ความดีทั้งหลายสำหรับผู้แปลกหน้า
  จำนวนคนเข้าชม  7976

 

ความดีทั้งหลายสำหรับผู้แปลกหน้า


โดย... อ.อับดุลเราะห์มาน เจะอารง


           มุสลิมที่ถือศีลอดในสังคมที่ไม่ใช่มุสลิมถือว่าเขาเป็นผู้แปลกหน้า เพราะปฏิบัติไม่เหมือนกับคนอื่นทั่วๆไป ขอเสนอหะดีษบทหนึ่งของท่านเราะสูล   ได้พูดถึงเกี่ยวกับผู้แปลกหน้า

ท่านเราะซูลลุลลอฮ์   ได้กล่าวว่า

بدأ الإسلامُ غريباً وسيعودُ غريباً كما بدأَ فطوبَى لِلغُرَباء (رواه مسلِم/372 ، والترمذي وابنُ ماجه)

 “อิสลามได้เริ่มขึ้นในสภาพที่แปลกหน้าและย้อนกลับอีกครั้งในสภาพแปลกหน้าอีกครั้งเหมือนที่ได้เริ่ม ดังนั้นความดีทั้งหลายจงประสบแก่ผู้ที่แปลกหน้า


ชนิดของความแปลกหน้า

 ความแปลกหน้ามี 2 ชนิดคือ

     1. แปลกหน้าเพราะอยู่ต่างแดน ห่างเหินจากครอบครัว ญาติใกล้ชิดและมิตรสหาย หรือเป็นแกะดำในสังคม

     2. แปลกหน้าเพราะทัศนคติ ความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ความเชื่อถือและการปฏิบัติที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นความแปลกหน้าที่เราต้องการในบทความนี้ เพราะถึงแม้ว่าจะอาศัยอยู่ในประเทศของตนเอง แต่ทัศนคติและการปฏิบัติที่ไม่เหมือนกันทำให้รู้สึกแปลกหน้าจากผู้อื่น


สุนนะฮ์ของอัลลอฮ์ 

           ตามสุนนะฮ์ของอัลลอฮ์ ทุกสิ่งทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลง และเป็นไปไม่ได้ที่ทุกอย่างจะอยู่กับที่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง การเริ่มต้นของอิสลามในรูปของการปกครองในรัฐในคาบสมุทรอาระเบีย โดยมีท่านเราะสูล  เป็นผู้นำ เริ่มต้นด้วยจำนวนคนเพียงเล็กน้อย และด้วยสภาพที่อ่อนแอ มีการอพยพถึง 2 ครั้ง แล้วจึงค่อยแข็งแรง มีจำนวนผู้สนับสนุนมากขึ้น มีพลังอำนาจเผยแผ่กระจายไปทั่วโลก จนสามารถปกครองพื้นที่ 1/3 ของโลกได้ เป็นที่รู้จักของมนุษย์และเป็นที่เกรงขามของมนุษยชาติ แล้วอิสลามจะกลับมาในสภาพแปลกหน้าเหมือนเดิมอีกครั้งหนึ่ง

 

ความหมายของผู้แปลกหน้า

           เพราะผู้แปลกหน้ามีความพิเศษหลายประการและเป็นที่ชมเชยของท่านเราะสูล   จึงทำให้มีผู้คนหลายคนอยากทราบว่าผู้แปลกหน้าคือใคร ? ปรากฏว่ามี 2 หะดีษที่สามารถอธิบายความหมายของผู้แปลกหน้า คือ

    1. ผู้แปลกหน้าคือ ผู้ที่มีคุณธรรม จริยธรรมจำนวนเล็กน้อยที่อาศัยอยู่ในกลุ่มคนเลวที่มีจำนวนมากกว่า โดยยึดหะดีษที่รายงานจาก

عن عبدِ الله بنِ عمرو قيلَ : من الغُرباء يا رسولَ الله ؟  قالَ : أُناسٌ صالِحونَ قليلٌ فيناسٍ
سوءٍ كثيرٍ ، مَن يعصيهِم أكثرُ ممَّن يطيعُهم (رواه الإمام أحمد) 

มีคนมาถามท่านเราะสูล ว่า ผู้แปลกหน้าคือใคร ?  ท่านได้ตอบว่า

"มนุษย์ที่มีคุณธรรม จริยธรรมจำนวนเล็กน้อยอาศัยอยู่ในกลุ่มมนุษย์เลวที่มีจำนวนมากกว่า ผู้ที่ไม่ศรัทธาจะมีจำนวนมากกว่าผู้ที่ศรัทธา

 

     2. ผู้แปลกหน้าคือผู้ที่ฟื้นฟูสุนนะฮ์ของท่านเราะสูล  และเผยแผ่สุนนะฮ์นี้ในหมู่คนผู้อื่น โดยมีหะดีษหนึ่งอธิบายว่า

مَن الفُرباء يا رسولَ الله ؟  قالَ : الذينَ يحْيون شنَّتِي ويعلِّمونَها الناس (رواه

“มีผู้ถามถามท่านว่า แล้วผู้แปลกหน้านั้นคือใคร ?  ท่านตอบว่า " บรรดาผู้ฟื้นฟูสุนนะฮ์ของฉัน และเผยแผ่สุนนะฮ์นี้ในหมู่มนุษย์”

 

ความประเสริฐของผู้แปลกหน้า

 เหตุผลท่านเราะสูล ได้ชมเชยบรรดาผู้แปลกหน้าก็เพราะว่า

     1. มนุษย์ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญแก่โลกดุนยา ในขณะที่ผู้แปลกหน้าจะให้ความสำคัญแก่ศาสนาของพวกเขา

     2. มนุษย์ส่วนใหญ่จะมุ่งหามนุษย์ด้วยกัน ในขณะผู้แปลกหน้าจะมุ่งหาสู่พระองค์อัลลอฮ์

     3. มนุษย์ส่วนใหญ่จะให้ความสนใจกับเรื่องไร้สาระ ไร้ประโยชน์ แต่เป็นที่ชอบของตัวเอง ในขณะที่ผู้แปลกหน้าจะให้ความสนใจเรื่องการฟื้นฟูสุนนะฮ์ของท่านเราะสูล และการเผยแผ่สุนนะฮ์ของท่านในมนุษย์ จึงทำให้มนุษย์มองพวกเขาเป็นผู้แปลกหน้า
        

         ดังนั้นผู้ปฏิบัติตามคำสอนของอิสลามอย่างถูกต้องจะถูกมองว่าเป็นผู้แปลกหน้า บรรดาผู้ศรัทธาในอิสลามอย่างถูกต้องถือว่าเป็นผู้แปลกหน้าในสังคมมุสลิมเอง บรรดาผู้มีความรู้ในบรรดาผู้ศรัทธาเองถือว่าเป็นผู้แปลกหน้าในสังคมมุสลิม บรรดาผู้ปฏิบัติตามสุนนะฮฺอย่างเคร่งครัดถือว่าเป็นผู้แปลกหน้าในหมู่บรรดาผู้ที่ปฏิบัติสิ่งบิดอะฮ์ทั้งหลาย


  สรุปเรื่องนี้ด้วยคำกล่าวของอัล-หะซันที่กล่าวว่า

         ชีวิตของมุอฺมินบนโลกนี้เหมือนกับผู้แปลกหน้าที่ไม่ตระหนกและทึ่งกับความเพลิดเพลิน สนุกสนานของอารมณ์ที่ไร้ค่าและไม่แก่งแย่งชิงดีชิงเด่นอย่างสุด ๆในความเพริดพริ้งของความสุขอันชั่วคราวของโลกนี้  สภาพของผู้แปลกหน้าจะแตกต่างกับสภาพของมนุษย์ทั่ว ๆไป มนุษย์ทั่วไปจะอยู่ในสภาพเคลิ้มกับความสุขชั่วคราว แต่ผู้แปลกหน้าจะอยู่ในสภาพเรียบง่าย เหนื่อยและลำเค็ญ