วันแห่งการสอบสวน
โดย...อ.อับดุลฮามี๊ด บรอฮีมี
นับเป็นความเที่ยงธรรมของพระองค์อัลลอฮฺ ที่ทรงให้ชีวิตแห่งโลกดุนยานี้ เป็นชีวิตของการมุ่งมั่น และปฏิบัติงาน และทรงทำให้โลกอาคีเราะฮฺ เป็นโลกของการสอบสวน และการตอบแทน ที่มนุษย์ทั้งหลายจะต้องถูกสอบสวน โดยคนที่ประกอบคุณงามความดี ก็จะได้รับผลตอบแทนตามคุณงามความดีที่ได้กระทำไว้ ส่วนคนชั่ว ก็จะได้รับผลตอบแทนตามความชั่วของเขา พระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ในซูเราะฮฺอิบรอฮีม อายะฮฺที่ 51 ว่า
"لِيَجْزِيَ ٱللَّهُ كُلَّ نَفْسٍ مَّا كَسَبَتْ إِنَّ ٱللَّهَ سَرِيعُ ٱلْحِسَابِ"
“แน่นอน พระองค์อัลลอฮฺ จะทรงตอบแทนทุกๆชีวิต ตามสิ่งที่ได้ขวนขวายไว้ เพราะแท้จริง พระองค์อัลลอฮฺนั้น เป็นผู้ทรงสอบสวนอย่างรวดเร็วยิ่ง”
ดังนั้น ในวันของการตอบแทนดังกล่าวนี้ บรรดาบ่าวทั้งหลายจะต้องหยุดอยู่ ณ ที่พระผู้อภิบาลของพวกเขา ด้วยความต่ำต้อยยอมจำนน ซึ่งพระเจ้าของพวกเขาจะทรงตรัสกับพวกเขาโดยตรง โดยไม่มีสิ่งกลาง ซึ่งพระองค์จะทรงสอบถามเขา ทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่ จุดเล็กน้อย และที่ละเอียดที่สุด พร้อมกันนั้น พวกเขาก็จะอยู่ในภาวะคับขัน มีความยากลำบาก และกังวลอยู่กับความน่าสะพรึงกลัว ของวันอันยิ่งใหญ่นี้ มันช่างเป็นสถานการณ์ที่คับขัน สร้างความหวาดหวั่น ให้เกิดขึ้นในหัวใจ เสียเหลือเกิน
การสอบสวนนั้น จะเริ่มด้วยกับการขอไถ่โทษของท่านนบีมุฮำหมัด ของเรา คือ การที่ผู้คนทั้งหลายต้องหยุดอยู่ เพื่อรอการสอบสวนเป็นระยะเวลาอันยาวนาน พร้อมกันนั้นพวกเขาก็ต้องทุกข์ทนกับความวิกฤต และความเหน็ดเหนื่อย จนทำให้พวกเขาต้องไปหาบรรดานบีทั้งหลาย เพื่อขอไถ่โทษให้แก่พวกเขา ต่อพระผู้อภิบาลของพวกเขา เพื่อพระองค์จะได้ตัดสินระหว่างบ่าวทั้งหลาย และจะได้เริ่มการสอบสวน พวกเขาไปหา ท่านนบีอาดัมอะลัยฮิสสลาม ท่านนบีนัวฮฺ อะลัยฮิสสลาม ท่านนบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสสลาม ท่านนบีมูซา อะลัยฮิสสลาม ท่านนบีอีซา อะลัยฮิสสลาม ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่ปฏิเสธพวกเขา โดยอ้างถึงความผิดบาปที่ตนเองเคยกระทำ เว้นแต่ ท่านนบีอีซา อะลัยฮิสสลสาม เท่านั้น ที่ไม่ได้อ้างถึงความผิดบาป พวกเขาจึงเปลี่ยนไปหาท่านนบีท่านอื่น ๆจนกระทั่งมาถึงท่านนบีมุฮำหมัด ของเรา ซึ่งผู้คนทั้งหลายต่างก็มาหา ท่านนบีมุฮำหมัด เพื่อขอให้ท่านนบี ขอไถ่โทษต่ออัลลอฮฺ ท่านนบี กล่าวว่า
(اَنَا لَهَا , أَنَا لَهَا)
"มันเป็นหน้าที่ของฉัน มันเป็นหน้าที่ของฉัน"
แล้วท่านนบี ก็ได้ไปขอชะฟาอะฮฺ (ขอไถ่โทษ ) ยังพระองค์อัลลอฮฺ เพื่อจะได้เริ่มการสอบสวน ซึ่งดังกล่าวนี้ เป็นหน้าที่อันทรงเกียรติที่พระองค์อัลลอฮฺ ได้ทรงสัญญาไว้ให้เฉพาะแก่ท่านนบี
การสอบสวนของพระองค์อัลลอฮฺ แก่บ่าวของพระองคฺ์นั้น แตกต่างหลากหลายตามการงานต่างๆ ที่บ่าวได้กระทำไว้ในโลกดุนยา
กลุ่มหนึ่งพระองค์อัลลอฮฺ จะไม่ทรงสอบสวนพวกเขา ตามความดีความชั่วของพวกเขา ที่ได้กระทำไว้แต่จะคำนวณนับการงานต่างๆ ของพวกเขาที่ได้กระทำไว้ แล้วจากนั้นก็จะนำพวกเขาเข้านรก พวกเหล่านี้คือพวกที่ปฎิเสธศรัทธา
พระองค์อัลลอฮฺตรัสไว้ในซูเราะห์อัลนิซาอฺ อายะห์ที่ 168-169 ว่า
"إِنَّ ٱلَّذِينَ كَفَرُواْ وَظَلَمُواْ لَمْ يَكُنِ ٱللَّهُ لِيَغْفِرَ لَهُمْ وَلاَ لِيَهْدِيَهُمْ طَرِيقاً إِلاَّ طَرِيقَ جَهَنَّمَ خَالِدِينَ
فِيهَآ أَبَداً وَكَانَ ذٰلِكَ عَلَى ٱللَّهِ يَسِيراً "
“แน่นอน บรรดาผู้ปฎิเสธ และอธรรมทั้งหลายนั้น พระองค์อัลลอฮฺไม่เคยที่จะทรงให้อภัยโทษต่อพวกเขา
และไม่ทรงที่จะให้มีหนทางใดเป็นทางสว่าง แก่พวกเขาเลย นอกจากทางของนรกญะฮันนัม เท่านั้น
ที่พวกเขาจะได้อยู่ในนั้นชั่วกับชั่วกัลป์ และดังกล่าวนี้ เป็นเรื่องง่ายดายเหลือเกินสำหรับพระองค์อัลลอฮฺ”
และอีกกลุ่ม พระองค์อัลลอฮฺจะทรงให้พวกเขาได้เข้าสวรรค์โดยไม่มีการสอบสวน พวกเขาคือบรรดามุอฺมิน ผู้ศรัทธา ไม่ตั้งสิ่งใดเป็นภาคีต่ออัลลอฮฺ ซึ่งพวกเขาจะแตกต่างจากประชาชาติทั้งหมด ด้วยกับคุณลักษณะที่พวกเขาเป็นผู้ที่มอบหมาย อยู่กับอัลลอฮฺ อย่างดีที่สุด
ท่านนบี กล่าวว่า
«يَدْخُلُ الْجَنَّةَ مِنْ أُمَّتِي سَبْعُونَ أَلْفَاً بِغَيْرِ حِسَابٍ» «هُمُ الَّذِينَ لاَ يَسْتَرْقُونَ. وَلاَ يَتَطَيَّرُونَ
وَلاَ يَكْتَوُونَ. وَعَلَى رَبِّهِمْ يَتَوَكَّلُونَ».رَوَاهُ الْبُخَارِي وَمُسْلِم
“ประชาชาติของฉันจำนวน 70,000 คนจะได้เข้าสวรรค์โดยไม่มีการสอบสวน
พวกเขาคือบรรดาผู้ที่ ไม่ใช้การรักษาด้วยวิธีการเสกเป่า พวกเขาไม่ถือโชคลาง และพวกเขาไม่รักษาด้วยวิธีนาบด้วยไฟ
และพวกเขาจะมอบหมายอยู่กับพระเจ้าของพวกเขาเท่านั้น”
(รายงานโดยบุคอรียฺและมุสลิม)
และอีกกลุ่มหนึ่ง พระองค์อัลลอฮฺจะทรงนำเสนอบาปต่าง ๆของพวกเขาที่พวกเขาเคยกระทำเอาไว้ และให้พวกเขายอมรับต่อความผิดบาปนั้น แล้วพระองค์ทรงเอาพวกเขาเข้าสวรรค์
ท่านนบีมูฮำหมัด กล่าวว่า
"يَدْنُوا الْمُؤْمِنُ ربه حَتَّى يَضَعَ عَلَيْهِ كَنْفَهَ – سَتَرَهُ – فَيُقَرِّرُهُ بِذُنُوْبِهِ تَعْرِفُ ذَنْبَ كَذَا ؟
يَقُوْلُ: أعْرِفُ، رَبِّ أعْرِفُ مَرَّتَيْنِ، فَيَقُوْلُ: سَتَرَتُهَا فِى الدُّنْيَا وَأغْفِرُهَا لَكَ الْيَوْمَ ثُمَّ تُطْوَى
صَحِيْفَةُ حَسَنَاتِهِ" (رواه البخاري ومسلم)
“ในวันกิยามะฮฺ มุอฺมินผู้ศรัทธาจะได้เข้าใกล้พระเจ้าของเขา เขาใกล้จนที่ปิดกันของพระองค์
แล้วพระองค์ทรงให้เขารับรู้ถึงบาปต่าง ๆของเขาว่า เจ้ารู้ถึงความผิดบาปดังกล่าวนี้ไหม ?
เขาก็จะตอบว่า ข้าพระองค์รู้ 2 ครั้ง
แล้วพระองค์จะทรงตรัสว่า ข้าปกปิดมันไว้ในโลกดุนยา และข้าจะอภัยโทษมันแก่เจ้าในวันนี้
แล้วบัญชีแห่งความดีงามทั้งหลายของเขาที่จะถูกม้วนปิดลง”
(บันทึกโดยท่านอัลบุคอรียฺ และมุสลิม)
และอีกกลุ่มหนึ่ง ไม่ได้จำกัดบั้นปลายของพวกเขาว่าเป็นอย่างไร พวกเขาคือชาวอะฮฺร๊อฟ (พวกที่อยู่สันกำแพงระหว่างนรก และสวรรค์) พวกเขาคือพวกที่ความดีความชั่วของพวกเขานั้นเท่ากัน พวกเขาเหล่านี้คือพวกที่อยู่บนที่สูง ที่อยู่ระหว่างนรกและสวรรค์ แล้วสุดท้ายพระองค์อัลลอฮฮ จะทรงเอาพวกเขาเข้าสวรรค์ โดยความเมตตาของพระองค์
พระองค์ทรงตรัส ในซูเราะฮฺอัลอะอฺร๊อฟอายะฮฺที่ 46 ว่า
"وَعَلَى الأعْرَافِ رِجَالٌ يَعْرِفُونَ كُلا بِسِيمَاهُمْ وَنَادَوْا أَصْحَابَ الْجَنَّةِ أَنْ سَلامٌ عَلَيْكُمْ لَمْ
يَدْخُلُوهَا وَهُمْ يَطْمَعُونَ " . (سورة الأعراف : ٤٦)
“บนสันกำแพงระหว่างนรกสวรรค์นั้น มีบรรดาผู้ชายทั้งหลายที่พวกเขานั้นจะรู้จักทั้งชาวนรกและชาวสวรรค์
ด้วยกับเครื่องหมายของพวกชาวนรกและชาวสวรรค์ และพวกเขาจะร้องเรียกชาวสวรรค์ว่า
ขอความสันติจงประสบแด่ท่าน ซึ่งพวกเขาไม่ได้เข้าสวรรค์ ทั้งที่พวกเขาอยากเข้าเหลือเกิน”
อีกกลุ่มหนึ่ง คือ พวกที่ความชั่วของพวกเขานั้นมากกว่าความดีของพวกเขา พวกเขาคือผู้ศรัทธาที่ฝ่าฝืน พวกเหล่านี้อยู่ภายใต้พระประสงค์ของพระองค์อัลลอฮฺ หากพระองค์ประสงค์จะทรงให้อภัยพวกเขา พระองค์ก็ทรงจะให้อภัยโทษพวกเขา หากพระองค์ทรงประสงค์จะลงโทษพวกเขา พระองค์ก็จะทรงลงโทษพวกเขา แล้วพวกเขาจะถูกนำออกมาจากการลงโทษในนรก ด้วยการไถ่โทษของผู้ที่ได้รับสิทธิในการไถ่โทษทั้งหลาย หรือโดยพระเมตตาของพระองค์อัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา
พระองค์อัลลอฮฺ ทรงตรัสในซูเราะฮฺอันนิซาอฺ อายะฮฺที่ 48 ว่า
" إِنَّ اللَّهَ لا يَغْفِرُ أَنْ يُشْرَكَ بِهِ وَيَغْفِرُ مَا دُونَ ذَلِكَ لِمَنْ يَشَاءُ وَمَنْ يُشْرِكْ بِاللَّهِ فَقَدِ افْتَرَى
إِثْمًا عَظِيمًا". (سورة النساء : ٤٨)
“แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺจะไม่ทรงอภัยโทษให้กับการตั้งภาคีต่อพระองค์ แต่จะทรงอภัยโทษให้กับอื่นจากนี้ สำหรับผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์
ดังนั้นผู้ที่ตั้งภาคีต่อพระองค์อัลลอฮฺ ตะอาลา นั้น แน่นอน เขาได้กระทำความผิดบาปอันใหญ่หลวง”
ดังกล่าวนี้ เป็นการสอบสวนต่อบรรดาผู้ที่อยู่ภายใต้ข้อบังคับทั้งหลายทั้งญิน และมนุษย์ ส่วนบรรดาเดรัจฉานทั้งหลายนั้น พวกมันก็จะถูกคิดบัญชีและถูกตัดสิน ดังเช่นที่ท่านรอซู้ล ได้กล่าวไว้ว่า
"لَتُؤَدُّنَّ الْحُقُوقَ إِلَى أَهْلِهَا يَوْمَ الْقِيَامَةِ حَتَّى يُقَادَ لِلشَّاةِ الْجَلْحَاءِ مِنَ الشَّاةِ الْقَرْنَاءِ".
( رواه مسلم )
“ในวันกิยามะฮฺนั้น สิทธิต่างๆ จะถูกคืนแก่เจ้าของสิทธินั้น แม้กระทั่งแกะเขาหัก ก็จะถูกนำสิทธิมาคืนจากแกะที่มีเขา”
(บันทึกโดยมุสลิม)
สิ่งแรกที่บ่าวจะถูกสอบสวน ในวันกิยามะฮฺ คือ เรื่องของสิทธิต่าง ๆของพระองค์อัลลอฮฺ ซึ่งคือการละหมาด และเรื่องแรกที่จะถูกสอบสวนจากสิทธิของบ่าวก็คือ เรื่องของเลือดเนื้อและชีวิต
ท่านนบี กล่าวว่า
"أَوَّلُ مَا يُحَاسَبُ بِهِ الْعَبْدُ الصَّلاَةُ وَأَوَلُ مَا يُقْضَى بَيْنَ النَّاسِ فِى الدِّمَاءِ"
“สิ่งแรกที่บ่าวจะถูกสอบสวน คือ การละหมาด และสิ่งแรกที่จะถูกตัดสินระหว่างมนุษย์ด้วยกันคือ เรื่องของเลือดเนื้อชีวิต”
(บันทึกโดยท่านอันนะซาอีย)
ท่านอัลบานียฺ รับรองว่าเป็นหะดีษที่ถูกต้อง และสิทธิต่าง ๆที่เกี่ยวพันธ์กันระหว่างมนุษย์จะเป็นสิ่งที่ถูกสอบสวนด้วยความเข้มงวด รองจากการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ ดังนั้นการอภัยโทษเรื่องดังกล่าวนี้ เกี่ยวพันกับบรรดาผู้ถูกอธรรมทั้งหลายโดยตรง ซึ่งในวันกิยามะฮฺนั้น มนุษย์ทุกคนต่างก็มีความระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะรักษาความดีงามต่าง ๆ เอาไว้ ซึ่งดังกล่าวนี้ท่านนบี จึงได้ใช้ให้เรานั้นชดใช้สิ่งที่ล่วงละเมิดทั้งหลายให้หมดไปตั้งแต่ในโลกดุนยา ก่อนที่จะมีการชำระความกันด้วยความดีความชั่วต่างๆที่มนุษย์ได้กระทำเอาไว้
ในหะดีษท่านรอซู้ล สอนว่า
"مَنْ كَانَتْ لَهُ مَظْلِمَةٌ ِلأَخِيْهِ مِنْ عِرْضِهِ أوْ شَيئٍ فَلْيَتَحَلَّلْهُ مِنْهُ قَبْلَ أنْ لاَ يَكُوْنَ دِيْنَارٌ وَلاَدِرْهَمٌ
، إنْ كَانَ لَهُ عَمَلٌ صَالِحٌ أُخِذَ مِنْهُ بِقَدْرِ مَظْلِمَتِهِ ، وَإنْ لَمْ تَكُنْ لَهُ حَسَنَاتٌ أُخِذَ مِنْ سَيِّئَاتِ
صَاحِبِهِ فَحُمِلَ عَلَيْهِ" (رواه البخارى)
“ใครก็ตามที่มีสิทธิติดค้างแก่พี่น้องของเขา ไม่ว่าจะเป็นเกียรติยศ หรือสิ่งใดก็ตาม ก็จงสะสางเสียให้เรียบร้อยก่อนที่การชดใช้นั้น มันจะไม่เป็นเงินทอง
โดยที่หากเขามีการงานที่ดี ก็จะถูกยึดเอาไปจากเขาตามสิ่งที่เขาได้อธรรมไว้
แล้วหากเขาไม่เหลือความดีงามอันใด เขาก็ต้องเอาความชั่วต่าง ๆ ของผู้ที่ถูกเขาละเมิดนั้นมาแบกไว้แก่ตัว”
( บันทึกโดยบุคอรียฺ)
และนับเป็นความเที่ยงธรรมอันสูงสุดของพระองค์อัลลอฮฺ ในวันแห่งการสอบสวนที่พระองค์จะทรงสอบสวนบ่าว โดยให้บ่าวได้สารภาพความผิดบาปของเขา แล้วหากเขาไม่ยอมรับ พระองค์ก็จะให้อวัยวะต่าง ๆของบ่าวมายืนยันเป็นพยานถึงความผิดบาปของเขา
พระองค์ทรงตรัสในซูเราะฮฺอันนูร อายะฮฺที่ 24 ว่า
"يَوْمَ تَشْهَدُ عَلَيْهِمْ أَلْسِنَتُهُمْ وَأَيْدِيهِمْ وَأَرْجُلُهُمْ بِمَا كَانُواْ يَعْمَلُونَ"
“วันกิยามะฮฺ ซึ่งเป็นวันที่ลิ้นของพวกเขา มือของพวกเขาและเท้าของพวกเขา จะมาเป็นพยานยืนยันถึงสิ่งที่พวกเขาได้กระทำไว้”
และมะลาอิกะฮฺผู้ทรงเกียรติที่เป็นผู้ทำหน้าที่บันทึกความดีความชั่ว ก็จะมาเป็นพยานยืนยัน ดังกล่าวนี้มีหะดีษของท่านนบบ ยืนยัน
และเป็นความเที่ยงธรรมอันสูงสุดของพระองค์อัลลอฮฺ เช่นกันที่ พระองค์จะทำการสอบสวนด้วยตราชั่ง โดยชั่งการงานต่าง ๆของมนุษย์ จนกระทั่งบ่าวจะได้รู้ผลของการสอบสวนอย่างชัดเจนว่า แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺ จะไม่ทรงอธรรมต่อมนุษย์แต่อย่างใดเลย
พระองค์ทรงตรัสในซูเราะฮฺอัลอะฮฺรอฟ อายะฮฺที่ 8 – 9 ว่า
"وَٱلْوَزْنُ يَوْمَئِذٍ ٱلْحَقُّ فَمَن ثَقُلَتْ مَوَازِينُهُ فَأُوْلَـٰئِكَ هُمُ ٱلْمُفْلِحُونَ وَمَنْ خَفَّتْ مَوَازِينُهُ فَأُوْلَـۤئِكَ
ٱلَّذِينَ خَسِرُوۤاْ أَنْفُسَهُم بِمَا كَانُواْ بِآيَاتِنَا يِظْلِمُونََ"
“การชั่งความดีความชั่วในวันกิยามะฮฺนั้น เป็นความจริง ดังนั้นผู้ใดที่ตราชูของงเขาหนักด้วยคุณงามความดี พวกเขาเหล่านี้แหละคือผู้ที่ได้รับความสำเร็จ
ส่วนผู้ที่ตราชูของเขาเบาไร้คุณงามความดี พวกเหล่านี้คือผู้สร้างความขาดทุนให้เกิดขึ้นแก่ตน
ด้วยการที่พวกเขามิได้ให้ความเป็นธรรมต่อบรรดาโองการต่างๆของเรา (โดยปฏิเสธโองการเหล่านั้นด้วยความยโส )”
ดังนั้นเมื่อมุสลิมรู้ว่าวันกิยามะฮฺนั้น ต้องมีการสอบสวนลงโทษ และรู้ถึงวิธีการชำระความ การละเมิด และความเลวทรามต่างๆดี ก็เป็นสิทธิของเขาที่จะทบทวนตนเองก่อนที่จะถูกสอบสวน ดังเช่นที่ท่านอุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮฺได้กล่าวไว้ว่า
"حَاسِبُوْا أنْفُسَكُمْ قَبْلَ أنْ تُحَاسَبُوْا وَتَزَيَّنُوْا لِلْعَرْضِ اْلاكْبَرِ"
“ พวกท่านทั้งหลายจงสอบสวนทบทวนตนเอง ก่อนที่พวกท่านทั้งหลายจะถูกสอบสวนคิดบัญชี
และพวกท่านทั้งหลายจงเตรียมตัวให้ดี เพื่อวันแห่งการสอบสวนอันยิ่งใหญ่”
มูลนิธิ ชี้นำสู่สันติสุข