ลำดับความสำคัญในชีวิตมุสลิม
  จำนวนคนเข้าชม  7246

 

ลำดับความสำคัญในชีวิตมุสลิม


โดย..... อ. อับดุลเราะมัน เจะอารง


          คัมภีร์อัลกุรอานเป็นธรรมนูญชีวิตของมุสลิมที่คอยส่องทางให้ ดังนั้นหน้าที่ของมุสลิม คือเอาใจใส่ในสิ่งที่อัลกุรอานได้ให้ความสำคัญ สิ่งที่อัลกุรอานได้ให้ความสำคัญมีหลายประการ ซึ่งประกอบด้วยหลักการศรัทธาที่สำคัญ หลักการปฏิบัติตนด้านการงานและทรัพย์สิน และหลักจริยธรรมและมนุษยสัมพันธ์

          มุสลิมมีหน้าที่ปฏิบัติตามข้อชี้ขาดที่อัลลอฮฺทรงได้กำหนดไว้  ข้อชี้ขาดที่พระองค์ทรงกำหนดนั้นส่วนหนึ่งมุสลิมต้องปฏิบัติก่อนสิ่งอื่น และส่วนหนึ่งปฏิบัติตามหลังได้ ดังนั้นหน้าที่ของมุสลิม คือ รู้สิ่งที่ต้องปฏิบัติก่อนและต้องปฏิบัติภายหลัง โดยการยึดมั่นในคำชี้แจงที่มีการระบุในคัมภีร์อัลกุรอาน

 

           คำสอนที่อัลกุรอาน ให้ความสำคัญและได้ย้ำในหลายๆ อายะฮฺ ทั้งที่เป็นคำสั่งใช้และข้อห้าม พร้อมกับระบุผลการตอบแทนอย่างชัดเจน เราต้องจัดสิ่งนี้อยู่ในลำดับแรก ๆในความคิด การปฏิบัติและการให้เกียรติ

           ตัวอย่าง ด้านการศรัทธาที่อัลกุรอานเน้นมาก ๆ คือ การศรัทธาต่อพระองค์อัลลอฮฺ การศรัทธาต่อบรรดาศาสนทูตของพระองค์ การศรัทธาต่อโลกที่จะตามหลังโลกดุนยานี้ การตอบแทนที่ทุกคนจะได้รับในวันโลกหน้าพร้อมกับความยุติธรรมที่มนุษย์ทุกคนจะได้รับ สวรรค์และนรก พร้อมกับความโปรดปราน ความสุขสบายของผู้ที่มีสิทธิได้เข้าไปอยู่ในสวนสวรรค์ในรูปแบบที่ดวงตาไม่เคยเห็น ใบหูไม่เคยได้ยินและจิตใจไม่เคยคิดฝัน กอรปกับความทุกข์ทรมาน ความเจ็บปวดสำหรับผู้ที่พระองค์กำหนดให้อยู่ในขุมนรก ซึ่งทั้งสองประการนี้เป็นผลพลอยได้จากการปฏิบัติของพวกเขาในช่วงมีชีวิตอยู่ในโลกนี้

 เกี่ยวกับเรื่องนี้อัลลอฮฺ  ทรงยืนยันอย่างแน่นอนและ ตรัสไว้ความว่า

        تلكَ الدَّارُ الآخرةُ  نجعلُها للذينَ لا يريدونَ علُوًّا في الأرضِ ولا فساداً والعاقبةُ للمتَّقين ، مَن جاءَ
        بالحسنةِ فلهُ خيرٌ منها ومَن جاءَ بالسيِئةِ فلا يجزَى الذينَ عمِلوا السيِّئاتِ إلا ما كانوا يعملون
        (القصص/84)

"นั่นคือที่พำนักแห่งปรโลกเราได้เตรียมมันไว้สำหรับบรรดาผู้ที่ไม่ปรารถนาหยิ่งผยองในแผ่นดินและไม่ก่อการเสียหาย

 และบั้นปลายย่อมเป็นของบรรดาผู้ยำเกรง

(คือพำนักที่มีเกียรติยิ่งที่ท่านได้ยินข่าวคราวของมันนั้น เราเตรียมไว้สำหรับผู้ยำเกรงที่ไม่ประสงค์แสดงความหยิ่งผยอง ไม่อธรรม ไม่ทำร้ายผู้อื่นในโลกนี้)

ผู้ใดเอาความดีมา เขาก็จะได้รับความดียิ่งกว่า และผู้ใดเอาความชั่วมา บรรดาผู้กระทำความชั่วทั้งหลายนั้นจะไม่ถูกตอบแทนนอกจากที่พวกเขาได้กระทำไว้

(และนี่คือความโปรดปรานของอัลลอฮฺที่มีต่อปวงบ่าวของพระองค์ คือ พระองค์ทรงเพิ่มพูนความดีทั้งหลายหลายเท่าให้แก่ผู้กระทำความดี

ส่วนผู้กระทำความชั่วนั้นจะถูกตอบแทนเท่าที่เขาได้กระทำไว้)


 
          ตัวอย่างของหลักการปฏิบัติสำคัญที่อยู่ในลำดับต้น ๆ คือ การดำรงการละหมาดในเวลาของมันอย่างสม่ำเสมอจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต  การจ่ายซะกาตให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับ การยอมถือศีลอดหนึ่งเดือน ทุก ๆปี และการไปประกอบพิธีฮัจญ เพื่อรำลึกถึงการเกิดมาของอิสลามในสมัยของท่านนบีมุหัมมัด การรำลึกถึงอัลลอฮฺด้วยการกล่าวนามของพระองค์และการแซ่ซ้องสดุดีพระองค์ การขออภัยโทษ หวังความโปรดปรานของพระองค์และเกรงกลัวต่อบทลงโทษของพระองค์ รู้จักขอบพระคุณในความเมตตาที่ได้รับ มีความอดทนต่อโรคภัยไข้เจ็บและบทลงโทษที่พระองค์ได้ทดสอบต่อบ่าวของพระองค์ในรูปแบบต่าง ๆ นานา

            ตัวอย่างหลักจริยธรรมและการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อมนุษย์ร่วมโลกนี้ เช่น การพูดจริง ความซื่อสัตย์ ความพยายามรักษาความบริสุทธิ์ของตนเอง ความละอายต่อพระองค์อัลลอฮฺ ในการละทิ้งสิ่งที่พระองค์ทรงใช้และละเมิดสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม การถ่อมตน อยู่อย่างมีเกียรติ ไม่หยิ่งยโส ไม่โอ้อวดผู้อื่น ใช้สิ่งที่พระองค์อำนวยให้อย่างพอดิบพอดี ไม่สุรุ่ยสุร่ายจนเกินขอบเขต รู้จักให้แก่ผู้อื่นที่มีความต้องการ ไม่ชอบอิจฉาผู้อื่น สงสาร เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้คนยากจนและคนด้อยโอกาส เอ็นดูต่อเด็กยากจนและเด็กกำพร้า เป็นต้น

 

            ส่วนคำสอนที่อิสลามให้ความสำคัญรองลงมา เรามีหน้าที่ให้ความสำคัญตามลำดับเช่นกัน เช่น การให้ความสำคัญแก่การเดินทางในยามค่ำคืนของท่านเราะสูลจากมักกะฮฺไปยังมัสยิด อัล-อักศอที่นครเยรูสาเล็มและการขึ้นท้องฟ้าในคืนอิสเราะอฺและเมิ๊ยะรอจญ ซึ่งมีการกล่าวถึงเพียงในหนึ่งที่อย่างสั้น ๆในอัลกุรอาน และมีความแตกต่างกัน จากการต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ ที่กล่าวถึงในทั้งสองช่วง ช่วงที่ท่านใช้ชีวิตอยู่ที่มักกะฮฺทั้ง 13 ปี และช่วงที่ท่านอาศัยอยู่ที่นครมะดีนะฮฺ 10 ปีหลัง ซึ่งมีการกล่าวรายละเอียดและย้ำการกล่าวในหลายๆที่และหลายๆ สูเราะฮฺ

          การประสูติของท่านเราะสูล วันประสูติและสถานที่ประสูติ ปรากฏว่าอัลกุรอานไม่ได้ให้ความสำคัญ จึงทำให้ 2 ประการนี้ไม่มีความสำคัญในทัศนะของอิสลาม เพราะไม่มีสิ่งแปลกประหลาดในความผูกพันกันกับ 2 ประการนี้ และไม่มีอิบาดะฮฺใด ๆที่ต้องกระทำ หรือควรกระทำเนื่องในโอกาสนี้ ผู้ใดที่ให้ความสำคัญเนื่องจากเหตุการณ์นี้เกินความจำเป็น เช่น จัดกิจกรรม หรือทำอิบาดะฮฺอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง ถือว่าเขาได้ให้ความสำคัญแก่สิ่งที่อัลกุรอานไม่ได้ให้ความสำคัญ


          มาตรฐานนี้เป็นมาตรฐานที่แน่นอนถาวร ไม่ผิดพลาดและไม่มีการเปลี่ยนแปลงลดหย่อน เหตุผลก็เพราะว่าคัมภีร์อัลกุรอานเป็นมาตรฐานของทุกศาสนา เป็นหลักของศาสนา เป็นคำสอนของอิสลาม ส่วนสุนนะฮฺ(คำพูด การกระทำและการยอมรับของท่านเราะสูล ) นั้นเป็นแหล่งที่มาของข้อชี้ขาดแหล่งที่ 2 ที่ช่วยอธิบายคำสอนที่ปรากฏในอัลกุรอาน

เกี่ยวกับคำสอนที่ปรากฏในอัลกุรอาน อัลลอฮฺ  ตรัสไว้ความว่า

             قد جاءَكم مِن الله نورٌ مبينٌ يهدِي بِه الله مَنِ اتَّبعَ رضْوانَه سبلَ السَّلامِ ويخرِجُهم مِن الظُّلُماتِ
إلى النُّورِ بإذنِه ويهْدِيهم إلى صراطٍ مسْتقيم (المائدة/15)   
                     
 “แท้จริง แสงสว่างจากอัลลอฮฺและคัมภีร์อันชัดแจ้งนั้นได้มายังพวกเจ้าแล้ว

ด้วยคัมภีร์นั้นแหละ อัลลอฮฺทรงแนะนำผู้ที่ปฏิบัติตามความพอพระทัยของพระองค์ ซึ่งบรรดาทางแห่งความปลอดภัย

และจะทรงให้พวกเขาออกจากความมืดไปสู่แสงสว่างด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺ และจะทรงแนะนำพวกเขาสู่ทางอันเที่ยงตรง”

 

และในอีกอายะฮฺพระองค์ตรัสไว้ความว่า

          إنَّ هذا القرآنَ يهْدِي لِلَّتِي هي أقْوَمُ ويبشِّرُ المؤمِنينَ الذينَ يعمَلونَ الصَّالِحاتِ أنَّ لَهم اجْراً كبيراً
           (الإسراء/9)
 
“แท้ทริง อัลกุรอานนี้นำสู่ทางที่เที่ยงตรงยิ่ง และแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้ศรัทธาที่ประกอบความดีทั้งหลายว่า

 สำหรับพวกเขานั้นจะได้รับการตอบแทนอันยิ่งใหญ่(คือสวนสวรรค์อันสุขารมณ์)”

 

 และในอีกอายะฮฺหนึ่งพระองค์ตรัสไว้ความว่า

ونزَّلْنا عليكَ الكِتابَ تبْياناً لكلِّ شيْءٍ وهدًى ورحمةً وبشْرى للمسْلِمين (النحل/89)

 “และเราได้ให้คัมภีร์แก่เจ้าเพื่อชี้แจงแก่ทุกสิ่ง และเพื่อเป็นทางนำและเป็นความเมตตา และเป็นข่าวดีแก่บรรดามุสลิม


 

           จาก 3 อายะฮฺนี้สรุปได้ว่า คัมภีร์อัลกุรอานได้อธิบายหลักสำคัญของอิสลาม เพื่อให้อิสลามนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานที่แข็งแรง มั่นคง ถาวร ไม่มีการเปลี่ยนแปลง หลักทั่ว ๆไปที่สำคัญที่เรายึดในการตัดสินข้อชี้ขาดในประเด็นต่าง ๆ ในชีวิตนี้ล้วนได้คัดลอกและสรุปมาจากเนื้อหาของอัลกุรอานทั้งสิ้น