ประกาศปฏิญญาดาการ์
แถลงการณ์สรุปการประชุมสัมนาอุละมาอ์อิสลาม ( Conference of The Ummah Scholars ) ณ เมืองดาการ์ สาธารณรัฐเซเนกัล ระหว่างวันที่ 4-6 เราะญับ 1432 (6-8 มิถุนายน 2011)
H.E.Prof.Mr.Abdoulaye Wade ประธานาธิบดี ประเทศเซเนกัล ร่วมกับ King Abdullah bin Abdul Aziz ได้จัดประชุมสัมนาอุละมาอ์อิสลาม( Conference of The Ummah Scholars ) ณ เมืองหลวงดาการ์ ประเทศเซเนกัล ระหว่างวันที่ 6-8 มิถุนายน 2554 โดยมีตัวแทนอุละมาอ์จาก 84 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมประชุมจำนวน 800 ท่าน ตัวแทนอุละมาอ์จากประเทศอาเซียนเข้าร่วมประชุมจำนวน 4 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ บรูไน โดยมี ดร.อิมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา เป็นตัวแทนอุละมาอ์ประเทศไทยเข้าร่วมประชุมสัมนาดังกล่าว
ตลอดช่วงเวลา 3 วัน บรรดาอุละมาอ์ได้นำเสนอปัญหาต่างๆที่มีความละเอียดอ่อนและมีความสำคัญต่อประชาชาติมุสลิม เพื่อขจัดและแก้ปัญหาความวิตกกังวล และเสริมสร้างแรงบันดาลใจสู่การแก้ไขปัญหาต่อไป ดังนี้
- สถานะของอุละมาอ์และความจำเป็นต่อการประชุมและประสานความร่วมมือกัน
- บทบาทของอุละมาอ์ต่อวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชาติอิสลาม
- ศูนย์วิจัยและค้นคว้านิติศาสตร์อิสลาม : ความเป็นจริงและความคาดหวัง
- บทบาทของอุละมาอ์ต่อการรักษาสันติภาพ ความมั่นคงและแก้ปัญหาแนวคิดสุดโต่ง
- บทบาทอุละมาอ์ต่อการเสริมสร้างประสิทธิภาพของอารยชนอิสลามและการเผชิญกับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ และวิกฤติการณ์ต่างๆ
- บทบาทสถาบันศึกษาอิสลาม และอิทธิพลต่อประชาชาติ
- บทบาทของอุละมาอ์ต่อการเผยแพร่คุณค่าความผ่อนปรน สันติภาพ การเจรจาระหว่างอารยธรรมและปัญหาร่วมสมัยของประชาชาติ
- บทบาทของอุละมาอ์ต่อปัญหาร่วมสมัยของประชาชาติในด้านปรากฏการของความหวาดกลัวอิสลามและความแปลกแยกทางวัฒนธรรม
หลังจากที่มีการนำเสนออย่างกว้างขวาง การอภิปรายที่เกิดผล และการสนทนาอย่างลึกซึ้ง สมาชิกผู้เข้าร่วมประชุมสัมนาได้มีมติประกาศปฏิญญาดาการ์ ดังนี้
ประกาศปฏิญญาดาการ์
ด้วยแรงบันดาลใจจากคำสอนของอิสลาม ทั้งจากอัลกุรอานและซุนนะฮ์ และเพื่อเป็นการสถาปนาอุดมการณ์ ในนามขององค์กรการประชุมสัมนาอิสลาม อ้างถึงผลของการจัดการประชุมสัมนาอุละมาอ์แอฟริกา ณ เมืองดาการ์ ระหว่างวันที่ 7-9 มิถุนายน 2010 โดย ฯพณฯ ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเซเนกัล อับดุลลอฮ์ วาด เป็นเจ้าภาพ และการประชุมสัมนาอื่นๆที่ผ่านมา เช่น การพบปะอุละมาอ์และนักคิดมุสลิมนานาชาติ ณ สำนักองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก มหานครมักกะฮ์ ระหว่างวันที่ 3-5 เราะบีอุลเอาวัล 1427 โดยกษัตริย์อับดุลลอฮ์ บินอับดุลอาซีซ แห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย ซึ่งได้ออกนโยบาย "สถาบันอิสลามเพื่อการทำงานร่วมกันระหว่างอุละมาอ์มุสลิม"
ด้วยความศรัทธามั่นว่าสาสน์ของอุละมาอ์คือมรดกอันล้ำค่าที่สืบทอดมาจากท่านนะบี ที่วางอยู่บนแกนแห่งการศึกษา การขัดเกลา และชี้นำ และแนะแนว
ด้วยความตระหนักและเข้าใจถึงบทบาทที่ยิ่งใหญ่ของอุละมาอ์ในอดีตต่อการดำรงชีวิตของประชาชาติ ความปลอดภัย ความมั่นคงในชีวิต และศักดิ์ศรีของพวกเขา และหน้าที่รับผิดชอบที่เสียงยิ่งของพวกเขา ในปัจจุบันและอนาคต ในการปฎิรูปสังคม และนำเสนอภาพลักษณ์ที่แท้จริงของอิสลาม ในฐานะที่เป็นศาสนาแห่งสันติภาพ ตั้งอยู่บนความถูกต้อง ให้อภัย และมีความครอบคลุมทุกประเด็นปัญหาด้านคุณธรรมและจริยธรรม
ด้วยความตระหนักถึงอันตรายของวิกฤติด้านคุณธรรมและจริยธรรม และภัยต่างๆที่คอยคุกคามประชาชาติ ไม่ว่าจะเป็นภัยจากการให้ร้ายป้ายสีความบริสุทธิ์ของอิสลามจากบุคคลภายนอก และภัยจากความยากจนและความแตกแยกภายใน ด้วยเหตุผลต่างๆดังกล่าวบรรดาอุละมาอ์อิสลามที่เข้าร่วมประชุมสัมนาจึงขอประกาศคำปฏิญญา ดังนี้
ประการแรก
ให้ตักเตือนกันในสัจธรรม ขันติธรรม ความยำเกรง การสืบหาและตรวจสอบ การพูดความจริง มีสัจจะ มีความบริสุทธิ์ใจในการทำงานเพื่ออัลลอฮ์ ให้คำปรึกษาและตักเตือนแก่ผู้นำ เรียกร้องและกระตุ้นพวกเขาสู่ความดีงาม ดังคำกล่าวของท่านนะบีมุฮัมมัด กล่าวว่า "ศาสนาคือการตักเตือน"
และช่วยกันสั่งเสียให้ผู้นำปฏิบัติหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของพวกเขาในการให้ความรู้และสร้างความตระหนักแก่สังคมอิสลาม โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาศาสนสถาน ผลประโยชน์ และการปกป้องศักดิ์ศรีของสังคมจากผู้ที่รุกรานและสร้างความเสียหาย และระแวดระวังอันตรายที่จะมาคุกคามเอกภาพความปลอดภัย และความสามัคคีของสังคม และแสวงหาวิธีการเผชิญหน้ากับความเสี่ยงดังกล่าว ด้วยการให้คำปรึกษาเปิดใจอย่างตรงไปตรงมา และเรียกร้องสู่ความยุติธรรมอันเป็นตัวชี้วัดของสัจธรรมในทุกกิจการงาน สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีอุละมาอ์ที่มีคุณธรรมต่อตัวเอง และแสดงออกถึงจริยธรรมที่ดีงามต่อหน้าสาธารณชน เพื่อที่จะได้เป็นแบบอย่างที่ดีด้วยบุคคลิกภาพและการแสดงออกของพวกเขา ก่อนที่พวกเขาจะพูดสิ่งใดออกมา
ประการที่สอง
เรียกร้องตนเอง บรรดาผู้นำตลอดจนสมาชิกในสังคม และผู้ที่มีอำนาจอยู่ในมือ ให้ทำงานที่แข็งขันเพื่อสานสายใยแห่งความสามัคคี มิตรภาพ และเอกภาพที่เหนียวแน่น ให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน ตอบโต้การรุกรานและให้ความคุ้มครองประชาชาติจากความหลงผิด และการทดสอบที่มารุมเร้า พวกเราขอเรียกร้องสู่
1. แสดงจุดยืนที่ชัดเจนเกี่ยวกับปัญหาปาเลสไตน์ ในฐานะที่เป็นปัญหาหลักทางด้านความเชื่อของประชาชาติ ทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาคมโลกได้รับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับแผ่นดินปาเลสไตน์ และมีส่วนร่วมในการปกป้องปาเลสไตน์ด้วยการสวดวิงวอน และให้การสนับสนุนปัจจัยอื่นๆ ทั้งที่เป็นรูปธรรม และนามธรรม ส่งเสริมให้เกิดความสามัคคีในหมู่ชาวปาเลสไตน์ และเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ให้การยอมรับรัฐปาเลสไตน์ที่เป็นอิสระ โดยมีอัลกุดส์เป็นเมืองหลวง
2. ทุ่มเททำงานอย่างหนักเพื่อยังยั้งการรุกรานอย่างป่าเถื่อนของยิวไซออนิสต์ต่อประชาชนชาวปาเลสไตน์ และมัสยิดอัลอักศอ รวมทั้งการทำสงครามโจมตีมัสยิดตามอำเภอใจ โดยเฉพาะมัสยิดอัลอักศอ อันเป็นบริเวณที่อัลลอฮ์ประทานความบะเราะกะฮ์ เป็นสถานที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นกิบลัตแรกของชาวมุสลิม
3. ยืนยันในคุณค่าแห่งเกียรติและศักดิ์ศรี ดังดำรัสของอัลลอฮ์ ความว่า
"และเกียรติและศักดิ์ศรีเป็นของอัลลอฮ์ ศาสนฑูตของพระองค์ และบรรดาผู้ศรัทธา"
(อัลมุนาฟิกูน /8)
ความเป็นประชาชาติสายกลางอันเป็นคุณสมบัติเฉพาะของมุสลิม ตามคำตรัสของอัลลอฮ์ ความว่า
"และในทำนองเดียวกัน เราได้กำหนดให้พวกเจ้าเป็นประชาชาติที่เป็นกลาง"
(อัลบะเกาะเราะฮ์ /143)
ความเป็นเอกภาพของประชาชาติดังคำตรัสของอัลลอฮ์ ความว่า
"แท้จริงนี่คือประชาชาติของพวกเจ้า ซึ่งเป็นประชาชาติเดียวกัน"
(อัล อันบิยาอ์ /92)
เรียกร้องสู่การยึดมั่นในสายใยที่ครอบคลุมของอัลลอฮ์ ปลุกจิตสำนึกในความหมายของความเป็นพี่น้องในอิสลาม เตือนประชาชนและผู้นำให้ระวังอันตรายจากความขัดแย้งและการปะทะกันระหว่างกลุ่มและแนวคิดที่แตกต่างกัน และย้ำเตือนถึงอันตรายของการกล่าวหาและดูหมิ่นศาสนฑูต บรรดาเศาะหาบะฮ์และครอบครัว หรือญาติใกล้ชิดของท่านนะบี
4. ย้ำเตือนว่าพื้นฐานของการปกครองคือความยุติธรรม เรียกร้องสู่การดำเนินการเพื่อปกปักษ์เลือดเนื้อของมุสลิม แก้ไขปัญหาความทุกข์ยากที่ได้ประสบกับประเทศมุสลิมบางประเทศ ด้วยการขับเคลื่อนกลไกของการปฏิรูปอิสลามที่วางอยู่บนพื้นฐานแห่งคำตรัสของอัลลอฮ์ ความว่า
"ดังนั้นพวกท่านจงยำเกรงอัลลอฮ์เถิด และจงปรับปรุงความสัมพันธ์ ระหว่างพวกท่าน"
(อัลอันฟาล /1)
และคำตรัสของอัลลอฮ์ ความว่า
"แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธานั้นเป็นพี่น้องกัน ดังนั้นพวกเจ้าจงไกล่เกลี่ยประนีประนอมกัน ระหว่างพี่น้องทั้งสองฝ่ายของพวกเจ้า
และจงยำเกรงอัลลอฮ์เถิด แล้วพวกเจ้าจะได้รับความเมตตา"
(อัลหุญุรอต /10)
5. ส่งเสริมให้มีการเจรจากับผู้อื่นอย่างมีเป้าหมาย โดยมุสลิมชนกลุ่มน้อยและมุสลิมใหม่จะได้รับประโยชน์ในเรื่องนี้ เสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพวกเขาเพื่อที่จะได้มีปฏิสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับสภาพสังคมที่รายล้อม และสภาพความเป็นจริงของชีวิตที่กำลังดำเนินอยู่ พัฒนาความร่วมมือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหน่วยงานเฉพาะทางและผู้เชื่ยวชาญในสังคมตะวันตก(ที่ไม่ใช่มุสลิม) โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาที่กำลังค้นหาข้อเท็จจริง
ประการที่สาม
เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ หน่วยงานของรัฐ องค์กร บุคคลและหน่วยงานอื่นๆ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดกับการศึกษาและการเผยแพร่ เพราะการศึกษาและการเผยแพร่เป็นสื่อสำคัญยิ่งสำหรับการปฏิรูปบุคคลและสังคม โดยผ่านกระบวนการดังต่อไปนี้
1. ให้ความสำคัญกับความรู้อิสลามที่มีรากฐานมาจากอัลกุรอานและซุนนะฮ์ ทั้งในโรงเรียน มหาวิทยาลัย มัสยิด และสื่อต่างๆ ให้ระวังการแสดงความคิดเห็นทางศาสนาโดยปราศจากความเข้าใจอย่างถ่องแท้ เพราะความเข้าใจผิดต่อนิติศาสตร์อิสลามจะทำให้เสี่ยงต่อความผิดพลาดในการนำไปประยุกต์ใช้กับสภาพความเป็นจริง และความผิดพลาดดังกล่าวจะส่งผลกระทบทางลบต่อศาสนา และทำให้การเรียกร้องเชิญชวนสู่อัลลอฮ์ กลายเป็นอัมพาตลง
2. ให้ความสำคัญกับภาษาอาหรับอย่างจริงจัง ในฐานะที่เป็นภาษาของอัลกุรอานและคลังของหะดิษ และในฐานะที่เป็นสื่อสำหรับการเสริมสร้างความสามัคคีและความเป็นเอกภาพของประชาชาติ และบำรุงรักษามรดกทางวัฒนธรรมร่วมกัน
3. ส่งเสริมให้มีการศึกษาอัลกุรอานอย่างจริงจังด้วยสื่อ และวิธีการเรียนสมัยใหม่ และเชื่อมโยงการศึกษาอัลกุรอานกับการศึกษาอย่างเป็นทางการ เพื่อให้เยาวชนได้เติบโตบนรากฐานที่ถูกต้อง และสอดรับกับคุณค่าทางศาสนาและวัฒนธรรมร่วมสมัย
4. เผยแพร่มารยาทด้วยความขัดแย้งและวิธีปรองดองกัน ปฏิบัติต่อผู้มีทัศนะต่างด้วยความเป็นธรรม ปราศจากทิฐิ ห่างไกลจากความอยุติธรรมและความอคติ พึ่งพาทางนำแห่งอัลกุรอานและซุนนะฮ์ และเจริญรอยตามแนวทางของบรรดาสะลัฟศอลิห์ เกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ดำเนินการด้วยการปิดกั้นแหล่งกำเนิดของความสุดโต่ง และเลยเถิดด้วยการชี้แจงและให้ความกระจ่างเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของศาสนาอิสลาม และการศึกษาอบรมที่วางอยู่บนพื้นฐานแห่งศาสนาอันบริสุทธิ์ แก้ไขและปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้ปลอดจากสิ่งที่ก่อให้เกิดความรู้สึกเกลียดชังและโกรธเคืองในหมู่ชาวมุสลิม
5. รับฟังความคิดเห็นของเยาวชนด้วยจิตใจที่เปิดกว้าง เปิดใจเสวนากับพวกเขาด้วยวิธีการที่นุ่มนวล เข้าประเด็นและโปร่งใส คบหากันด้วยความเมตตาและอ่อนโยน เชิญชวนและตักเตือนด้วยวิทยปัญญา พยายามปกป้องพวกเขาจากทุกแนวคิดที่แปลกปลอมและไม่ถูกต้อง และจากทุกแนวทางที่ไม่ดี ไม่เป็นประโยชน์
6. ให้ความสำคัญกับความรู้เกี่ยวกับการเป็นนักเผยแพร่ร่วมสมัย ด้วยการสร้างนักเผยแพร่ที่เปี่ยมด้วยอาวุธทางวัฒนธรรมร่วมสมัย รอบรู้อย่างครอบคลุมในสิ่งที่ถูกนำเสนอโดยผู้ที่ไม่หวังดีต่ออิสลาม มีความเป็นมืออาชีพในการเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางชุมชนผู้ยากไร้ ให้บริการทางวิชาการและสื่อแก่พวกเขาด้วยความจริงใจ เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนเส้นทางด้านการศึกษา เศรษฐกิจและสุขภาพ
7. ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ สื่อต่างๆในการถ่ายโอนข้อมูลและสัญญาณผ่านดาวเทียมให้คุ้มค่าที่สุด เพื่อประโยชน์ในด้านการเผยแพร่อิสลาม และการพัฒนาด้านการศึกษาและการเผยแพร่
ประการที่สี่
เรียกร้องตัวเอง ผู้นำ และองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องให้มีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ในการสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจให้แก่ประชาชาติ โดยผ่านกระบวนการต่างๆดังนี้
1. เรียกร้องและกระตุ้นให้ฟื้นฟูซุนนะฮ์ การวะกัฟ (การมอบทรัพย์สินให้เป็นสาธารณกุศล) พัฒนาทรัพย์สินวะกัฟ และจัดสรรเพื่องานด้านสาธารณกุศลและการศึกษา
2. เรียกร้ององค์กรสัมนาอิสลามและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนด้านโครงการสาธารณกุศลขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในประเทศมุสลิมที่กำลังพัฒนา และดำเนินการเพื่อเป็นการปูทางสำหรับโครงการดังกล่าวด้วยการจัดการประชุมสัมนา นานาชาติ เกี่ยวกับกลไกของเศรษฐกิจอิสลามและการวะกัฟ
ประการที่ห้า
เรียกร้องตัวเอง และหน่วยงานต่างๆที่ให้การสนับสนุนการประชุมสัมนาในครั้งนี้ ให้ดำเนินการหลังจากการประชุมในครั้งนั้ได้เสร็จสิ้นลง ดังนี้
1. แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและประสานงานที่ประกอบด้วยหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการประชุม และองค์กรระหว่างประเทศที่มีหน้าที่กำกับดูแลการทำงานอิสลามซึ่งได้แก่ องค์การการประชุมอิสลาม (Organization of the Islamic Conference หรือ OIC) องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมอิสลาม (Islamic Educational, Scientific and Cultural Oraganization หรือ ISESCO) ธนาคารอิสลามเพื่อการพัฒนา (Islamic Development bank หรือ IDB ) และองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก และองค์กรต่างๆภายใต้สังกัดที่มีความเกี่ยวข้อง
2. เร่งดำเนินการตามข้อเสนอแนะของการประชุมสัมนาอุละมาอ์ทวีปแอฟริกาที่เกี่ยวกับการจัดตั้งสมาพันธ์อุละมาอ์ประจำทวีปแอฟริกาเหนือ ดังที่มีปรากฏในทวีปอื่นๆ
3. จัดตั้งหน่วยงานหรือองค์กรเพื่อทำหน้าที่ในการประสานงานระหว่างอุละมาอ์อิสลามที่อาศัยอยู่ในประเทศมุสลิมและที่อื่นๆ คอยติดตามปัญหาต่างๆที่มีความสำคัญต่อชาวมุสลิม และให้คำชี้ขาดต่อปัญหาต่างๆเหล่านั้นบนพื้นฐานแห่งทางนำจากอัลกุรอานและซุนนะฮ์ ของท่านะบีมุฮัมมัด
สุดท้ายที่ประชุมขอขอบคุณรัฐบาลเซเนกัล และรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย ที่ได้จัดการประชุมในครั้งนี้
อบู อัชบาล - ถอดความ
มัจลิอิลมีย์ ปูยุด ปัตตานี
จากหนังสือ "ที่นี่สำนักจุฬาราชมนตรี" ปีที่ 1 ฉบับที่ 5