การเคลื่อนไหวขณะทำการละหมาด (1)
  จำนวนคนเข้าชม  8699

 

การเคลื่อนไหวขณะทำการละหมาด (1)


คำถาม

           มีบางคนที่เคลื่อนไหวอวัยวะร่างกาย ในขณะการทำละหมาด เช่นทำการจัดเสื้อผ้า ทำความสะอาดเล็บมือ หรือมองดูนาฬิกาข้อมือ โดยเฉพาะในเวลาที่อิหม่ามทำการนำละหมาดอยู่ ซึ่งการกระทำเหล่านี้นำไปสู่การรบกวนผู้อื่น จึงขอทราบเงื่อนไขในการเคลื่อนไหวร่างกายขณะปฏิบัติละหมาด


บรรดาการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์แด่ อัลลอฮฺ


คำตอบ

          ท่านเชค อิบนฺ อุตรัยมีน (ขออัลลอฮฺ ทรงประทานความเมตตาแด่ท่านด้วย) ได้กล่าวถึงการเคลื่อนไหวร่างกายขณะทำการละหมาดว่า “เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ยกเว้นว่ามีเหตุผลในการเคลื่อนไหวร่างกาย” ซึ่งท่านได้แบ่งประเภทของการเคลื่อนไหวร่างกายขณะทำการละหมาดเป็น 5 ประเภทดังนี้

1.จำเป็นต้องทำการเคลื่อนไหว

2.ห้ามไม่ให้มีการเคลื่อนไหว

3.ไม่เหมาะสมที่จะมีการเคลื่อนไหว

4.สนับสนุนให้มีการเคลื่อนไหว

5.อนุญาตให้ทำการเคลื่อนไหวได้


         สำหรับการเคลื่อนไหวประเภทที่ 1 คือจำเป็นต้องมีการเคลื่อนไหวนั้น จะขึ้นอยู่กับเหตุผลความจำเป็นของแต่ละคน เช่นถ้าผู้ละหมาดมีความรู้สึกว่า มีสิ่งสกปรกติดอยู่บนผ้าโพกศรีษะ และเขาจำเป็นจะต้องถอดผ้าโพศรีษะออก เพื่อทำการกำจัดสิ่งสกปรกนั้นเสีย นั่นคือ เขาต้องทำการเคลื่อนไหวในขณะละหมาด คือการถอดผ้าโพกศรีษะออก

         ดังเช่นที่ท่านนบี ได้ทำการเคลื่อนไหวขณะทำการละหมาดขณะนำประชาชนอยู่ เนื่องจากญิบรีล ได้มายังท่านนบี และได้กล่าวแก่ท่านว่า มีสิ่งสกปรกติดอยู่บนรองเท้าของท่าน จากนั้น ท่านนบี จึงได้ถอดรองเท้าออกขณะที่ท่านยังละหมาดอยู่ และได้ทำการละหมาดต่อไป

 (รายงานโดย อะบูดาวูด 650 จัดเป็นซอเฮี้ยะ โดยอัล-อัลบานี ใน al-Irwa 284)

หรือในกรณีที่ท่านกำลังทำการละหมาดอยู่ แล้วมีคนมาบอกว่าท่านไม่ได้หันหน้าไปยังกิบลัต ในกรณีนี้ท่านจำเป็นจะต้องเคลื่อนไหว เพื่อเปลี่ยนตำแหน่งไปยังทางกิบลัต


          สำหรับการเคลื่อนไหวประเภทที่ 2 คือ ห้ามไม่ให้มีการเคลื่อนไหว ในกรณีนี้คือ มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีเหตุผล ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่มีความจำเป็นต่อผู้ละหมาด และเมื่อเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่มีเหตุจำเป็นแล้ว การเคลื่อนไหวดังกล่าวจึงไม่เป็นที่อนุมัติต่อผู้ละหมาด เพราะเป็นการแสดงถึงการไม่ให้เกียรติต่อคำสั่งใช้ของพระเจ้า


          ส่วนการเคลื่อนไหวที่สนับสนุนให้ทำในขณะละหมาด ตัวอย่างเช่น การจัดแถวให้ตรง หรือการเดินขึ้นไปปิดช่องว่างระหว่างผู้ทำละหมาดในแถวหน้า หรือการขยับเดินปิดช่องว่างในแถวละหมาดของตน ซึ่งการเคลื่อนที่ ที่สนับสนุนให้ทำในระหว่างการละหมาดนั้น เป็นการเคลื่อนที่เพื่อทำให้การละหมาดสมบูรณ์และเรียบร้อยขึ้น

         ซึ่งในสมัยของท่านนบี นั้น เมื่อท่านอิบนฺ อับบาส (ขออัลลอฮฺ ทรงประทานความเมตตาแด่ท่านด้วย) ได้ทำการละหมาดร่วมกับท่านนบี และได้ยืนอยู่ทางซ้ายมือของท่าน ท่านนบีจึงได้จับศรีษะของอิบนฺ อับบาส จากทางด้านหลังของท่านนบี ให้ย้ายมายืนละหมาดทางด้านขวาของท่านนบี


          ส่วนการละหมาดที่อนุญาตให้มีการเคลื่อนไหวร่างกายได้นั้น จะหมายถึงการเคลื่อนไหวร่างกายเพียงเล็กน้อย เมื่อมีเหตุผลที่เหมาะสม และหมายถึงการเคลื่อนที่มากเมื่อมีความจำเป็น ซึ่งตัวอย่างของการเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อย

          ตัวอย่างเช่นการเคลื่อนไหวของท่านนบี ในขณะที่ท่านยืนละหมาดอยู่ ท่านได้ทำการอุ้มท่านหญิงอุมามะฮฺ หลานสาวของท่านซึ่งเป็นลูกของท่านหญิงซัยหนับ ซึ่งเป็นบุตรสาวของท่าน และได้วางท่านหญิงลงเมื่อท่านจะทำ การสุญูด

 (อัล-บุคอรี 5996 มุสลิม 543)

 และการเคลื่อนไหวที่มากในขณะละหมาดนั้น จะเป็นไปตามอายะฮฺของ อัลกุรอ่านในซูเราะฮฺ อัล-บากอเราะฮฺ ดังนี้

“พวกเจ้าจงรักษาบรรดาละหมาดไว้ และละหมาดที่อยู่กึ่งกลาง และจงยืนละหมาดเพื่ออัลลอฮฺ โดยนอบน้อม

(ซูเราะฮฺ อัล-บากอเราะฮฺ 2:238)

 

“ถ้าพวกเจ้ากลัว ก็จงละหมาดพลางเดินหรือขี่ ครั้นเมื่อพวกเจ้าปลอดภัยแล้ว ก็จงกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺ

 ดังที่พระองค์ได้ทรงสอนพวกเจ้าซึ่งสิ่งที่พวกเจ้ามิเคยรู้มาก่อน”

(ซูเราะฮฺ อัล-บากอเราะฮฺ 2:239)

 

 

ที่มา http://www.islamqa.com

แปลและเรียบเรียงโดย นูรุ้ลนิซาอฺ