ดอกเบี้ยกับซะกาต
  จำนวนคนเข้าชม  6933

 

ดอกเบี้ยกับซะกาต

อ.บรรจง  บินกาซัน

 

          ในระบบทุนนิยมที่วางพื้นฐานอยู่บนระบบดอกเบี้ยและมีกำไรเป็นแรงจูงใจในการทำธุรกิจ หากนักธุรกิจคิดจะลงทุนทำอะไรสักอย่าง นักธุรกิจจะต้องนำปัจจัยทั้งสองมาประกอบการตัดสินใจ สำหรับคนที่มีเงินลงทุนเป็นของตนเอง ถ้ากำไรที่ได้ต่ำกว่าหรือเท่ากับดอกเบี้ยเขาก็จะไม่ลงทุน ถึงแม้ว่าโครงการนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมก็ตาม เพราะถ้าเขาเอาเงินฝากธนาคารเขาก็จะได้ดอกเบี้ยตอบแทนโดยไม่ต้องเหนื่อยและไม่ต้องเสี่ยง ยิ่งถ้าต้องไปกู้ด้วยแล้วไม่จำเป็นต้องพูดถึง เมื่อเป็นเช่นนี้การลงทุนก็ไม่เกิดขึ้นในสังคม เมื่อไม่มีการลงทุนก็ย่อมไม่มีการจ้างงาน ไม่มีการกระจายรายได้ และไม่มีการเจริญเติบโตทางธุรกิจและสังคม

          ดังนั้นถ้าหากว่าจะมีการลงทุน นักธุรกิจจะต้องบวกกำไรให้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ย ราคาสินค้าก็จะสูงเพราะมีดอกเบี้ยเป็นต้นทุนอยู่ด้วย คนที่รับภาระจ่ายดอกเบี้ยก็คือผู้บริโภค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนยากจนที่ไม่มีเงินฝากในธนาคาร แต่คนที่ได้เปรียบก็คือ คนที่มีเงินล้านฝากไว้เพื่อกินดอกเบี้ยอยู่ในธนาคาร

          ในระบบดอกเบี้ย ถ้าหากใครมีเงินฝากอยู่ในธนาคาร 10 ล้านบาท ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 8 % ภายในหนึ่งปีคนผู้นั้นก็จะมีรายได้จากดอกเบี้ย 800,000 บาทโดยไม่ต้องทำงาน และไม่ต้องเสี่ยงใดๆ เงินจำนวนนี้มาจากนักธุรกิจและผู้บริโภคที่ต้องดิ้นรนหามาให้เขาผ่านทางระบบธนาคาร เมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลง คนเหล่านี้จะสูญเสียรายได้จากดอกเบี้ยและจะออกมาร้องเอะอะโวยวาย และเนื่องจากคนที่ร่ำรวยมั่งคั่งมักมีอิทธิพลทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงต้องหาทางช่วยคนพวกนี้ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การขายพันธบัตรที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่า เป็นต้น แต่ในที่สุดแล้วดอกเบี้ยที่นำมาจ่ายให้กับเจ้าของพันธบัตรก็คือ ภาษีจากประชาชนนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ระบบดอกเบี้ยจึงเป็นระบบที่เอาเปรียบและกดขี่ขูดรีดคนยากคนจน

          หลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรปศตวรรษที่ 19 ระบบทุนนิยมได้ถ่างช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนให้กว้างมากขึ้น ประชาชนในหลายประเทศได้เห็นความไม่เป็นธรรมดังกล่าว จึงได้ร่วมกันลุกขึ้นปฏิวัติหรือไม่ก็ยึดกิจการของเอกชนเข้าเป็นของรัฐ และนำเอาระบบเศณษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์เข้ามาใช้แทนระบบทุนนิยมโดยหวังว่าระบบนี้จะเป็นยาขนานเอกที่จะช่วยเยียวยา รักษาความเจ็บปวดจากการถูกกดขี่ขูดรีดในระบบทุนนิยมได้

          แต่ในศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา การเวลาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ลัทธิคอมมิวนิสต์เองนอกจากจะไม่ได้ช่วยให้สังคมได้รับความเป็นธรรมตามอุดมการณ์จริงๆ แล้วยังทำให้ชาวโลกนับร้อยนับพันล้านคนในประเทศต่างๆ ต้องได้รับการกดขี่ขูดรีด และต้องล้มตายลงไปจากการช่วงชิงอำนาจการเมืองกันเองในหมู่ผู้นำ และการต่อสู้กับระบบทุนนิยม จนปัจจุบันนี้อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ได้ผ่อนคลายหลักการและท่าทีของตนเองลงไปมาก หรือในบางประเทศก็เลิกใช้อุดมการณ์นี้ไปแล้ว แต่สิ่งที่ยังคงเหลือทิ้งไว้จากการต่อสู้ของสองอุดมการณ์ที่ขัดแย้งกัน ก็คือ ความไม่เป็นธรรมทางสังคมอีกนั่นเอง

 

อิสลาม : ทางเลือกที่สันติและเป็นธรรม

          เพื่อขจัดความขัดแย้งทางสังคมและเพื่อสร้างความเป็นธรรมขึ้นในระบบเศรษฐกิจ อิสลามได้เสนอเสรีภาพในการประกอบอาชีพและการแสวงหากำไรให้แก่มนุษย์ ในขณะที่ระบบคอมมิวนิสต์ไม่เปิดโอกาสให้ ขณะเดียวกันอิสลามก็เสนอให้ทำลายระบบดอกเบี้ยซึ่งเป็นรากเง้าของการกดขี่ขูดรีดในระบบทุนนิยม เพื่อมิให้คนมั่งคั่งร่ำรวยได้เปรียบคนยากจนโดยไม่ต้องออกแรงทำงาน นอกจากนี้แล้ว อิสลามยังกำหนดไว้อีกว่า หากในแต่ละปีใครมีทรัพย์สิน เช่น เงิน ทองคำ หุ้น และสินค้าที่มีมูลค่าเท่ากับราคาทองคำหนัก 5.6 บาทขึ้นไป จะต้องจ่าย 2.5 % ของทรัพย์สินดังกล่าว เป็นซะกาตให้กับบุคคล 8 ประเภท ที่ศาสนากำหนดไว้ เช่น คนยากจน คนขัดสน คนมีหนี้สิน เป็นต้น

          ดังนั้น หากมุสลิมคนใดมีเงินฝากธนาคาร 10 ล้านบาท เพื่อเอาดอกเบี้ยไปกินไปใช้ส่วนตัว นั่นหมายความว่าเขายอมรับบาปที่หนักเท่ากับการผิดประเวณีกับแม่ของตัวเอง นอกจากจะรับดอกเบี้ยไม่ได้แล้ว เขายังมีหน้าที่ทางศาสนาที่จะต้องจ่ายซะกาตอีก 2.5 % ทุกปีอีกด้วย

          ในสภาวะเศรษฐกิจถดถอยผู้คนจะจับจ่ายใช้สอยกันน้อยลง จึงไม่มีใครคิดที่จะลงทุนเพราะความเสี่ยงสูง ถึงแม้ดอกเบี้ยจะต่ำก็ตามที ดังนั้นเศรษฐกิจที่ถดถอยอยู่แล้วก็ยิ่งถดถอยหนักยิ่งขึ้น ในระบบทุนนิยมนั้นไม่มีมาตราการใดๆ ที่จะผลักดันให้เงินออกมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เพราะถ้าหากใครเก็บเงินไว้เฉยๆ โดยไม่นำออกมาหารายได้ให้เพิ่มพูนขึ้น ซะกาตก็จะกินทรัพย์สินของเขาไปปีละ 2.5 % ทุกๆปี ดังนั้นถ้าหากมีการลงทุนใดๆ ที่จะให้กำไร 2.5 % ขึ้นไป เขาก็จะนำเงินออกมาลงทุนเพื่อให้มีรายได้เข้ามาชดเชยซะกาตที่เขาจะต้องจ่าย ด้วยเหตุนี้ในระบบอิสลาม ซะกาตจึงเป็นกลไกอันหนึ่งที่จะผลักดันเงินที่ออมอยู่นิ่งๆของคนมั่งมี ให้ออกมาหมุนเวียนในระบบเศณษฐกิจอยู่ตลอดเวลา

          ระบบเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน ไม่มีมาตราการใดๆที่จะผลักดันความมั่งคั่งของคนมั่งมีให้ออกมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ ภาษีมรดกและภาษีทรัพย์สินก็เป็นฝันที่ค้างกันมานับยี่สิบปี ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลทำได้ก็คือ การไปกู้เงินจากต่างประเทศ หรือกู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศเข้ามาอัดฉีดลงไปในระบบเศรษฐกิจ แต่ผลที่ตามมาก็คือรัฐบาลต้องมีหนี้สินมากขึ้น และคนที่ต้องชำระหนี้สินก็คือประชาชนธรรมดาๆผู้จ่ายภาษีอีกนั่นเอง ไม่ใช่เศรษฐีที่มีเงินไว้กินดอกเบี้ย