ลำดับความสำคัญ
โดย อ. อับดุลเราะมัน เจะอารง
คัมภีร์อัลกุรอานเป็นธรรมนูญชีวิตของมุสลิมที่คอยส่องนำทางให้ ดังนั้นหน้าที่ของมุสลิม คือ การเอาใจใส่ในสิ่งที่อัลกุรอานได้ให้ความสำคัญ ซึ่งมีหลายประการด้วยกัน ที่สำคัญประกอบด้วยหลักการศรัทธา หลักการปฏิบัติตนด้านการงาน การบริหารทรัพย์สิน หลักจริยธรรม และมนุษยสัมพันธ์มุสลิมมีหน้าที่ปฏิบัติตามข้อชี้ขาดที่อัลลอฮ์ทรงได้กำหนดไว้ ส่วนหนึ่งในข้อชี้ขาดที่พระองค์ทรงกำหนดนั้นมุสลิมจะต้องปฏิบัติก่อนสิ่งอื่นใด และอีกส่วนหนึ่งปฏิบัติตามหลังได้ ดังนั้นหน้าที่ของมุสลิม คือ ต้องรู้ในสิ่งที่ควรปฏิบัติก่อนและควรปฏิบัติภายหลัง โดยการยึดมั่นในคำชี้แจงที่ระบุอยู่ในคัมภีร์
จึงต้องมีการปฏิบัติและการให้เกียรติ ต่อคำสอนที่อัลกุรอาน ได้ย้ำในหลายๆ อายะฮ์ ทั้งที่เป็นคำสั่งใช้และข้อห้าม พร้อมกับระบุผลการตอบแทนอย่างชัดเจน เราต้องให้ความสำคัญในสิ่งนี้เป็นลำดับแรก ๆ
ตัวอย่างด้านการศรัทธาที่อัลกุรอานเน้นมาก ๆ คือการศรัทธาต่อพระองค์อัลลอฮ์ การศรัทธาต่อบรรดาศาสนทูตของพระองค์ การศรัทธาต่อโลกหน้าที่จะตามหลังโลกดุนยานี้ การตอบแทนที่ทุกคนจะได้รับในโลกหน้าพร้อมกับความยุติธรรมที่มนุษย์ทุกคนจะได้รับ สวรรค์และนรก ความโปรดปราน ความสุขสบายของผู้ที่มีสิทธิได้เข้าไปอยู่ในสวนสวรรค์ในรูปแบบที่ดวงตาไม่เคยเห็น ใบหูไม่เคยได้ยินและจิตใจไม่เคยนึกฝัน กอปรกับความทุกข์ทรมาน ความเจ็บปวดสำหรับผู้ที่โดนกำหนดให้อยู่ในขุมนรก ซึ่งทั้งสองประการนี้เป็นผลพวงจากการปฏิบัติของพวกเขาในช่วงที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้
อัลลอฮ์ทรงได้ยืนยันอย่างแน่นอนและได้ตรัสไว้ความว่า
تلكَ الدَّارُ الآخرةُ نجعلُها للذينَ لا يريدونَ علُوًّا في الأرضِ ولا فساداً والعاقبةُ للمتَّقين ، مَن جاءَ
بالحسنةِ فلهُ خيرٌ منها ومَن جاءَ بالسيِئةِ فلا يجزَى الذينَ عمِلوا السيِّئاتِ إلا ما كانوا يعملون (القصص/84)
"นั่นคือที่พำนักแห่งปรโลกเราได้เตรียมมันไว้สำหรับบรรดาผู้ที่ไม่ปรารถนาหยิ่งผยองในแผ่นดินและไม่ก่อการเสียหาย และบั้นปลายย่อมเป็นของบรรดาผู้ยำเกรง(คือพำนักที่มีเกียรติยิ่งที่ท่านได้ยินข่าวคราวของมันนั้น เราเตรียมไว้สำหรับผู้ยำเกรงที่ไม่ประสงค์แสดงความหยิ่งผยอง ไม่อธรรม ไม่ทำร้ายผู้อื่นในโลกนี้)
ผู้ใดเอาความดีมา เขาก็จะได้รับความดียิ่งกว่า และผู้ใดเอาความชั่วมา บรรดาผู้กระทำความชั่วทั้งหลายนั้นจะไม่ถูกตอบแทนนอกจากที่พวกเขาได้กระทำไว้(และนี่คือความโปรดปรานของอัลลอฮฺที่มีต่อปวงบ่าวของพระองค์ คือ พระองค์ทรงเพิ่มพูนความดีทั้งหลายหลายเท่าให้แก่ผู้กระทำความดี ส่วนผู้กระทำความชั่วนั้นจะถูกตอบแทนเท่าที่เขาได้กระทำไว้)”
ตัวอย่างของหลักการปฏิบัติสำคัญที่อยู่ในลำดับต้น ๆ คือ การดำรงการละหมาดในเวลาของมันอย่างสม่ำเสมอจนกระทั่งวาระสุดท้าย การจ่ายซะกาตให้แก่ผู้มีสิทธิ์ได้รับ การถือศีลอดหนึ่งเดือน ทุก ๆปี และการไปประกอบพิธีฮัจญ์เพื่อรำลึกถึงการเกิดมาของอิสลาม การรำลึกถึงอัลลอฮ์ด้วยการกล่าวพระนามของพระองค์ การแซ่ซ้องสดุดีต่อพระองค์ การขออภัยโทษ การหวังในความโปรดปรานของพระองค์และเกรงกลัวต่อบทลงโทษ รู้จักขอบพระคุณในความเมตตาที่ได้รับ มีความอดทนต่อโรคภัยไข้เจ็บและบทลงโทษที่ได้ทดสอบบ่าวของพระองค์ในรูปแบบต่าง ๆ นานา
ตัวอย่างหลักจริยธรรมและการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อมนุษย์ร่วมโลก เช่น การพูดจริง รักษาคำมั่นสัญญา การซื่อสัตย์ การรักษาความบริสุทธิ์ของตนเอง มีความละอายต่อพระองค์อัลลอฮ์ในการละทิ้งสิ่งที่พระองค์ทรงใช้และไม่ละเมิดสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม การถ่อมตน อยู่อย่างมีเกียรติ ไม่หยิ่งยโสโอ้อวดต่อผู้อื่น ใช้สิ่งที่พระองค์ประทานให้อย่างพอดี ไม่สุรุ่ยสุร่ายเกินขอบเขต รู้จักให้แก่ผู้อื่นที่มีความต้องการ ไม่อิจฉาผู้อื่น สงสารเอื้อเฟื้อคนยากจนและผู้ด้อยโอกาส เอ็นดูต่อเด็กกำพร้า เป็นต้น
ส่วนคำสอนที่อิสลามให้ความสำคัญรองลงมา เช่นการเดินทางในยามค่ำคืนของท่านเราะสูลจากมักกะฮ์ไปยังมัสยิด อัลอักศอที่นครเยรูสาเล็มและการขึ้นไปบนท้องฟ้าในคืนอิสเราะอ์และเมิ๊ยะรอจญ ได้มีการกล่าวถึงเพียงหนึ่งที่อย่างสั้นในอัลกุรอาน แต่ได้มีการกล่าวถึงอย่างมากมายต่อการต่อสู้ของท่านเราะซูลในหนทางของอัลลอฮ์ทั้งสองช่วง คือ ช่วงที่ท่านใช้ชีวิตอยู่ที่มักกะฮ์ 13 ปี และช่วงที่ท่านอาศัยอยู่ที่นครมะดีนะฮ์ 10 ปีหลัง ได้มีการกล่าวถึงรายละเอียดและกล่าวย้ำในหลายๆ ซูเราะฮ์
การประสูติของท่านเราะสูล วันประสูติและสถานที่เกิด ปรากฏว่าอัลกุรอานไม่ได้ให้ความสำคัญ จึงทำให้ 2 ประการนี้ไม่มีความสำคัญในทัศนะของอิสลาม เพราะไม่มีสิ่งแปลกประหลาดที่ผูกพันกับ 2 ประการนี้ และไม่มีอิบาดะฮ์ที่ต้องกระทำ หรือควรกระทำเนื่องในโอกาสนี้ ผู้ใดที่ให้ความสำคัญเนื่องจากเหตุการณ์นี้เกินความจำเป็น เช่น จัดกิจกรรม หรือทำอิบาดะฮ์อย่างใดอย่างหนึ่งเฉพาะ ถือว่าเขาได้ให้ความสำคัญแก่สิ่งที่อัลกุรอานไม่ได้ให้ความสำคัญ
มาตรฐานนี้เป็นมาตรฐานที่แน่นอนถาวร และไม่มีการเปลี่ยนแปลงลดหย่อน เพราะคัมภีร์อัลกุรอานเป็นมาตรฐานของทุกศาสนา เป็นหลักการและเป็นคำสอนของอิสลาม ส่วนสุนนะฮ์(คำพูด การกระทำและการยอมรับของท่านเราะสูล ) เป็นแหล่งที่มาของข้อชี้ขาดแหล่งที่ 2 ซึ่งช่วยอธิบายคำสอนที่ปรากฏในอัลกุรอาน
เกี่ยวกับคำสอนที่ปรากฏในอัลกุรอาน อัลลอฮ์ได้ตรัสไว้ความว่า
قد جاءَكم مِن الله نورٌ مبينٌ يهدِي بِه الله مَنِ اتَّبعَ رضْوانَه سبلَ السَّلامِ ويخرِجُهم مِن الظُّلُماتِ
إلى النُّورِ بإذنِه ويهْدِيهم إلى صراطٍ مسْتقيم (المائدة/15)
“แท้จริง แสงสว่างจากอัลลอฮ์และคัมภีร์อันชัดแจ้งนั้นได้มายังพวกเจ้าแล้ว ด้วยคัมภีร์นั้นแหละ อัลลอฮ์ทรงแนะนำผู้ที่ปฏิบัติตามความพอพระทัยของพระองค์ซึ่งบรรดาทางแห่งความปลอดภัยและจะทรงให้พวกเขาออกจากความมืดไปสู่แสงสว่างด้วยอนุมัติของอัลลอฮ์ และจะทรงแนะนำพวกเขาสู่ทางอันเที่ยงตรง”
และในอีกอายะฮ์พระองค์ได้ตรัสไว้ความว่า
إنَّ هذا القرآنَ يهْدِي لِلَّتِي هي أقْوَمُ ويبشِّرُ المؤمِنينَ الذينَ يعمَلونَ الصَّالِحاتِ أنَّ لَهم اجْراً كبيراً (الإسراء/9)
“แท้ทริง อัล-กุรอานนี้นำสู่ทางที่เที่ยงตรงยิ่ง และแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้ศรัทธาที่ประกอบความดีทั้งหลายว่า สำหรับพวกเขานั้นจะได้รับการตอบแทนอันยิ่งใหญ่(คือสวนสวรรค์อันสุขารมณ์)”
และในอีกอายะฮ์หนึ่งพระองค์ได้ตรัสไว้ความว่า
ونزَّلْنا عليكَ الكِتابَ تبْياناً لكلِّ شيْءٍ وهدًى ورحمةً وبشْرى للمسْلِمين (النحل/89)
“และเราได้ให้คัมภีร์แก่เจ้าเพื่อชี้แจงแก่ทุกสิ่ง และเพื่อเป็นทางนำและเป็นความเมตตา และเป็นข่าวดีแก่บรรดามุสลิม”
จาก 3 อายะฮ์นี้สรุปได้ว่า คัมภีร์อัลกุรอานได้อธิบายหลักสำคัญของอิสลาม เพื่อให้อิสลามนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานที่แข็งแรง มั่นคง ถาวร ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นหลักทั่วไปที่เราควรยึดถือในการตัดสินข้อชี้ขาดประเด็นต่าง ๆ สมควรต้องคัดลอกและสรุปมาจากเนื้อหาของอัลกุรอาน