ท่านเราะสูล กับวันอีด
โดย ...อ.อับดุลเราะมัน เจะอารง
พระองค์อัลลอฮฺได้กำหนด 2 วันในรอบปีเป็นวันอีด ที่อนุญาตให้มุสลิมทั้งชายและหญิงแม้กระทั่งเด็กเฉลิมฉลองกัน ซึ่งทั้งสองวันนี้มีความผูกพันกับ 2 รุกนอิสลาม คือ การถือศีลอดและการประกอบพิธีฮัจญ วันอีดแรกคืออีดิล ฟิฎรีย์วันที่ 1 ของเดือนเชาววาล หลังจากที่บรรดามุสลิมได้ถือศีลอด 1 เดือนเต็ม วันอีดที่ 2 คือวันอีดิลอัฏฮา หรืออีดิลฮัจญ์ หรืออีดิลอักบัร คือวันที่ 10 ของเดือนญุลฮิจญะฮ์ คือช่วงที่มุสลิมกำลังประกอบพิธีฮัจญ์ ณ นครมักกะฮ์ของทุก ๆปี
วันอีดทั้ง 2 วันดังกล่าวที่บรรดามุสลิมทั่วโลกเฉลิมฉลองกันมีแบบอย่างของการปฏิบัติจากท่านเราะสูล บรรดามุสลิมควรปฏิบัติกิจกรรมวันนี้ตามสุนนะฮ์ของท่าน เพื่อจะได้ผลบุญของการปฏิบัติตาม
พระองค์อัลลอฮ์ ได้ตรัสไว้ความว่า
قلْ إن كنتُمْ تُحِبُّونَ اللهَ فاتَّبِعونِي يُحْبِبْكمُ ويغْفِرْ لكُم ذُنوبَكم واللهُ غقُورٌ رحيمٌ (آلِ عمْران/31)
“จงกล่าวเถิด(มุหัมมัด) ว่า หากพวกท่านรักอัลลอฮฺ ก็จงปฏิบัติตามฉัน อัลลอฮฺก็จะทรงรักพวกท่าน
และจะทรงอภัยให้แก่พวกท่านซึ่งโทษทั้งหลายของพวกท่าน และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ”
ดังนั้นในเรื่องนี้และเรื่องอื่น ๆ เราจะได้ผลบุญเป็น 2 เท่า คือ หนึ่ง ผลบุญที่ได้ปฎิบัติกิจกรรมในวันอีด สองผลบุญของการเจริญรอยตามสุนนะฮ์ของท่านเราะสูล
เครื่องแต่งกายในวันอีด
ในวันอีดทั้งสองวัน ท่านเราะสูล ได้สวมใส่เสื้อผ้าที่ดีที่สุดเท่าที่มี ท่านจะใช้น้ำหอมและครีม ชุดที่ท่านได้สวมใส่ใน 2 วันนั้น คือ
1. ชุดยาวที่มีชื่อว่า บุรดะฮ์ بُرْدَة ที่ทำจากผ้าฝ้ายเป็นสีแดงและเขียวมีลาย
2. ชุดยาวที่มีชื่อว่า หิบะเราะฮ์ حِبَرَة ที่ทำจากผ้าฝ้ายเป็นสีแดง สีน้ำเงินและสีเขียว
การกินอาหารในวันอีด
ในวันอีดิลฟิฏรีย์ท่านเราะสูลได้รับประทานอาหารก่อนที่จะออกไปละหมาดอีด ส่วนอีดิลอัฏฮาท่านจะออกไปละหมาดในช่วงเช้าโดยไม่ได้รับประทานอะไรก่อน นอกจากเมื่อหลังละหมาดอีดและหลังจากได้เชือดสัตว์กุรบานจึงรับประทานจากเนื้อสัตว์นั้น
สถานที่ละหมาด
สถานที่ละหมาดในวันอีด คือ ที่สนามที่เรียกว่ามุศอลลา ไม่ใช่ที่มัสยิด ตามหะดีษที่รายงานโดยอะบี สะอีด อัลคุดรีย์และบันทึกโดยบุคอรีย์ ท่านเราะสูล ได้กำหนดสถานที่ที่จะทำการละหมาดอีด แล้วใช้ให้เศาะหาบะฮฺไปปักหลักและแจ้งให้บรรดามุสลิมทราบล่วงหน้า
การเดินทางไปและกลับจากมุศอลลา
เป็นเรื่องสุนนะฮ์ที่มุสลิมทุกคนควรเดินเท้าออกไปละหมาดวันอีด ทั้งขาไปและขากลับ และขากลับให้กลับทางอื่นที่ไม่ใช่ทางเดินไป ในช่วงที่เดินทางไปละหมาดท่านจะอ่านตักบีร الله أكْبَر และตะฮ์ลีล لا إلهَ إلاَّ اللهُ และตะหฺมีด والله أكْبَرُ وللهِ الحمْدُ
เวลาตักบีร
สำหรับอีดิลฟิฏรีย์ให้เริ่มตักบีรตั้งแต่ตะวันลับขอบฟ้าของวันสุดท้ายของเดือนรอมาฏอนและสิ้นสุดเมื่ออิมามได้ออกเพื่อทำการละหมาดอีด
ส่วนในวันอีดิลอัฏหาเวลาตักบีรจะเริ่มจากเช้าตรู่ของวันอะรอฟะฮ์ คือวันที่ 10 ของเดือนซุลฮิจญะฮ์ และสิ้นสุดช่วงดุริอ์ของวันตัชรีก คือวันที่ 13 ของเดือนซุลฮิจญะฮ์
คำกล่าวตักบีร
ตามรายงานของบัยหะกีย์กล่าวว่า อับดุลลอฮ์ บิน อับบาสกล่าวตักบีรดังนี้
الله أكْبر، اللهُ أكْبَر ، اللهُ أكْبَر
لا إلَه إلاَّ اللهُ واللهُ أكْبَر
اللهُ أكْبَر ، وللهِ الحمْدُ .
สถานที่ตักบีร
สถานที่ตักบรี คือ ที่มัสยิดและบนถนนและในตลาด สำหรับผู้อนุญาตให้ใช้เสียง ส่วนบรรดาผู้หญิงให้ตักบีรด้วยเสียงเบา ๆ
กิจกรรมก่อนออกละหมาด
หน้าที่อย่างหนึ่งที่มุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติในช่วงเดือนรอมาฏอน คือ การจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮ์ที่บังคับให้ทุกคนในครอบครัวต้องจ่าย แม้กระทั่งทารกที่เกิดใหม่ นอกจากบุคคลที่ไม่เงินจริง สำหรับเวลาที่เหมาะสมที่สุด คือก่อนวันสุดท้ายของเดือนรอมาฏอน
สตรีและเด็ก ๆ
ศาสนาอนุญาตให้นำสตรีและเด็ก ๆออกไปยังสถานที่ละหมาดอีด แม้กระทั่งสาว ๆ และสตรีที่มีประจำเดือนโดยให้นั่งห่างจากสถานที่ที่จัดการละหมาด
การอ่านของอิมามในการละหมาด
มีรายงานจากหะดีษที่บันทึกโดยบุคอรีย์และมุสลิมว่าท่านเราะสูล ได้ละหมาดทั้งสองวันอีดและได้อ่านในร๊อกอัตแรกสูเราะฮ์อัล-อะลา سورة الأعلى และในร๊อกอัตที่ 2 ให้อ่าน سورة الغاشية
และอีกรายงานหนึ่งกล่าวว่าท่านเราะสูลได้อ่านในร๊อกอัตแรก คือ سورة ق และในร๊อกอัตที่ 2 ท่านได้อ่าน سورة القمر