อุทกภัยน้ำท่วม
  จำนวนคนเข้าชม  28944

 

อุทกภัยน้ำท่วม


นิพล  แสงศรี


          อุทกภัย หมายถึง  ภัยที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีน้ำเป็นสาเหตุ   ซึ่งอาจมาจากน้ำท่วม  น้ำป่า  หรืออื่น ๆ โดยปกติอุทกภัยมักเกิดจากฝนตกหนักต่อเนื่องกันเป็นเวลานานจนน้ำท่วมขัง บางครั้งฝนตกนานจนทำให้เกิดแผ่นดินถล่ม บางครั้งอาจมีสาเหตุจากพายุหมุนเขตร้อนลมมรสุมมีกำลังแรง ร่องความกดอากาศต่ำมีกำลังแรง อากาศแปรปรวน หรือน้ำทะเลหนุน หรือแผ่นดินไหว หรือเขื่อนพัง  จนทำให้เกิดอุทกภัยได้เสมอ  และหากเราศึกษาเชิงประวัติศาสตร์อิสลามเราจะพบว่า  อุทกภัยน้ำท่วม  มีปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอานหลายยุคหลายสมัย ดังตัวอย่างต่อไปนี้

 

อุทกภัยน้ำท่วมในยุคนบีนุฮฺ (โนอา) 

          Harun Yahya   ผู้เขียนหนังสือ  Perished  Nation  ค้นพบว่า  อุทกภัยน้ำท่วมครั้งนั้นเกิดในดินแดนเมโสโปเตเมียปัจจุบันอยู่ในประเทศอิรัค     ซึ่งเป็นพื้นที่ราบตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำไทกรีสกับแม่น้ำยูเฟรตีส  โดยอัลกุรอานได้กล่าวถึงเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้หลายอายะฮฺ  ส่วนหนึ่งคือ

 
“  เมื่อน้ำท่วมสูงขึ้น แท้จริงเราได้บรรทุกพวกเจ้าไว้ในเรือของนูฮฺ ”

(อัลฮากเกาะฮ์ : 11)

 

อุทกภัยน้ำท่วมยุคนบีมูซา

          ซึ่งตรงกับสมัยฟิรเอาน์ (ฟาโรห์รามเสส ที่  2)  ปกครองอียิปต์  โดยมีปรากฎในอัลกุรอานและได้กล่าวถึงเหตุการณ์น้ำท่วมในอียิปต์ว่า

 
“แล้วเราได้ส่ง¹ น้ำท่วม และตั๊กแตนและเหา และกบ และเลือดมาเป็นสัญญาณ² อันชัดเจนแก่พวกเขา

แต่แล้วพวกเขาก็แสดงโอหังและได้กลายเป็นกลุ่มชนที่กระทำความผิด”

 (อัลอะร็อฟ : 133)

(1)  หมายถึง  ให้มีขึ้น  ส่วนการที่ใช้คำว่า “ส่ง” นั้น  เพื่อให้มองเห็นเป็นภาพว่า  น้ำ ตั๊กแตน และ…มันถูกส่งมาจากพระองค์โดยตรง
(2)  คือ  เป็นสัญญาณยืนยันว่า  ท่านนะบีมูซานั้นเป็นทูตของอัลลอฮ์จริงตามที่ท่านได้ประกาศให้ทราบ และขณะเดียวกันก็เป็นการลงโทษพวกเขาพร้อมกันไปด้วย

 

อุทกภัยน้ำท่วมยุคชนชาติสะบะอฺ 

          เกิดขึ้นทางตอนใต้ของคาบสมุทรอาระเบีย  (ช่วงประมาณ  1000-750  ปีก่อนคริสตกาลหรืออาจจะก่อนนั้น  (ปัจจุบันดินแดนแถบนี้ตั้งอยู่ในประเทศเยเมน)  และเป็นชนชาติเก่าแก่อีกชนชาติหนึ่งซึ่งมีอารยธรรมและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง  มีความเชี่ยวชาญทางการค้าและการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ  มีกองทัพที่เข้มแข็งที่สุดในดินแดนแถบนี้  ทหารทุกคนกล้าพลีชีพเพื่อความอยู่รอดของประเทศชาติ

          ชนชาติสะบะอฺได้ร่วมตัวกันสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ขึ้นมาในเมืองมัฆริบ  โดยใช้ชื่อว่า  เขื่อนมะริบ  เพื่อเก็บกักน้ำใช้ในการเกษตรและนำมาพัฒนาประเทศ   และกลายเป็นชลประทานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคนั้นจนนำความเจริญรุ่งเรื่องมาให้ในเวลาต่อมา  จนในปี  ค.ศ.542    เขื่อนมะริบทรุดตัวอย่างรุนแรงและแตกในที่สุด  อุทกภัยน้ำท่วมได้ทำลายพืชสวนไร่นา  ที่อยู่ศัย  และชีวิตผู้คน   โดยอัลกุรอานได้กล่าวถึงเหตุการณ์น้ำท่วมในเยเมนว่า


“ แน่นอนสำหรับพวกสะบะอฺนั้นมีสัญญาณหนึ่งในที่อาศัยของพวกเขา มีสวนสองแห่งทางขวาและทางซ้าย 

พวกเจ้าจงบริโภคจากปัจจัยยังชีพของพระเจ้าของพวกเจ้า  และจงขอบคุณต่อพระองค์ อันเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ ¹ และมีพระเจ้าผู้ทรงอภัย

แต่พวกเขาได้ผินหลัง ดังนั้นเราจึงปล่อยน้ำจากเขื่อนให้ท่วมพวกเขา ²

และเราได้เปลี่ยนให้พวกเขาสวนสองแห่งของพวกเขา แทนสวนอีกสองแห่ง ³ มีผลไม้ขมและต้นไม้พุ่ม และต้นพุทราบ้างเล็กน้อย

เช่นนั้นแหละ เราได้ตอบแทนพวกเขา เนื่องจากพวกเขาเนรคุณ

และเรามิได้ลงโทษผู้ใด (ด้วยการลงโทษอย่างรุนแรงเช่นนี้) นอกจากพวกเนรคุณ 4 "

(สะบะอฺ : 17)

(1) ชาวสะบะอฺอาศัยอยู่ในประเทศเยเมน  พวกเขาสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้และทำการเกษตร  จึงทำให้พื้นที่แถบนี้มีความอุดมสมบูรณ์และเจริญ
(2)  คือเมื่อพวกเขาไม่เชื่อฟัง ไม่จงรักภักดี ไม่ขอบคุณต่ออัลลอฮฺ และไม่ปฏิบัติตามข้อใช้ข้อห้ามของบรรดาร่อซูลของพระองค์ เราจึงปล่อยน้ำจากเขื่อนไปทำลายเรือกสวนและที่อยู่อาศัยของพวกเขา
(3)  คือเราได้เปลี่ยนสวนสองแห่งที่อุดมสมบูรณ์เป็นสวนสองแห่งที่แห้งแล้ง เป็นต้นไม้พุ่มเล็ก ๆ และผลของมันขม
(4)  มุญาฮิดกล่าวว่า จะไม่มีการลงโทษนอกจากการเนรคุณ เพราะมุอฺมินนั้นอัลลอฮฺจะทรงลบล้างความผิดของเขา ส่วนกาฟิรนั้นพระองค์จะทรงตอบแทนการงานของเขาด้วยความชั่วของเขาที่ได้กระทำไว้

 

          สถานการณ์น้ำท่วมยังคงเกิดขึ้นในอีกหลายประเทศสลับเปลี่ยนกันไป    เช่นเดียวกับในประเทศไทยมหาอุทกภัยยังคงแผ่ขยายวงกว้างและคุกคามทั้งชีวิต  ทรัพย์สิน  และระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง  โดยมีผู้เสียชีวิตแล้วเกือบ 400 ราย มีผู้สูญหาย 2  คน ส่งผลกระทบใน 61 จังหวัด  600  อําเภอ  ประชาชนเดือดร้อน 2,445,152  ครัวเรือน 8,273,682 คน (ข้อมูลจาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย - 13 ต.ค. 54)  ส่วนชาวไทยมุสลิมประมาณ 4 หมื่นคนจากที่มีทั้งหมด 7 หมื่นคน ซึ่งมีบัญชีรายชื่ออยู่ยังคงประสบความเดือนร้อน  ไม่มีที่อยู่อาศัย  ขาดแคลนน้ำและอาหาร  ขณะที่มีรายงานระบุว่า  สถานการณ์ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลกยังอยู่ในความเสี่ยงต่อการเจอกับพายุ น้ำท่วมและพิบัติภัยต่างๆเพิ่มมากขึ้น  ซึ่งจะทำให้ประชากรหลายล้านคนต้องต้องได้รับผลกระทบอย่างมากมาย

 

 


อ้างอิง

- www.wikipedia.com
- www.alquran-thai.com/ShowSurah.asp
- หนังสือ  Perished  Nation  เขียนโดย  Harun Yahya