การบริโภคนิยม
โดย.... อ.สุชาติ เศรษฐมาลินี
ยูซุฟ อัล-กับบาส[1] ได้กล่าวถึงกรอบทางศีลธรรมและจริยธรรมของอิสลามในการเผชิญกับอุดมการณ์บริโภคนิยมไว้อย่างน่าสนใจว่า
"อุดมการณ์หลักของสังคมบริโภคนิยมไม่ว่าจะเกิดขึ้นในสังคมที่สมาชิกนับถือศาสนาใด ๆ ก็ตาม ล้วนเป็นไปเพื่อเร่งเร้าความอยากและการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือย ดังนั้น คำสอนของทุกศาสนาจึงขัดแย้งกับอุดมการณ์บริโภคนิยม แต่สังคมมุสลิมในหลาย ๆ แห่งได้เข้าสู่สังคมบริโภคนิยมทั้ง ๆ ที่คำสอนของอิสลามมีแนวคิดเรื่อง “ซุฮด์” ซึ่งยากที่จะให้ความหมายเป็นภาษาอื่น ๆ แต่มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า การรู้จักบริโภคที่พอเหมาะ อันมีความหมายรวมถึงการดำเนินชีวิตภายใต้สิ่งที่จำเป็นในชีวิตอย่างแท้จริง (ไม่ใช่มุ่งแสวงหาแต่สินค้าที่มียี่ห้อทันสมัยอย่างไม่มีที่สิ้นสุด) ดังนั้น แนวคิดเรื่อง “ซุฮด์” จึงตรงข้ามกับบริโภคนิยมโดยสิ้นเชิงและสามารถเป็นแนวคิดที่มีคุณค่าในการตอบโต้บริโภคนิยม"
อย่างไรก็ตาม การมีแนวคิดที่มีประโยชน์อาจเป็นเพียงครึ่งเดียวของการต่อสู้เพราะสิ่งที่ยึดติดในวิถีชีวิตจนยากที่จะถอนตัวออกไป และวิถีชีวิตแบบนี้จะกลายเป็นระบบความเชื่อของสังคมไปในที่สุด ดังนั้น แทนที่จะทำแผนปฏิบัติการในแนวคิดเรื่องความจำเป็นของชีวิตที่สมถะ (ซุฮด์) ขั้นตอนแรกที่เราจะต้องทำเพื่อสร้างจิตสำนึกให้กับผู้คนคือ จะต้องกระตุ้นให้พวกเขาตั้งคำถามให้ได้ว่า “อะไรคือสิ่งที่ฉันต้องการเพื่อชีวิตที่มีความสุขอย่างแท้จริง” คำถามนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เนื่องจากลัทธิบริโภคนิยมได้อ้างว่ามันเป็นแหล่งปรนเปรอความสุขให้กับมนุษย์ แต่คำถามก็คือว่า อุดมการณ์บริโภคนิยมได้ให้ความสุขอย่างแท้จริงกับเราจริงหรือ ! หรือเพียงแค่จองจำเราให้เป็นทาสผู้ซื่อสัตย์เพื่อการบริโภคตามความอยากอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ดังนั้น การเรียกร้องถึงแนวคิดที่พอเพียงในเรื่อง “ซุฮด์” เพื่อเป็นการแก้ปัญหาสังคมบริโภคนิยมนั้น แม้ว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการนำสู่การปฏิบัติแต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะเป็นเรื่องของความสมัครใจและความศรัทธาของคนไม่ใช่เป็นการบังคับได้ตามกฎหมาย
ในประเด็นที่ว่ามีกรอบทางจริยธรรมของอิสลามอะไรบ้างที่จะสามารถตอบโต้กับอุดมการณ์บริโภคนิยมนั้น นับเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งอยู่มากและคงสามารถหยิบยกมาได้เพียงบางส่วนเท่านั้นในที่นี้ เมื่อพูดถึงเรื่องจริยธรรมนั่นคือการที่จะตอบว่าเราจะดำเนินชีวิตอยู่อย่างไรบนโลกนี้ และเราจะมีความสัมพันธ์กับผู้คนต่าง ๆ รวมถึงสภาพแวดล้อมอย่างไร การตอบโต้ทางจริยธรรมต่ออุดมการณ์บริโภคนิยมนั้น เราจำเป็นที่จะต้องตั้งคำถามที่สำคัญเกี่ยวกับวิถีชีวิตของมนุษย์ที่เต็มไปด้วยการกดขี่และทำลายสภาพแวดล้อมตลอดมาเป็นเวลายาวนาน
ห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ที่ได้เติบโตขึ้นผุดขึ้นดั่งดอกเห็ดในทั่วทุกมุมโลกขณะนี้นั้น ล้วนมาจากการกดขี่ทรัพยากรของบรรดาจนผู้ยากไร้เพื่อสนองตัณหาผู้บริโภคอย่างตะกละตะกลาม ในศาสนาอิสลามมีประเพณีที่เข้มแข็งในเรื่องแบบแผนทางจริยธรรมในเรื่องความอยู่รอดของสังคมโดยรวมในทุกย่างก้าวของชีวิต
ดังนั้น แบบแผนทางจริยธรรมที่จะตอบโต้กับอุดมการณ์บริโภคนิยมนั้นจะต้องก้าวข้ามสิทธิและหน้าที่ส่วนบุคคล หากแต่จะต้องมองไปที่กรอบอันกว้างไกลขึ้นไปถึงสิทธิของเพื่อนมุนษย์คนอื่น ๆ ในที่อื่น ๆ ศาสนาอื่น ๆ รวมทั้งความอยู่รอดของธรรมชาติอันเป็นสิ่งสร้างสรรค์อันงดงามและยิ่งใหญ่จากองค์พระผู้เป็นเจ้า
โดยหลักคำสอนของศาสนาอิสลามนั้น ความคิด ความศรัทธา กับการปฏิบัติจะต้องเชื่อมโยงไปด้วยกัน แต่ในความเป็นจริง สังคมมุสลิมในหลาย ๆ แห่งยังคงขาดความมีสมดุลดังกล่าวคือ มีแต่คำสอนที่สมบูรณ์แต่อาจมีปัญหาที่จะผลักดันแนวความคิดไปสู่การปฏิบัติ
ดังนั้น การเริ่มแก้ไขปัญหาในการมุ่งแก้ไขพฤติกรรมของคน จึงต้องเริ่มจากความพยายามในการเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ที่จะอยู่ร่วมกับเพื่อมนุษย์คนอื่นและธรรมชาติแวดล้อมอย่างกลมกลืน รวมทั้งชี้ให้เห็นถึงความความเลวร้ายของความโลภและความอยากอันเป็นความสุขที่ไม่จีรังยั่งยืน
ชีวิตมนุษย์ในโลกสมัยใหม่นั้น อุดมการณ์บริโภคนิยมได้แทรกซึมเข้าไปในหลายๆลักษณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความรู้สึกแบบตัวใครตัวมัน (individuality) ที่สอดรับเป็นอย่างดีกับอุดมการณ์แห่งเสรีภาพและความมีอิสรภาพทางการเมือง
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ สังคมอเมริกาในการเชื่อมโยงอุดมการณ์บริโภคนิยม เช่น การช็อบปิ้งซื้อสินค้าต่างๆอย่างเมามัน กับแนวคิดเรื่องความมีเสรีภาพทางการเมือง แต่เรื่องนี้ดูประหนึ่งว่าเป็นเรื่องที่ผู้คนมักปล่อยเลยไปโดยไม่ฉุกคิดและตั้งคำถามกับมันสักเท่าไหร่ ในขณะที่ แนวคิดแบบนี้สมควรจะถูกตั้งคำถามจากมุมมองของศาสนาว่า ในสังคมสมัยใหม่นั้นมีสิ่งที่ขัดแย้งกับหลักคำสอนของศาสนาหรือไม่ เช่น แนวคิดเรื่องความสมถะ ความพอดี และความพอเพียง ในทุกศาสนารวมทั้งของศาสนาอิสลาม
หนทางที่จะหลีกเลี่ยงการตกเป็นทาสของบริโภคนิยมคือ การเรียนรู้ที่จะมีชีวิตด้วยความเรียบง่าย สมถะมากกว่าความหรูหราฟุ่มเฟือย แบ่งปันมากกว่าการต่อสู้แข่งขัน และเน้นการบริโภคตามความจำเป็นมากกว่ามุ่งตอบสนองความโลภและความอยากที่ไม่มีที่สิ้นสุด
นักรณรงค์เพื่อส่งเสริมอุดมการณ์บริโภคนิยมต่างตระหนักดีว่าการเร่งเร้าจัดการสร้างความอยากของมนุษย์ให้ไม่มีที่สิ้นสุดนั้นคือหัวใจของบริโภคนิยม ดังนั้น บรรดาศาสนิกทั้งหลายรวมทั้งชาวมุสลิมจะต้องรู้เท่าทันและปลีกตัวออกจากการตกเป็นทาสการบริโภคดังกล่าว โดยจะต้องตระหนักว่าชีวิตที่ดีกว่านั้นคือชีวิตที่ไม่ต้องขึ้นกับบริโภคนิยม แน่นอนว่าเรื่องนี้คงไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะอุดมการณ์ดังกล่าวได้ถูกผลิตซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสังคมมุสลิม ผ่านจอโทรทัศน์และดาวเทียมถึงตัวอย่างบริโภคนิยมอย่างฟุ้งเฟ้อในสังคมตะวันตก
ในคัมภีร์อัลกุรอ่านได้ระบุว่า
“ความหายนะจงประสบแก่ผู้ที่นินทาและใส่ร้ายผู้อื่น ซึ่งเขาสะสมทรัพย์สมบัติและหมั่นนับมันอยู่เสมอ
โดยคิดว่าทรัพย์สมบัติของเขานั้น จะทำให้เขาอยู่ได้ตลอดไป”
(104: 1-3)
เมื่อมนุษย์ได้รับปัจจัยยังชีพพื้นฐานที่ครบถ้วนแล้ว อิสลามได้เรียกร้องให้พวกเขาต้องเหลียวดูและให้ความช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอกว่า ดังนั้น ในด้านหนึ่งอิสลามไม่อนุญาตให้มนุษย์มัวแต่ตั้งหน้าตั้งตาสะสมความมั่งคั่งโดยไม่เหลียวแลผู้อื่น และในขณะเดียวกันห้ามไม่ให้มนุษย์ลุ่มหลงอยู่กับการบริโภคอย่างตะกละตะกลามและใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย ทั้งสองส่วนนี้จะช่วยยกระดับคุณค่าและสร้างความหมายให้กับการมีชีวิตให้สูงส่งขึ้นอย่างแท้จริงไม่ใช่ใช้ชีวิตเพียงเสพย์สุขไปวัน ๆ
เมื่อพิจารณาในคัมภีร์อัล-กุรอ่านและหลักนิติศาสตร์อิสลาม(ชะรีอะฮ์) จะเห็นได้ว่า เป้าหมายสูงสุดของวิสัยทัศน์แบบอิสลามนั้นไม่สามารถยอมรับอุดมการณ์บริโภคนิยมในสังคมทุนนิยมสมัยใหม่ได้ ค่านิยมของระบบทุนนิยมนั้นเป็นสิ่งแปลกปลอมสำหรับทุกศาสนาอย่างแท้จริง เพราะศาสนาให้คุณค่ากับความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่วัดจากการเสพย์สุขจากการบริโภคอย่างฟุ้งเฟ้อ หรือตักตวงแสวงหากำไรด้วยความละโมบโดยไม่ใส่ใจกับการกดขี่ขูดรีดผู้อื่นรวมถึงธรรมชาติและสภาพแวดล้อม และการใช้วิธีการโป้ปดมดเท็จจากอุตสาหกรรมโฆษณาเพื่อปลุกปั่นเร่งเร้าความอยากของผู้คนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แก่นแกนของระบบทุนนิยมจึงเป็นเรื่องของการสร้างตัณหาและความโลภมากกว่าที่จะเป็นความจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์
จากมุมมองอิสลามที่เน้นทางสายกลางจึงเป็นภูมิปัญญาอันล้ำเลิศในการหลีกเลี่ยงความสุดโต่งทั้งสองขั้ว คือ ขั้วหนึ่งเน้นความสันโดษจนหลุดไปจากโลกและสังคม และอีกขั้วหนึ่งลุ่มหลงมัวเมาอยู่แต่ในโลกของวัตถุนิยมและบริโภคนิยม คัมภีร์อัล-กุรอ่านได้ระบุถึงชุมชนมุสลิมในฐานะที่เป็น “ประชาชาติที่ดำเนินตามแนวทางสายกลาง” (อุมมะตันวัสตัน) ซึ่ง เอ็ดเวิร์ด วิลเลียม เลน (ผู้เขียนคำอธิบายศัพท์ภาษาอาหรับเป็นภาษาอังกฤษ) ได้ให้ความหมายคำว่า อุมัต วัสตัน ว่า หมายถึง ประชาชาติที่เที่ยงธรรม เท่าเทียม และดีงาม
ดังนั้น อิสลาม จึงต่อต้านทั้งอุดมการณ์บริโภคนิยมและการปลีกตัวอย่างสันโดษหลุดพ้นไปจากสังคม โดยมีเป้าหมายเพื่อนำสู่สังคมที่มีความเที่ยงธรรมและเท่าเทียมกันบนพื้นฐานของการไม่กดขี่ผู้ที่อ่อนด้อยกว่าอันเป็นสิ่งตรงข้ามกับสังคมทุนนิยม
[1] al-Khabbaz, Yusuf. “Islam, Consumerism and the Environmental Crisis.” (http://www.muslimedia.com/archives/features04/islam-consumer.htm)