การถือศีลอด เยามุชชักก์
  จำนวนคนเข้าชม  7260

 

 

การถือศีลอด “เยามุชชักก์” ด้วยเนียตชดใช้เราะมะฎอนที่ผ่านมา

 

คำถาม


          ฉันรู้ว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ห้ามไม่ให้ถือศีลอด “เยามุชชักก์” คือ ในวันที่เราไม่แน่ใจว่าเริ่มเดือนเราะมะฎอนแล้วหรือยัง และท่านยังได้ห้ามไม่ให้ถือศีลอดก่อนเราะมะฎอนประมาณสองวัน แต่ว่าจะเป็นการอนุญาตหรือไม่ ถ้าฉันจะถือศีลอดในวันเหล่านี้ด้วยเนียตว่าเพื่อชดใช้ส่วนที่ติดค้างสำหรับ เดือนเราะมะฎอนของปีที่ผ่านมา ?

 

 

 มวลการสรรเสริญทั้งมวลเป็นสิทธิแด่อัลลอฮ์ เพียงพระองค์เดียว

 

คำตอบ


          ถือได้ อนุญาตให้ถือศีลอดชดใช้ส่วนที่ติดค้างของเดือนเราะมะฎอนที่ผ่านมาใน “เยามุชชักก์” (วันที่ไม่แน่ใจว่าเริ่มเราะมะฎอนแล้วหรือไม่) และวันสองวันก่อนเดือนเราะมะฎอนได้


          มีรายงานยืน ยันจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่าท่านได้ห้ามไม่ให้ถือศีลอดในวันที่ไม่แน่ใจ และห้ามไม่ให้ถือศีลอดวันสองวันก่อนเริ่มเราะมะฎอน แต่การห้ามที่ว่านี้เฉพาะในกรณีที่เขาไม่เคยถือศีลอดเป็นปกติวิสัยหรือเป็น ประจำ เพราะมีหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

 

«لا تَقَدَّمُوا رَمَضَانَ بِصَوْمِ يَوْمٍ وَلا يَوْمَيْنِ، إِلا رَجُلٌ كَانَ يَصُومُ صَوْمًا فَلْيَصُمْهُ» . رواه البخاري (1914)  ومسلم (1082)

 “พวกท่านอย่าได้ถือศีลอดก่อนเราะมะฎอนหนึ่งหรือสองวัน ยกเว้นเฉพาะคนที่เคยถือศีลอดเป็นประจำโดยปกติ ก็ให้เขาถือศีลอดได้”

(บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ 1914 มุสลิม 1082)
 

          ดังนั้น ถ้าคนคนหนึ่งเคยถือศีลอดเป็นปกติ เช่น ถือศีลอดทุกวันจันทร์ แล้วเผอิญว่าวันที่เขาถือศีลอดนั้นตรงกับวันสุดท้ายของเดือนชะอฺบาน ก็อนุญาตให้เขาถือศีลอดเหมือนปกติได้ และไม่เป็นการห้ามที่เขาจะถือศีลอดในวันนั้น
 

          เมื่ออนุญาต ให้ถือศีลอดสุนัตที่เคยปฏิบัติเป็นปกติในวันนั้นได้ ดังนั้น ก็เป็นการสมควรมากกว่าที่จะอนุญาตให้ถือศีลอดชดใช้ของเดือนเราะมะฎอนที่ผ่านมา เพราะมันเป็นวาญิบ และเนื่องจากว่าไม่อนุญาตให้ล่าช้าในการชดใช้จนกระทั่งเดือนเราะมะฎอนของปี ถัดไปได้มาถึง


          อิมาม อัน-นะวะวีย์ ได้กล่าวใน อัล-มัจญ์มูอฺ (6/399) ว่า

“สหายในมัซฮับของเราได้กล่าวว่า เป็นทัศนะที่เห็นพ้องกันว่า การเนียตถือศีลอดเราะมะฎอนในวันที่ไม่แน่ใจถือเป็นโมฆะและใช้ไม่ได้ ... แต่ถ้าหากถือศีลอดในวันนั้นด้วยเนียตชดใช้ หรือบนบาน(นะซัร) หรือกัฟฟาเราะฮฺ ก็ถือว่าใช้ได้ เนื่องจากว่า ถ้าในวันนั้นอนุญาตให้ถือศีลอดสุนัตที่มีมูลเหตุได้ การถือศีลอดที่วาญิบก็ย่อมสมควรกว่า มันเหมือนกับช่วงเวลาที่ห้ามละหมาด (เช่น เวลาหลังอัศริ ซึ่งห้ามละหมาดสุนัตแต่อนุญาตให้ละหมาดฟัรฎูที่ยังไม่ได้ละหมาดได้ – ผู้แปล) และเนื่องจากถ้าสมมุติว่าเขามีความจำเป็นต้องถือศีลอดชดใช้หนึ่งวันของเราะ มะฎอนที่ผ่านมา ก็ถือว่าเป็นวาญิบที่เขาจะต้องถือศีลอดในวันนั้นเลย เพราะเวลาแห่งการชดใช้นั้นไม่มีเหลืออีกแล้ว”

 

ฟัตวาจาก เว็บอิสลามถามตอบ

www.islamqa.com หมายเลข 26860


ผู้แปล : ซุฟอัม อุษมาน /Islam House