บทบาทองค์ความรู้ในการเสริมสร้างสันติภาพในภูมิภาค
  จำนวนคนเข้าชม  13526

 

บทบาทองค์ความรู้ในการเสริมสร้างสันติภาพในภูมิภาค

 

         ถ้อยคำเหล่านี้คือ ส่วนหนึ่งในคำกล่าวสุนทรพจน์ ของ  Y.A.Bhg.Tun. Dr. Mahathir Bin Mohamad หัวข้อ "บทบาทองค์ความรู้ในการเสริมสร้างสันติภาพในภูมิภาค" เนื่องในโอกาสรับมอบปริญญารัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  ในวันที่ 3 ตุลาคม 2554  ณ หอประชุมวันมูหะมัดนอร์ มะทา มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา


         ....ปัจจุบันวิทยาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้พัฒนาอย่างรวดเร็วมาก และเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของมนุษย์ เราสามารถสื่อสารกับผู้คนทั่วโลกโดยใช้โทรศัพท์มือถือ เสมือนกับเราอยู่ใกล้ชิดกัน นี่คือผลพวงของการพัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์ และยังมีศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์อีกมากมาย

          ข้อสำคัญเราอย่าใช้องค์ความรู้เหล่านี้ไปในทางที่ผิด เพราะผู้ที่มีการศึกษา ใช่ว่าสามารถประยุกต์ใช้คำสอนที่ถูกต้องเสมอไป หลายคนที่ใช้องค์ความรู้เพื่อทำลายตัวเอง ครอบครัวและสังคม ดังนั้น นอกจากการแสวงหาความรู้แล้ว เราจำเป็นต้องมีศาสนาคอยกำกับดูแลและสร้างมาตรฐานชีวิตที่สมบูรณ์ นี่คือหน้าที่ของเราในการนำองค์ความรู้เพื่อสรรค์สร้างสังคมที่ดี หากทุกคนตระหนักว่าการพัฒนาสังคมและการปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาที่ถูกต้องคือภารกิจหลักของเราแล้ว ผมเชื่อว่าสังคมมุสลิมเป็นสังคมสันติสุขไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม-อินชาอัลลอฮฺ

 

           ในปัจจุบัน สังคมมุสลิมกำลังประสบปัญหาวิกฤติมากมาย หลาย ๆ ประเทศมุสลิมต้องเผชิญกับความเดือดร้อนวุ่นวาย ถูกกดขี่และไม่สามารถดำเนินชีวิตอย่างอิสระชน เพราะถูกกดดันจากฝ่ายที่ไม่หวังดี  ในประเทศไทยถึงแม้มีมุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อยแต่ก็สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุข แต่พึงระวัง...เราอย่าใช้องค์ความรู้ไปในทางที่ผิดที่อาจสร้างความสูญเสียแก่สังคมดังที่เกิดขึ้นในประเทศมุสลิมบางประเทศที่เกิดสงครามกลางเมือง และสู้รบในหมู่มุสลิมด้วยกันเอง ซึ่งตามทัศนะอิสลามแล้ว ถือเป็นความผิดพลาดอย่างยิ่ง เพราะอิสลามสั่งห้ามมิให้ฆ่าบุคคลอื่นโดยมิชอบ ทั้งที่เป็นมุสลิมหรือชนต่างศาสนิก การเข่นฆ่าชนต่างศาสนิกไม่ใช่เป็นหน้าที่ของเรา แต่สิ่งที่อิสลามเรียกร้องเชิญชวนคือใช้ชีวิตอย่างปกติสุขกับชนอื่นๆ ท่ามกลางความแตกต่างทางความเชื่อ

อัลลอฮฺ ได้ตรัสไว้ความว่า 

“ศาสนาของท่านเป็นศาสนาของท่าน และศาสนาของฉันคือศาสนาของฉัน”

โองการนี้แสดงให้เห็นว่า เราไม่เป็นศัตรูกับผู้ใด และเราจะไม่ประกาศสงครามกับคนอื่นยกเว้นในกรณีเราถูกรุกรานเท่านั้น

 

          ปัจจุบันเราพบว่า มีมุสลิมจำนวนมากที่อาศัยอยู่ตามประเทศที่ปกครองโดยผู้นำที่ไม่ใช่มุสลิม มีมุสลิมราว 10 ล้านคนอาศัยอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา กว่า 3 ล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศเยอรมัน ในขณะที่ในประเทศอังกฤษก็มีมุสลิมเป็นเรือนแสน ในฝรั่งเศสมีมุสลิมมากกว่า 5 ล้านคน ซึ่งชาวมุสลิมเหล่านี้สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุข เพราะพวกเขาใช้ความรู้ที่ถูกต้อง และปฏิบัติตามหลักศาสนบัญญัติที่สอดคล้องกับความสามารถของตนเอง ซึ่งหากเราเป็นพลเมืองในประเทศสหรัฐอเมริกา เราก็ไม่สามารถปฏิบัติตามหลักศาสบัญญัติได้อย่างสมบูรณ์ เพราะอาจขัดแย้งกับกฎหมายของประเทศ เช่นเดียวกันกับที่มาเลเซีย ซึ่งมีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลาม 60% ในขณะที่อีก 40% ไม่ใช่มุสลิม เราจึงจำเป็นต้องมีความรอบคอบและเฝ้าระวังมิให้เหตุการณ์วุ่นวายเกิดขึ้นในประเทศของเรา

          ขอขอบคุณต่ออัลลอฮฺที่ถึงแม้เรามีทัศนคติที่แตกต่างกันบ้าง แต่โดยภาพรวมแล้ว เรายังสามารถยืนหยัดบนหลักการความยุติธรรมตามเจตนารมณ์ของอิสลาม มาเลเซียจึงเป็นประเทศที่สงบสุข และท่ามกลางบรรยากาศอันสงบสุขนี้ เราสามารถพัฒนาประเทศอย่างเต็มศักยภาพ นอกจากนี้เราสามารถมีบทบาทบนเวทีโลก เนื่องจากความมีเสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจและการปกครอง ถึงแม้เรามีรัฐบาลที่ปกครองโดยชาวมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม แต่ด้วยพลังแห่งความร่วมมือจากทุกฝ่าย เราจึงสามารถสร้างประเทศที่มีความปรองดองและพัฒนาประเทศให้เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว และนี่คือผลพวงจากองค์ความรู้ของบรรดาผู้นำประเทศมาเลเซีย

 

           ด้วยความรู้ทำให้ผู้นำเหล่านี้สามารถแยกแยะสิ่งไหนควรทำและสิ่งไหนไม่ควรทำ เพื่อป้องกันความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้นในประเทศ มาเลเซียจึงปลอดภัยจากวิกฤติที่ร้ายแรง เพราะอัลลอฮฺ ทรงไม่ชอบคนที่สร้างความวุ่นวาย เราควรพยายามหาแนวทางเพื่อสร้างหลักประกันให้เกิดสันติสุขในสังคม โดยให้ความสำคัญประเด็นศาสนา และนี่คือบทบาทของความรู้ที่ไม่ใช่นำพามนุษย์ให้จมปลักตามอารมณ์ของตนเองเท่านั้น

          มนุษย์มีสติปัญญา จึงต่างกับสรรพสัตว์ทั้งหลายที่สามารถกระทำตามอารมณ์ใฝ่ต่ำ ยามใดที่จนตรอก มันก็จะจู่โจมและทำร้ายโดยไม่ยั้งคิด แต่ด้วยอาศัยพลังแห่งปัญญาและความรู้ มนุษย์สามารถหาจุดอ่อน จุดแข็งของตนเอง เมื่อใดที่มนุษย์รับทราบถึงจุดอ่อนจุดแข็งของตนเองแล้ว เขาสามารถกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อเอื้อประโยชน์และสร้างความปลอดภัยให้กับตนเอง แต่หากเราคล้อยตามอารมณ์หรือดำเนินการใด ๆ ที่ไม่ก่อประโยชน์แก่ตนเอง เราก็จะประสบกับความวุ่นวายและความยากลำบากในชีวิต จนกระทั่งในบางครั้ง อาจทำให้ศาสนาของเราหม่นหมองไปด้วย

           ด้วยเหตุนี้ มนุษย์จึงพยายามไขว่คว้าความรู้ ณ ทุกแห่งหน การแสวงหาความรู้จึงเป็นบทบัญญัติทางศาสนา อิสลามสั่งใช้ให้มนุษย์ “อ่าน” และเรียนรู้ เพราะเมื่อเราอ่าน เราก็สามารถเพิ่มพูนความรู้ ผู้ใดที่ไม่อ่านหนังสือ เป็นไปไม่ได้ที่เขาจะมีความรู้ การอ่านจึงเป็นความพยายามที่กว้างขวางครอบคลุมทุกศาสตร์วิชา และเราต้องเรียนรู้ในทุกแขนงวิชา หากเราไม่รู้ เราจะเป็นคนปลายแถวทันที

 

          ณ ที่นี่ ผมใคร่พูดถึงประวัติศาสตร์ของประชาชาติมุสลิม ซึ่งในยุคแรกของประวัติศาสตร์อิสลาม มุสลิมขวนขวายหาความรู้ด้วยความมุ่งมั่น พวกเขาเป็นผู้บุกเบิกศาสตร์ด้านต่างๆ ทั้งวิทยาศาสตร์และปรัชญา พวกเขามีความเชี่ยวชาญภาษาอื่นๆ เช่น ภาษากรีก ฮินดู เพื่อใช้เป็นสื่อในการแสวงหาความรู้ พวกเขาจึงแตกฉานศาสตร์ต่างๆ และเผยแพร่ไปทั่วโลก ในเมืองสำคัญของประเทศอิสลามในขณะนั้น จึงอุดมด้วยห้องสมุดและวิทยาการ แต่ในช่วงทศวรรษที่ 15 ได้มีแนวคิดว่าวิทยาศาสตร์และความรู้อื่น ๆ ไม่มีประโยชน์อันใดต่อชีวิต การเรียนรู้ในศาสตร์เหล่านี้ ไม่มีผลบุญอันใดเลย ผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์จึงไม่ค่อยให้ความสนใจพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์มากนัก

 ในขณะเดียวกันยุโรปขณะนั้นกำลังอยู่ในยุคมืด (The Dark Eges) ชาวยุโรปได้ศึกษาอารยธรรมอิสลาม และเห็นความก้าวหน้าทางวิชาการของโลกมุสลิม พวกเขาจึงศึกษาเรียนรู้ภาษาอาหรับเพื่อเป็นสื่อในการแสวงหาความรู้ที่ปรากฎในประเทศอิสลาม ในขณะเดียวกันชาวมุสลิมได้พร้อมใจหันหลังกับวิทยาการสมัยใหม่  แต่ชาวยุโรปกลับลุกขึ้นจากการหลับใหล หันมาสนใจศึกษาวิทยาการสมัยใหม่ จนกระทั่งยุโรปสามารถสถาปนา อารยธรรมที่มั่นคง เข้มแข็งตราบจนปัจจุบัน

ในขณะที่ชาวมุสลิมกลับถอยหลังเข้าคลอง พวกเขาไม่สามารถแม้กระทั่งปกป้องตนเอง เราพบว่าขณะนี้สภาพของมุสลิมประสบกับความตกต่ำแค่ไหน พวกเขาไม่สามารถลุกขึ้นปกป้องตนเอง นี่คือบทบาทองค์ความรู้ต่อการสร้างอารยธรรม หากเราไม่สามารถสรรค์สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ แสดงว่าเรากำลังเลือกเดินบนเส้นทางแห่งความถดถอย แต่หากเราเป็นสังคมภูมิปัญญา มีการศึกษาทั้งศาสตร์ศาสนา และศาสตร์การดำเนินชีวิต เราจะเป็นสังคมที่เจริญที่สามารถยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ ทัดเทียมกับอารยประเทศ


          นี่คือเหตุผลที่เราต้องเรียนรู้ตลอดเวลา เราอยากเห็นสังคมมุสลิมมีการพัฒนาเช่นเดียวกันกับสังคมอื่น เราไม่ตั้งใจที่จะประกาศสงครามกับชนต่างศาสนิก แต่เราควรแข่งขันกับเพื่อนมนุษย์บนโลกนี้ในทุกด้าน ทั้งด้านธุรกิจ เศรษฐกิจ การเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวิชาการ  เราไม่เพียงแต่ไขว่คว้าความรู้ที่มาจากข้างนอก แต่เราต้องคิดค้นสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ๆ โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ ขอให้ท่านมั่นใจว่า ด้วยวิธีการนี้เท่านั้นทำให้เราเป็นสังคมที่พัฒนา ไม่ว่าจะเป็นสังคมมุสลิมหรือไม่ก็ตาม.....

 

 

แปลโดย อ.มัสลัน   มาหะมะ

มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา