หยุด! ลูกพูดคำหยาบคาย
  จำนวนคนเข้าชม  14478

หยุด! ลูกพูดคำหยาบคาย
 

 
       ปัญหานี้เป็นปัญหาที่พบได้เป็นประจำในทุกบ้าน เพราะพอเด็กๆ มีเพื่อนหรือไปโรงเรียนจะเลียนแบบกันและกัน ยิ่งปัจจุบันมีสื่อ ให้เห็นทุกวัน สำบัดสำนวนของเจ้าตัวน้อยก็จะสวิงสวายไปตามข้อมูลที่ได้รับ จนพ่อแม่ได้ยิน ก็มักจะตกใจ บางคนถึงกลับคิดไปไกลว่า ลูกจะกลายเป็นคนที่ไม่มีมารยาทไปไหม? อย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้ เพราะว่ามีวิธีแก้ไขค่ะ
   
  
       ***คำหยาบมีที่มา
      
       การเลือกใช้คำพูด เป็นส่วนหนึ่งของมารยาททางสังคมและเป็นตัวบ่งชี้ความสามารถทางภาษา ซึ่งโยงไปถึงความสามารถทางการเรียนรู้และวิเคราะห์ของเด็ก เช่น เด็กที่ใช้คำที่เป็นนามธรรมอย่างเข้าใจสามารถเรียนรู้เรื่องยากๆ ได้ดีกว่าเด็กที่ยังต้องอธิบายเป็นนามธรรม
      
       ส่วนการใช้คำสุภาพหรือไม่ เป็นเรื่องของการเรียนรู้และสิ่งแวดล้อม เด็กในสลัมย่อมถูกห้อมล้อมด้วยการใช้คำพูดที่ไม่สุภาพและรุนแรง เด็กก็ต้องเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกับอยู่รอด เคยพบครูในโรงเรียนละแวกชุมชนแออัด ที่พยายามจะสอนให้เด็กพูดสุภาพ และถูกพ่อแม่ต่อว่า ว่าทำให้ลูกถูกรังแกและถูกรังเกียจจากเพื่อนๆ เรื่องมารยาท ต้องดูบริบท ไม่สามารถคิดลอย โดยไม่ดูสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้
      
       ดังนั้น การสอนเด็กในเรื่องนี้ จึงไม่ใช่การสร้างนิสัยให้สุภาพอย่างเดียว แต่ต้องพัฒนาเด็กให้ปรับตัวได้ตามสิ่งรอบตัว ตอนที่ต้องพูดสุภาพก็ทำได้ ตอนออกทะลึ่งทโมนหรือหยาบหน่อยก็ต้องเป็น เคยอ่านบทความของ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ท่านว่า "คำหยาบเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม นอกจากจะเป็นการแสดงความก้าวร้าวกับคนที่เรารังเกียจแล้ว ยังเป็นการใช้แสดงความสนิทสนมกับคนที่เราชอบมากๆ ได้ด้วย" แต่ไม่แน่ใจว่าท่านเจาะจงเฉพาะวัฒนธรรมไทยหรือทั่วไป
 
    
       ***ช่วยลูกเลี่ยงคำหยาบ
      
       ทีนี้เด็กยังเล็กเราจะให้ชินกับการใช้คำหยาบไม่ได้ เพราะจะกลายเป็นนิสัย ส่วนที่เป็นนิสัยต้องเน้นความสุภาพ ค่อยๆ พัฒนาไปตามวัยกับสภาพแวดล้อม ส่วนการพูดคำหยาบหรือสำนวนชวนเป็นลม นั้นก็คงต้องปล่อยบ้าง ไม่ใช่ห้ามตลอด แต่ต้องไม่ปล่อยมากและจำกัดใช้กับคนที่เหมาะสม
   
  
       อย่าตกใจให้ความสำคัญกับคำหยาบ
      
       แรกๆ คำเหล่านี้มักจะมาตอนเข้าโรงเรียน อย่างเร็วก็ชั้นอนุบาล ทั่วไปก็ประมาณประถม พ่อแม่ที่ใกล้ชิดกับลูก จะสังเกตได้แม่นกว่าที่ไม่ใกล้ชิด เวลาได้ยินไม่ต้องตกใจ อาจจะห้ามเล็กน้อย สอนให้เข้าใจว่า
"คำคำนี้เป็นคำหยาบ เราไม่พูดกัน เราพูดว่า......"

 
       สังเกตคำพูดเพื่อวางแผนการสอน
      
       จากนั้นให้หมั่นสังเกต เก็บเป็นข้อมูลไว้ก่อนว่า ความหยาบคายขนาดไหน หรือเป็นสำนวนเฉพาะวัย เช่น "เดี๋ยวตื้บ" แหล่งที่มาคำนี้ได้มาอย่างไร ลูกสามารถเลือกได้ไหม บางคำลูกรู้และเคยได้ยิน แต่เลือกไม่พูดถ้าเป็นแบบนี้ก็ดี แสดงว่าเด็กมีความคิดอ่านเป็นของตัวเองพอสมควร พอได้ข้อมูลครบแล้วค่อยวางแผนการสอนค่ะ
      
       กับเด็กเล็กจะยังไม่รู้คำไหนหยาบไม่หยาบ ต้องชี้เป็นคำๆ ไป ส่วนเด็กโตจะแยกแยะได้เอง ไม่ต้องสาธยายมาก ทุกครั้งที่แยกแยะหรือห้ามปราม ต้องสอนด้วยว่าควรใช้คำใดแทน แล้วให้หัดพูดสักครั้งหรือสองครั้ง ส่วนเด็กโตไม่ต้อง
      

       เรียนรู้จากสถานการณ์จริง
      
       จากนั้นให้สังเกตในสถานการณ์จริง ว่าลูกเลือกคำที่เหมาะสมได้ไหม ถ้าทำได้ก็ไม่ต้องกังวลใจ เด็กยังมีคำแปลกๆ อีกเยอะให้สังเกตคะ ลองนึกถึงตัวเราเองโดยเฉพาะคุณพ่อบ้านมีคำหยาบตั้งมากมายที่เราพูดกับเพื่อนๆ แต่พ่อแม่เราไม่เคยได้ยินคำเหล่านี้เลย ลูกกับเราก็จะเหมือนกัน ยกเว้นเวลาของขึ้นอาจจะได้ยินลูกหลุดออกมาบ้างเป็นครั้งคราว ก็อย่าเอามาเป็นอารมณ์ เพราะเวลาของขึ้นนั้นอะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ สิ่งที่ต้องหัดเวลาลูกของขึ้น คือ พยายามเอาของออก (หมายถึงคำหยาบนั้นๆ ที่พูดออกมา) ไม่ใช่ไปยุ่งกับรายละเอียด ในเรื่องท่าท่างหรือวาจาอื่นที่แวดล้อม
 
 


Manager online/Modernmom