง ต่อครอบครัว และต่อสังคม จนกลายเป็นผู้ที่มีความรู้อย่างกว้างขวาง และเป็นแบบอย่างที่ดีที่สุดแก่บรรดาสตรีผู้ศรัทธา ยากที่จะหาสตรีใดบนโลกนี้เทียบเคียงได้
ประวัติชีวิตของท่านหญิงอาอิขะฮ์ (เกิด – ตระกูล – การเติบโต)
1. การกำเนิด
ไม่มีหนังสือประวัติศาสตร์และชีวประวัติเล่มใดที่กล่าวถึงหรือยืนยันถึงวันเกิดที่แท้จริง ดังนั้นประเด็นเรื่องอายุของท่านหญิงอาอิชะฮ์ จึงยังคงเป็นประเด็นที่ขัดแย้งกันอยู่ เนื่องด้วยในยุคสมัยนั้นยังไม่มีระบบการจดทะเบียนการเกิด การตาย หรือการบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เกิดขึ้น รวมทั้งไม่มีปฏิทินหรือระบบการนับวันที่เที่ยงตรง ดังนั้น บันทึกเหตุการณ์ทั้งหลายได้ถูกเก็บรักษาไว้ด้วยความจำ ซึ่งอาจจะเกิดความคลาดเคลื่อนได้ กอปรกับความต้องการบิดเบือนความจริงโดยพวกตลบตะแลงและศัตรู (เอส เอ็ม มะดานี อับบาซี)
2. วงศ์ตระกูล
ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เป็นบุตรีของอบูบักร อัศศิดดิก กับนางอุมมุรูมาน เมื่อสืบเชื้อสายย้อนขึ้นไป ท่านหญิงเป็นชาวกุเรชตระกูลตัยมียะห์จากทางด้านพ่อ และตระกูลกินานียะห์จากทางด้านแม่ดังนี้ (Ibn Sa’d, 1410/1990: 8: 46)
ตระกูลฝ่ายบิดา: อาอิชะฮฺ บินตุ อับดุลลฮฺ (อบูบักร) อิบนุ อุษมาน (อบูกุฮาฟะห์) อิบนุ อามิร อิบนุ อัมรฺ อิบนุ กะอฺ อิบนุ สะอดฺ อิบนุ ตัยมฺ อิบนุ มุรเราะฮฺ อิบนุ กะอบฺ อิบนุ ลุอัย
ตระกูลฝ่ายมารดา: อาอิชะฮฺ บินตุ อุมมุรูมาน (ซัยนับ หรือ ดะอดฺ) บินตุ อุมัยรฺ อิบนุ อามิรอิบนุ อุวัยมิรฺ อิบนุ ดะฮฺมาน อิบนุ อัลหาริษ อิบนุ ฆอนฺม อิบนุ มาลิก อิบนุ กินานะฮฺ
อัฏเฏาะบะรี (Al-Tabari, 1407/1987: 2: 497-551) ได้รายงานว่า ตระกูลของท่านหญิง ทางฝ่ายบิดาได้บรรจบกับตระกูลของท่านรอซูล ที่มุรเราะฮฺ อิบนุ กะฮฺ อิบนุ ลุอัย
พี่น้องร่วมบิดา: ท่านหญิงฯมีพี่น้องร่วมบิดาทั้งหมด (รวมท่านหญิงด้วย) 6 คน ได้แก่ อับดุลลอฮฺ อัสมาอฺ อับดุรเราะฮฺมาน ท่านหญิงอาอิชะฮฺ มุฮัมหมัด และอุมมุกัลษูม
ครอบครัวของท่านหญิงฯเป็นครอบครัวที่รํ่ารวย และเป็นครอบครัวแรกที่ได้รับแสงสว่างแห่งอิสลาม
3. ชื่อและฉายานาม
ชื่อจริง: คือ อาอิชะฮ์ ซึ่งหมายถึง ผู้มีชีวิตชีวา หรือ ผู้ขายขนมปัง โดยคำว่า “อาอิชะฮฺ” มาจากคำว่า “อาอิช” ซึ่งหมายถึง “ขนมปัง” หรือ “การมีชีวิต” และท่านนบี เคยเรียกเธอว่า “อาอิช” เมื่อครั้งที่ญิบรีลได้ส่งคำกล่าว สลาม มาถึงเธอ
ชื่อเล่นและฉายานาม: ชื่อเล่นหรือฉายานามของท่านหญิงฯนั้น มีมากมาย อาทิเช่น
“บินตุ อบีบักร” หมายถึง บุตรีของท่านอบูบักร
“บินตุ อัศศิดดิก” หมายถึง บุตรีของชายผู้ซื่อสัตย์ หรือ “อัศศิดดีเกาะฮฺ บินตุ อัศศิดดิก”หมายถึง หญิงผู้ซื่อสัตย์บุตรีของชายผู้ซื่อสัตย์
“มุวัฟฟะเกาะฮฺ” หมายถึง ผู้หญิงที่ได้รับความสำเร็จ
“สุมัยรอฮฺ” หมายถึง หญิงผู้มีแก้มแดงอมชมพู
“อัลมุบัรเราะฮฺ” หมายถึง หญิงผู้ได้รับการยืนยันความบริสุทธิ์จากฟากฟ้ า
“ฮะบีบัต รอซูลุลลอฮฺ” หรือ “ฮะบีบัตฺ ฮะบีบิลลาฮฺ” หมายถึง หญิงที่รักของท่านรอซูล หรือหญิงที่รักของผู้เป็นที่รักของอัลลอฮฺ
“ฮุมัยเราะฮฺ” หมายถึง หญิงผู้มีผมแดง เพราะคำว่า “อัล-ฮัมรอ” ในภาษาของชาวฮิญาซ หมายถึง ผมสีแดงสลวยและสวยงาม ซึ่งไม่ค่อยมีปรากฏในหมู่พวกเขา และท่านนบี ได้บอกผู้คนให้เอาศาสนาจาก “หญิงผมแดงคนนี้”
4. ชีวิตในวัยเด็กและการเติบโต
ท่านหญิงอาอิชะฮฺเป็นเด็กที่ชอบเล่นสนุกสนาน ชอบมีการเคลื่อนไหว มีความคิดเป็นผู้ใหญ่ เป็นเด็กที่บริสุทธิ์ แต่แฝงด้วยความฉลาดหลักแหลม มีความกระฉับกระเฉงว่องไว และมีความจำที่ดีเลิศ ท่านเติบโตมาในครอบครัวที่อบอุ่นและอิ่มเอิบไปด้วยสัจธรรมแห่งอิสลามอย่างแท้จริง เพราะพ่อของท่านเป็นสหายสนิทของท่านนบี ซึ่งท่านนบี จะมาเยี่ยมเยียนบ้านสหายสนิทเป็นประจำสม่ำเสมอ ท่านนบี และอบูบักจะนั่ง คุยถึงแผนงานต่างๆที่ได้กำหนดไว้ เป็นเวลาหลายชั่วโมง โดยมีท่านหญิงอาอิชะฮ์นั่งเล่นอยู่ใกล้ๆ
จากการสังเกต และความจำอันหลักแหลม ท่านสามารถจดจำและเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านนบี และพ่อกับแม่ได้แสดงออกเป็นแบบอย่าง ทั้งด้านกิริยาท่าทาง คำพูด การปฏิบัติ หลักธรรมคำสอน ตลอดจนหลักปฏิบัติของศาสนาอิสลาม กอปรกับการถูกอบรมเลี้ยงดูในบรรยากาศที่เป็นมุสลิม และได้รับการฝึกฝนอบรมให้เป็นลูกทีกตัญญูต่อบิดามารดา เป็นผู้โอบอ้อมอารีย์ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อดทน ยืนหยัดอย่างมั่นคงในการต่อสู้เพื่อสัจธรรม จึงทำให้ท่านมีความเลื่อมใสศรัทธาต่อศาสนาอิสลามด้วยหัวใจที่บริสุทธิ์และกระตือรือร้นมาตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเยาว์
นอกจากนี้ท่านหญิงอาอิชะฮ์จะมีลักษณะเด่นบางประการที่ฉายแววและแสดงถึงความพิเศษนั้นออกมาตั้งแต่วัยเด็ก เช่น ท่านมีความรู้สึกถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ แสดงออกถึงการมีมารยาทที่ดีและให้ความเคารพผู้อาวุโส
ท่านหญิงอาอิชะฮ์ชอบเล่นตุ๊กตาและชิงช้า ครั้งหนึ่งขณะที่กำลังเล่นตุ๊กตาอยู่นั้นท่านนบี ได้เดินผ่านมา และสังเกตเห็นของเล่นชิ้นหนึ่งเป็นตุ๊กตาม้ามีปีก
ท่านนบี จึงถามว่า “อาอิชะฮ์ อะไรจ๊ะนี่ ? ม้ามีปีกด้วยหรือ ?”
ท่านหญิงอาอิชะฮ์ได้ตอบทันทีว่า “ทำไมจะไม่มีละค่ะ? ก็ม้าของนบีสุลัยมานยังมีปีกเลย”
ท่านนบี รู้สึกขำและยิ้มให้กับคำตอบอันฉับพลัน ซึ่งคำตอบนี้แสดงให้เห็นถึงสติปัญญา สัญชาตญาณ และความรู้ในเรื่องศาสนาของท่านในขณะทียังอยู่ในวัยเยาว์
สำหรับรูปร่างลักษณะและบุคลิกของท่านหญิงอาอิชะฮฺนั้น ในขณะที่อยู่ในวัยเด็ก ท่านมีลักษณะผอมบาง แต่เมื่ออย่างเข้าสู่วัยดรุณ ท่านเป็นผู้หญิงที่มีรูปร่างหน้าตาอิ่มเอิบ ใบหน้างดงามผุดผ่อง สูงปานกลาง ผิวสีขาวอมชมพู เป็นคนที่พูดจาไพเราะฉาดฉาน มีความเฉลียวฉลาดอาจหาญ ชอบความสวยงามและของหอม
5. การแต่งงาน
ก่อนที่ท่านนบีจะได้แต่งงานกับท่านหญิงอาอิชะฮฺนั้น ท่านนบี ได้ฝันเห็นอาอิชะฮ์เป็นเวลาสามคืนติดต่อกันโดยท่านญิบรีลได้นำรูปอาอิชะฮ์ห่อด้วยผ้าไหมมาให้ท่านนบี แล้วกล่าวแก่ท่านนบีว่า นี่คือ ภริยาของท่าน เมื่อท่านนบี เปิดดู ก็พบว่าเป็นอาอิชะฮ์
ท่านนบี จึงกล่าวว่า " หากเป็นพระประสงค์ของเอกองค์อัลลอฮฺ มันก็จะบังเกิดขึ้นตามพระประสงค์ของพระองค์ "
(บันทึกโดยบุคอรีและมุสลิม)
เป็นที่เชื่อกันโดยทั่วไปว่า ท่านหญิงอาอิชะฮ์ได้แต่งงานกับท่านนบี เมื่อเธออายุได้ 6 หรือ 7 ขวบและในตอนที่ท่านอายุได้ 9 หรือ 10 ขวบ อาอิชะฮ์ได้ถูกส่งไปอยู่กับท่านนบี ซึ่งเป็นสามีของนาง
ในเรื่องของอายุนั้น ได้เกริ่นนำไว้ในหัวข้อวันเกิดแล้วว่า ไม่มีหนังสือประวัติศาสตร์และชีวประวัติเล่มใดที่กล่าวถึงหรือยืนยันถึงวันเกิดที่แท้จริงของท่านหญิงอาอิชะฮ์ ดังนั้นในเรื่องอายุของท่านหญิงอาอิชะฮ์ ช่วงแต่งงานกับท่านนบี จึงมีประเด็นสำคัญที่สมควรจะต้องได้รับการพิจารณา ดังต่อไปนี้ (เอส เอ็ม มะดานี อับบาซี)
1) อิหม่ามบุคอรีย์ รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺว่า เมื่อซูเราะห์ อัลเกาะมัร ถูกประทานมาท่านได้โตแล้วและยังจำบางอายะห์ที่ได้ยินมาจากพ่อแม่ของนางได้ อายะห์นี้ถูกประทานมาในปีที่ 5 ของการประกาศอิสลาม ดังนั้น นางน่าจะมีอายุอย่างน้อยที่สุด 4 ขวบ นั่นหมายความว่า นางเกิดในปีแรกหรือปีที่สองของการที่ท่านนบี ประกาศอิสลาม ดังนั้น ท่านหญิงอาอิชะฮ์ จะต้องมีอายุระหว่าง 9 หรือ 10 ขวบ เมื่อนางแต่งงาน
2) ท่านหญิงฟาติมะห์ลูกสาวของท่านนบี มีอายุมากกว่าท่านหญิงอาอิชะห์ 5 ปี ท่านหญิงฟาติมะห์เกิดก่อนที่พ่อของนางจะประกาศอิสลาม 5 ปี ในขณะที่กำลังมีการบูรณะซ่อมแซมกะบะฮฺ ดังนั้น วันเกิดของท่านหญิงอาอิชะฮฺก็น่าจะเป็นปีเดียวกับปีที่มุฮัมมัดได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนบี และได้แต่งงาน ขณะที่มีอายุได้ 10 ขวบ ในปีที่ 10 ของการเป็นนบี จากนั้นท่านหญิงอาอิชะฮ์ได้ถูกส่งไปอยู่กับท่านนบี หลังจากนั้นอีก 5 ปี ดังนั้น นางจะต้องมีอายุได้ 14-15 ปี เมื่อไปเป็นภรรยาของท่านนบี โดยพฤตินัย
3) เป็นที่เห็นพ้องกันโดยทั่วไปว่าตอนที่มีการอพยพนั้น อัสมา พี่สาวของอาอิชะฮ์ อายุได้ 27 ปี และเป็นที่เห็นพ้องต้องกันว่าท่านหญิงอาอิชะฮ์อายุน้อยกว่าอัสมา 10 ปี (บิดดายะตุนนิฮายะฮฺเล่ม 8 หน้า 446 อ้างโดยเมาลานา ตะมันนาอิมาดี ในนิการ์ ปากีสถาน, พฤศจิกายน 1964) ดังนั้น อายุของอาอิชะฮ์ในตอนที่มีการอพยพจึงน่าจะเป็นช่วงระยะ 17 ปี
4) เป็นที่เห็นพ้องต้องกันว่าการแต่งงานของท่านหญิงอาอิชะฮฺมีขึ้นในปีเดียวกับที่ท่านนบี ได้อพยพไปยังมะดีนะห์ ดังนั้น อายุนางในตอนนั้นจึงไม่น่าจะน้อยกว่า 17 ปี ท่านหญิงอาอิชะฮฺได้แต่งงานกับท่านนบี ในเดือนเชาวาลของปีที่ 10 แห่งการเป็นนบี ด้วยมะฮัร 500 ดิรฮัม การแต่งงานครั้งนี้เป็นแบบอย่างของความเรียบง่าย โดยอบูบักร ผู้เป็นพ่อได้ประกอบพิธีแต่งงานให้ หลังจากแต่งงานกับท่านนบี แล้ว นางยังมิได้ถูกส่งตัวไปอยู่กับท่านนบี จนกระทั่งท่านนบี และครอบครัวของท่านหญิงอาอิชะฮ์ได้อพยพไปยังมะดีนะห์
เมื่อมาถึงมะดีนะห์ นางได้ล้มป่วยลง แต่หลังจากที่หายป่วยแล้ว อุมมุรูมานแม่ของนางก็คิดถึงเรื่องการส่งตัวให้แก่ท่านนบี เมื่ออาอิชะฮ์อายุได้ 9 ขวบ (ขณะทีบางคนกล่าวว่าธออายุ 16-17 ปี ) และกำลังเล่นอยู่กับเพื่อนๆ แม่ของนางได้ให้คนไปตามอาอิชะฮ์มา และพานางเข้าไปในบ้านที่มีผู้หญิงชาวอันซอ รออยู่หลายคน เมื่อพวกผู้หญิงชาวอันซอรเห็นนางมาก็แสดงความยินดีกับอาอิชะฮ์ และหลังจากนั้น ท่านนบี ก็มาถึงที่นั่น ซึ่งการส่งตัวครั้งนี้มีขึ้นในเดือนเชาวาลเช่นกัน
ทั้งการแต่งงานและการทำพิธีส่งตัวของท่านหญิงอาอิชะฮ์นั้น ได้ถูกจัดขึ้นในเดือนเชาวาล ซึ่งเป็นการทำลายความเชื่อในเรื่องโชคลาง ไสยศาสตร์ของพวกอาหรับที่เชื่อว่าเดือนเชาวาล เป็นเดือนที่ไม่มีมงคล เนื่องจากสมัยก่อนหน้าอิสลามได้เกิดโรคระบาดขึ้นในเดือนนี้ รวมทั้งความเชื่อเดิมของชาวอาหรับที่จะไม่แต่งงานลูกสาวของตัวเองกับพี่ชาย น้องชายที่เป็นบุตรบุญธรรม ดังนั้น เมื่อตอนที่ท่านนบี ได้ทาบทามท่านหญิงอาอิชะฮ์ซึ่งเป็นลูกสาวของท่านอบูบักร
ท่านอบูบักร จึงได้กล่าวว่า เนื่องจากท่านนบีเป็นพี่น้องร่วมศรัทธาของฉัน การแต่งงานจะทำได้อย่างไร
แต่ท่านนบี ได้บอกกับท่านอบูบักรว่า ท่านเป็นแค่เพียงพี่น้องร่วมศรัทธาของฉันเท่านั้น จึงไม่มีข้อห้ามแต่ประการใดที่จะแต่งงานท่านหญิงอาอิชะฮ์ให้กับท่านนบี
ดังนั้น ทั้งการแต่งงานและพิธีการส่งตัวของท่านหญิงอาอิชะฮ์จึงเกิดขึ้นในเดือนเชาวาล