การแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ขั้นพื้นฐาน
  จำนวนคนเข้าชม  54520

การแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ขั้นพื้นฐาน


อุมม์ รอชิด


          เราทุกคนต่างทราบกันดีถึงปัญหาชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้ที่อยู่นอกพื้นที่จะรับรู้ได้จากสื่อต่างๆ ที่ประโคมข่าวในแต่ละครั้งที่มีเหตุร้ายเกิดขึ้น ส่วนคนที่อยู่ภายในพื้นที่จะได้รับทราบจากสถานะการณ์ภายในที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และความขัดแย้งที่สะสมมากันอย่างช้านาน

          ทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนได้หามาตราการต่างๆมุ่งตรง เพื่อที่จะช่วยกันแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความสงบสุข ในจังหวัดชายแดนภาคใต้  และแนวทางการแก้ปัญหาอันหนึ่งที่ได้รับจากในหลวง คือ “เข้าใจ เข้าถึง และ พัฒนา” ซึ่งเป็นแนวทางที่จะช่วยให้สังคมทุกสังคม ที่มีความขัดแย้งกันได้มีความสงบสุขขึ้น  เราขอเสนอ 2 จุดใหญ่ของการแก้ปัญหา ขั้นพื้นฐาน ก่อนที่จะมีการดำเนินการแก้ปัญหาในขั้นต่อไป คือ ศาสนา และ การศึกษา

 

1.ศาสนา


          ดังจะเห็นได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนใต้ เป็นผู้ที่ประกาศตนว่านับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งเรียกว่า “มุสลิม” ฉะนั้นการเป็นมุสลิมจะต้องปฏิบัติตามหลักการทางศาสนาอิสลามอย่างถูกต้อง ทั้งในหลักการศรัทธา และ หลักการปฏิบัติ รวมทั้งการปฏิบัติตามแบบฉบับอันดีงามของศาสนทูต "นะบีมุฮัมมัด"

        ในสมัยก่อน  มุสลิม ส่วนใหญ่ที่เป็นชาวบ้านอยู่ห่างไกลจากตัวจังหวัด และตัวอำเภอ จะไม่ได้รับการศึกษาทางด้านศาสนาที่เที่ยงตรง เนื่องจากผู้นำศาสนาที่มีความรู้อย่างถูกต้องนั้นมีไม่เพียงพอต่อจำนวนประชาชนในพื้นที่ ทำให้การเรียนรู้ศาสนาที่ได้จากการบอกต่อเป็นทอดๆ มีความผิดเพี้ยนและบิดเบือนจากหลักคำสอนของศาสนาเป็นอย่างมาก จึงทำให้เกิดปัญหาการตีความในคัมภีร์อัลกุรอาน การแปลความหมายต่างๆที่พยายามให้เกิดแรงจูงใจ และชักชวนเยาวชนขึ้นต่อต้านกับคนต่างศาสนิก เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มคนบางกลุ่ม จนลุกลามเป็นภัยก่อการร้ายระดับประเทศ

         การแสวงหาผลประโยชน์ของบางกลุ่ม บางคน ที่กระทำต่อชาวบ้าน ผู้บริสุทธิ์ ชักจูงหรือชักชวนให้กระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง และสร้างความเชื่อที่ผิดๆ ความงมงายที่ชักจูงไปสู่การตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์  อย่างเปิดเผย เช่น การเชื่อหมอดู การทำไสยศาสตร์(เล่นของ) การศรัทธาในตัวบุคคลเป็นการเฉพาะ ชาวบ้านได้นับถือผู้ที่เคยไปอาศัยอยู่ที่ประเทศอาหรับ โดยไม่ทราบว่าผู้ที่กลับมานั้นไม่ได้มีความรู้ทางด้านศาสนาอย่างถูกต้อง บางคนไม่ได้ไปเรียนหรือไปศึกษาหาความรู้เลย เพียงไปทำงานเย็บหมวก หรือบ้างไปขายของหาเงิน  กลับมาชาวบ้านก็ตั้งให้เป็นอิหม่าม เพราะเห็นว่าพอที่จะพูดภาษาอาหรับได้ โดยไม่ไม่รู้ว่าถูกหรือผิด  และไม่มีความรู้ด้านศาสนาแม้แต่น้อย สอนชาวบ้านอย่างผิดๆ เพราะต้องการตำแหน่ง  ชื่อเสียง  และการยอมรับจากสังคมในหมู่บ้านนั้นๆ  (ในปัจจุบันคนกลุ่มนี้เหลือไม่มากนัก)


การแก้ปัญหา

          การแก้ไขทางด้านศาสนา คือ การให้ผู้นำศาสนา(อิหม่าม)ในพื้นที่ได้รับรู้หลักการทางศาสนาอิสลามที่แท้จริง โดยการจัดอบรมผู้นำในแต่ละชุมชนให้เข้าใจบทบาทและหน้าที่ของมุสลิมที่ควรปฏิบัติ ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ 

          ไม่ว่าศาสนาไหนไม่มีการสอนให้ฆ่าผู้บริสุทธิ์ หรือสอนให้ใส่ร้ายป้ายสี หรือกดขี่ข่มเหงกันเอง หรือการเอาเปรียบผู้อื่นทั้งโดยตรงและทางอ้อม แม้แต่การอยุติธรรมต่อผู้อื่น ฯลฯ โดยเฉพาะศาสนาอิสลามหลักการเหล่านี้ถือเป็นข้อบัญญัติที่อิสลามถือว่าเป็นบาปอย่างยิ่ง  และเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้นับถือศาสนาอิสลามจะมีพฤติกรรมดังเช่นที่กล่าวไป

 

2. การศึกษา

         เนื่องจากจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ห่างไกลจากศูนย์กลางการศึกษาของประเทศ จึงทำให้มีนักเรียน นักศึกษาที่มีความรู้จำนวนน้อย เมื่อประชาชนไม่มีความรู้จึงถูกชักจูง และโดนหลอกลวงได้ง่าย ทั้งจากข้าราชการที่ไม่หวังดีในพื้นที่ และจากชาวบ้านด้วยกันเอง 

         ปัญหาทางด้านภาษาเป็นส่วนหนึ่ง เพราะเจ้าหน้าที่ส่วนกลางไม่สามารถใช้ภาษาท้องถิ่นได้ อีกทั้งชาวบ้านไม่เข้าใจภาษาทางราชการ ทำให้การติดต่อสื่อสารไม่เข้าใจตรงกัน บางครั้งผู้ที่ไม่หวังดีจึงใช้ช่องทางนี้ในการกดขี่ข่มเหงชาวบ้าน เอารัดเอาเปรียบ และแสวงหาผลประโยชน์กับประชาชนผู้บริสุทธิ์ จึงนำความเดือดร้อน และความโกรธแค้นให้กับคนในท้องถิ่น เพราะความเห็นแก่ตัวของคนเพียงไม่กี่คน และความไม่เข้าใจกันของผู้ปกครองจากส่วนกลางกับชาวบ้านในพื้นที่


การแก้ปัญหา

         การพัฒนาการศึกษาจะช่วยให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้รับรู้กฏระเบียบ กฏหมายของบ้านเมือง ไม่โดนเจ้าหน้าที่ และข้าราชการที่ไม่ดีหลอกลวง และกดขี่ข่มเหง อีกทั้งการศึกษาจะช่วยให้เยาวชนมีความคิดที่กว้างไกลมากขึ้น ทำให้เยาวชนเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง  โดยไม่ยอมที่จะโดนกดขี่ข่มเหงจากผู้ไม่หวังดีอีกต่อไป และภาครัฐบาลสมควรสนับสนุนคนในพื้นที่ส่วนหนึ่งให้เป็นผู้ปกครอง เพราะพวกเขาเข้าใจในปัญหา เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาต่อไป


ทฤษฎีของ" ในหลวง "   เข้าใจ เข้าถึง และ พัฒนา

เข้าใจ คือ การรับรู้ว่าชาวบ้านในพื้นที่โดนกระทำสิ่งใดบ้าง เพื่อหาทางช่วยเหลือเขาเหล่านั้น ให้หลุดพ้นจากการถูกกดขี่ข่มเหง

เข้าถึง คือ การรับรู้ถึงต้นสายปลายเหตุของปัญหา เพื่อจัดการแก้ไขที่ถูกจุด

พัฒนา คือ การให้ความรู้ทั้งด้านศาสนา และการศึกษาเพื่อพัฒนาคน และให้คนได้พัฒนาท้องถิ่นของตนเองต่อไป

 


         ขออัลลอฮ์ โปรดประทานทางนำที่ถูกต้องให้กับพี่น้องมุสลิม และช่วยเหลือให้พวกเขาหลุดพ้นจากการถูกกดขี่ข่มเหงของผู้ที่ไม่หวังดีด้วยเถิด

อามีนญารอบบัลอาลามีน