การสาบาน
การสาบาน (อัลยะมีน) คือ การเน้นย้ำสิ่งที่สาบานด้วยกับการกล่าวถึงนามของอัลลอฮฺ หรือด้วยพระนามหนึ่งจากบรรดาพระนามของพระองค์ หรือด้วยคุณลักษณะหนึ่งจากคุณลักษณะของพระองค์ในรูปแบบที่เฉพาะ และเรียกอีกชื่อว่าอัลหัลฟฺ และอัลเกาะสัม
การสาบานที่สมบรูณ์การสาบานจะถือว่าใช้ได้และจำเป็นต้องจ่ายค่าชดเชย (กัฟฟาเราะฮฺ) เมื่อเขากระทำผิดคำสาบานนั้นคือ การสาบานด้วยกับอัลลอฮฺหรือพระนามของพระองค์ หรือคุณลักษณะต่างๆ ของพระองค์ เช่น การที่เขากล่าวว่า ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ขอสาบานต่อผู้ทรงเมตตา ขอสาบานต่อความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ ขอสาบานต่อความเกรียงไกรของพระองค์ ขอสาบานต่อความเมตตาของพระองค์ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกันนี้
บทบัญญัติว่าด้วยการสาบานต่อสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮฺ1. การสาบานต่อสิ่งอื่นนอกเหนือจากอัลลอฮฺเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) เป็นการตั้งภาคีเล็ก (ชิรกฺ อัศฆ็อร) เพราะการสาบานนั้นเป็นการให้ความยิ่งใหญ่ต่อสิ่งที่ถูกสาบาน และความยิ่งใหญ่เป็นของอัลลอฮฺผู้ทรงเกรียงไกรผู้ทรงสูงส่ง
จากอิบนิอุมัร เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุมา กล่าวว่า ฉันได้ยินท่านรอสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«مَنْ حَلَفَ بِغَيْرِ الله فَقَدْ أَشْرَكَ»
ความหมาย : “ผู้ใดได้สาบานต่อสิ่งอื่นนอกเหนือจากอัลลอฮฺ แน่นอนเขาได้ตั้งภาคีต่อพระองค์”
(บันทึกโดย อบูดาวุด หมายเลขหะดีษ 3251 สำนวนหะดีษเป็นของท่าน และอัตติรมิซียฺ หมายเลขหะดีษ 1535)
2. การสาบานต่อสิ่งอื่นนอกเหนือจากอัลลอฮฺ เช่น การกล่าวว่า ขอสาบานต่อนบี ขอสาบานต่อชีวิตของท่าน ขอสาบานต่อความไว้วางใจ ขอสาบานต่อกะอฺบะฮฺ ขอสาบานต่อ บรรพบุรุษ หรือทำนองเช่นเดียวกันนี้ ถือว่าเป็นสิ่งต้องห้าม ท่านนบี อะลัยฮิศศอลาตุวัสลาม กล่าวว่า
«أَلا إنَّ الله عَزَّ وَجَلَّ يَنْـهَاكُمْ أَنْ تَـحْلِفُوْا بِآبَائِكُمْ، فَمَنْ كَانَ حَالِفاً فَلْيَـحْلِفْ بِالله أَوْ لِيَصْمُتْ»
ความหมาย “พึงทราบเถิดว่า แท้จริงอัลลอฮฺทรงห้ามพวกท่านในการสาบานต่อบรรดาบรรพบุรุษของพวกท่าน ดังนั้นผู้ใดต้องการสาบานก็จงสาบานต่ออัลลอฮฺ หรือไม่ก็จงนิ่งเสีย”
(บันทึกโดยอัลบุคอรียฺ หมายเลขหะดีษ 2679 และมุสลิม หมายเลขหะดีษ 1646 สำนวนหะดีษเป็นของท่าน)
จำเป็นต้องรักษาคำสาบานและไม่ดูแคลนการสาบาน เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ไม่อนุญาตให้เมินเฉยต่อในการสาบาน และไม่อนุญาตให้ใช้เล่ห์เหลี่ยมเพื่อให้รอดพ้นจากบทบัญญัติของมัน และเป็นที่อนุญาตให้สาบานในเรื่องที่สำคัญตามบทบัญญัติศาสนาได้
ประเภทของการสาบานประเภทของการสาบานมี 3 ประเภท ดังต่อไปนี้
1. การสาบานที่สมบรูณ์ หมายถึง การสาบานดังที่ได้กล่าวผ่านมาแล้ว หากว่าเขาผิดคำสาบานให้มีการชดใช้ (กัฟฟาเราะฮฺ)
2. การสาบานที่ชั่วร้าย เป็นการสาบานที่ต้องห้าม ลักษณะของมันคือ การสาบานในสิ่งที่ผ่านพ้นมา เป็นการสาบานเท็จโดยที่รู้ตัว และมันเป็นสิ่งที่มาทำลายสิทธิต่างๆ หรือมีเป้าหมายเพื่อละเมิดและบิดพลิ้ว การสาบานเช่นนี้นับว่าเป็นบาปใหญ่ และที่เรียกว่าเป็นการสาบานชั่วช้าเพราะมันจะทำให้ผู้สาบานจมอยู่ในความผิด ต่อมาจะอยู่ในนรก และไม่มีการจ่ายชดเชย (กัฟฟาเราะฮฺ) เป็นการสาบานที่ใช้ไม่ได้ และจำเป็นต้องรีบเตาบะฮฺอย่างรวดเร็ว
3. การสาบานแบบล้อเล่น (ไร้สาระ) หมายถึง การสาบานโดยไม่ตั้งเจตนาเป็นเพราะความเคยชินกับลิ้น เช่น การกล่าวว่า ไม่, ฉันขอสาบานต่ออัลลอฮฺ เช่นนั้นแหละ, ฉันขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ฉันขอสาบานต่ออัลลอฮฺคุณต้องรับประทานหรือต้องดื่ม ฯลฯ หรือสาบานในสิ่งที่ผ่านไปแล้วโดยเข้าใจผิดว่าตัวเขานั้นสัจจริงแต่ปรากฏว่าตรงกันข้าม การสาบานเช่นนี้ใช้ไม่ได้และไม่ต้องชดใช้ และผู้ที่สาบานไม่ต้องรับโทษ
อัลลอฮฺตะอะลาตรัสว่า
ความหมาย: “อัลลอฮฺจะไม่ทรงเอาโทษแก่พวกสูเจ้าด้วยถ้อยคำที่ไร้สาระในการสาบานของพวกสูเจ้า แต่ทว่าพระองค์จะทรงเอาโทษแก่พวกสูเจ้าด้วยถ้อยคำที่พวกสูเจ้าตั้งใจสาบาน” (อัลมาอิดะฮฺ : 89)
เมื่อเขาได้กล่าวยกเว้น (อินชาอัลลอฮฺ) ในการสาบาน เช่น การกล่าวว่า ขอสาบานต่ออัลลอฮฺฉันจะกระทำอย่างนั้นหากพระองค์ทรงประสงค์ ถือว่าเขาไม่ได้ผิดคำสาบานหากว่าเขาไม่ได้กระทำมัน
การจ่ายค่าชดใช้ (กัฟฟาเราะฮฺ) กรณีการสาบานต่อสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮฺ1. จากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ กล่าวว่า ท่านรอสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«مَنْ حَلَفَ فَقَالَ فِي حَلِفِهِ: وَاللَّاتِ وَالعُزَّى فَلْيَـقُلْ: لا إلَـهَ إلا الله، وَمَنْ قَالَ لِصَاحِبِـهِ تَعَالَ أُقَامِرْكَ فَلْيَتَصَدَّقْ»
ความว่า : “ผู้ใดได้สาบานโดยกล่าวว่า ขอสาบานต่ออัลลาตหรืออัลอุซซา ดังนั้นให้เขาจงกล่าวว่า ลาอิละฮาอิลลัลลอฮฺ และผู้ใดที่กล่าวแก่เพื่อนของเขาว่า จงมานี่ฉันจะเล่นพนันกับท่าน ดังนั้นจงให้เขาบริจาค”
(บันทึกโดยอัลบุคอรียฺ หมายเลขหะดีษ 4860 สำนวนหะดีษเป็นของท่าน และมุสลิม หมายเลขหะดีษ 1647)
2. จากสะอัด บิน อบีวักกอศ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ แท้จริงเขาเคยสาบานกับอัลลาตหรืออัลอุซซา ดังนั้นท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม จึงกล่าวกับเขาว่า
«قُلْ لا إلَـهَ إلَّا الله وَحْدَهُ ثَلاثاً، وَاتْفُلْ عَنْ شِمَالِكَ ثَلاثاً، وَتَعَوَّذ بِالله مِنَ الشَّيْطَانِ، وَلا تَعُدْ»
ความว่า : จงกล่าว ลาอิละฮาอิลลัลลอฮฺ 3 ครั้ง และจงถ่มน้ำลายทางด้านซ้าย 3 ครั้ง และจงขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺให้รอดพ้นจากชัยฏอน และท่านอย่าทำอย่างนี้อีก”
(บันทึกโดยอะหฺมัด หมายเลขหะดีษ 1622 สำนวนหะดีษเป็นของท่าน อัลอัรนาอูฏกล่าวว่า สายรายงานเศาะฮีฮฺ และอิบนุมาญะฮฺ หมายเลขหะดีษ 2097)
บทบัญญัติว่าด้วยการสาบานสำหรับบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการสาบานมี 5 ประการ ดังต่อไปนี้
1. การสาบานที่เป็นวาญิบ หมายถึง การสาบานของผู้บริสุทธิ์เพื่อให้รอดพ้นจากความพินาศ
2. การสาบานที่ส่งเสริมให้กระทำ เช่น การสาบานขณะต้องการให้เกิดความปรองดองระหว่างผู้คน
3. การสาบานที่เป็นที่อนุญาต เช่น การสาบานจะกระทำสิ่งที่อนุมัติหรือจะละทิ้งไม่กระทำ หรือการยืนยันในกิจการงานและในทำนองเดียวกันนี้
4. การสาบานที่น่ารังเกียจ (น่าตำหนิ) เช่น การสาบานจะกระทำในสิ่งที่น่าตำหนิหรือจะละทิ้งของที่ส่งเสริมให้ปฏิบัติ (สุนัต) และการสาบานในเรื่องการซื้อการขาย
5. การสาบานที่ต้องห้าม (หะรอม) เช่น การสาบานเท็จโดยเจตนาหรือสาบานจะกระทำสิ่งที่เป็นการฝ่าฝืนหรือละทิ้งสิ่งที่เป็นวาญิบ
มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม อัตตุวัยญิรีย์
แปลโดย : ยูซุฟ อบูบักรฺ / Islam House