ภาคผลของความละอาย
عن عمران بن حصين رضي الله عنهما قال قال رسول الله صلى الله عليه وسلم : [ الحياء لا يأت إلا بخير] متفق عليه ( بخاري مسلم ) ك
ความหมาย
มีรายงานจากท่านอิมรอน อิบนิ ฮุศอยน์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา แจ้งว่า ท่านร่อซูลุลลอฮ์ กล่าวว่า
“ ความละอายนั้น จะไม่นำสิ่งใดมา นอกจากความดีงามเท่านั้น “
( มุตตะฟะกุนอะลัยฮ์ เล่าโดย อิมามอัลบุคอรีย์ และมุสลิม)
คำอธิบาย
ฮะดีษบทนี้ ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ได้อธิบายและชี้แจงให้ประชาชาติของท่านได้ทราบถึง ความประเสริฐของความละอาย และความละอายนั้นจะไม่ให้อะไรแก่ผู้มีลักษณะดังกล่าว นอกจากความดีงามเท่านั้น ความละอายจะหักห้ามมิให้กระทำสิ่งชั่วช้า และห้ามมิให้กระทำสิ่งที่น่ารังเกียจ นอกจากนั้นยังทำให้ผู้ที่มีความละอายพยายามกระทำความดี และพยายามหาทุกวิธีทางเพื่อให้เขาเป็นผู้ที่มีมารยาทอันดีงาม และครบถ้วนสมบูรณ์
ถ้ามุสลิมเราขาดนิอมะฮ์แห่งความละอายเสียแล้ว จะไม่มีอะไรเหลืออยู่ที่ตัวเขา ที่ถือว่าเป็นความประพฤติอันดีงาม และไม่มีสิ่งใดที่จะขัดขวางห้ามปรามเขามิให้กระทำสิ่งที่ชั่วช้าน่ารังเกียจและไม่ดีงามได้เลย
ความละอายในที่นี้ หมายถึงสิ่งที่จะส่งเสริมให้มุสลิมปฏิบัติสิ่งที่ดีงาม และห่างไกลจากสิ่งที่ชั่วช้า และน่ารังเกียจ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ดีงามกับสิ่งที่ชั่วช้าน่ารังเกียจนั้น หาใช่ว่าจะวัดกันด้วยความรู้สึก หรือความนิยมของมนุษย์ไม่ เพราะสิ่งที่ดีหรือไม่ดีนั้นขึ้นอยู่กับการกำหนดของอิสลาม ที่ว่าสิ่งนี้ดี สิ่งนั้นไม่ดี มิใช่ว่ามนุษย์เป็นผู้กำหนด หรือขึ้นอยู่กับความนิยมของบุคคลหรือสังคม
ณ ที่นี้ สมควรอย่างยิ่งที่จะแจ้งให้ทราบว่า ถ้าเป็นความละอายที่จะนำไปสู่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ผิดกับหลักศาสนาแล้ว ถือว่าความละอายเช่นนั้นมิใช่เป็นความละอายที่ถูกต้องตามบทบัญญัติอิสลาม อาทิเช่น มีการกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ไม่สอดคล้องกับบัญญัติศาสนา หรือที่อิสลามได้ห้ามสิ่งนั้นไว้แล้ว หน้าที่ของมุสลิม คือ จะต้องชี้แจงและแนะนำให้ผู้กระทำได้รู้ว่า นี่คือสิ่งผิด แต่ถ้าหากเขาละอายที่จะพูดหรือว่ากล่าวตักเตือน ก็นับว่าเป็นความบกพร่องที่แสดงถึงความอ่อนแอผู้นั้น ซึ่งมีแต่ความเกรงใจมนุษย์แต่ไม่เกรงใจอัลลอฮ์
อิสลามสอนให้มุสลิมทุกคนมีความเข็มแข็ง มีความกล้าหาญ กล้าพูด และกล้าเตือนและถือว่าคำพูดของเขาเหล่านั้น จะช่วยรักษาขอบเขตและหลักคำสอนของอิสลามไว้
สิ่งที่ได้รับจากฮะดีษนี้
1 ความละอายที่นับว่าได้รับการสรรเสริญ คือ ความละอายที่พบเห็นสิ่งที่ไม่ดีงามแล้วกล้าพูด กล้าเตือน และกล้าแนะนำสิ่งที่ถูกต้องให้ฟัง โดยไม่เกรงใจผู้ใดทั้งสิ้น
2 ความละอายที่ควรแก่การถูกตำหนิ คือ เมื่อเกิดการกระทำที่ละเมิดขอบเขตของศาสนาหรือละเมิดผู้อื่น แต่ผู้ที่พบเห็นไม่ได้ห้าม ไม่ได้ตักเตือน ทั้งนี้เพราะเขาอายที่จะพูดหรือกล่าวตักเตือนออกมา
3 ผู้ที่ปฏิบัติตามคำสอนของอิสลาม จะได้รับความสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า
คัดจาก วารสารสายสัมพันธ์ ( อัร-รอบิเฏาะฮ์ )