ควรจะตั้งเจตนาอย่างไรขณะทำความดี
  จำนวนคนเข้าชม  6380

 

เราควรจะตั้งเจตนา (เหนียต) อย่างไรขณะทำความดี


คำถาม 

          ผู้ที่จะกระทำความดีนั้น ควรมีความตั้งใจว่าอย่างไร ? เช่น เขาควรจะเหนียตว่า การทำความดีนี้เป็นการแสวงหาความโปรดปรานจากอัลลอฮฺและท่านนบีมุฮัมมัด  หรือเป็นการแสวงหาความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ  โดยไม่คำนึงถึงรูปแบบซุนนะฮฺของท่านนบีมุฮัมมัด หรือเขาควรจะเหนียตว่า การทำความดีนี้เป็นการแสวงหาความโปรดปรานจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียวเท่านั้น...


บรรดาการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์แด่อัลลอฮฺ


คำตอบ 

         ในเมื่อทุกการกระทำเป็นการแสดงถึงความภักดีแล้ว  ก็จงให้ผู้กระทำความดีนั้นแสวงหาความโปรดปรานจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียวเท่านั้น  ดังที่อัลลอฮฺ  ได้ตรัสในคัมภีร์อัลกุรอ่านดังนี้

“และพวกเขามิได้ถูกบัญชาให้กระทำอื่นใดนอกจากเพื่อเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ  เป็นผู้มีเจตนาบริสุทธิ์ในการภักดีต่อพระองค์ 

เป็นผู้อยู่ในแนวทางที่เที่ยงตรงและดำรงการละหมาด และจ่ายซะกาต และนั่นแหละคือศาสนาอันเที่ยงธรรม”

(ซูเราะฮฺอัล-บัยยินะฮฺ 98:5)

“และที่เขานั้นไม่มีบุญคุณแก่ผู้ใดที่บุญคุณนั้นจะถูกตอบแทน นอกจากว่าเพื่อแสวงความโปรดปรานจากพระเจ้าของเขาผู้ทรงสูงส่งเท่านั้น”

(ซูเราะฮฺอัล-ลัย 92:19-20)


ท่านนบีมุฮัมมัด  ได้กล่าวว่า

“อัลลอฮฺนั้นไม่ทรงรับการงานใด ๆ  เว้นแต่ว่าการงานนั้นจะกระทำเพื่อแสวงหาความโปรดปรานจาก   อัลลอฮฺเพียงองค์เดียวเท่านั้น”

(รายงานโดยอัล-นาซาอิ 3140 จัดเป็นฮะดีษซอเฮี้ยะโดย อัล-อัลบาอฺนี ในอัลซิลซิลาฮฺ อัลซอเฮี้ยะ 52)


และพึงพิจารณาถึงความหมายที่อัลลอฮฺ ได้ทรงตรัสไว้ในซูเราะฮฺอัต-เตาบะฮฺ ดังนี้

“และหากพวกเขายินดีต่อสิ่งที่อัลลอฮ์และร่อซูลของพระองค์ได้ให้แก่พวกเขา และกล่าวว่า อัลลอฮฺนั้นทรงพอเพียงแก่เราแล้ว

โดยที่อัลลอฮฺจะทรงประทานแก่เราจากความกรุณาของพระองค์และร่อซูลของพระองค์ (ก็จะให้ด้วย) แท้จริงแด่อัลลอฮฺเท่านั้นพวกเราเป็นผู้วิงวอนขอ”

(ซูเราะฮฺอัต-เตาบะฮฺ 9:59)

         จากซูเราะฮฺข้างต้น จะพบว่าในอายะฮฺกล่าวถึง การให้ที่มาจากอัลลอฮฺ และรอซูล และอัลลอฮฺองค์เดียวเท่านั้นที่พอเพียงแก่เรา  ซึ่งในอายะฮฺไม่ได้กล่าวว่า “อัลลอฮฺและรอซูลเป็นที่พอเพียงแก่เรา”  และในอายะฮฺยังกล่าวถึง อัลลอฮฺเท่านั้นที่เราวิงวอนขอ ซึ่งในอายะฮฺไม่ได้กล่าวว่า “อัลลอฮฺและรอซูลที่เราวิงวอนขอ”  ซึ่งอายะฮฺนี้จะคล้ายกับอายะฮฺในซูเราะฮฺอัลอินชิรอฮฺ ดังนี้

“ดังนั้นเมื่อเจ้าเสร็จสิ้น (จากงานหนึ่งแล้ว) ก็จงลำบากต่อไป และยังพระเจ้าของเจ้าเท่านั้นก็จงมุ่งปรารถนาเถิด”

 (ซูเราะฮฺอัล-อินชิรอฮฺ 94:7-8)

(ศึกษาเนื้อหาที่มาได้จากซาด-อัลมาอฺอัด 1-36)

          ดังนั้นในการทำความดี ท่านควรจะตั้งเจตนาเฉพาะเพื่ออัลลอฮฺเท่านั้น และไม่เป็นการอนุมัติในการตั้งเจตนาในการแสดงความภักดีเพื่อสิ่งถูกสร้างใด ๆ  ส่วนการรักในท่านนบีมุฮัมมัด  นั้นหมายถึงให้ปฏิบัติตามแนวทางของท่านและให้เกียรติต่อท่าน แต่ไม่ได้หมายถึงให้ทำการภักดีต่อท่าน


          เงื่อนไขของการแสดงความภักดีที่จะเป็นที่ตอบรับ ณ ที่อัลลอฮฺ  นั้นจะประกอบด้วย 2 เงื่อนไขดังนี้

1. ต้องมีความบริสุทธิ์ใจในการทำความดีต่ออัลลอฮฺ องค์เดียว

2. ต้องปฏิบัติตามแนวทางซุนนะฮฺของท่านนบีมุฮัมมัด  ซึ่งสอดคล้องกับหลักชารีอะฮฺ


จากเงื่อนไขทั้ง 2 ข้อนี้ได้ถูกกล่าวไว้ในซูเราะฮฺอัลกะฮฺฟิ ดังนี้

“ดังนั้น ผู้ใดหวังที่จะพบพระผู้เป็นเจ้าของเขา ก็ให้เขาประกอบการงานที่ดี และอย่างตั้งผู้ใดเป็นภาคีในการเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าของเขาเลย”

(ซูเราะฮฺอัลกะฮฺฟิ 18:110)

           ท่านอิบนฺ คอตรัย (ขออัลลอฮฺทรงโปรดประทานความเมตตาแก่ท่านด้วยเทอญ) ได้กล่าวเอาไว้ว่า ความหมายของ อายะฮฺที่ว่า “ก็ให้เขาประกอบการงานที่ดี” หมายถึง สอดคล้องกับหลักการที่อัลลอฮฺได้ทรงว่าเอาไว้ ส่วนคำว่า “และอย่างตั้งผู้ใดเป็นภาคีในการเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าของเขาเลย”  หมายถึง การทำการภักดีนั้นให้แสวงหาความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ องค์เดียวเท่านั้น อย่าทำเพื่อผู้อื่นหรือตั้งให้ผู้อื่นมามีส่วนร่วมด้วย 

         พื้นฐานในการประกอบความดีที่เป็นที่ยอมรับ ณ ที่อัลลอฮฺ  นั้นจะต้องมีความบริสุทธิ์ใจที่จะแสวงหาความโปรดปรานจากอัลลอฮฺองค์เดียวเท่านั้น และถูกต้องตามหลักชารีอะฮฺของท่านนบีมุฮัมมัด

ดังนั้นเมื่อคุณต้องการทำการภักดี ก็จงแสวงหาความโปรดปรานจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว และพยายามปฏิบัติตามแนวทางซุนนะฮฺของท่านนบีมุฮัมมัด

เราวิงวอนขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺในการงานของเรานั้นอยู่ในแนวทางอันเที่ยงตรงด้วยเทอญ

และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้ทรงปรีชาญาณยิ่ง

 

ที่มา http://www.islamqa.com/en/ref/20742

แปลและเรียบเรียงโดย นูรุ้ลนิซาอฺ