การค้าและการธนาคารในอิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  8650

 

การค้าและการธนาคารในอิสลาม

โดย...อ.อรุณ  บุญชม

 

โดยทั่วไปนั้นตำรานิติศาสตร์อิสลามจะแบ่งออกเป็น 4 ภาค คือ

ภาคที่ 1  ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระผู้เป็นเจ้าที่แสดงออกมาในรูปของการทำความดีต่างๆ

ภาคที่ 2  ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ในด้านธุรกิจตามหลักการศาสนาอิสลาม

ภาคที่ 3  ว่าด้วยเรื่องครอบครัวและมรดก

ภาคที่ 4  ว่าด้วยเรื่องความผิดทางอาญา การพิจารณาคดีและบทลงโทษ

 

          หลักนิคิศาสตร์อิสลามส่วนใหญ่ที่นำมาปฏิบัติกันจะได้แก่ ภาคที่ 1 และ ภาคที่ 3 สำฟรับภาคที่ 4 นั้นประชาชนคนไทยทุกคนต้องปฏบัติตามตัวบทกฏหมายที่ใช้บังคับอยู่ในประเทศ จึงไม่ได้นำมาปฏิบัติ

 

          ส่วนภาคที่ 2 ที่มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของมุสลิมทางด้านเศรษฐกิจนั้น มีการนำมาใช้เพียงบางส่วนและเป็นบางส่วนที่เล็กน้อยเท่านั้น ทั้งนี้เพราะแหล่งเงินทุนที่เป็นกลไกลสำคัญในการผลักดันให้กงล้อเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้น ต้องผ่านสถาบันการเงินระบบดอกเบี้ย ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามในอิสลาม ดอกเบี้ยจึงเป็นอุปสรรคลำคัญในการทำธุรกิจของมุสลิม นักเศรษฐศาสตร์มุสลิมพยายามที่จะก่อตั้งสถาบันการเงินที่ปลอดจากระบบดอกเบี้ย ด้วยการระดมเอาแนวทางของอิสลามที่มีอยู่แล้ว มาจัดให้เป็นระบบและสามารถดำเนินการได้จริง และต่อไปนี้ขอนำเสนอประวัติความเป็นมาของการค้าและการธนาคารในอิสลาม

 

การค้าและการธนาคารยุคก่อนอิสลาม

          ในราวตอนต้นศตวรรษที่เจ็ดก่อนก่อนการแต่งตั้งศาสดามุฮัมมัด  เป็นศาสนฑูตนั้น นครมักกะฮ์เป็นดินแดนที่มีความปลอดภัยมาก ทั้งนี้เพราะไม่ถูกคุกคามจากสองอาณาจักรในยุคนั้น คือ อาณาจักรเปอร์เซีย และอาณาจักรโรมันตะวันออก  นครมักกะฮ์จึงเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่มีความสำคัญ มีกองคาราวานการค้าทั้งที่เดินทางเข้ามาและเดินทางออกไป จากทางเหนือคือเมืองชาม(ซีเรีย) และทางใต้คือเมืองยะมัน(เยเมน) ซึ่งเป็นที่รู้กันดีในสมัยโบราณว่าเป็นการเดินทางในช่วงฤดูหนาว และฤดูร้อน ที่ถูกระบุไว้ในอัลกุรอาน ความว่า

"เพื่อให้ความคุ้นเคยแก่พวกเขา(ชาวกุรอยซ์) ในการเดินทางในฤดูหนาว(ไปเมืองยะมัน) และฤดูร้อน(ไปเมืองชาม)"

(กุรอยซ์ : 2)

         เมื่อมักกะฮ์กลายเป็นศูนย์กลางทางการค้า ก็เริ่มมีการฝากของมีค่าและเงินทอง และการลงทุนเกิดในสังคมของชาวมักกะฮ์

 

การฝากของมีค่าและเงินทอง

          สำหรับการฝากของมีค่าและเงินทอง พวกพ่อค้าและประชาชนทั่วไปจะฝากของมีค่าของตนไว้กับบุคคลที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับกันว่ามีความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งมีอยู่หลายคนในนครมักกะฮ์ในยุคนั้น และคนหนึ่งจากจำนวนนั้นก็คือมุฮัมมัด บุตรอับดุลลอฮ์ ผู้ที่ได้รับสมญานามในยุคนั้นว่า "อัลอะมีน" ซึ่งมีความหมายว่า "ผู้ซื่อสัตย์สุจริต" มุฮัมมัดบุตรอับดุลลอฮ์ ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนทั่วไปให้เป็นผู้เก็บรักษาของฝากของพวกเขา และความไว้วางใจนี้ยังคงมีอยู่ตลอดแม้เมื่อท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสดาแล้ว พวกที่ไม่ศรัทธาว่าท่านเป็นศาสดาแต่ก็ยังคงไว้วางใจท่านโดยนำสิ่งของมาฝากไว้กับท่าน จะเห็นได้จากคืนที่ท่านจะอพยพ(ฮิจเราะห์)จากมักกะฮ์ไปสู่มะดีนะฮ์ ท่านได้เรียกอาลี บุตรอบูฏอลิบ เข้าพบและได้สั่งให้นำสิ่งของที่มีผู้มาฝากไปคืนแก่เจ้าของโดยครบถ้วน ซึ่งผู้นำของมาฝากไว้นั้นมีทั้งมุสลิมีนและมุชริกีน

 

การฝากและรับของฝากนี้เป็นที่มาของหลักวะดีอะห์ ซึ่งมี 2 ชนิด

1. วะดีอะฮ์ ยัด อะมานะห์

           สำหรับวะดีอะฮ์ชนิดนี้มีหลักที่สำคัญคือ ฝากสิ่งใดไว้ก็จะได้รับสิ่งนั้นคืนไป และผู้รับฝากไม่ต้องรับใช้ในความเสียหายที่ไม่ได้เกิดจากการประมาท หรือเลินล่อ ซึ่งเป็นวะดีอะฮ์ในยุคต้น อย่างเช่น เมื่อมีคนนำถุงเงินมาฝากไว้ ผู้รับฝากก็จะเก็บรักษาไว้ในที่มีความมั่นคงและปลอดภัย เมื่อผู้ฝากทวงถามผู้รับฝากก็จะคืนถุงเงินนั้นคืนให้ไป ถ้าหากถุงเงินนั้นถูกขโมยไป หรือเสียหายโดยไม่ได้เกิดจากการประมาทเลินล่อของผู้รับฝาก ในกรณีนี้ผู้รับฝากไม่ต้องรับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น เพราะถือว่าผู้รับฝากเป็นผู้ได้รับความไว้วางใจ จึงไม่ต้องรับผิดในเหตุสุดวิสัยที่เกิดขึ้น

 

2. วะดีอะฮ์ ยัด ดอมานะฮ์

          วะดีอะฮ์ชนิดนี้ แตกต่างจากวะดีอะฮ์ชนิดแรก เพราะมีการเปลี่ยนแปลงของฝาก(วะดีอะฮ์)เป็นของผู้กู้ยืม(กอร์ด) และผู้รับฝากให้การประกันแก่ผู้ฝากว่าจะคืนของฝากให้อย่างครบถ้วนเมื่อถูกทวงถาม แต่สิ่งที่คืนให้นั้นไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับที่ผู้ฝากนำมาฝากไว้ ทั้งนี้เพราะผู้รับฝากได้นำของที่นำมาฝากไว้ไปใช้สอยแล้ว สาระสำคัญของวะดีอะฮ์ชนิดนี้คือ

- เปลี่ยนวะดีอะฮ์เป็นกอร์ด (การยืม)

- ขออนุญาตนำของฝากไปใช้สอย แลกกับการประกันของฝากว่าจะได้รับคืนครบถ้วน

 

          บุคคลแรกที่นำวะดีอะฮ์มาใช้ในรูปแบบนี้เป็นท่านแรกคือ ท่านซุเบร บิน เอาวาม ศอฮาบะฮ์ท่านหนึ่งที่ท่านเราะซูล ให้การรับรองว่าเป็นชาวสวรรค์

รายงานจากอับดุลลอฮ์ บุตรซุเบร บิน เอาวาม ว่า "มีชายคนหนึ่งนำทรัพย์มาเพื่อฝากไว้กับ ซุเบร บิน เอาวาม

ซุเบร ได้กล่าวแก่เขาว่า มันไม่ใช่เป็นของฝากแต่มันเป็นของยืม (กอร์ด) เพราะฉันกลัวว่ามันจะเสียหาย (โดยท่านจะไม่ได้รับสิ่งใดคืน)...."

(อัตตอบะกอต อัลกุบรอ เล่ม 3 หน้า 109)

 

           วะดีอะฮ์ ชนิดนี้เป็นวะดีอะฮ์ที่ธนาคารอิสลามนำมาเป็นธุรกรรมหนึ่งของธนาคาร กล่าวคือ เมื่อมีผู้นำเงินมาฝากไว้กับธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นประเภทกระแสรายวัน หรืออมทรัพย์ก็ตาม ธนาคารจะขออนุญาตนำเงินของผู้ฝากไปใช้ในการลงทุน และให้การประกันว่า ผู้ฝากจะมาถอนเงินคืนเมื่อไรก็ได้ตามจำนวนที่ฝากไว้อย่างครบถ้วน

 

จากหนังสือ "ที่นี่สำนักจุฬาราชมนตรี" ปีที่ 1 ฉบับที่ 5