การเงินอิสลามในตะวันออกกลาง
  จำนวนคนเข้าชม  13967

ความรู้เกี่ยวกับการเงินอิสลามในตะวันออกกลาง

นิพล  แสงศรี

 

          ปัจจุบันสถาบันการเงินและธนาคารอิสลามเติบโตอย่างรวดเร็วเฉลี่ยร้อยละ 15  ต่อปีในระดับโลก และร้อยละ 20 ในกลุ่มประเทศสมาชิก OIC  โดยพบสถาบันการเงินและธนาคารอิสลามราว 300 แห่งทั่วโลกและมีเงินหมุนเวียนกว่า 7 แสนล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านๆ ดอลลาร์ในปี 2013  อีกทั้งยังมีส่วนที่บริหารแบบเป็นกองทุนเพื่อการลงทุนอีกราว 200,000-300,000 ล้านดอลลาร์

          ในโลกอิสลามระบบอัลมุฏอเราะบะฮฺ เป็นระบบที่มีความสำคัญมากต่อการกระจายทรัพยากรและทรัพย์สินแทนระบบดอกเบี้ย  ตลอดจนเป็นช่องทางหาทุนเพิ่มหรือหากำไรเพิ่มของสถาบันการเงินและธนาคารอิสลาม  ดังนั้นกองทุน  บริษัท  สถาบันการเงิน และธนาคารอิสลามล้วนถูกก่อตั้งบนหลักการ  al-Sharikah และหลักการ  al-Mudharabah   

          สถาบันการเงินและธนาคารอิสลามอาศัยนโยบายกำกับบริหารดูแลอย่างรัดกุม และเข้าใจถึงกลไกเศรษฐกิจโลกภายใต้กฎหมายชะรีอะฮฺ  เช่น  ห้ามการลงทุนและทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย  (al-Riba)  การพนัน (al-Qimar  and  al-Gharar)  ความเสี่ยง (Khatar)   การหลอกลวง  (Gharar)  การเอารัดเอาเปรียบ  (Istiglal) และการแทรกแซงทางการตลาด  (al-Tadakkhul  Fi  al-Suq)  โดยอาศัยธนาคารพาณิชย์อิสลาม (Masaref  al-Islamiyah)  บริษัทประกัน (al-Sharikah al-Tamin)  กองทุนรวมและวาณิชธนกิจ (al-Mudharabah) เป็นตัวกลางสำคัญทางระบบการเงินและการลงทุนโดยอาศัยหลัก al-Musharakah and al-Mudharabah 

          บริการทางการเงินมีทั้งในรูปแบบการให้บริการด้านเงินฝาก ได้แก่ บัญชีเงินฝากเพื่อการเก็บออม (Wadiah) หรือบัญชีเงินฝากเพื่อการลงทุน (Mudharabah) และในรูปแบบการให้บริการด้านสินเชื่อ (al-Tamweel) ได้แก่ สินเชื่อเพื่อธุรกิจ  สินเชื่อพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์  สินเชื่อหมุนเวียน ตั๋วและภาระผูกพัน  สินเชื่อเพื่อการอุบโภคและบริโภค  สินเชื่อเพื่อการค้าระหว่างประเทศ  และอื่นๆ

          สถาบันการเงินและธนาคารอิสลามจะระดมเงินฝาก เพื่อรักษาความปลอดภัยจากประชาชน  นักธุรกิจ  และนักลงทุน  โดยสถาบันการเงินและธนาคารอิสลามจะรับผิดชอบจ่ายคืนเมื่อต้องการเบิกจ่าย  เรียกว่า บัชญีอัลวะดีอะฮฺ หรือ  บัชญีเงินฝากออมทรัพย์  โดยอาจจะคิดค่าธรรมเนียมหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมแล้วแต่กรณี แต่ยินยอมให้นำไปแสวงหาผลกำไรที่ไม่ขัดต่อกฎหมายอิสลาม  หรือถ้าต้องกำไรก็ต้องใช้บริการบัญชีเงินฝากเพื่อการลงทุนร่วมกับธนาคาร  ซึ่งจะมีอัตรากำไรต่อปีตามสัดส่วนการลงทุนที่ไม่ขัดต่อกฎหมายอิสลาม  หรือถ้าต้องการบ้าน  รถยนต์ และอื่นๆ  สถาบันการเงินและธนาคารอิสลามจะใช้วิธีซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ ตามความต้องการลูกค้ามาครอบครองไว้ก่อนจะต่อให้ลูกค้าโดยบวกกำไรเพิ่ม  เช่น ซื้อมาในราคา  700,000  บาท  ขายด้วยเงินสดในราคา 750,000  บาท  หรือลูกค้าอาจจะซื้อรถยนต์ต่อจากธนาคารด้วยราคาข้างต้น  โดยอาศัยการผ่อนชำระกับธนาคารภายในเวลา  5  ปี  หรือจ่ายเป็นงวดๆ รายเดือนหรือรายปี  วิธีดังกล่าวมักเรียกว่า al-Tamweel  


          แม้สถาบันการเงินและธนาคารอิสลามจะปล่อยเงินกู้ยืม โดยไม่คิดดอกเบี้ยแต่ก็มีเงื่อนไขบางประการได้แก่

(1) กู้ยืมได้ตามสัดส่วนของเงินที่ฝากกับธนาคารเท่านั้น 

(2) และผู้กู้ยืมจะต้องจ่ายคืนตามระยะเวลาที่กำหนดและตกลงกัน 

(3) ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 

          อย่างไรก็ตามสถาบันการเงินและธนาคารก็ได้รับอนุญาตให้นำเงินทุนที่เหลือไปลงทุนในกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ที่มีผลกำไรที่ไม่ขัดต่อกฎหมายอิสลาม  ซึ่งเป็นคำตอบว่าสถาบันการเงินและธนาคารอิสลามจะได้อะไรเมื่อปล่อยเงินกู้  ส่วนลูกค้าบางรายอาจจะไม่มีเงินฝากกับสถาบันการเงินและธนาคารอิสลามหรือขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน  บอร์ดของสถาบันการเงินและธนาคารอิสลามจะเป็นผู้พิจารณา


          รายได้บางส่วนของสถาบันการงินและธนาคารอิสลาม จะถูกนำมาใช้จ่ายด้านบริหารจัดการของสถาบัน  เช่น  ค่าจ้างพนักงาน  หรือนำไปใช้ในการลงทุนด้านอุตสาหกรรมและการจ้างผลิตภัณฑ์  และอื่นๆ  โดยรายได้ส่วนใหญ่ของสถาบันการงินและธนาคารอิสลามจะได้มาจากงานบริการที่คิดค่าธรรมเนียมต่างๆ ได้แก่

(1) บริการเก็บรักษาทรัพย์สิน  บริการเงินโอน  บริการรับส่งสินค้าทั้งทางบก  ทางทะเล  และทางอากาศ 

(2) การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในนามลูกค้า (วะกาละฮฺ)  ตามกระบวนการทางกฎหมายอิสลาม 

(3) การช่วยเหลือนักธุรกิจและนักลงทุนในการจัดตั้ง  ขยายธุรกิจ  จัดซื้อเครื่องจักร  และวัตถุดิบอื่นๆ  

(4)  การจัดหาผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษาทางธุรกิจ การเงิน  สินเชื่อ  และการลงทุน

(5) การนำเงินไปลงทุนตามหลักการหุ้นส่วนมุชาเราะกะฮฺและหลักการลงทุนมุฎอเราะบะฮฺ 

(6) การจัดซื้อหุ้นการค้าหรือนำเงินทุนของลูกค้าไปลงทุนในสถาบันการค้าต่างๆ แทนลูกค้า  ส่วนกรณีสถาบันการงินและธนาคารอิสลามต้องการระดมเงินทุนเพื่อการลงทุน  อาจจะมีการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมแล้วแต่กรณี

(7) และบริการด้านสินเชื่อประเภทต่างๆ หรือเรียกว่า al-Taweel

          ผลิตภัณฑ์ทางการเงินอิสลามมักถูกนำมาประยุกต์ใช้ทั้งในรูปแบบเอกเทศ  เช่น General Investment deposit  จะใช้หลัก al-Mudharabah   และ  Revolving Financing  จะใช้หลัก  Bai ‘a  al-‘Anah  ส่วน  Leasing จะใช้หลัก  Ijarah  และในรูปแบบใช้งานร่วมกัน  เช่น พันธบัตรอิสลามจะใช้หลัก al-Mudharabah  ร่วมกับ  Mushrakah +  Istisna  และ  Ijarah   สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจะใช้หลัก Ijarah Wa Istina /Diminishing al-Musharaka  ส่วนการเช่าซื้อจะใช้หลัก  Ijarah Thumma  al-Bai ‘a

          ความยืดหยุ่นของสถาบันการเงินและธนาคารอิสลามเป็นตัวส่งสัญญาณถึงอนาคตที่ดี  น่าตื่นตาตื่นใจ  และเป็นระบบการเงินที่วางพื้นฐานอยู่บนคุณค่าทางศีลธรรมมากกว่าความโลภและความกลัว  สิ่งเหล่านี้ทำให้การเงินอิสลามมีแนวโน้มเป็นที่นิยมกันมากขึ้น เพราะนักลงทุนต่างเล็งหาแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยกว่าเดิม โดยเฉพาะหลังตราสารอนุพันธ์ของโลกตะวันตกประสบปัญหาวิกฤตการเงินโลก  เช่น  ในลอนดอนพบธนาคารอิสลามอยู่ 5 แห่ง  และในฝรั่งเศสเปิดธนาคารอิสลามแห่งแรกขึ้นในปี ค.ศ.2009 จากการประเมินแบบอนุรักษ์ของนายธนาคารในเดือนตุลาคม ค.ศ.2008 สินทรัพย์การเงินอิสลามทั่วโลกมีเกินกว่า  5  แสนล้านดอลลาร์  ตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในทศวรรษหน้า  และด้วยข้อจำกัดและความแตกต่างของระบบอิสลามิกไฟแนนซ์ (Islamic Finance) จากระบบการเงินทั่วไป ทำให้มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงของโลกหลายแห่งเห็นความสำคัญ และได้เปิดหลักสูตรอิสลามิกไฟแนนซ์ขึ้น  เช่น มหาวิทยาลัยสตราส์บวก  คณะบริหารธุรกิจ (ฝรั่งเศส) เปิดหลักสูตรปริญญาโทด้านอิสลามมิกไฟแนนซ์  จนกลายเป็นที่ยอมรับและมีการพูดถึง เศรษฐศาสตร์อิสลามกันมากขึ้นเรื่อยๆ

          การเงินอิสลามอยู่ภายใต้หลักชารีอะฮฺ (Shari‘ah) ซึ่งเป็นทั้งระบบกฎหมายและจริยธรรมที่มีความชัดเจน  เอกลักษณ์ดังกล่าวทำให้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินอิสลามมีความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ทางการเงินทั่วๆไป  จนกลายเป็นระบบที่ได้รับการยอมรับก่อนจะกระจายอยู่ทั่วโลกมุสลิม  ปัจจุบันหลายประเทศกำลังให้ความสนใจต่อผลิตภัณฑ์ทางการเงินอิสลาม โดยเฉพาะมาเลเซียพยายามผลักดันให้ตนเองกลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินประจำเอเชียตะวันตกเฉียงใต้   ขณะที่อังกฤษพยามกระตุ้นสถาบันการเงินและธนาคารภายในประเทศให้กลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินอิสลามประจำยุโรป 

 

 


ที่มา
- al-Ashqari, Muhammad  Sulaiman, et.al. 1998.  Qadhaya Iqtisadiyah Mu ‘a sarah. Jordan. Dar al-Nafais. 
-Obaid  Allah, Muhammad, 2005, Islamic  Financail  Services, Saudi Arabia,  King Abdulaziz University.
-www.alrajhibank.com.sa/  (ธนาคารอัรรอญิฮีย์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย)
-www.nbad.com/  (ธนาคารแห่งชาติอะบูดาบี  ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรต)