การให้ชีวิตและการกตัญญูรู้คุณ
อับดุลเราะมัน เจะอารง
พระองค์อัลลอฮ์ ทรงสร้างมนุษย์คนแรกบนพื้นโลกนี้จากธาตุดิน ดังที่พระองค์ได้ตรัสไว้ในหลายที่ในอัลกุรอาน เช่น ในอายะฮ์ความว่า
منْها خلقْناكُم وفيها نعيدُكُم ثمَّ نُخرِجُكُم تارةً أُخْرى (طه/55)
“และจากธาตุดิน(ในแผ่นดิน) เราได้บังเกิดพวกเจ้า และในแผ่นดินนั้นเราให้พวกเจ้ากลับคืนไป และจากแผ่นดินนั้นเราให้พวกเจ้ากลับออกมาอีกครั้งหนึ่ง”
และในอายะฮ์ที่ความว่า
فَاسْتفْتِهِمْ أهُمْ أَشَدُ خلْقاً أمْ مَن خلَقْنا إنَا خلَقْناهُم مِن طِينٍ لازِبٍ بلْ عَجِبْتَ ويَسْخَرون وإذا ذكِّروا لا يذْكُرون (الصافات/11-13)
“(โอ้มุหัมมัด) เจ้าจงถามพวกเขา(บรรดาผู้ปฏิเสธการฟื้นคืนชีพ) ซิว่า พวกเขามีความแข็งแกร่งยิ่งในสิ่งที่ถูกสร้างมากระนั้นหรือ
หรือว่าสิ่งที่เราได้สร้างมันมา (แข็งแกร่งยิ่งกว่า) แท้จริง เราได้สร้างพวกเขาจากดินเหนียว
แต่เจ้าคงแปลกใจ ขณะที่พวกเขาเยาะเย้ย และเมื่อพวกเขาถูกเตือนให้รำลึก พวกเขาก็จะไม่ยอมรับข้อตักเตือน”
พระองค์ทรงสร้างฮาวาอ์(อีฟ)จากกระดูกซี่โครงของอาดัม แล้วพระองค์ทรงสร้างชาติพันธุ์ของมนุษย์จากหยดน้ำอสุจิที่พุ่งออกจากเพศชายและกระดูกหน้าอกของเพศหญิง พระองค์ได้ตรัสไว้ความว่า
فلْينظُرِ الإنْسانُ مِمَّ خُلِقَ خُلِقَ مِن ماءٍ دافقٍ يَخرُجُ مِن بينِ الصُلْبِ والتَرائِب (الطارق/5-7)
“ดังนั้น มนุษย์จงไตร่ตรองดูซิว่า เขาถูกบังเกิดมาจากอะไร เขาถูกบังเกิดจากน้ำอสุจิที่พุ่งออกมา
มันออกมาจากกระดูกสันหลัง(ของชาย) และกระดูกหน้าอก(ของหญิง)”
แล้วในวันที่ท่านเราะสูล ได้เข้าไปพิชิตนครมักกะฮ์ในปีที่ 8 หลังจากที่ท่านได้อพยพไปยังนครมะดีนะฮ์ ท่านได้ยืนยันการสร้างของพระองค์ในหะดีษบทหนึ่ง ท่านได้กล่าวไว้ว่า
يا ايُها النَاسُ ، إنَ الله قد أذهَبَ عنكم غُبَيَةَ الجاهلية وتَعَاظُمَها بِآبائِها ، فالنَّاسُ رَجُلانِ : برٌ تقِيٌ كريمٌ على الله ، وفاجِرٌ شقِيٌ هَيِنٌ على الله ، والناسُ بَنو آدمَ وخُلِقَ آدمُ من ترابٍ (رواه الترمدي/3270)
“โอ้มนุษย์ทั้งหลาย แท้จริงพระองค์อัลลอฮ์ได้ขจัดจากพวกเจ้าความรู้สึกโอ้อวดสมัยญาฮิลิยะฮ์และการโอ้อวดด้วยบรรพบุรุษ
มนุษย์นั้นมี 2 จำพวกคือ
1. จำพวกผู้ดีที่มีความยำเกรง มีเกียรติ ณ พระองค์อัลลอฮ์
2. จำพวกผู้เลวทราม ไม่มีความละอาย มารยาทต่ำช้า
มนุษย์นั้นลูกหลานของอาดัม และอาดัมนั้นถูกสร้างขึ้นมาจากดิน”
พระองค์อัลลอฮ์ ทรงทำให้มนุษย์ได้มองเห็น ฟังเสียงได้ยินและมีมันสมองที่สามารถคิด ไตร่ตรอง วิเคราะห์และตัดสินใจเองได้ พระองค์ได้ตรัสไว้ความว่า
وهُوَ الَّذي أنشَأَ لَكُمُ السَّمْعَ والأبْصارَ والأفْئِدةَ قليلاً ما تشْكُرُون (المؤمنون/78)
“และพระองค์เป็นผู้ทรงสร้างสัมผัสการฟังและการเห็นและหัวใจเพื่อเข้าใจแก่พวกเจ้า แต่เพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่พวกเจ้าขอบคุณ”
พระองค์ทรงแจ้งวัตถุประสงค์ของการให้ดวงตา ใบหูและหัวใจเพื่อจะได้แสดงความกตัญญูรู้คุณของผู้ให้ พระองค์ได้ตรัสไว้ความว่า
والله أخْرجَكم مِن بُطونِ أمَهاتِكم لا تعْلَمونَ شيئاً وجَعَلَ لكُمُ السَّمْعَ والأبْصارَ والأفْئدةَ لعَلَّكُمْ تَشْْكُرون (النحل/78)
“และอัลลอ์ทรงให้พวกเจ้าออกจากครรภ์มารดาของพวกเจ้า โดยพวกเจ้าไม่รู้อะไรเลย
พระองค์ทรงทำให้พวกเจ้าได้ยินและเห็นและมีหัวใจ(สำหรับนึกและคิด) เพื่อพวกเจ้าจักได้ขอบคุณ”
พระองค์ทรงกำหนดให้มนุษย์มีความรับผิดชอบในทุกสิ่งที่พระองค์ทรงมอบให้แก่มนุษย์ พระองค์ได้ตรัสไว้ความว่า
ولا تقْفُ وما ليسَ لكَ بِه علْمٌ إنَ السَّمْعَ والبَصَرَ والفؤادَ كلُ أولئِكَ كانَ عَنْه مَسْؤُولاً (الإسراء/36)
“และอย่าติดตามสิ่งที่เจ้าไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น แท้จริง หู ตาและหัวใจ ทุกสิ่งเหล่านั้นจะถูกสอบสวน”
มนุษย์มีพลังในการทำงาน มีสติปัญญาในการแก้ปัญหาของชีวิต พระองค์ได้ทดสอบความอดทนของมนุษย์ในการต่อสู้กับอารมณ์ของตนเองและสิ่งเย้ายวนทั้งหลาย ตั้งแต่มนุษย์รุ่นแรกจนถึงมนุษย์ในยุคปัจจุบัน และจะทดสอบมนุษย์ในยุคต่อไปจนถึงวันกิยามะฮ์ พระองค์ได้ตรัสไว้ความว่า
إنَا خلَقْنا الإنْسانَ مِن نطفةٍ أمْشَاحٍ نبْتَلِيهِ فَجَعَلْناه سَميعاً بَصيراً (الإنسان/2)
“แท้จริง เราได้สร้างมนุษย์จากน้ำเชื้อผสมหยดหนึ่ง เพื่อเราจะได้ทดสอบเขา ดังนั้น เราจึงทำให้เขาเป็นผู้ได้ยิน เป็นผู้ได้เห็น”
และในอีกตอนหนึ่งพระองค์ได้ตรัสไว้ความว่า
أحسِبَ الناسُ أن يقولوا آمَنَا وهُمْ لا يُفْتَنُون ولقد فتَنَّا الَّذينَ مِن قبلِهم فَلَيعْلَمَنَّ الله الَّذِيْنَ صَدَقوا ولَيعْلَمَنَّ الكَاذِبين (العنكبوت/2-3)
“มนุษย์คิดหรือว่า พวกเขาจะถูกทอดทิ้งเพียงแต่พวกเขากล่าวว่า พวกเราได้ศรัทธาแล้ว
และพวกเขาจะไม่ถูกทดสอบกระนั้นหรือ (เปล่าเลย) และโดยแน่นอน เราได้ทดสอบบรรดาก่อนหน้าพวกเขาแล้ว
ดังนั้นอัลลอฮ์จะทรงจำแนกให้รู้แจ้งถึงบรรดาผู้สัตย์จริง และทรงจำแนกให้รู้แจ้งถึงบรรดาผู้กล่าวเท็จ”
ขั้นสุดท้ายชีวิตของมนุษย์จะต้องรับผิดชอบในความโปรดปรานทุกอย่างที่พระองค์ทรงประทานให้ พระองได้ตรัสไว้ความว่า
ثمَ لتُسألُنَ يومَئِدٍ عَنَ النَّعِيم (التكاثر/5)
“แล้วในวันนั้น พวกเจ้าจะถูกสอบถามเกี่ยวกับความโปรดปรานที่ได้รับ(ในโลกดุนยา)”
อวัยวะของมนุษย์ทุกส่วนยินดีที่จะให้ความร่วมมือในการยอมรับความจริงทุกอย่างที่เคยกระทำมาต่อหน้าพระองค์อัลลอฮ์ คือลิ้น มือและเท้า พระองค์ได้ตรัสไว้ความว่า
يومَ تَشْهَدُ عليهِم أَلْسِنتُهُم وأَيْدِيْهِم وأرْجُلُهُم بِما كانُوا يعْمَلُون (النور/24)
“วัน(กิยามะฮ์) ที่ลิ้นของพวกเขา และมือของพวกเขาและเท้าของพวกเขา จะเป็นพยานยืนยันต่อพวกเขา ตามที่พวกเขาได้กระทำไว้”