ความอดทนในการทำงานสังคม
  จำนวนคนเข้าชม  13637

 

 

ความอดทนในการทำงานสังคม

 

 ( عن ابن عمر ، قال رسول الله صلى الله عليه وسلم ( المؤمن الذي يُعاشرُ الناس، ويَصبرُ على أذاهم ، أفضل من  المؤمن ، الذي لا يُعاشر الناس ، ولايصبرُ على أذاهم  


ความหมาย
 
 มีรายงานจากท่าน อิบนิ อุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา  แจ้งว่า ท่านเราะซูล กล่าวว่า 

 

“ มุอฺมินที่ออกคบค้าสมาคมกับผู้คนทั้งหลาย และอดทนต่อสิ่งเลวร้ายที่มาประสบกับตนนั้น

ย่อมดีกว่ามุอฺมินที่ไม่ยอมคบค้าสมาคมกับใคร และไม่อดทนต่อสิ่งเลวร้ายที่มาประสบกับตน ”


 บันทึกโดย ติรมีซีย์  อะหฺมัด อิบนิมาญะฮฺ อัล-บุคอรีย์ ได้บันทึกฮะดีสนี้ในหนังสือของท่านที่ชื่อ “ อัล-อะดับ อัล-มุฟร็อด ”  ในบทว่าด้วย “ ผู้ที่อดทนต่อการทำร้ายจากผู้อื่น ”


คำอธิบาย        

          ฮะดีสนี้ นับเป็นฮะดีสหนึ่งที่เป็นรากฐานสำคัญ ในระบอบสังคมมุสลิม และเป็นฮะดีสที่ยืนยันว่า อิสลามมีบทบัญญัติอันดีงามที่ให้มุสลิมเป็นผู้เข้มแข็ง พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับมรสุมแห่งชีวิตในทุกโอกาส  โลกนี้ดำรงอยู่ด้วยคน และสังคมก็คือ คนกลุ่มหนึ่ง หรือหมู่คณะหนึ่ง นับตั้งแต่สังคมเล็กๆ ซึ่งเป็นครอบครัว จนกระทั่งเป็นสังคมใหญ่ ที่เรียกกันว่าชาติหรือประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสังคมเล็กหรือว่าสังคมใหญ่ที่มีการปฏิบัติต่อกันในระหว่างสมาชิกในสังคม จะต้องพบกับปัญหาละอุปสรรคด้วยกันทั้งนั้น

          อุปสรรคนี้จะต้องมีสาเหตุ และการที่จะทำให้สังคมอยู่ได้ ก็จะต้องขจัดอุปสรรคนั้นให้หมดสิ้นไป เพราะอุปสรรคจะเป็นสิ่งกีดขวางความเจริญก้าวหน้าของสังคม และจะทำให้สังคมเกิดความระส่ำระส่าย  การแก้ไขอุปสรรค นับเป็นเรื่องสร้างความยากลำบากให้แก่ผู้ที่ต้องการจะแก้ไข ทั้งนี้เนื่องจากความไม่เข้าใจกันในระหว่างสมาชิกในสังคม

          สำหรับอุปสรรคแรก อิสลามให้สมาชิกทุกคนในฐานะที่เป็นสมาชิกในสังคม ให้มีความรู้และความนึกคิดที่ดีต่อผู้อื่น ให้มีการตักเตือนซึ่งกันและกัน หากว่ามุสลิมปฏิบัติได้เช่นนี้ มีความเสียสละ และการให้อภัยกัน แน่นอนอุปสรรคดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นเลย

          สำหรับอุปสรรคที่สอง คือการเสียผลประโยชน์ ไม่น่าจะมีในสังคมมุสลิมเพราะผลประโยชน์นั้นหาใช่สิ่งที่ผู้เป็นมุอฺมินอยากได้ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือปัจจัยต่างๆ หรือชื่อเสียง เกียรติยศก็ตาม เพราะมุอฺมินรู้ว่าสิ่งต่างๆดังกล่าวนั้น เป็นเพียงภาพลวงตา เป็นของฝากชั่วคราวในโลกนี้เท่านั้น ส่วนในโลกอาคิเราะฮฺนั้นเป็นสิ่งที่จีรังยั่งยืนกว่า 
  
       
          อิสลามกำหนดให้มุสลิมทุกคนมุ่งหวังที่จะได้รับการตอบแทนจากอัลลอฮ์ และมุ่งทำงานเพื่อพระองค์เท่านั้น  แต่สิ่งที่เป็นอยู่ในงานสังคมส่วนร่วมของมุสลิมในทุกวันนี้ ไม่ได้อยู่ในรูปแบบของอิสลามเลย ทั้งนี้ก็เพราะสมาชิกในสังคมมุสลิมไม่ได้รับการฝึกอบรม ไม่ได้เรียนรู้บทบัญญัติอิสลามมาตั้งแต่ต้น ที่จะให้เป็นแบบแผนแห่งการดำเนินชีวิต

         การขาดการอบรมแบบอิสลามนี่เอง เมื่อเขาโตขึ้นและอยู่ร่วมในสังคม จึงทำให้เขาขาดวิญญาณอิสลาม เกิดการเบื่อหน่าย หนีจากภาวะหน้าที่ ที่จะพึงปฏิบัติต่อสังคม สิ่งเหล่านี้เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่งานส่วนรวม จึงทำให้เกิดความล้าหลัง  ไม่เคลื่อนไหว ไม่ก้าวหน้า

          อันที่จริง แม้คนเราจะเป็นคนมีฐานะในสังคม เป็นเจ้าของครอบครองสิ่งอำนวยความสะดวกสบายต่างๆ  เอาไว้ทั้งหมดก็ตาม หากเขาไม่เข้ามาร่วมงานในสังคม ไม่มีบทบาทใดๆ ก็ไม่นับว่าคนนั้นเป็นคนที่สมบูรณ์ที่แท้จริง

         อิสลามส่งเสริมให้มุสลิม มีโอกาสพบปะสังคมกัน และที่นับว่าเป็นที่สุดของการพบปะชุมนุมกัน นั่นก็คือ การชุมนุมกันในช่วงการทำฮัจญ์ อันเป็นการชุมนุมกันของมุสลิมทั่วโลก เป็นการประกาศจุดยืนของอิสลามอย่างแท้จริง

 

 ฮะดีสข้างต้นนี้ เท่ากับเป็นการกล่าวสดุดีผู้ที่มีอีมาน  และอีมานนั้นจะไม่มีวันเพิ่มพูนหรือมั่นคงขึ้น นอกจากจะต้องผ่านการทดสอบ ดังที่อัลลอฮ์ ตรัสไว้มีความว่า


“ มนุษย์คิดหรือว่า เขาจะถูกปล่อยทิ้งไว้ให้กล่าวว่า เรานั้นเป็นผู้ศรัทธาแล้ว โดยที่พวกเขาไม่ได้ถูกทดสอบกระนั้นหรือ ? ”

“ แน่นอน เราได้ทดสอบบรรดาผู้ที่มาก่อนพวกเขา  และแน่นอน อัลลอฮ์นั้นทรงรอบรู้ถึงผู้ที่สัตย์จริง และแน่นอนอัลลอฮ์ทรงรอบรู้ผู้ที่โกหก

(ซูเราะฮ์ อัล-อังกะบู๊ต: 2,37)
  
    

          ในทำนองเดียวกัน มุอฺมินที่คบค้าสมาคมกัน กระทำหน้าที่ต่อสังคม และมีความอดทนในการที่ต้องประสบกับสิ่งชั่วร้ายทั้งหลาย อันเนื่องมาจากการทำงานในสังคมนั้น มุอฺมินผู้นั้นย่อมดีกว่า ประเสริฐกว่า ผู้ที่ไม่ออกมาคบค้าสมาคม หรือไม่ทำงานในสังคม และไม่มีความอดทน ต่อสู้ ในการที่ต้องประสบกับสิ่งชั่วร้ายที่มาประสบกับเขา

         หากมุสลิมทุกคนเป็นผู้มีอีมานและยึดมั่นศรัทธาในฮะดีสข้างต้นนี้ แน่นอนเขาจะเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม จะมีบทบาทบูรณะสร้างสรรค์สังคมที่ดี เพราะการทำงานส่วนรวมนั้น ไม่มีทางที่จะรอดพ้นไปจากความยากลำบาก และประสบกับสิ่งชั่วร้ายได้

          เมื่อผู้มีอีมานคำนึงถึงผลการตอบแทนอันใหญ่หลวงที่เขาจะได้รับจากอัลลอฮ์ ในการทำหน้าที่เพื่อส่วนรวมแล้ว ทำให้เขามีความอดทน มีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ ที่จะยืนหยัดปฏิบัติหน้าที่นั้นต่อไป  โดยไม่คำนึงว่าจะมีอุปสรรคใดๆมาขัดขวางการทำหน้าที่ของขาได้  หรือจะทำให้เขาละทิ้งหน้าที่ เกิดความท้อแท้ใจ หรือนึกท้อถอยในการทำงานสังคม  เพราะในอดีตของผู้ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์นั้น พวกเขามีความตั้งใจในการปฏิบัติงานโดยตลอดและต่อเนื่องกันไป  แม้ว่าพวกเขาจะประสบกับความยากลำบก การกีดกัน ทำร้ายของฝ่ายตรงกันข้ามสักปานใดก็ตาม


ดังที่อัลลอฮ์ ตรัสไว้มีความว่า

เหตุไฉนเล่า ! เราจะยังไม่มอบหมายต่ออัลลอฮ์ ทั้งๆที่พระองค์ทรงชี้แนะแนวทางอันเที่ยงธรรมแก่พวกเราแล้ว

และแน่นอน เราจะอดทนต่อสิ่งที่พวกท่านทั้งหลายจะทำร้ายเรา และแด่อัลลอฮ์เท่านั้นที่ผู้มอบหมาย จะมอบหมายต่อพระองค์  ”

(ซูเราะฮ์ อิบรอฮีม: 12)

 


คัดจาก วารสารสายสัมพันธ์ (อัร-รอบิเฏาะฮ์)